วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ทิศทางพลังงานอาเซียน: ไทยขาดแหล่งทรัพยากร ระยะยาวต้องเร่งเชื่อมโยงพลังงานอาเซียน

source : http://www.siamintelligence.com/asean-energy-cooperation/

ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานชี้ ประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงาน เหตุเพราะมีแหล่งทรัพยากรในประเทศน้อย และยังไม่สามารถหาข้อยุติเรื่องพลังงานนิวเคลียร์-ถ่านหินได้ ทางออกมีอย่างเดียวคือซื้อพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่ยังมีเหลือ แต่ก็มีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจสูงในอนาคต

ประชาคมอาเซียนกับการเชื่อมโยงระบบพลังงาน

รายงานการสัมมนา “ประชาคมอาเซียนกับการเชื่อมโยงระบบพลังงาน” จัดโดยคณะกรรมาธิการพลังงาน วุฒิสภา เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2555 ณ โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน ถนนพระราม 9
วงเสวนาและแสดงความคิดเห็น มีวิทยากรร่วมอภิปราย 4 ท่าน
  • นายไกรสีห์ กรรณสูตร อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ปัจจุบันเป็นผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมาธิการพลังงาน วุฒิสภา
  • นายสุเทพ ฉิมคล้าย ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
  • นายวิชัย พรกีรติวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต่ำและก๊าซธรรมชาติ ปตท.
  • ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์นพพร ลีปรีชานนท์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

1) การเชื่อมโยงประชาคมอาเซียนด้านพลังงาน จากอดีตสู่อนาคต

โดย นายไกรสีห์ กรรณสูตร
อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ปัจจุบันเป็นผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมาธิการพลังงาน วุฒิสภา
การเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าเป็นเรื่องสำคัญมาก อย่างที่ผมไปดูงานในฝรั่งเศส ระบบพลังงานไฟฟ้าในฝรั่งเศสใหญ่มาก โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ 1000 เมกะวัตต์ (MW) หลุดไปจากระบบ ปรากฏว่าความถี่ตกไปนิดเดียว ระบบไฟโดยรวมไม่สะเทือนอะไร แต่ถ้าเป็นเมืองไทยเกิดสถานการณ์แบบนี้ รับรองว่าไฟดับแน่
ในสแกนดิเนเวีย ประเทศนอร์เวย์มีน้ำมาก ใช้ไฟฟ้าพลังน้ำคิดเป็น 90% ของพลังงานทั้งประเทศ ส่วนสวีเดนใช้พลังงานนิวเคลียร์มาก สองประเทศนี้เลยใช้วิธีแลกเปลี่ยนพลังงานระหว่างกัน เช่น ช่วงฤดูที่น้ำแข็งละลาย นอร์เวย์จะมีน้ำมาก สวีเดนจะผลิตไฟด้วยนิวเคีลยร์น้อย และซื้อไฟจากนอร์เวย์แทน ในทางกลับกัน ถ้าน้ำน้อย นอร์เวย์จะซื้อไฟจากสวีเดนกลับ ข้อดีของวิธีากรนี้คือต้นทุนพลังงานลดลงมาก ยิ่งยุโรปใกล้ชิดกันมากขึ้น การซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานก็ยิ่งง่ายขึ้น

