วันเสาร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2555

ใครได้-ใครเสียหากปิดช่องแคบฮอร์มุซ

 อิหร่านจะปิดช่องแคบฮอร์มุซได้จริงตามที่ขู่หรือไม่และการปิดช่องทางขนส่งน้ำมันสำคัญแห่งหนึ่งของโลกแห่งนี้ใครคือผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์



ครั้งสุดท้ายที่อิหร่าน พยายามปิดช่องแคบฮอร์มุซ เส้นเลือดใหญ่การค้าน้ำมันเชื่อมชาติร่ำรวยน้ำมันในอ่าวเปอร์เซียสู่โลกภายนอก ในช่วงทศวรรษหลังปี 2523 กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน ยังมีแค่เรือยาง ไม่กี่ลำและทุ่นระเบิดรุ่นแรกๆสำหรับภารกิจนี้เท่านั้น แต่หากมีครั้งต่อไป อิหร่าน น่าจะต้องเตรียมตัวอย่างดี

สำหรับบรรดาผู้นำสายเหยี่ยวของอิหร่าน ช่องแคบฮอร์มุซ ได้กลายเป็นไพ่ใบสำคัญในเกมการเผชิญหน้ากับตะวันตกมาอย่างยาวนาน


แม้ตระหนักดีว่า อิหร่านไม่มีวันตีเสมอแสนยานุภาพทางทหารของสหรัฐฯ ต่อให้พัฒนาเทคโนโลยีจนถึงทดลองหัวรบนิวเคลียร์ติดขีปนาวุธได้ แต่อาวุธที่ว่า ก็มีโอกาสจะถูกยิงตกในชั่วอึดใจจากหนึ่งในฐานต่อต้านขีปนาวุธหลายร้อยแห่งที่สหรัฐฯติดตั้งประจำการอยู่รอบอ่าวเปอร์เซีย

หนทางโจมตีตะวันตกอย่างได้ผลกว่า จึงน่าจะเป็นการสร้างความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจให้กับประเทศเหล่านั้น


ความสำคัญของช่องแคบฮอร์มุซ คือเป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมัน 20 % ของโลก เชื่อมประเทศส่งออกน้ำมันในอ่าวเปอร์เซีย อย่างบาห์เรน อิหร่าน คูเวต กาตาร์ ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เข้ากับมหาสมุทรอินเดีย โดยเฉลี่ย เรือบรรทุกน้ำมันแล่นผ่านช่องแคบวันละ 14 ลำ ขนส่งน้ำมันวันละประมาณ 17 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ ยังกลายเป็นเส้นทางสำคัญสำหรับเรือบรรทุกแก๊สธรรมชาติเหลว จากประเทศอย่างการ์ตาอีกด้วย


ในห้วงเวลาที่ความตึงเครียดเเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์อิหร่านพุ่งถึงจุดวิกฤติ ไม่เหนือความคาดหมายเท่าไหร่ที่อิหร่านออกมาขู่ปิดช่องแคบฮอร์มุซ หากสหรัฐฯและสหภาพยุโรปใช้มาตรการแซงชั่นอุตสาหกรรมน้ำมันอิหร่าน

การส่งออกน้ำมันสร้างรายได้สกุลเงินต่างชาติให้อิหร่านในแต่ละปีประมาณ 80%หากอิหร่านต้องระงับการส่งออกน้ำมัน ก็จะทำให้รัฐบาลขาดแคลนเงินสด ซ้ำเติมสภาพเศรษฐกิจที่สาหัสอยู่แล้วจากผลของมาตรการคว่ำบาตรที่มีอยู่เดิม

เงิน ริอัล ของอิหร่าน ที่อ่อนค่าลงในปีที่แล้ว 40 % ได้ดิ่งฮวบลงอีก 12 % ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทันทีที่มีข่าวว่า 7 ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) เห็นพ้องมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันอิหร่านตามรอยสหรัฐฯ
แนวโน้มที่จะโดนมาตรการแซงชั่นเพิ่ม ทำให้บรรดาผู้นำทางทหารและการเมืองอิหร่าน ออกมาขู่ปิดช่องแคบฮอร์มุซเพื่อตอบโต้ และพล.อ.อยาโตลเลาะห์ ซาเลฮี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดอิหร่าน ได้ขู่จะโจมตีกองเรือสหรัฐฯ หากพยายามจะขยับเรือบรรทุกเครื่องบินเข้าไปในอ่าวเปอร์เซีย

