วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ชาวสตูลเปิดวงรุมจวก'โครงการปากบารา’ แฉข้อมูลทำลายอื้อทั้งระเบิดภูเขา-ถมทะเล ยันไม่เอาอุตสาหกรรมทั้งต้นน้ำถึงปลายน้ำ

โดย วันชัย พุทธทอง ศูนย์ข่าว TCIJ
  ชาวสตูลพร้อมเครือข่ายสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ ระดมคัดค้านโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แฉส่งผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อมเพียบ ทั้งระเบิดภูเขา ถมทะเล เวนคืนริบคืนที่ดินชาวบ้าน แกนนำโวยคนในพื้นที่ไม่เคยมีส่วนร่วมแสดงความเห็น ทั้งที่ในโครงการทั้งของกรมเจ้าท่า และปตท.วางแผนไว้หมดแล้วว่าจะทำอะไรบ้าง และหลังเริ่มเดินหน้าโครงการ สร้างความแตกแยกให้ชาวสตูลเป็นอย่างมาก ทั้งที่รัฐบาลไม่เคยให้ความสนใจเลย พร้อมยันจะสู้จนถึงที่สุด
 
คนสตูลเปิดวงถกผลกระทบจากท่าเรือ-นิคมอุตสาหกรรม

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 10 มิ.ย.ที่ลาน 18 ล้านปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล มีการรวมตัวของชาวปากบาราและใกล้เคียง เพื่อคัดค้านโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมปากบาราและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยมีการเสวนาหัวข้อ “ทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของ จ.สตูล” เพื่อให้ข้อมูลและแสดงจุดยืนของประชาชนชาว จ.สตูล ต่อโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมปากบาราและโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้ร่วมคือ นายพิศาล ทองเลิศ ผู้ว่าฯสตูล ตัวแทนชุมชนชาว ต.ปากน้ำ กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวใน จ.สตูล กำนัน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ นักวิชาการ ตัวแทนชุมชน และตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ทั่วประเทศ อาทิ กลุ่มคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย อ.จะนะ จ.สงขลา กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.นครศรีธรรมราช กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ตัวแทนหอการค้าจังหวัดสตูล สภาอุตสาหกรรม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และผู้นำศาสนาร่วมเสวนา



ตัวแทนท่องเที่ยวระบุทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

นายนันทพล บินเด็น ชาวบ้านในพื้นที่ที่ประกอบอาชีพธุรกิจท่องเที่ยว กล่าวว่า ควรมีการส่งเสริมและพัฒนา จ.สตูล ให้สอดคล้องกับศักยภาพของทรัพยากรในพื้นที่โดยเฉพาะการท่องเที่ยวทางทะเล ซึ่งขึ้นชื่ออยู่แล้ว มิใช่มุ่งส่งเสริมโครงการอุตสาหกรรมซึ่งเป็นสิ่งใหม่ และทำลายทรัพยากรที่มีอยู่แต่เดิม ทั้งนี้ จ.สตูลต่างจากพื้นที่อื่นๆ อยู่ 4 ประการด้วยกัน คือ
1.จ.สตูลไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเหมือนจังหวัดอื่นๆ ในชายแดนภาคใต้ นักท่องเที่ยวจึงวางใจในความปลอดภัย และเดินทางมาท่องเที่ยวจำนวนมาก 2.มีปะการังที่สมบูรณ์เป็นอันดับ 1 ของชายฝั่งอันดามัน โดยเฉพาะปะการังเจ็ดสีที่เกาะจาบัง เนื่องจากปะการังในแถบ จ.ภูเก็ต และ จ.กระบี่ นั้นเกิดความเสียหายจากสึนามิ 3.จ.สตูลสามารถท่องเที่ยวได้ทั้งบนบก และในน้ำ 4.จ.สตูลเป็นเมืองชายแดนที่สามารถข้ามฝั่งไปยังประเทศมาเลเซียได้สะดวกทั้ง ทางบก และทางน้ำ โดยเฉพาะเกาะลังกาวี
ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ทั้งหมดนี้ พระผู้เป็นเจ้าให้มาเป็นต้นทุนแก่คนใน จ.สตูล ขึ้นอยู่กับว่าคนในพื้นที่จะดึงศักยภาพของต้นทุนที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ได้ คุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน


โครงการนี้ใหญ่กว่ามาบตาพุด 2 เท่า เชื่อส่งผลกระทบแน่นอน


ด้านนายธรรมรัตน์ จิตนุเคราะห์ อาจารย์โรงเรียนกำแพงวิทยา อ.ละงู กล่าวว่า ชาวต.เขาขาว ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับท่า เรืออุตสาหกรรมปากบาราโดยตรง ส่วนใหญ่ปลูกปาล์มน้ำมันและยางพาราเป็นอาชีพหลัก ถ้าอ.ละงู เกิดโครงการอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับมาบตาพุดแล้ว โครงการดังกล่าวจะมีขนาดใหญ่กว่าที่มาบตาพุดถึง 2 เท่า ย่อมมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามมาด้วยแน่นอน

                  “ที่มาบตาพุดเกิดกรณีลอบทิ้งสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำ ผมคาดว่าถ้า อ.ละงูมีโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจริง ปัญหาดังกล่าวก็ต้องเกิดขึ้นเช่นกัน ซึ่งถ้าปาล์มน้ำมันและยางพาราไม่สามารถให้ผลผลิตได้ ก็เท่ากับว่า อาชีพหลักของชาวต.เขาขาว พังไม่เป็นท่า นอกจากนี้แหล่งน้ำต่างๆ ในพื้นที่ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นที่ผลิตน้ำประปา และแหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ของชุมชน ก็จะมีสารปนเปื้อน เป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย”



ถามส.ส.ปชป.ตอนเป็นรัฐบาลทำไมไม่ค้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นจึงมีการตั้งคำถามกับ นายฮอซาลี ม่าเหร็ม ส.ส.สตูล พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมาร่วมเสวนาด้วยว่า เพราะเหตุใดเมื่อครั้งเป็นรัฐบาล และรับรู้การคัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่มาโดยตลอดแต่กลับไม่มีการยับยั้ง โครงการฯ ดังกล่าว

นายฮอซาลี ม่าเหร็ม กล่าวว่า การจะอนุมัติหรือยกเลิกโครงการใดๆ หรือไม่ ต้องมีการศึกษาผลกระทบต่างๆ เสียก่อน ซึ่งในสมัยของรัฐบาลประชาธิปัตย์ ได้อนุมัติงบประมาณในการศึกษาผลกระทบต่อโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมปากบารา และผลการศึกษาพบว่าโครงการนี้ไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน แต่หากมีการเปิดโอกาสให้ต่างชาติมาลงทุน ก็อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม น่าจะไม่มีการศึกษาผลกระทบใหม่ เนื่องจากกลุ่มนักลงทุนในโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับท่าเรือน้ำลึกปากบาราและโครงการแลนด์บริดจ์ ลงความเห็นว่าไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน ในการทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการดังกล่าว


ผู้ว่าฯยันจะทำโครงการที่สอดคล้องกับคำขวัญจังหวัด


ขณะที่นายพิศาล ทองเลิศ ผู้ว่าฯสตูล กล่าวว่า ชาว อ.ละงู และชาว จ.สตูล เห็นพ้องต้องกันว่า จ.สตูล ควรพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการเกษตรแบบมาตรฐาน โดยทางจังหวัดจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 365 ล้านบาท จัดทำโครงการต่างๆ ให้สอดคล้องกับทรัพยากรที่มีอยู่ ทั้งนี้ตนจะพยายามรักษาทรัพยากรของ จ.สตูล ไว้ให้สมกับคำขวัญที่ว่า “สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์” ต่อไป

ด้าน นางภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการผังเมือง แสดงความเห็นว่า ทางจังหวัดสตูลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรช่วยกันจัดทำตัวชี้วัดการพัฒนา ที่ยั่งยืนของ จ.สตูล แบบจริงจัง เช่น ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอะไร มีทรัพยากรธรรมชาติอะไรบ้าง มีป่าไม้เท่าไหร่ รายได้ของประชากรเป็นอย่างไร เพื่อชี้ให้เห็นว่า จ.สตูลเป็นพื้นที่สีเขียว เหมาะที่จะเป็นปอดของอาเซียน และเพื่อเป็นตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมว่าไม่ควรมีโครงการท่าเรืออุตสาหกรรม ปากบาราเกิดขึ้นในพื้นที่นี้จริงๆ