แหล่งพลังงานในอาเซียน

หันมาดูในกลุ่มประเทศอาเซียนของเรา ถือเป็นโชคดีว่า ในย่านอาเซียนนี้มีแหล่งพลังงานอุดมสมบูรณ์อย่างมาก และที่สำคัญคือมีความหลากหลาย
ตัวอย่างเช่น ตอนเหนือของอาเซียนอย่างพม่า ลาว เวียดนามตอนเหนือ มีน้ำเยอะ มี hydro potential (มีศักยภาพในการใช้น้ำผลิตไฟฟ้า) อยู่มาก
ในพม่ามี hydro potential หลายหมื่นเมกะวัตต์ ถ้าใช้น้ำมาผลิตไฟฟ้าทั้งหมดหมดจริงๆ กำลังผลิตอาจถึงแสนเมกะวัตต์ด้วยซ้ำ ซึ่งจริงๆ ตอนนี้ยังไม่ได้ใช้เท่าไร น้ำในแม่น้ำสาละวินมีเยอะกว่าในแม่น้ำโขงมาก เพราะมีต้นทางมาจากหิมะในเทือกเขาหิมาลัย นอกจากนี้ยังมีการศึกษาว่าถ้าสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวิน อาจใช้เป็นโรงงานไฟฟ้าหลัก (base load) ได้เทียบเท่ากับโรงงานถ่านหินและก๊าซได้เลย
พม่าไม่ได้มีแต่น้ำ ยังมีก๊าซที่มากเหลือเกิน ทั้งจีนและอินเดียต่างก็รุมจีบเพราะอยากได้ก๊าซจากพม่า เราก็โชคดีที่ซื้อก๊าชจากพม่าได้ส่วนหนึ่ง
ลาวก็มี hydro potential มาก ผลิตไฟฟ้าได้ระดับหลายหมื่นเมกะวัตต์ ถ้าพูดถึงแม่น้ำโขงอย่างเดียว ก็สร้างได้หลายพันเมกะวัตต์แล้ว ยังไม่ต้องพูดถึงแม้น้ำอื่นในลาวเลย ส่วนเขื่อนแรกที่สร้างในลาวอย่างไชยบุรี ทุกคนคงรู้กันแล้ว
เวียดนาม ตอนเหนือมีน้ำมาก ตอนใต้มีก๊าซมาก อันนี้เป็นแหล่งพลังงานของเวียดนาม
กัมพูชา มีแหล่งก๊าซเยอะทีเดียวในแห่ลงทับซ้อนอย่างอ่าวไทยตรงพรมแดนไทย-กัมพูชา ปริมาณใกล้เคียงกับปริมาณก๊าซในอ่าวไทย
ไทยเองมีก๊าซมากในอ่าวไทย แล้วก็มีลิกไนต์ที่แม่เมาะ แต่อันนี้ไม่เยอะมากเมื่อเทียบกับอินโดนีเซีย
มาเลเซีย มีก๊าซเยอะทีเดียว รัฐซาราวัก (Sarawak) มีน้ำมาก มีเขื่อนขนาดใหญ่ ที่เขื่อนบากูน (Bakun Dam) ก็พูดกันว่าผลิตไฟฟ้าได้หลายพันเมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังก็มีก๊าซมาก ส่วนรัฐซาบาห์ (Sabah) ก็มีทั้งน้ำ มีทั้งก๊าซ มีทั้งถ่านหิน ถือได้ว่ามาเลเซียมีแหล่งพลังงานมากและหลากหลาย แหล่งก๊าซของมาเลเซียนี่ติดอันดับ 14 ของโลก
บรูไน คงรู้กันดีว่ามีน้ำมัน แต่นอกจากนี้เขายังมีก๊าซ โดยส่งออกเป็น LNG ขายญี่ปุ่นและเกาหลีเป็นหลัก แต่เขายังไม่ได้ส่งขายในประเทศอาเซียนผ่านทางท่อ มีแต่เป็น LNG เท่านั้น
อินโดนีเซีย มีก๊าซเยอะมากที่แหล่งนาทูนาตะวันออก (East Natuna) มีปริมาณสำรอง (reserve) มากกว่า 190 trillian คิวบิคฟุต เพียงพอต่อการใช้ได้เกิน 60 ปี ส่วนถ่านหินไม่ต้องพูดถึง ใช้ได้มากกกว่า 150 ปี เป็นแหล่งใหญ่ที่ส่งออกทำรายได้ให้ประเทศมาก อินโดยังเป็นประเทศในกลุ่ม OPEC ที่มีน้ำมันมาก
ฟิลิปปินส์ มีก๊าซมาก นอกจากนี้ยังมีภูเขาไฟเยอะ มีน้ำพุร้อนใช้ผลิตไฟฟ้าแบบความร้อนใต้โลก (geothermal) ได้ถึง 13% ของประเทศ ถือเป็นอันดับสองของโลกในเรื่อง geothermal
จะเห็นว่าย่านอาเซียนอุดมสมบูรณ์ในแหล่งพลังงานจริง ๆ ในภาพรวมคือตอนเหนือของไทยเป็นน้ำ ตอนใต้ของประเทศไทยเป็นก๊าซ
บางประเทศมีแหล่งพลังงานมากแต่มีความต้องการใช้พลังงาน (demand) ต่ำ โดยเฉพาะทางเหนือของอาเซียน ตรงนี้เลยเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่ซื้อพลังงานเหล่านี้ได้