สำหรับคนจำนวนมาก มองว่าคำขู่อิหร่านไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าการออกมายืดเส้นยืดสายแสดงความแข็งข้อต่อต้านตะวันตกอีกครั้งหนึ่ง ขณะอิหร่านกำลังจะมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในเดือนมีนาคม ทางการเตหะรานต้องการแสดงให้เห็นว่าจะไม่ยอมก้มหัวให้กับการบีบบังคับให้อิหร่านยุติโครงการวิจัยนิวเคลียร์


แต่หากมองเลยไปถึงความไม่เป็นเอกภาพของผู้มีอำนาจในเตหะราน และคาดการณ์ไม่ได้ในหลายครั้ง ตะวันตกไม่สามารถตั้งอยู่ในความไม่ประมาท และจะต้องป้องกันความพยายามขัดขวางเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการค้าโลกไม่ให้เกิดการสะดุด
ขีดความสามารถทางทหารของอิหร่านพัฒนาเรื่อยมานับจากกลางทศวรรษหลังปี 2523 ซึ่งเป็นครั้งหลังสุดที่อิหร่านพยายามขัดขวางการเดินเรือสินค้าในอ่าวเปอร์เซียอย่างตึงเครียด
อิหร่านโกรธแค้นที่สหรัฐฯสนับสนุนซัดดัม ฮุสเซน ผู้นำอิรักเวลานั้นอย่างไม่ปิดบัง ในช่วงสงครามอิรัก-อิหร่าน และได้เริ่มสุ่มโจมตีการเดินเรือของประเทศอ่าวเปอร์เซียที่สนับสนุนอเมริกา อย่างเช่น คูเวต ทำให้กองทัพเรือสหรัฐฯต้องเข้าแทรกแซงในนามของคูเวต

แม้ในแง่แสนยานุภาพ อิหร่านไม่มีอะไรจะไปต่อกรกับกองเรือที่ 5 ซึ่งปฏิบัติการจากบาห์เรนได้ แต่ก็ได้สร้างความปั่นป่วนอย่างมหาศาลทีเดียว และทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกทะยานลิ่ว ด้วยวิธีการง่ายและเร็วคือการทิ้งทุ่นระเบิดในเส้นทางเดินเรืออันสำคัญ ขณะที่กองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติ โจมตีเรือบรรทุกน้ำมันจากเรือยาง ก่อนในที่สุด พลังอาวุธอันเหนือกว่ามากของวอชิงตัน จะเข้าไปสยบความพยายามปิดช่องแคบฮอร์มุซ

กระนั้น ผู้มีอำนาจในอิหร่านปฏิญาณไว้ว่า หากมีความจำเป็นที่จะต้องปิดเส้นทางเดินเรือนี้อีก พวกเขาจะต้องมีหนทางทำเช่นนั้นได้
นับจากนั้น กองทัพอิหร่านได้ทุ่มเวลาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ปรับปรุงยกระดับสมรรถนะทางการทหาร บนสมมติฐานว่าหากมีคำสั่งให้ปิดช่องแคบฮอร์มุซเมื่อไหร่ ก็จะลงมือปฏิบัติการได้ทันที ในเวลาไม่เกิน 2-3 วัน
อิหร่านอาจจะระดมขีปนาวุธปราบเรือ เรือดำน้ำ ทุ่นระเบิดและเรือเล็กอีกหลายพันลำ มาใช้โจมตีการเดินเรือ หากผู้มีอำนาจในอิหร่านตัดสินใจปิดช่องแคบจริง
ผู้บัญชาการระดับสูงอิหร่านมีความมั่นใจในศักยภาพของตนขนาดที่ พล.ร.อ. ฮาบิโบลเลาะห์ ซายารี ผู้บัญชาการกองทัพเรืออิหร่าน ออกมาโอ่เมื่อเร็วๆนี้ว่า การปิดช่องแคบฮอร์มุซ เป็นเรื่องง่ายเหมือนกับดื่มน้ำหนึ่งแก้ว จากนั้น เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าอิหร่านมีศักยภาพทำได้จริง ก็ได้ทำการซ้อมรบ 10 วันเสร็จสิ้นเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยทดลองขีปนาวุธปราบเรือที่มีพิสัยไกลถึง 200 กิโลเมตรในวันท้ายๆ

