วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ย้อนรอยปิโตรเลียมไทย ตอนที่ 5 :รัฐบาลกับการจัดการความเสี่ยงในธรุกิจปิโตรเลียม

source : http://www.thainews-online.com/index.php?mo=3&art=597560

หลายคนคงเคยสงสัยว่า ทำไมภาครัฐจึงไม่เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการสำรวจขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียมเสียเอง เพื่อที่จะได้เป็นเจ้าของผลประโยชน์จากทรัพยากรมูลค่ามหาศาลที่เรามีอยู่อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แทนที่จะปล่อยให้ผลประโยชน์เหล่านี้ตกเป็นของบริษัทเอกชน

คำตอบก็คือในอดีตรัฐก็เคยมีความคิดเช่นนั้น ในช่วงแรกของการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมในประเทศ จึงเป็นงานที่สงวนและดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐทั้งสิ้น แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องบุคลากรที่มีความรู้ทางวิชาการด้านปิโตรเลียม รวมถึงขั้นตอนการสำรวจและผลิตซึ่งต้องใช้เครื่องมืออุปกรณ์ เทคโนโลยีราคาแพงที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้การขุดเจาะสำรวจแต่ละหลุมต้องใช้เงินลงทุนไม่น้อย
อีกทั้งความรู้ หรือ Know-how ในการสำรวจปิโตรเลียมมีจำกัดจึงยังไม่สามารถที่จะมั่นใจได้ว่าหลุมที่เจาะลงไปนั้นจะเจอน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติและจะคุ้มค่ากับการลงทุนจำนวนมหาศาลหรือไม่ ทำให้รัฐมีความจำเป็นต้องให้เอกชนเข้ามาเป็นผู้ช่วยรับความเสี่ยงในเรื่องนี้แทนในลักษณะของการให้สัมปทาน โดยที่รัฐเป็นผู้รับบทบาทในการกำกับดูแล ร่วมเรียนรู้วิธีการทำงานและดูแลผลประโยชน์ของประเทศในรูปแบบของการเก็บค่าภาคหลวงและภาษีต่างๆ เมื่อมีการผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งที่เอกชนได้สำรวจและผลิต

อย่างไรก็ดี ตามข้อมูลที่ได้มีการบันทึกไว้ทำให้เราได้เห็นถึงความพยายามของรัฐที่จะทำการสำรวจหาปิโตรเลียมโดยที่รัฐยังคงความเป็นเจ้าของ ตั้งแต่ช่วงสมัยของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ที่ได้ว่าจ้างนักธรณีวิทยาชาวอเมริกัน ชื่อ Wallace Lee ให้เข้ามาทำการสำรวจหาปิโตรเลียมในแหล่งฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และที่กาฬสินธุ์ เมื่อปีพ.ศ.2464 แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากอุปกรณ์ในการสำรวจในยุคนั้นยังไม่ทันสมัย

จนมาถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2492 หน่วยงานภาครัฐ โดยกรมโลหะกิจ หรือก็คือกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในปัจจุบัน ได้สั่งซื้อเครื่องเจาะแบบหมุน จากประเทศเยอรมัน มาทำการเจาะสำรวจด้วยตัวเอง จนกระทั่งพบน้ำมันดิบและได้เริ่มทดลองผลิต แต่ทำได้ไม่นานก็ต้องหยุดไป เนื่องจากไม่มีงบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์มาตรฐานเพื่อมาเตรียมหลุมผลิตในเชิงพาณิชย์

ต่อมา เมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณ ในช่วงปีพ.ศ. 2498-2499 กรมโลหะกิจ จึงได้จัดซื้อเครื่องเจาะแบบหมุนชนิดติดตั้งบนรถบรรทุก จากประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งอุปกรณ์การผลิต เครื่องสูบน้ำมันและเครื่องอัดซีเมนต์ มาใช้ในกิจการขุดเจาะน้ำมันดิบที่แหล่งฝาง แต่สามารถผลิตน้ำมันดิบได้เพียง 3 หลุม จากการเจาะไปทั้งหมด 9 หลุม จึงจำต้องโอนกิจการน้ำมันฝางให้กับกรมพลังงานทหารไปดำเนินงานต่อตามมติคณะรัฐมนตรี จนเมื่อ พ.ศ. 2504 รัฐบาลจึงได้ประกาศเชิญชวนเอกชนให้มายื่นขอสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย เพื่อเข้ามารับความเสี่ยงด้านการลงทุนแทนรัฐ


การขุดเจาะหลุมเพื่อสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย ถือเป็นงานที่ท้าทายในยุคนั้น เพราะบริษัทที่เข้ามาลงทุนต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ ควบคู่กับเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย รวมถึงต้องมีเงินลงทุนและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเพื่อรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเนื่องจาก ในการขุดเจาะแต่ละหลุมนั้นใช้งบประมาณหลายสิบล้านบาท หากขุดไปแล้วพบน้ำมันดิบหรือก๊าซธรรมชาติในปริมาณน้อย หรือไม่พบเลย ก็ถือเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาและทันสมัยมากยิ่งขึ้น ทำให้ย่นระยะเวลาในการขุดเจาะลง และใช้งบประมาณน้อยลงกว่าเดิม

หากเราเข้าใจในหลักของการทำธุรกิจ คงต้องยอมรับว่าเมื่อคนลงทุนต้องแบกรับความเสี่ยงที่สูง ก็ต้องได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม โดยเฉพาะในธุรกิจของการสำรวจปิโตรเลียมในประเทศไทย และยิ่งในช่วงแรกที่รัฐยังขาดแคลนทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ ความรู้ด้านวิชาการ และความเชี่ยวชาญ อีกทั้งมีงบประมาณที่จำกัด ยุคนั้นจึงได้หลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าว เพราะอาจหมายถึงความสูญเปล่าทางด้านงบประมาณ ในขณะที่รัฐเองยังมีความจำเป็นที่จะต้องทำการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านอื่นๆ ให้กับประชาชนและประเทศซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการดำเนินงานเช่นกัน

ข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและเว็บไซต์กรมการพลังงานทหาร

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอทราบ งานเกี่ยวกับกับการรื้อแทน กำมติหรือการจะจัดการอย่างไร่ครับ

    ตอบลบ