การเชื่อมโยงของพลังงานในอาเซียน อดีต

การเชื่อมโยงของพลังงานในอาเซียนเริ่มขึ้นเมื่อ 40 ปีก่อน โดยซื้อไฟจากเขื่อนน้ำงึม 1 เพราะลาวมีเขื่อนแต่ต้องการไฟฟ้าน้อย เค้ามีไฟเหลือเยอะมาก สมัยนั้นเราซื้อได้ค่อนข้างถูกทีเดียว ยูนิตนึงไม่ถึงบาท
ภาคใต้บ้านเรามีความเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นน้อย และมีแหล่งผลิตไฟฟ้าน้อยกว่าภาคอื่น สมัยผมทำงานใหม่ๆ ไฟจะดับบ่อย แต่ภายหลังก็มีการเชื่อมโยงระบบพลังงานกับภูมิภาคอื่นในประเทศมากขึ้น
การส่งไฟฟ้าในทางไกลๆ จะมีปัญหาเสถียรภาพของสายส่ง ทำให้การส่งไฟระหว่างภาคกลางกับภาคใต้มีปัญหาเพราะระยะทางไกลมาก เราเลยมองมาที่มาเลเซีย ซึ่งระบบไฟฟ้าใหญ่ๆ ของเขาอยู่ทางเหนือพอดี อยู่ใกล้กับภาคใต้ของเรามากกว่าภาคกลางของเราด้วยซ้ำ ตอนหลังเราจึงซื้อไฟจากมาเลเซีย จึงมีความมั่นคงทางพลังงานสูงขึ้นมากทีเดียว
ตอนแรกมีปัญหาเรื่องระบบไฟที่ต่างกัน เพราะมาเลเซียใช้ระบบอังกฤษ 130 kV แต่ของเราใช้ระบบอเมริกา 115 kV ต้องผ่านหม้อแปลงซึ่งไม่ค่อยเสถียร แต่ภายหลังก็เปลี่ยนมาจ่ายไฟแบบ DC กระแสตรงระหว่างกัน เลยลดปัญหาไปได้มาก
สิงคโปร์เป็นประเทศเกาะเล็ก แต่ไม่มีทรัพยากรด้านหลังงาน เค้าใช้น้ำมันเป็นหลักในการผลิตไฟฟ้า แต่พอเป็นระบบเล็กก็มีปัญหาเรื่องเสถียรภาพ เจอเรื่องไฟดับเป็นวงกว้าง (blackout) หลายครั้งในสมัยก่อน ตอนหลังเลยหันมาเชื่อมโยงระบบไฟกับมาเลเซีย เพื่อจะได้ช่วยเหลือกันได้เวลามีปัญหาทางพลังงาน
การเชื่อมโยงไฟฟ้าของอาเซียนเกิดขึ้นบนแผ่นดินคาบสมุทรก่อน เริ่มจากไทย-ลาว, ไทย-มาเลเซีย, มาเลเซีย-สิงคโปร์
การเชื่อมโยงระบบไฟของยุโรปทำได้ง่ายเพราะเป็นพื้นทวีปต่อกันหมด แต่อาเซียนเป็นเกาะเยอะ ต้องเชื่อมโยงผ่านเคเบิลใต้น้ำ ซึ่งต้นทุนสูงและไม่คุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ ดังนั้นช่วงแรกๆ ของอาเซียนจะเป็นการเชื่อมโยงบนแผ่นดินก่อน
การเชื่อมโยงระหว่างไทยกับเขมรจะเป็นจุดๆ มากกว่าเป็นระบบ อย่างตอนนี้เราก็ขายไฟให้เสียมเรียบ

