วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

อนุรักษ์พลังงาน: เรื่องของปัญหาและโอกาสของเศรษฐกิจ โดย : รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์

คำว่า “อนุรักษ์” ถูกใช้ในความหมาย “การคงสภาพ” มาตลอด เช่น อนุรักษ์โบราณสถาน คำว่า “อนุรักษ์พลังงาน” จึงอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นการรักษาสภาพเดิมไว้ ถ่านหินก็เก็บ (อนุรักษ์) ไว้ใต้โลกอย่างเดิมอย่าไปขุดมาใช้ ถ้าอนุรักษ์พลังงานมีความหมายเช่นนี้ จะแปลว่าเราไม่ต้องใช้พลังงานกันเลย

ลองนึกดูถ้าเราไม่ใช้พลังงานจะเป็นอย่างไรบ้าง นึกถึงไฟฟ้าดับทั้งเมืองก็ได้ เหงื่อตกเพราะไม่มีอากาศเย็นสบายจากเครื่องปรับอากาศ ธุรกิจเสียหายเพราะคอมพิวเตอร์ไม่ทำงาน แม่บ้านโทรบอกว่าเย็นนี้ไม่มีข้าวกินเพราะหม้อหุงข้าวไฟฟ้ามีประโยชน์น้อยกว่ากะละมัง เป็นต้น


อนุรักษ์พลังงานแปลว่าใช้พลังงานอย่างไม่สิ้นเปลืองเกินเหตุ

คำว่า “ไม่สิ้นเปลืองเกินเหตุ” นี้มีอย่างน้อย 2 ความหมาย คือ ไม่สิ้นเปลืองพลังงานเกินเหตุ กับไม่สิ้นเปลืองเงินเกินเหตุ

ไม่สิ้นเปลืองพลังงานเกินเหตุหมายความถึงใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ให้หมด อย่าให้เล็ดรอดออกไปได้ การอนุรักษ์พลังงานในแง่นี้จึงเป็นงานวิศวกรรมที่พยายามปรับปรุงกระบวนการ มีตั้งแต่ง่ายๆ เช่นเปลี่ยนหลอดใส้มาเป็นหลอดประหยัดพลังงาน ออกแบบอุปกรณ์ถ่ายเทความร้อน (heat exchanger) เพื่อดึงความร้อนมาใช้ให้มากที่สุด (ให้เล็ดรอดออกไปน้อยที่สุด) จนถึงออกแบบระบบใหม่ทั้งหมด เช่น เปลี่ยนรถยนต์มาเป็น hybrid เป็นต้น



ภาพประกอบ:มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค www.consumerthai.org

คำว่าไม่สิ้นเปลืองเงินเกินเหตุเป็นผลจากทั้งไม่สิ้นเปลืองพลังงานและเปลี่ยนไปใช้พลังงานราคาถูก ด้วยเหตุนี้ การอนุรักษ์พลังงานตาม พ.ร.บ. จึงมีทั้งลดการใช้พลังงานลงและเปลี่ยนชนิดพลังงาน (ไปใช้ของถูก)


บางครั้งเราได้ยินคำว่า “ประหยัดพลังงาน” คำนี้หมายความว่าใช้แต่น้อย ไม่ฟุ่มเฟือย เช่นไม่เปิดไฟทิ้งไว้ทั้งๆ ที่แสงสว่างจากธรรมชาติเพียงพอ ไม่เปิดเครื่องปรับอากาศทั้งๆ ที่เปิดหน้าต่างให้ลมเย็นข้างนอกพัดเข้ามาได้ ดังนั้น บางครั้งเราจะใช้ปนกันไปทั้งอนุรักษ์พลังงานและประหยัดพลังงาน แต่ภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจง่ายคือ “ประหยัด”


เมื่อใช้คำว่า “ประหยัด” เราจะเข้าใจไปถึงเรื่องเงินได้ง่าย ว่าการอนุรักษ์พลังงานคือการประหยัดเงิน คนทั่วไปสนใจคำว่าประหยัดเงินมากกว่าประหยัดพลังงาน หากเป็นการทำธุรกิจก็คือการลดต้นทุน เพื่อทำให้แข่งขันได้ในตลาด กิจการที่กำลังย่ำแย่เพราะแข่งขันไม่ได้จึงต้องลดต้นทุน โดยเฉพาะกิจการที่ใช้พลังงานมาก (โครงสร้างต้นทุนส่วนมากเกิดจากพลังงาน) กิจการชนิดนี้จึงเป็นการใช้การประหยัด (อนุรักษ์) พลังงานมา “แก้ปัญหา” สำหรับผู้ที่แข่งขันได้อยู่แล้วก็มิใช่ว่าจะเพิกเฉยได้ แต่ควรคิดว่าการลดต้นทุนคือการเพิ่มกำไร นั่นคือใช้การประหยัด (อนุรักษ์) พลังงานมา “สร้างโอกาส” เพิ่มขึ้น

สรุปได้ว่า อนุรักษ์พลังงานเป็นเรื่องเศรษฐกิจ เงินๆ ทองๆ ที่ใกล้ตัวเรามาก แปลว่ามันเป็นเรื่องของเรา ไม่ใช่ใครอื่นเลย

รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น