วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

มตินานาชาติรับมือ'ก๊าซ'ถล่มโลก



"ใช้ถุงผ้าไม่เอาพลาสติก" "ปิดไฟ-ลดแอร์" "ปั่นจักรยานลดควันพิษ" ฯลฯ คำพูดเหล่านี้ในอีก 8 ปีข้างหน้าจะไม่ใช่แค่พูดเท่ๆ ของพวกอิงกระแสลดโลกร้อนอีกต่อไป เพราะประเทศไทยอาจต้องออกกฎหมายหรือกฎบังคับให้ประชาชนลดการใช้พลังงานฟุ่มเฟือยอย่างจริงจัง เนื่องจากมติของที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 17 หรือ "คอป 17" (17th United Nations Climate Change Conference) จัดขึ้นในเมืองเดอร์บัน สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2554 นั้น ได้กำหนดข้อตกลงใหม่ให้ 194 ประเทศทั่วโลกมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากเดิมที่มีแต่ประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้นที่ถูกบังคับ




สืบเนื่องจากผลงานวิจัยชิ้นใหม่ที่ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า โลกมนุษย์กำลังถูกคุกคามด้วยภาวะโลกร้อน รายงานจาก "เยอรมันวอช" (Germanwatch) เผยแพร่ออกมาว่าอุณหภูมิโลกกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากวันใดเพิ่มขึ้นมากกว่า 3.5 องศาเซลเซียส จะทำให้เกิดภัยแห้งแล้ง อุทกภัย พายุ และระดับน้ำทะเลที่แปรปรวนอย่างรุนแรงขึ้น มนุษย์โลกไม่ต่ำกว่าสิบล้านจะได้รับผลกระทบโดยตรง หากพิจารณาเหยื่อภัยธรรมชาติ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2534 -2553 พบว่ามีภัยธรรมชาติที่เกิดจากสภาพอากาศแปรปรวน 1.4 หมื่นครั้ง ทำให้ผู้เสียชีวิตไปแล้ว 7 แสนคน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบังกลาเทศ พม่า และฮอนดูรัส สอดคล้องกับรายงานจากสหประชาชาติเมื่อเดือนพฤศจิกายนระบุว่าจากการเก็บสถิติต่อเนื่อง 160 ปี ตั้งแต่พ.ศ.2393 ปรากฏว่าปี 2554 ถือเป็นปีที่อุณหภูมิทั่วโลกร้อนมากจนทะลุกลายเป็นอันดับ 10



การประชุมคอป 17 เดิมกำหนดไว้ให้สิ้นสุดในวันที่ 9 ธันวาคม แต่ผู้แทนแต่ละประเทศถกเถียงกันอย่างเมามัน มีการประท้วงต่อรองกันหลายแง่มุม ทั้งสหภาพยุโรป, อินเดีย, จีน และสหรัฐ สุดท้ายแคนาดาประกาศถอนตัวออกไปอย่างกะทันหัน ทำให้การประชุมต้องขยายเวลาจนถึงวันที่ 11 ธันวาคม ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ในปี 2555 ทุกประเทศจะส่งตัวแทนมาเริ่มกระบวนการร่างข้อตกลงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกฉบับใหม่ เพื่อให้มีผลผูกพันทางกฎหมาย และให้มีผลบังคับใช้ได้ในปี 2563 เนื้อหาสำคัญของข้อตกลงนี้ คือ ทุกประเทศต้องเสนอตัวเลขมาว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร โดยเน้นก๊าซเรือนกระจก 6 ชนิด คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน ก๊าซเปอร์ฟูลออโรคาร์บอน และ ก๊าซเฟอร์เฮ็กซาฟลูโอไรด์



หลังการประชุมสิ้นสุดลง "พิทยา พุกกะมาน" ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ชัดเจน เพื่อให้ประเทศภาคีอื่นยอมรับว่ามีการปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าวแล้ว ขณะนี้ประเทศไทยได้เตรียมพร้อมรองรับผลกระทบจากโลกร้อน โดยพยายามเพิ่มขีดความสามารถในการพยากรณ์อากาศ การจัดทำยุทธศาสตร์รองรับภัยพิบัติระยะยาว ฯลฯ