การเชื่อมโยงของพลังงานในอาเซียน อนาคต

การเชื่อมโยงพลังงานภายในอาเซียนจะช่วยลดปัญหาการซื้อเชื้อเพลิงจากกลุ่มประเทศนอกอาเซียน เพราะอาเซียนมีทรัพยากรพลังงานที่หลากหลายอยู่แล้ว
ในอนาคตมีแผนจะเชื่อมโยงพลังงานให้มากกว่านี้ โดยจ้างที่ปรึกษาด้านไฟฟ้าเข้ามา พบว่ามี 16 โครงการ
  • โครงการแรก มาเลเซีย-สิงคโปร์ พบว่าสายเดิมชักเล็กเกินไป จะเพิ่มขนาดสายในปี 2018
  • โครงการที่สอง ไทยกับมาเลเซีย ปัจจุบันเชื่อมโยงกันด้วยสายไฟ DC 300 MW จะเพิ่มระดับในเฟสที่สองในปี 2016
  • โครงการที่สาม มาเลเซียบนคาบสมุทรจะเชื่อมโยงกับซาราวัก ถือเป็นการเชื่อมภายในประเทศของเขาเอง
  • โครงการที่สี่ มาเลเซียจะเชื่อมโยงกับอินโดนีเซีย เพราะสุมาตรามีแหล่งพลังงานมาก ขนาดประมาณ 600 MW ในปี 2017
  • โครงการที่ห้า อินโดนีเซียจะมีเกาะเล็กๆ เรียกเกาะบาทัม (Batam Island) อยู่ใกล้กับสิงคโปร์ จะเชื่อมกันประมาณปี 2015-2017
  • โครงการที่หก มาเลเซียจะเชื่อมกับอินโดนีเซียอีกจุด ระหว่างซาราวักกับเวสต์กลิมันตัน (West Kalimantan)
  • โครงการที่เจ็ด ฟิลิปปินส์กับมาเลเซียจะเชื่อมกันที่ซาบาห์ ซึ่งอยู่ใกล้กัน ฟิลิปปินส์จะใช้พลังงานจากซาบาห์ เพราะตัวเองมีแหล่งพลังงานไม่เยอะนัก
  • โครงการที่แปด ซาราวักจะเชื่อมกับบรูไน ที่ไม่เคยเชื่อมกับใครมาก่อน อันนี้ปี 2016
  • โครงการที่เก้า ไทยกับลาว จะเชื่อมกันอีกหลายจุด ที่ใหญ่ๆ คือ ลิกไนต์ที่หงสา (Hongsa) ปี 2015 จะตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าลิกไนต์ที่ลาวแล้วส่งมาไทย ส่วนไชยบุรีจะโอนไฟมามากขึ้นปี 2019
  • โครงการที่สิบ ลาวกับเวียดนามจะเชื่อมโยงกัน
  • โครงการที่สิบเอ็ด ไทยกับพม่าอยู่ใกล้กัน แต่การเชื่อมโยงยังน้อยมาก จะเริ่มประมาณปี 2016 เป็นต้นไป โดยเราไปช่วยพัฒนาเขื่อนที่พม่า อยู่แถวๆ แม่สอด แล้วขายไฟกลับเข้ามาในไทย และมีลิกไนต์ขนาดไม่ใหญ่ที่พม่า และเชื่อมกลับมา
  • โครงการที่สิบสอง ปี 2017 เวียดนามกับเขมร มากกว่า 200 MW
  • โครงการที่สิบสาม เชื่อมระหว่างลาวกับเขมร
  • โครงการที่สิบสี่ ไทยกับเขมร ปราจีนไปพระตะบอง (Battambang)
  • โครงการที่สิบห้า เพิ่งเสนอมาใหม่ ซาบาห์กับอีสต์กลิมันตัน
  • โครงการที่สิบหก โครงการสุดท้าย สิงคโปร์กับสุมาตรา
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นแน่นอน การเชื่อมโยงของระบบไฟฟ้าในอาเซียน ทุกคนเห็นประโยชน์ว่าเชื่อมโยงกันแล้วจะลดการซื้อพลังงานจากภายนอก และลดการลงทุนได้
16 โครงการนี้มีการศึกษาแล้วพบว่ามีความคุ้มทุนมากในเชิงเศรษฐศาสตร์ ประหยัดเงินได้ 1,870 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะลดปริมาณไฟสำรองที่แต่ละประเทศต้องมีลงได้
การเชื่อมโยงของอาเซียนเกิดขึ้นได้แต่จะไปช้าๆ ไม่เร็วเหมือนยุโรป เพราะระบบภายในของอาเซียนบางประเทศ อย่าง ลาว เขมร พม่า ยังมีระบบภายในไม่แข็งแรง ในประเทศเองก็ยังไม่เชื่อมต่อกันดีนัก ต้องรอให้ประเทศเหล่านี้ค่อยๆ พัฒนา ถ้าเราไปเชื่อมกับระบบที่ไม่แข็งแรงก็อาจดึงเราไฟดับได้
แต่สุดท้ายแล้ว ตามแผนคือปี 2020 ทุกประเทศในอาเซียนจะต้องเชื่อมโยงระบบไฟฟ้ากัน

2) การเชื่อมโยงโครงข่ายระบบสายส่งไฟฟ้าอาเซียน

โดย นายสุเทพ ฉิมคล้าย
ผู้ช่วยผู้ว่าการฝ่ายแผนงาน
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
หลายอย่างที่ผมจะพูด คุณไกรสีห์พูดไปแล้ว ดังนั้นบางอย่างจะไม่ขอพูดซ้ำ

ความร่วมมือทางพลังงานไฟฟ้าในปัจจุบัน

อาเซียนมีทรัพยากรสำหรับผลิตไฟฟ้ามาก ประเทศไทยเองกลับไม่ค่อยมีทรัพยากร แต่มีความต้องการไฟฟ้าเยอะ ในขณะที่พม่า-ลาวมีทรัพยากรเยอะแต่ความต้องการน้อย ดังนั้นถ้าจับมือกัน 3 ประเทศก็สามารถพัฒนาระบบพลังงานได้คุ้มค่า เพราะการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ต่อให้มีทรัพยากร แต่ถ้าไม่มีความต้องการก็ทำไม่ได้ในเชิงพาณิชย์

พอมีความคิดจะเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าในภูมิภาคแล้ว ก็มี MOU ระหว่างประเทศตกลงซื้อขายไฟฟ้ากัน ของไทยมี 7,000 เมกะวัตต์ แต่ในอนาคตน่าจะพัฒนาได้มากกว่านี้อีกมาก
ของไทยกับพม่าคือ 1500 เมกะวัตต์ อันนี้ตกลงไว้นานแล้วตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งอีกไม่นานนี้คงต้องปรับปรุงไปอีก เพราะพม่ามีศักยภาพระดับ 20,000-30,000 MW แล้วตอนนี้
ไทย-จีนมีข้อตกลงมานานแล้ว แต่โอกาสในตอนนี้คงน้อยเพราะจีนพัฒนาประเทศไปเยอะ และพลังงานในประเทศไม่พอใช้