หลังจากนั้น 2 วัน อิหร่านประกาศว่า กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติจะจัดการซ้อมรบยุทธนาวีในช่องแคบฮอร์มุซ และอ่าวเปอร์เซียในเดือนกุมภาพันธ์ ภายใต้ชื่อรหัสว่า "พระศาสดาผู้ยิ่งใหญ่" เป็นการซ้อมรบประจำปีตลอด 7 ปีที่ผ่านมา
พล.ร.อ.อาลี ฟาดาวี ผู้บัญชาการทหารเรือของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติ กล่าวว่า ครั้งนี้จะแตกต่างจากครั้งก่อน ๆ แต่ไม่ได้เผยรายละเอียด กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติ เป็นหน่วยทหารทรงอิทธิพลที่สุดของอิหร่าน มีกองกำลังทางเรือ อากาศและภาคพื้นดิน เหมือนกับกองทัพตามแบบ นอกจากนี้ ยังรับผิดชอบโครงการขีปนาวุธอิหร่านด้วย

อย่างไรก็ดี แม้อิหร่านสำแดงว่ามีเขี้ยวเล็บแหลมคมกว่าในทศวรรษหลังปี 2523 แต่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยืนยันว่าอิหร่านยังไม่ได้เสี้ยวของแสนยานุภาพสหรัฐฯ


เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯลำเดียว สามารถประจำการระบบโจมตีทางอากาศได้มากกว่ากองทัพอากาศอิหร่านทั้งกอง สอดคล้องกับนักวิเคราะห์ทางการทหารส่วนใหญ่ที่ลงความเห็นไปในทางเดียวกัน การปราบกองทัพอิหร่าน จะใช้เวลาแค่ไม่กี่วันเท่านั้น
เผลอๆการตอบโต้ของสหรัฐฯต่อความพยายามใช้กำลังทหารขัดขวางการเดินเรือในอ่าวเปอร์เซียน จะไม่จำกัดวงที่กองทัพเรืออิหร่านเท่านั้น แต่จะนำไปสู่การที่สหรัฐฯและพันธมิตร ใช้เป็นข้ออ้างทำลายสิ่งปลูกสร้างทางนิวเคลียร์จของอิหร่าน เพื่อยุติวิกฤตินิวเคลียร์ในคราวเดียว
ดังนั้น หากอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซ เท่ากับว่าอิหร่านกำลังเดิมพันอย่างน่าหวาดเสียว จึงเป็นเหตุผลว่า เพราะอะไรนักการเมืองในตะวันตกจึงมองว่า อิหร่านขู่ให้กลัวไปอย่างนั้นเอง เพื่อหวังโน้มน้าวไม่ให้ตะวันตกออกมาตรการแซงชั่นอิหร่านเพิ่มอีก

มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านล่าสุดที่สหรัฐฯเตรียมนำมาใช้บีบบังคับอิหร่านให้ยกเลิกโครงการวิจัยนิวเคลียร์ โดยพุ่งเป้าภาคอุตสาหกรรมน้ำมันและธนาคารกลางอิหร่าน ที่รับผิดชอบรายได้ส่วนใหญ่จากการขายน้ำมัน กับมาตรการจากฝั่งสหภาพยุโรปที่เห็นพ้องแล้วในหลักการว่าจะห้ามนำเข้าน้ำมันอิหร่านแต่กำลังถกกันว่าควรจะเริ่มบังคับใช้เมื่อไหร่นั้น เป็นการโจมตีที่สร้างความเจ็บปวดให้กับอิหร่าน จนเผยให้เห็นความบาดหมางภายใน และบาดแผลเศรษฐกิจที่นับวันจะยิ่งเรื้อรังอันเป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตรหลายรอบก่อนหน้า
เพียงสองวัน หลังจากประธานาธิบดีบารัก โอบามา ลงนามในร่างกฎหมาย ค่าเงินริอัลของอิหร่านดิ่งฮวบทันที 13 % ตามด้วยการวิจารณ์รัฐบาลอย่างเปิดเผยของ นายมาห์มู้ด บาห์รามี ผู้ว่าการธนาคารกลางอิหร่าน ที่เตือนรัฐบาลไม่ให้แทรกแซงตลาด

