วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ย้อนรอยปิโตรเลียมไทย ตอนที่ 1 : มารู้จัก “ปิโตรเลียม” กันเถอะ

source : http://www.thainews-online.com/index.php?mo=3&art=580563

หากพูดถึง “น้ำมัน” แล้ว หลายคนคงคุ้นเคยกับคำนี้เป็นอย่างดี เพราะน้ำมันได้เข้ามาเกี่ยวข้องในการดำเนินชีวิตและอยู่ในเกือบทุกกิจกรรมของเราเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะในการทำงาน การท่องเที่ยว หรือการเดินทาง ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ รวมไปถึงของกินของใช้ที่เราบริโภคกันทุกเมื่อเชื่อวันนั้น ก็ล้วนมีน้ำมันเป็นต้นทุนอยู่ในนั้นแล้วทั้งสิ้น



แต่ถ้าพูดถึง “ปิโตรเลียม” คนจำนวนไม่น้อยอาจจะไม่ค่อยกระจ่างในคำจำกัดความของมันนักและหลายคนคงคิดว่าปิโตรเลียมก็คืออันเดียวกันกับ “น้ำมัน” นั่นแหละ ดังนั้นวันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ “ปิโตรเลียม” กัน แล้วจะรู้ว่า “ปิโตรเลียม” แท้ จริงแล้วต่างจากน้ำมันอย่างไร และเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากแค่ไหน “ปิโตรเลียม” นั้น เกิดมาจากซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมกันเป็นเวลาหลายล้านปีจนมีการแปรสภาพเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เป็นได้ทั้งของแข็ง ของเหลว และก๊าซ ซึ่งประกอบด้วยธาตุหลัก คือ คาร์บอนและไฮโดร เจน รวมกันประมาณ 95% ส่วนที่เหลืออาจมีธาตุอื่นปะปนอยู่ด้วย เช่น กํามะถัน ออกซิเจน ไนโตรเจน

“ปิโตรเลียม” มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินคำว่า “เพทรา” (Petra) ที่แปลว่า หิน และคำว่า "โอลิ-อุม" (Oleum) ซึ่งแปลว่า น้ำมัน และเมื่อนำมาแปลรวมกัน ก็จะได้ความหมายว่า น้ำมันที่ได้มาจากหินนั่นเอง ซึ่งจากเหตุนี้อาจทำให้หลายคนเข้าใจไปว่า “ปิโตรเลียม” คือน้ำมัน แต่จริงๆ แล้ว น้ำมันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “ปิโตรเลียม” เท่านั้นเอง เพราะถ้าเรานำ “ปิโตรเลียม” มาแยกตามสภาพทางธรรมชาติแล้ว เราจะได้ผลิตภัณฑ์หลักสองส่วนสำคัญ นั่นคือน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งโดยปกติน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติมักจะเกิดร่วมกันในแหล่งปิโตรเลียม แต่บางแหล่งอาจมีเฉพาะน้ำมันดิบหรือก๊าซธรรมชาติอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้

ทีนี้เราลองมาดูกันอย่างเจาะลึกเข้าไปอีกหน่อยถึงกระบวนการนำปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์ว่าเค้านำไปแปรรูปเป็นอะไรได้บ้าง โดยเริ่มต้นที่การสำรวจพบแหล่งปิโตรเลียมเมื่อค้นพบแล้ว บริษัทที่ทำธุรกิจด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียมก็จะตั้งแท่นทำการผลิตและแยกปิโตรเลียมออกมาเป็น 2 ส่วนคือ น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ โดยในส่วนของน้ำมันดิบจะส่งไปยังโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อแปรสภาพและปรับปรุงคุณภาพให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า อาทิเช่น น้ำมันเบนซิน (gasoline), น้ำมันดีเซล (diesel), น้ำมันก๊าด (kerosene), น้ำมันเตา (fuel oil), น้ำมันหลื่อลื่น (lubricant) และยางมะตอย (asphalt)


ในขณะที่ก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่จะขนส่งโดยทางท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อนำไปเข้าสู่โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะแยกสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ผสมกันอยู่หลากหลายชนิดออกมา ได้แก่ มีเทน , อีเทน , โพรเพน , บิวเทน, เพนเทน , เฮกซ์เซน และอื่น ๆ โดยก๊าซมีเทนจะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิต กระแส ไฟฟ้า เชื้อเพลิงในอุตสาหกรรม เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตปุ๋ย และใช้เป็นเชื้อเพลิงรถโดยสารเอ็นจีวีที่วิ่งกันอยู่ทั่วเมือง ก๊าซอีเทนและโพรเพนใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่รู้จักกันเป็นอย่างดีว่า LPG ประกอบด้วยโพรเพนและบิวเทน ส่วนแก๊สโซลีนธรรมชาติ ก็จะส่งเข้าโรงกลั่นน้ำมันเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันเบนซินอีกต่อหนึ่ง

ถึงตอนนี้ ท่านผู้อ่านคงเกิดความกระจ่างแล้วว่า “ปิโตรเลียม” นั้นแท้จริงแล้วเป็นต้นกำเนิดของผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท และอยู่เบื้องหลังความสะดวกสบายต่างๆ ของเรามาอย่างยาวนาน ซึ่งเราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “ปิโตรเลียม” เป็นมากกว่า “น้ำมัน” สารพันประโยชน์ทีเดียว

ข้อมูลอ้างอิง; จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น