ไทย-ลาว
  • เข้ามาในระบบแล้ว 1891 MW
  • ลงนาม PPA (Power Purchase Agreement) ตกลงแล้วกำลังก่อสร้าง 2913 MW
    • โครงการ หงสา เป็นโครงการเดียวที่เป็นลิกไนต์ เพราะอย่างอื่นเป็นน้ำหมด โครงการลิกไนต์จะมั่นคงกว่า เพราะบางปีน้ำน้อยอาจผลิตน้ำได้น้อยลง ถือเป็นการกระจายแหล่งเชื้อเพลิง
    • เขื่อนไชยบุรีก็ลงนามไปแล้ว กำลังผลิต 1220 MW
  • ลงนาม MOU แล้ว แต่ยังไม่ได้เซ็น PPA 1077 MW
    • น้ำงึม 3
    • เซเปียน
    • น้ำเงี๊ยบ
รวมๆ แล้วตอนนี้เกือบเต็มข้อตกลง 7000 MW แล้ว อนาคตต้องขยายตัวเลขเพดานนี้ออกไปอีก

ระบบไฟฟ้าของไทย ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ไทยเป็นประเทศเดียวที่มีระบบไฟเชื่อมกันหมด จ่ายไฟได้ทั้งประเทศ (เฉพาะระบบส่ง ไม่รวมจำหน่าย) ระบบสูงสุด 500 kV รองลงมา 230 kV
กฟผ. ยังมีศูนย์ควบคุม 5 แห่งทั่วประเทศ 4 ภาค + 1 ส่วนกลาง ตอนนี้ระบบของเราพร้อม รอประเทศเพื่อนบ้านให้พร้อมตาม ก็สามารถเชื่อมโยงกันได้ทันที
ปี 2015 ถึงจะมี AEC ก็คงมีแค่ MOU แต่ยังไม่มีระบบไฟฟ้าจริงๆ เพราะต้องรอเพื่อนบ้านให้พร้อมด้วย อันนี้ต้องใช้เงินอีกเยอะ

ไทยมีแหล่งพลังงานในประเทศน้อย ลิกไนต์แม่เมาะใกล้หมดแล้ว ในอนาคตต้องพึ่งพลังงานภายนอกเกือบ 100% ก็มีความลำบากในการหาแหล่งพลังงาน ถ่านหินก็ลำบาก นิวเคลียร์ก็ลำบาก คงต้องซื้ออย่างเดียวจากลาวและพม่า

แนวคิดด้านความร่วมมือพลังงานของอาเซียน


มีอยู่สองแนวทางหลักๆ
RPTCC (Regional Power Trade Coordination Committee)
เป็นความร่วมมือในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง (GMS) ตอนนี้ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่เป็นรูปธรรม โครงสร้างการดำเนินงานอยู่ภายใต้ รมว. พลังงานของ GMS
อนาคตมีแนวคิดจะพัฒนาเป็นศูนย์ RPCC (Regional Power Community Committee) เป็นศูนย์ควบคุมการส่งไฟฟ้าของลุ่มน้ำโขง เช่น ไทยจะซื้อไฟจากเวียดนาม จะต้องผ่านศูนย์นี้ อันนี้เป็นแนวคิดที่ยังไม่รู้ว่าจะเกิดเมื่อไร ตอนนี้ยังหาสถานที่ตั้งศูนย์ไม่ได้ ถึงแม้ทุกประเทศจะสนใจให้ศูนย์ไปอยู่ในประเทศของตัวเอง แต่ประเทศที่มีเงินก็มีโอกาสสูงกว่า ผมว่าน่าจะเป็นประเทศจีนได้ไป
ไทยเราก็อยากมีแต่เรื่องเงินคงแพ้ แต่ไม่ว่าศูนย์ไฟฟ้าจะอยู่ที่ไหน ประเทศไทยคงได้ประโยชน์เพราะที่ตั้งเราอยู่ตรงกลาง
HAPUA (Head of ASEAN Power Utilities Authority)
เป็นความร่วมมือระดับอาเซียน การดำเนินงานขึ้นกับ AMEM (รัฐมนตรีพลังงานอาเซียน) มีการจัดประชุมทุกปี

โครงสร้างเดิมของ HAPUA มีมานานพอสมควร มีการประชุมทุกปีแต่ผลงานไม่ค่อยคืบหน้า และการมีคณะทำงานมากถึง 8 คณะต้องใช้คนเยอะ มีการประชุมของทุกคณะทำงานเยอะมาก มากเกินไป จึงมีแนวคิดว่าจะลดโครงสร้างของ HAPUA ให้เล็กลง ลดคณะทำงานเหลือ 5 คณะแต่ทำงานได้เท่าเดิม ให้แต่ละประเทศเป็นประธาน-รองประธานในแต่ละกลุ่ม แล้วผลัดเปลี่ยนกันไป ประเทศไทยจะได้เป็นประธานกลุ่มที่ 2 โดยมีเวียดนามเป็นรองประธาน

แนวคิดของ RPTCC และ HAPUA คล้ายๆ กันคือการซื้อขายไฟในประเทศสมาชิก กรณีของ HAPUA ทำแผนเสร็จแล้ว 16 โครงการตามที่คุณไกรสีห์พูดไปแล้ว
ปัญหาของการเดินตามแนวทางนี้คือ ระบบสายส่งของประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้คนอื่นมาใช้ได้นอกจาก กฟผ. เพียงรายเดียว (single buyer ผู้ขายไฟรายอื่นต้องขายให้ กฟผ. ก่อน) ถ้าจะเชื่อมโยงระบบต้องเปลี่ยนระบบส่งแบบนี้ให้ได้ก่อน