หลายฝ่ายมองไปในทางเดียวกันว่า มาตรการคว่ำบาตรล่าสุด ไม่น่าจะบีบบังคับให้รัฐบาลและผู้นำศาสนาทรงอิทธิพลในเตหะราน ยอมถอยจากโครงการวิจัยนิวเคลียร์ ที่ตะวันตกปักใจเชื่อว่ามีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสมรรถนะแร่ยูเรเนียมสู่การพัฒนาอาวุธได้ แต่น่าจะเป็นมาตรการที่เพิ่มความเดือดร้อนให้กับชาวอิหร่าน ที่ต้องดิ้นรนอยู่รอดภายใต้มาตรการคว่ำบาตรหลายรอบก่อนหน้านี้มากกว่า

กาลา ไรอานี ผู้เชี่ยวชาญอิหร่านจาก ไอเอชเอส โกลบอล อินไซท์ ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน มักถูกเรียกขานว่าเป็นระบอบพลีชีพ ที่พร้อมจะสังเวยความเป็นอยู่ประชาชน เพื่อที่จะไม่ยอมจำนนต่อแรงกดดัน
รัฐบาลวอชิงตัน ซึ่งกังวลเรื่องราคาน้ำมันพุ่งสูงท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของตัวเอง ได้ชะลอการบังคับใช้มาตรการแซงชั่นอย่างน้อย 6 เดือน กระนั้นก็ตาม เพียงแค่มีสัญญาณออกมา ก็เขย่าตลาดน้ำมันอย่างหนักแล้ว ราคาน้ำมันดิบพุ่งเหนือ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ทันทีที่อิหร่านขู่จะปิดช่องแคบฮอร์มุซหากมาตรการคว่ำบาตรมีผล
ขณะเดียวกัน การเสื่อมค่าของเงินริอัล และการแสดงความเห็นของผู้ว่าธนาคารกลาง เผยให้เห็นว่า อิหร่านไม่อาจปิดบังปัญหาเศรษฐกิจหยั่งรากลึกซึ่งเป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตรต่อประเทศส่งออกน้ำมันใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกได้
นโยบายเศรษฐกิจประชานิยมของประธานาธิบดีมาห์มู้ด อามาดิเนจาดแห่งอิหร่าน ถูกโจมตีว่า เป็นวิธีของโรบิน ฮู้ดที่ประมาท หอบเงินจากคนรวยไปจุนเจือคนจน ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญ ถลุงรายได้จากน้ำมันไปกับโครงการอุตสาหกรรมและชนบทที่ไม่ได้ช่วยยกสถานะเศรษฐกิจในภาพรวม


ความสิ้นหวังทางเศรษฐกิจ เคยเป็นแรงกระเพื่อมให้เกิดการต่อต้านภายใต้ชื่อ "ขบวนการกรีน" และการประท้วงเมื่อปี 2552 ซึ่งเป็นการชุมนุมประท้วงต่อต้านอำนาจรัฐครั้งใหญ่สุดนับจากการปฏิวัติอิสลาม ในปี 2522 ซึ่งอิหร่านปราบปรามอย่างเด็ดขาดอยู่นานหลายเดือน