คนไทยอาจคิดว่าตัวเองเป็นประเทศเล็กๆ ปล่อยก๊าซทำโลกร้อนไม่มากนัก หารู้ไม่ว่าไทยอยู่อันดับ 22 จากทั้งหมด 216 ประเทศทั่วโลก ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลคาร์บอนไดออกไซด์ (CDIAC) ขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ในแต่ละปีประเทศไทยปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาถึงปีละ 285 ล้านตัน หรือ 1% ของทั้งหมด ส่วนอันดับ 1-5 ได้แก่ จีน 7,031 ล้านตัน (23%) 2 อเมริกา 5,461 ล้านตัน (18%) 3 สหภาพยุโรป 4,177 ล้านตัน (14%) 4 รัสเซีย 1,742 ล้านตัน (6%) 5 ญี่ปุ่น 1,208 ล้านตัน (4%)



ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผอ.สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม หนึ่งในตัวแทนเอ็นจีโอที่ติดตามปัญหาโลกร้อนมาเกือบ 10 ปี เล่าว่า ผลจากการประชุมที่เดอร์บันทำให้ทุกประเทศต้องกลับไปทำการบ้านมาว่า อีก 8 ปีข้างหน้าจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ปีละเท่าไร รัฐบาลไทยต้องวางแผนผลิตไฟฟ้าและพลังงานทางเลือกตั้งแต่วันนี้ ส่วนประชาชนทั่วไปช่วยกันประหยัดพลังงาน เช่น ใช้ระบบขนส่งมวลชน ปิดไฟที่ไม่จำเป็นต้องใช้ ฯลฯ ภาวะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ทุกวันนี้มันส่งผลกระทบถึงไทยแล้ว กรณีน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบจากภูมิอากาศแปรปรวน ทำให้ลมมรสุมมาผิดฤดูกาลหรือมีจำนวนมากกว่าปกติ จากไปนี้ภาคเกษตรกรต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ฤดูกาลทำไร่ทำนาจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม



ขณะที่ รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ นักวิชาการโลกร้อน คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์กติกาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า โดยเฉลี่ยคนไทยทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 5-6 ตันต่อคนต่อปี ในปี 2563 อาจถูกบังคับให้ลดประมาณร้อยละ 5 จากที่ตัวเลขปัจจุบัน หากเปรียบเทียบประชากรชาติอื่นในเอเชียแล้วตัวเลขค่อนข้างสูง การจะรู้ว่าลดหรือไม่ลด ผู้เชี่ยวชาญดูจากปริมาณการใช้พลังงานและไฟฟ้าว่าตัวเลขลดลงหรือไม่ วันนี้รัฐบาลควรเริ่มประชุมหารือกับทุกภาคส่วนว่าจะทำอย่างไร เพื่อจัดทำนโยบายภาครวมของประเทศออกมา เช่น หน่วยงานรัฐจะเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนได้อย่างไรบ้าง ทั้งพลังงานแสงแดด พลังงานลม ต้องพยายามเพิ่มให้ได้เป็นร้อยละ 20 ของพลังงานทั้งหมด ส่วนภาคเอกชนต้องลดการใช้ถ่านหินในโรงงานอุตสาหกรรม ลดใช้ไฟฟ้าเปลี่ยนเป็นหลอดประหยัดพลังงาน เปลี่ยนระบบขนส่ง ฯลฯ เช่นเดียวกัน คนทั่วไปต้องช่วยกันประหยัดพลังงานด้วย



"ภาครัฐอย่าคิดแต่โครงการวันเดียวสั้นๆ เช่น ปิดไฟวันเดียว ใช้ถุงผ้าวันเดียว โลกร้อนส่งผลกระทบถึงทุกคน ต้องไม่คิดว่าทำคนเดียวไม่ได้ผล ถ้าคนอื่นไม่ทำด้วย รัฐต้องสนับสนุนภาคเอกชนและประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่านี้" นักวิชาการโลกร้อนกล่าวแนะนำทิ้งท้าย
 


Source : http://www.komchadluek.net/detail/20120117/120493/%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8B%E0%B8%96%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น