ความต้องการไฟฟ้าตามแผน PDP ของประเทศไทย


ตามแผน PDP 2010 ฉบับปัจจุบัน ถ้าไม่ทำอะไรเพิ่มกับมันเลยเลย มีกำลังผลิตเท่าใดก็ใช้ต่อไปเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไปกำลังผลิตจะลดลง เพราะโรงไฟฟ้าเก่าจะถูกปลดจากระบบ จากปัจจุบันประมาณ 30,000 MW จะเหลือประมาณ 10,000 กว่าในประมาณปี 2573 ดังนั้นเราต้องหาแหล่งผลิตใหม่ๆ เข้ามา

ในปี 2573 ตามที่คาดกันไว้ ประเทศไทยจะมีความต้องการไฟฟ้าสูง 53,000 MW และตามระเบียบแล้ว จะต้องมีกำลังผลิตสำรองเผื่อไว้อีก 15%
ตามแผนถึงปี 2562 มีแผนแน่นอน สบายใจได้ว่ามีไฟพอใช้ แต่หลังจากนั้นยังไม่มีความแน่นอน เพราะความซับซ้อนของระบบไฟมีมาก ยังไม่รู้ว่าจะเอานิวเคลียร์ดีไหม เอาถ่านหินดีไหม ซื้อไฟจากต่างประเทศได้ไหม ดูจะถูกคัดค้านทุกเรื่อง เลยวางแผนไม่ได้ อะไรจะเกิดก็คงต้องเกิด (หัวเราะ)

เราพยายามจะหาแหล่งผลิตที่มีต้นทุนต่ำสุด เพื่อให้ค่าไฟฟ้าถูกที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ การซื้อไฟจะคิดเป็น 15% ของพลังงานในประเทศ ที่เหลือก็ต้องหาวิธีผลิตด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งที่ กฟผ. ทำเองหรือซื้อไฟจากเอกชน
ASEAN Power Grid คงเริ่มเซ็นสัญญาในปี 2015 แต่ในการทำงานจริงๆ คงต้องหลังจากนั้น
ระบบส่งเป็นหัวใจของการซื้อขายไฟ ถ้าไม่มีระบบส่งก็ซื้อขายไฟไม่ได้ ซึ่งประเทศไทยก็ทำระบบไปเยอะแล้ว เช่น ซื้อจากหงสาก็เข้ามาที่แม่เมาะ ถ้าจากลาวตอนกลาง (เช่น น้ำงึม) จะเข้ามาที่อุดร ส่วนทางใต้อาจเข้ามาที่ปากเซ จะเข้ามาที่สถานีอุบลราชธานี 3 ส่วนใหญ่ ครม. อนุมัติให้ก่อสร้างแล้ว

3) การเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติอาเซียน

วิชัย พรกีรติวัฒน์
ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต่ำและก๊าซธรรมชาติ
ปตท.

แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน

การเชื่อมโยงของอาเซียน (ASEAN Connectivity) แบ่งออกเป็น 3 มิติใหญ่ๆ
  • ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
  • ด้านกฎระเบียบ
  • ด้านประชาชน


อาเซียนแบ่งกลยุทธ์การเชื่อมโยงระหว่างกันออกเป็น 7 กลยุทธ์ โดยพลังงานเป็นกลยุทธ์ที่ 7 เน้น การเชื่อมโยงพลังงานไฟฟ้า (ASEAN Power Grid) ที่ กฟผ. ดูแล และ ด้านท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (Trans-ASEAN Gas Pipeline) ที่ ปตท. ดูแล
โครงการเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติอาเซียน (Trans-ASEAN Gas Pipeline) เริ่มพูดคุยมาตั้งแต่ปี 2540 ลงนามในปี 2545 (2002) แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก

ในปี 2554 มีการพูดคุยกันอีกรอบว่าน่าจะเซ็น MOU ใหม่เพราะของเดิมเริ่มล้าสมัย ร่าง MOU ใหม่มีเป้าหมายเหมือนเดิม แต่วิธีการเปลี่ยนไป เพราะเทคโนโลยีเดิมมองการส่งทางท่อเป็นหลัก แต่ปัจจุบันมีเรื่อง LNG มาแทน ซึ่งก็เข้าทาง ปตท. เพราะมีระบบ LNG อยู่แล้ว เป็นระบบทดแทนกรณีการส่งผ่านท่อมีปัญหาได้ด้วย
กลยุทธ์เดิมของแผน Trans-ASEAN Gas Pipeline มองเรื่องพหุภาคี (multilateral) เป็นหลัก แต่ MOU ใหม่จะใช้ทวิภาคี (bilateral) แทน เพื่อแก้ปัญหาการเจรจาให้รวดเร็วขึ้น

