วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

สถานการณ์การกระจายเชื้อเพลิงของไทย โดย : ดร.อธิคม บางวิวัฒน์

เชื้อเพลิงที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกมีเพียงไม่กี่ชนิดและพอจะแบ่งเป็นกลุ่มหลักๆ ได้เป็น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ นิวเคลียร์ และพลังงานหมุนเวียน แต่ละประเทศจะจัดสรรสัดส่วนของเชื้อเพลิงตามความเหมาะสมของตนเอง ประเทศที่มีแหล่งถ่านหินก็มักจะนำถ่านหินมาใช้ในสัดส่วนที่มากกว่าอย่างอื่น ประเทศที่มีแหล่งน้ำมันเป็นจำนวนมากก็มักจะนำน้ำมันมาใช้ในสัดส่วนที่มากกว่าอย่างอื่น ส่วนประเทศที่อัตคัตแหล่งเชื้อเพลิงอย่างประเทศไทยก็จะไม่มีทางเลือกมากนัก ต้องพยายามจัดสรรไปตามราคาของเชื้อเพลิง เพื่อรักษาให้ต้นทุนการผลิตของสินค้าอื่นๆ ภายในประเทศอยู่ในระดับต่ำที่สุด และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากเกินไป หรือไม่ก็พยายามคว้าสิ่งที่ใกล้ตัวมากที่สุด เช่น ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานน้ำ ลมหรือชีวมวล ถ้ามองในภาพรวมของทั้งโลก เชื้อเพลิงหลักที่ใช้กันเป็นน้ำมัน ตามมาด้วยถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ (ดูรูปที่1) ในปี 1974 มีการใช้น้ำมันถึง 45% ถ่านหินราว 25% และก๊าซธรรมชาติ 16% ที่เหลือเป็นนิวเคลียร์และพลังงานหมุนเวียน เมื่อเทียบกับสัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้กันทั้งโลกในปี 2007 มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างแต่ยังคงรักษาลำดับสัดส่วนในลักษณะเดิม น้ำมันยังคงเป็นเชื้อเพลิงยอดนิยมแม้จะลดสัดส่วนลงมาเป็น 34% ถ่านหินรักษาตำแหน่งและสัดส่วนเดิม ก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาเป็น 21% และเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงของทั่วโลกกับของประเทศในกลุ่ม IEA (International Energy Agency) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศในกลุ่ม OECD (The Organization for Economic Co-operation and Development) ที่ร่วมมือกันพัฒนาและส่งเสริมนโยบายด้านพลังงาน ด้วยแผนภูมิใยแมงมุมซึ่งแสดงเปอร์เซ็นต์ของเชื้อเพลิงแต่ละชนิดที่ใช้ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ารูปร่างของแผนภูมิใยแมงมุมมีรูปร่างคล้ายกันมาก นั่นหมายถึงว่าสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงของประเทศในกลุ่ม IEA มีอิทธิพลต่อทั้งโลก การลดสัดส่วนการใช้น้ำมันของกลุ่มประเทศ IEA ในช่วงปี 1974 ถึง 2007 ทำให้สัดส่วนการใช้น้ำมันของโลกลดลงในลักษณะเดียวกัน สัดส่วนการใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติก็เช่นกัน จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้างระหว่างกลุ่มประเทศ IEA และของโลกในส่วนของนิวเคลียร์และพลังงานหมุนเวียนเล็กน้อย ประเทศในกลุ่ม IEA ใช้พลังงานจากนิวเคลียร์มากกว่าพลังงานหมุนเวียน ในขณะที่สัดส่วนระหว่างนิวเคลียร์กับพลังงานหมุนเวียนของโลกตรงกันข้าม

ประเทศจีนและอินเดียเป็นประเทศที่กำลังมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงมีการขยายตัวในด้านการใช้พลังงานตามไปด้วย ทั้งสองประเทศนี้อยู่ไม่ไกลจากประเทศไทยเท่าไร ผลกระทบต่างๆอันเกิดจากสองประเทศนี้ย่อมมีโดยตรงกับประเทศไทยและประเทศต่างๆในเอเซีย จากรูปที่ 2 จะเห็นการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงของทั้งสองประเทศซึ่งมีการเพิ่มสัดส่วนการใช้ถ่านหินมากขึ้นในระหว่างปี ค.ศ.1974 ถึง 2007


ประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องพึ่งการนำเข้าของเชื้อเพลิงเป็นหลัก แม้ว่าจะพอมีแหล่งก๊าซธรรมชาติอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากพอที่จะพึ่งตัวเองได้ทั้งหมด ข้อมูลจากการศึกษา Thailand’s Low-Carbon Society Vision 2030 ซึ่งจัดทำโดยสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนำเสนอปริมาณการใช้เชื้อเพลิงในประเทศไทยโดยแบ่งตามชนิดเชื้อเพลิง ปี ค.ศ. 2005 พบว่ามีการใช้ Primary Energy ซึ่งเป็นน้ำมันมากถึง 40% รองลงมาเป็นก๊าซธรรมชาติ 28% และพลังงานหมุนเวียนและถ่านหินใกล้เคียงกันที่ 17% และ 16% ตามลำดับ (ดูตารางที่ 1 และรูปที่ 3) ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวใกล้เคียงกับสัดส่วนโดยรวมของประเทศในเอเซีย (ไม่รวมจีน อินเดีย และ OECD Pacific) นั่นเป็นเพราะประเทศในแถบนี้เป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าเหมือนกัน มีความพยายามที่จะใช้ประโยชน์จากพลังงานน้ำและนำทรัพยากรที่พอจะมีอยู่บ้าง เช่น เศษไม้มาแปลงเป็นพลังงานให้มากที่สุด พลังงานลมและแสงแดดยังพอมีการนำมาใช้ประโยชน์บ้างแต่ยังไม่แพร่หลายนัก



ในการศึกษานี้ยังได้นำเสนอคาดการณ์ปริมาณและชนิดของเชื้อเพลิงที่จะใช้ในปี ค.ศ. 2030 ภายในประเทศไทยเมื่อเป็นการดำเนินธุรกิจตามปรกติ (Business as usual, BAU) สัดส่วนการใช้น้ำมันจะลดลงเหลือ 34% ในขณะที่มีการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเป็น 33% ส่วนถ่านหินและพลังงานหมุนเวียนยังคงมีสัดส่วนใกล้เคียงกับเมื่อ ค.ศ. 2005 ซึ่งจะเป็น 18% และ 15% ตามลำดับ (ดูตาราง 1 และรูปที่ 3) พอจะอธิบายได้ว่าด้วยแนวโน้มราคาน้ำมันที่จะสูงขึ้นมากในอนาคตทำให้ต้องมีการลดสัดส่วนการใช้น้ำมันลง แล้วหันมาพึ่งก๊าซธรรมชาติภายในประเทศมากขึ้น รวมถึงถ่านหินที่มีราคาถูกกว่าน้ำมัน แม้ว่าสัดส่วนการใช้น้ำมันในประเทศจะลดลงแต่ปริมาณการใช้น้ำมันจากการคาดการณ์จะเพิ่มขึ้นจาก 29,677 ktoe ในปี ค.ศ. 2005 มาเป็น 74,357 ktoe ในปี 2030 นอกจากคาดการณ์ในสภาวะธุรกิจปรกติ (BAU) แล้ว การศึกษานี้ยังนำเสนอกรณีภาพฉายอนาคตของ Low-Carbon Society ที่มีการประหยัดพลังงานและลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Counter measures, CM) ซึ่งคาดว่าปริมาณการใช้เชื้อเพลิงจะลดลงจากกรณี BAU รวมถึงสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงก็จะเปลี่ยนไปด้วย สัดส่วนการใช้น้ำมันลดลงเป็น 28% สัดส่วนของก๊าซธรรมชาติลดลงเป็น 21% และต้องมีการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้เพิ่มขึ้นเป็น 31% อีกทั้งต้องมีการนำนิวเคลียร์มาผลิตไฟฟ้าประมาณ 2% เป็นที่น่าสังเกตุว่าสัดส่วนของการใช้ถ่านหินไม่ลดลงเลย แต่ปริมาณการใช้ลดลงจาก 39,415 ktoe ในกรณี BAU มาเป็น 30,218 ktoe ในกรณี CM ในขณะเดียวกันต้องนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้เพิ่มขึ้นจาก 31,643 ktoe เป็น 52,179 ktoe เพื่อให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจะลดลงจาก 547,727 กิโลตันของ CO2 เทียบเท่าในกรณี BAU มาเป็น 345,663 กิโลตันของ CO2 เทียบเท่าในกรณี CM

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากการศึกษานี้คือ ความพยายามที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของเชื้อเพลิงที่ใช้ ไม่เพียงแต่เป็นการช่วยลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่ยังมีผลต่อการลดสัดส่วนของเชื้อเพลิงที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ และการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนที่หาได้ภายในประเทศมากขึ้น ก็เป็นการเพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้วย

ดร.อธิคม บางวิวัฒน์
ที่มา : http://www.eppo.go.th/thaienergynews/BlogDetail.aspx?id=1


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น