ชาวสตูลออกแถลงการณ์ขอกำหนดอนาคตตัวเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากจบการเสวนา เครือข่ายประชาชนคนสตูล และเครือข่ายกลุ่มต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมปากบาราและโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันออกแถลงการณ์ “สัญญาประชาคมของชาวสตูล เพื่อการกำหนดอนาคตของตัวเอง” ระบุว่า
จากสถานการณ์ที่เกิดความไม่เข้าใจต่อเหตุการณ์กรณีโครงการท่าเรือน้ำลึกปาก บารา และโครงการอื่นๆ ที่จะติดตามมา ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อพี่น้องสตูลอย่างรุนแรง พวกเราในนามเครือข่ายประชาชนคนสตูล และพี่น้องเครือข่ายทั่วภาคใต้ ขอร่วมประกาศลงนามสัญญาประชาคมว่า
1.ยืนยันใน “อุดมการณ์และคุณค่าที่ยึดถือร่วมกัน” ของจังหวัด คือ สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์ ซึ่งหมายถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สงบ สะอาด บริสุทธิ์, สังคม สงบ สะอาด บริสุทธิ์ และผู้คนรักความสงบ จิตใจสะอาดบริสุทธิ์
2.กำหนด “ทิศทางการพัฒนา” ของจังหวัดสตูล ให้มุ่งเน้นความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การศึกษา และวัฒนธรรม ขอเป็นสังคมสีเขียว ไม่เป็นสังคมอุตสาหกรรม ไม่เอาโครงการพัฒนาที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
3.โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในจังหวัดสตูลต้องใช้ “กระบวนการมีส่วนร่วมที่แท้จริง” ทุกขั้นตอน โดยประชาชนต้องมีฐานะในการเข้ามีส่วนร่วมเท่าเทียมกับภาครัฐ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ มิใช่เพียงผู้ไดรับแจ้งให้ทราบ ผู้ร่วมประชุมลงชื่อ แต่ต้องเป็นผู้ร่วมกำหนดออกแบบ และตัดสินใจการพัฒนา


ยืนยันไม่เอาโครงการไม่ว่า‘ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ’


4.“ไม่เอาโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่” ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ริมฝั่งทะเล และหมู่เกาะ รวมทั้งไม่เอาโครงการพัฒนาใดๆ ที่จะส่งผลทำลายดิน ทำลายน้ำ ทำลายป่า ทำลายทะเล ทำลายแหล่งอาหารของสตูล และทำลายสังคมวิถีวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา โครงการท่าเรืออุตสาหกรรม หรือโครงการอื่นๆ
5.รัฐบาล “ควรยุติความคิดฝันหรือแผนการใดๆ ที่จะกำหนดให้ภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของสะพานเศรษฐกิจโลก” เลิกมุ่งหวังที่จะแสวงหารายได้หรือความมั่นคงจากการเป็นตัวกลางของระบบขนส่ง สินค้าโลก ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่ถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนโลก ได้ไม่คุ้มเสีย ไม่ยั่งยืน และเป็นที่มาของสารพัดโครงการการพัฒนาขนาดใหญ่ในภาคใต้ อันก่อให้เกิดความทุกข์แก่ประชาชนไม่สิ้นสุด
6.ชาวสตูลและพี่น้องทั่วภาคใต้ “จะร่วมกันปกป้องแผ่นดินเกิด” วิถีวัฒนธรรม และสุขภาวะไว้ให้ลูกหลานในอนาคตสืบไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นเป็นการละหมาดอัศรี และละหมาดฮายัตขอดุอาร์ให้ปลอดภัยจากภัยบาลา คืนความสันติสุขและความสมบูรณ์สู่ จ.สตูล โดยกิจกรรมจบลงในเวลาประมาณ 18.00 น.


แฉข้อมูลกรมเจ้าท่า-ปตท.ส่งผลกระทบเพียบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมปากบาราและโครงการต่อเนื่อง อีกอย่างน้อย 5 โครงการ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของโครงการท่าเรืออุตสาหกรรม ซึ่งในเอกสารรายงานฉบับสมบูรณ์ ของโครงการสำรวจออกแบบโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ของกรมเจ้าท่า พ.ศ.2552 และเอกสารโครงการของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุสิ่งที่จะดำเนินการในหลายประเด็น หลายโครงการ ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อประชาชน และทรัพยากรธรรมชาติแทบทั้งสิ้น