ตาม MOU ใหม่มีองค์กรดูแล 3 เรื่อง คือ Petronas, Pertamina, PTT ดูเรื่องเทคนิค LNG

จากกราฟ สีเขียวคือความสามารถในการผลิตก๊าซ ส่วนสีชมพูคืออัตราการบริโภคก๊าซ
อัตราการบริโภคก๊าซ ของไทยมี demand มากกว่า supply (net import)
ส่วนมาเลเซีย บรูไน อินโด มี supply มากกว่า demand (net export) ราคาก๊าซไทยจึงขึ้นกับราคาก๊าซภายนอกด้วย

อีก 20 ปีข้างหน้า ความต้องการก๊าซจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า ส่วนก๊าซในอ่าวไทยจะหมดหรือไม่ ขึ้นกับราคาก๊าซในประเทศว่าจะถูก-แพงแค่ไหนด้วย
ในปี 2573 จะมีความต้องการก๊าซประมาณ 35000 คิวบิกฟุตต่อวัน ซึ่งเกินกว่าก๊าซทางท่อจะรองรับได้ ตรงนี้ LNG จะเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระตรงนี้

แผนที่ท่อส่งก๊าซในอาเซียน (สีแดง=มีอยู่แล้ว, สีเขียว=กำลังจะทำ, สีน้ำเงิน = แนวคิด)

ขอนอกเรื่องนิดนึง สื่อมวลชนลงเยอะว่าราคาก๊าซธรรมชาติในไทยแพงกว่าในสหรัฐมาก ถ้าดูจากแผนผังที่ผมนำมา ราคาก๊าซธรรมชาติอเมริกาในตลาด Henry Hub ตกลงเยอะ เหตุเพราะเจอแหล่งใหม่ในชั้นหินเชลล์ (shell gas) ทำให้ supply มากกว่า demand
แต่นั่นไม่ใช่ราคา LNG เป็นราคาก๊าซดิบ ทำให้ราคา HenryHub ดูถูกกว่าตลาดอื่นๆ แต่ถ้าผลิตเป็น LNG แล้วนำมาขายในไทย ค่าใช้จ่ายจะพอๆ กัน และถ้าดูราคาก๊าซในตลาดอื่นจะเห็นว่าไม่ต่างกันเท่าไร

ความท้าทายของการเชื่อมโยงก๊าซในอาเซียนมีหลายประการ ที่น่าสนใจคือคุณสมบัติของก๊าซในแต่ละแหล่งที่แตกต่างกันไป เช่น ก๊าซพม่ามีไนโตรเจนเยอะ ก๊าซในอ่าวไทยมีคาร์บอนไดออกไซด์เยอะ เอามาปนกันก็มีปัญหา

4) ประเทศไทยกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้านพลังงาน

ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทิศทางพลังงานของอาเซียน

ตอนนี้ประเทศไทยนำเข้าพลังงานคิดเป็น 60% ของพลังงานที่ใช้ทั้งประเทศ ในปี 2020 ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 80% และมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ
ในอาเซียน พลังงาน oil & gas เป็นสิ่งสำคัญที่สุด
  • อาเซียนเป็น net importer นำเข้า oil
  • อาเซียนเป็น net exporter ส่งออก gas
ความต้องการพลังงานของประเทศอาเซียนจะมากขึ้นเรื่อยๆ และในอีก 20 ปีข้างหน้า อาเซียนจะต้องพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงมากขึ้น ทีนี้ปัญหาขึ้นกับราคาที่เหมาะสมว่าควรเป็นเท่าไร เพราะถ้าเรายินดีสู้ทุกระดับราคา ยังไงก็หาแหล่งพลังงานได้ แต่เรามีกำลังจำกัดที่ราคาระดับหนึ่ง ก็จะมีข้อจำกัดในการหาแหล่งพลังงานมากขึ้น
ในอดีตมีการวางยุทธศาสตร์ gas pipeline เอาไว้ ตอนนี้ก็เปลี่ยนมาเป็น LNG แทน ทำให้ gas pipeline มีความสำคัญลดลง

Renewable Energy

ประเทศอาเซียนส่วนใหญ่อยู่ในเขตศูนย์สูตร สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้ และมีศักยภาพเรื่องพืชพรรณที่สังเคราะห์แสงมาก ทำให้ศักยภาพของ biofuel เยอะมากอีกต่อหนึ่ง แต่ก็มีปัญหาว่าคลื่นลมน้อย ซึ่งสถานการณ์กลับกันกับประเทศซีกโลกเหนือ-ใต้ ที่คลื่นลมเยอะ แต่แดดน้อย
อาเซียนมีศักยภาพเรื่อง renewable energy มาก แต่ปัจจุบันยังใช้น้อยเพราะต้นทุนมันสูง แต่ธุรกิจก็น่าจะเติบโตในอนาคตได้
ในอนาคต อาเซียนจะถูกครองโดย biofuel เป็นหลัก ก๊าซจะยังเป็นหลักอยู่ แต่สัดส่วนการใช้ก๊าซจะลดลงเพราะร่อยหรอลงเรื่อยๆ