และนับจากนายอาห์มาดิเนจาด ได้รับเลือกอีกครั้งในปี 2552 เศรษฐกิจดูเหมือนแย่ลงอีก ผู้นำอิหร่านสวนกระแสคำแนะนำนักเศรษฐศาสตร์ เดินหน้าลดการอุดหนุนอาหารและพลังงาน เพื่อลดรายจ่ายรัฐบาล แต่แจกเงินเข้ากระเป๋าคนจนสุดของประเทศโดยตรง ส่งผลให้เงินเฟ้อพุ่งทะยาน ราคาอาหารเพิ่ม 30 % ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะราคานม ปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยเปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่แล้ว

การอ่อนค่าลงอย่างรุนแรงของเงินริอัลต่อดอลลาร์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา น่าจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อ และอิหร่านอาจต้องเผชิญกับแนวโน้มนี้ไปอีกอย่างน้อย 2 ปี ค่าเงินตกต่ำนอกจากเป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตร 4 รอบนับจากปี 2549 แล้ว ยังเป็นเพราะการบริหารการเงินผิดพลาด เช่น รัฐบาลลดอัตราดอกเบี้ยที่ยิ่งกระตุ้นเงินเฟ้อ ขณะนักเศรษฐศาสตร์แนะว่าควรปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น

นักธุรกิจอิหร่านคนหนึ่งกล่าวว่า ในเวลาไม่ถึงปี ค่าเงินอิหร่านเสื่อมลง 40 % ขณะที่ธนาคารให้ดอกเบี้ยแค่ 14 % จึงไม่มีเหตุผลที่จะเก็บเงินไว้ในธนาคาร และหากมาตรการคว่ำบาตรล่าสุดเริ่มใช้เมื่อไหร่ การทำธุรกิจก็จะยิ่งยุ่งยากมากขึ้น

นายมาห์มู้ด บาห์รามี ผู้ว่าการธนาคารกลางอิหร่าน เสนอให้ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อพยุงค่าเงินริอัลและคุมอัตราเงินเฟ้อ พร้อมกับขู่ว่าจะลาออกหากรัฐบาลก้าวก่ายนโยบายการเงิน

กระนั้น ยังไม่แน่นัดว่า ที่สุดแล้ว สหรัฐฯจะปฏิบัติใช้มาตรการคว่ำบาตรน้ำมันส่งออกอิหร่านหรือไม่ เพราะนอกจากมีห่วงเรื่องราคาน้ำมันและภาวะเศรษฐกิจโลกแล้ว ยังจะมีผลให้บริษัทต่างชาติ ต้องเลือกระหว่างการทำธุรกิจกับอิหร่าน หรือสหรัฐอเมริกาไปโดยปริยาย ซึ่งสร้างความลำบากให้กับพันธมิตร อย่าง เกาหลีใต้ที่เผยว่ากำลังเตรียมเจรจาขอยกเว้นจากมาตรการแซงชั่นนี้ เพราะอิหร่านเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่เกาหลีใต้ไม่อาจจะสูญเสียได้ และญี่ปุ่นซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ ที่จะต้องมองหาแหล่งซื้อใหม่

เจ้าหน้าที่อิหร่าน ระบุว่าหากอียูใช้มาตรการคว่ำบาตรน้ำมันกับอิหร่าน ก็เท่ากับเป็นการประกาศสงครามเศรษฐกิจต่อไป แต่อิหร่านไม่หวั่นผลกระทบ เพราะมั่นใจว่า ความต้องการซื้อน้ำมันอิหร่านสูงพอที่จะอยู่ได้โดยไม่มีปัญหา

โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นลูกค้าน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับ 3 ของอิหร่าน ได้ออกมาบอกแล้วว่า มาตรการแซงชั่นของสหรัฐฯจะไม่กระทบการทำธุรกรรมกับอิหร่าน

 
source : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/world/20120108/428347/%E0%B9%83%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89-%E0%B9%83%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%84%E0%B8%9A%E0%B8%AE%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%8B.html

1 ความคิดเห็น:

  1. ผลลัพธ์โครงการนิวเคลียร์อิหร่านภายใต้อาห์มาดิเนจาด
    มีผลดีและผลเสีย
    http://www.chanchaivision.com/2013/06/irannuclear130609.html

    ตอบลบ