วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ย้อนรอยปิโตรเลียมไทยตอนที่ 9:ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย สู่ยุคโชติช่วงชัชวาล

source : http://www.thainews-online.com/index.php?mo=3&art=618659

การค้นพบปิโตรเลียมในอ่าวไทย เมื่อกว่า 30 ปี ที่ผ่านมา ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศให้เข้าสู่ยุคที่เรียกว่า “โชติช่วงชัชวาล” ด้วยประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้มากขึ้น จนถึงปัจจุบัน ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ก็ยังคงเป็นพระเอกของแหล่งพลังงาน ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า เชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม เชื้อเพลิงยานพาหนะ ก๊าซหุงต้ม และวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี


ธุรกิจสำรวจและการผลิตก๊าซนำมาซึ่งรายได้ของรัฐบาลทั้งในรูปค่าภาคหลวง และภาษีเงินได้ ก่อเกิดการลงทุนในธุรกิจต่อเนื่อง และการขยายตัวของเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศหลังการบรรลุข้อตกลงซื้อขายก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณ ในปี พ.ศ. 2521 ระหว่าง บริษัท ยูโนแคล ซึ่งปัจจุบันคือ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กับภาครัฐ ทำให้เกิดแหล่งก๊าซธรรมชาติเชิงพาณิชย์แหล่งแรกในอ่าวไทย โดยใช้ชื่อว่า “แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ” มีความหมายอันเป็นมงคลคือพลังของช้างสามเศียร ซึ่งเป็นช้างทรงของพระอินทร์ จนในปี พ.ศ. 2524 แหล่งเอราวัณได้มีการผลิตก๊าซธรรมชาติขึ้นเป็นครั้งแรก นำประเทศไทยเข้าสู่ยุคโชติช่วงชัชวาลอย่างแท้จริง


เพื่อสอดรับกับการผลิตก๊าซธรรมชาติที่กำลังจะเกิดขึ้น ปตท. จึงได้มีการลงทุนวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติใต้ทะเล ที่ยาวที่สุดในโลกในขณะนั้น (425 กิโลเมตร) มาขึ้นฝั่งที่จังหวัดระยอง พร้อมกับการลงทุนสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งที่ 1 เพื่อแยกส่วนประกอบของก๊าซธรรมชาติ ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรม เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือนในรูปของก๊าซหุงต้ม และเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องตามมานับจากแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณอ่าว ประเทศไทยจึงมีการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ แหล่งบงกช แหล่งไพลิน แหล่งปลาทอง หรือแหล่งบนบกเช่น แหล่งสิริกิติ์ และแหล่งน้ำพอง เป็นต้น


ตามข้อมูลที่ได้มีการบันทึกไว้ ทำให้ทราบว่า นับจากการเจาะหลุมแรกในอ่าวไทย(หลุมสุราษฎร์-1) ถึงปัจจุบัน มีผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมได้เจาะหลุมปิโตรเลียมแล้วรวมกัน ประมาณ 5,000 หลุมจากแหล่งปิโตรเลียมที่มีอยู่เกือบ 40 แหล่ง คิดเป็นส่วนแบ่งผลประโยชน์ที่รัฐได้รับมากกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี นับเป็นเม็ดเงินจำนวนไม่น้อยในการนำไปจัดสรรเป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ หากเราลองเปรียบเทียบให้ประเทศไทยเป็นเสมือนร่างกายของมนุษย์ ปิโตรเลียมในอ่าวไทยก็คงเป็นเหมือนแหล่งอาหารหรือพลังงานที่คอยหล่อเลี้ยงร่างกายให้เราสามารถมีแรงออกไปกระโดดโลดเต้นแข่งขันกับคนอื่นๆ ในเวทีโลกได้


ข้อมูลอ้างอิง; จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น