ถ่านหิน: ทางเลือกที่เลี่ยงไม่ได้

เรายังมีพลังงานสำรองอีกอันที่คนไม่ค่อยพูดถึงเพราะภาพลักษณ์ไม่ดีคือถ่านหิน ซึ่งคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ในระยะยาว (แม้พม่าเพิ่งจะล้มโครงการไป) ถ่านหินอาเซียนมีในเวียดนามและอินโดนีเซีย
แม้ว่าตอนนี้ เราจะต้องการใช้แต่พลังงานสะอาด คือก๊าซธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่มันจะร่อยหรอลงเรื่อยๆ ราคาย่อมเพิ่มขึ้น ต้องดูว่าในความเป็นจริงแล้ว อาเซียนจะยอมรับเรื่องพลังงานสะอาดแต่แพงแบบนี้ได้ไหม อาเซียนพร้อมสู้ทางเศรษฐกิจได้ไหม ผมเชื่อว่าไม่ได้ ดังนั้นเราต้องใช้พลังงานอย่างอื่น เช่น ถ่านหิน เข้ามาเพิ่มด้วย
ปัจจุบันอินโดนีเซีย ส่งออกถ่านหินเยอะอยู่ ส่งออกมาไทยด้วย แต่อนาคต อินโดนีเซียเองจะหันมาใช้ผลิตไฟฟ้าในประเทศด้วยถ่านหินมากขึ้น ส่งออกน้อยลง เงื่อนไขตรงนี้จะมาบีบประเทศไทยให้ต้องปรับตัว ต้องวางแผนว่าจะทำอย่างไร
อาเซียนในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา มีอัตรา energy intensity (ประสิทธิผลของการใช้พลังงานต่อสภาพเศรษฐกิจในประเทศ) ดีขึ้นเล็กน้อย อันนี้แปลว่าเรายังพัฒนากันไม่ดีเลย แต่มองในแง่ดีก็คือ ยังมีโอกาสปรับปรุงอีกมาก
ประเด็นก๊าซเรือนกระจกยังจะเป็นปัญหา เพราะคนเยอะขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น ก๊าซเรือนกระจกจะเยอะขึ้น
อีก 20 ปีข้างหน้า ความต้องการพลังงานอาเซียนจะเพิ่ม 70% โดยถ่านหินจะเพิ่มสูงสุด เราต้องเตรียมตัว แม้ว่าตอนนี้คนที่ยุ่งกับถ่านหินจะสกปรกในตอนนี้
ตอนนี้เราพึ่งพาก๊าซ 70% และตามแผน PDP พยายามจะกระจาย (diversify) แหล่งพลังงาน ซึ่งในความเป็นจริงทำได้ยาก เพราะการคัดค้านจากสังคม และเสถียรภาพด้านการเมือง ความไม่แน่นอนสูง

พลังงานไฟฟ้า

สัดส่วนของไฟฟ้ากับเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ จะเพิ่มสูงขึ้นมาก เพราะการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมเมือง ประชาชนต้องการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น ต้องการไฟฟ้า
ถ้ามองในระยะไกล ASEAN Power Grid มีความสำคัญแน่นอน แต่ต้องมองเรื่องเศรษฐกิจให้ชัดด้วย จากนั้นค่อยมาดูเรื่องการแก้กฎหมาย เช่น open access หรือการเปิดให้ผู้ค้าไฟรายอื่นมาใช้สายส่ง ถ้าประสานผลประโยชน์ลงตัว โครงการเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นได้

ทิศทางพลังงานอาเซียน

สถานะของประเทศไทยเป็น net importer ซึ่งจะ import มากขึ้นเรื่อยๆ แต่อยู่ใน ASEAN ที่เป็น net expoter ที่มีทรัพยากรมากพอสมควร (แต่ไม่ถึงกับคำว่ามหาศาล) เราสามารถร่วมกับอาเซียนเพื่อให้เราได้ประโยชน์ แต่ต้องหาวิธีที่ทุกประเทศได้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ไม่ใช่ไทยได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว
ประเด็นอื่นๆ นอกจาก power grid และ gas pipleline ก็ควรดูเรื่อง efficiency, ASEAN on Coal ซึ่งมีแนวทางความร่วมมืออยู่แล้ว แต่ยังขาดความสนใจจากฝั่งรัฐบาลอย่างจริงจังเท่านั้น
efficiency หรือการทำให้ภาค demand มีการใช้พลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันนี้ต้องนำเทคโนโลยีมาช่วย
ทุกวันนี้ไทยยังลงทุนในโครงการพลังงานเดิมๆ แต่ไม่ค่อยรู้โครงการของเพื่อนบ้านเท่าไรนัก ต้องหาข้อมูลให้มากกว่านี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น