1.โครงการรถไฟรางคู่ เชื่อมต่อท่าเรือน้ำลึกปากรารา จ.สตูล กับท่าเรือน้ำลึกสงขลา แห่งที่ 2 ที่บ้านสวนกง อ.จะนะ จ.สงขลา โครงการพัฒนาเส้นทางการขนส่งสินค้าไปประเทศมาเลเซีย โดยการเจาะอุโมงค์ (สตูล-เปอร์ลิส) โครงการคลังน้ำมัน และโรงแยกกลั่นบนพื้นที่ร่วม 5,000 ไร่ (บ้านปากบาง ต.ละงู) รวมถึงการวางท่อน้ำมัน โครงการสร้างเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำ เพื่อจัดหาแหล่งน้ำรองรับอุตสาหกรรมในอนาคตโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทาง เลือก หรือสถานีไฟฟ้าย่อย เชื่อมสายจากโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา
จากโครงการดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านต้องสูญเสียพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ด้วยการเวนคืน ริบคืน หรือถูกซื้อผ่านเอกชน ความเสียหาย และการสูญเสียมีดังนี้ พื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และชายฝั่งอ่าวปากบารา จำนวน 4,734 ไร่ จะต้องถอนสภาพ และยกให้กับกรมเจ้าท่า เพื่อเป็นพื้นที่สร้างท่าเรือฯ ซึ่งจะกระทบพื้นที่ทำกิน แหล่งท่องเที่ยว และอาจจะกระทบพื้นที่ของชุมชนหลังท่าเรือในระยะต่อไป ล่าสุดกรมเจ้าท่ายื่นขอใช้พื้นที่จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แล้ว ซึ่งขั้นตอนอยู่ระหว่างรอการอนุมัติ


ปตท.เตรียมผุดคลังน้ำมัน


2.การออกกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินของชาวบ้านลาหงา ในต.ละงู จ.สตูล ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทำกิน โดยมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 82 ราย รวมเนื้อที่กว่า 40 ไร่ เพื่อสร้างและขยายถนนเข้าสู่ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ขั้นตอนอยู่ระหว่างการดำเนินการ

3.พื้้นที่ตั้งคลังน้ำมันของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  บนเนื้อที่ 5,000 ไร่ ของบ้านปากบาง และใกล้เคียง ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล ขั้นตอน มีการสำรวจออกแบบโครงการเบื้องต้นไว้แล้ว


4.โครงการสร้างเขื่อนคลองช้าง ชาวต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง จ.สตูล จะต้องสูญเสียพื้นที่ทำกินเนื่องจากถูกน้ำท่วมรวมพื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ ขั้นตอนกำลังศึกษาและออกแบบโครงการ คาดว่าน้ำจากเขื่อนแห่งนี้จะถูกนำมาเป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดขึ้นของโครงการ ที่อยู่ในแผนพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต

5.โครงการเวนคืน ริบคืน พื้นที่ตลอดเส้นทางรถไฟจากสตูล-สงขลา ในระยะความกว้างเบื้องต้นประมาณ 70-100 เมตร ตลอดความยาว 142 กิโลเมตร เพื่อวางรางรถไฟแบบรางคู่ และอาจะมีการขยายเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป


ระเบิดภูเขา 8 ลูกใช้ถมทะเลสร้างท่าเรือ


6.โครงการระเบิดภูเขา 8 ลูก ถูกสำรองไว้เพื่อถมทะเลเป็นท่าเรือ ภูเขาที่จะถูกระเบิดอยู่ใน อ.ควนกาหลง 6 ลูก อ.ทุ่งหว้า 1 ลูก และ อ.ละงู 1 ลูก ซึ่งกรมเจ้าท่าอ้างว่าไม่ต้องทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ เนื่องจะซื้อหินจากบริษัทเอกชน

7.โครงการขุดทรายชายหาดเพื่อถมทะเลสร้างท่าเรือจำนวน 20 ล้านคิว ในเอกสารระบุชัดเจนว่า จะขุดทรายจากบ้านบ่อเจ็ดลูก อ.ละงู จำนวน 10 ล้านคิว และทรายจากบ้านปากละงูบ้านหัวหิน อ.ละงู อีกประมาณ 10 ล้านคิว

8.โครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมใช้พื้นที่ 150,000 ไร่ โดยกำหนดให้ก่อสร้างที่ต.เขาขาว และตำบล ใกล้เคียง ของอ.ละงู ขณะนี้มีการแก้ไขผังเมืองใหม่ และกำหนดให้พื้นที่แห่งนี้เป็นโซนอุตสาหกรรม ผังเมืองใหม่ได้จัดทำเสร็จแล้ว และกำลังรอประกาศบังคับใช้


โวยเจ้าของพื้นที่ไม่เคยมีส่วนร่วม

นางนภาวรรณ จวนใหม่ ชาวบ้านปากบารา ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้กำหนดชีวิตคนสตูล โดยที่คนสตูลไม่เคยมีส่วนร่วมในสิ่งที่รัฐกำหนด ซึ่งเป็นเรื่องที่แย่มาก อย่างการศึกษาโครงการท่าเรือฯ ที่มีความหนากว่า 1,000 หน้า และยังมีรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม อีก 3 เล่ม รวมถึงเอกสารสำรวจโครงการของปตท. ที่แต่ละเล่มมีความหนาใกล้เคียงกัน ซึ่งในเอกสารดังกล่าว ไม่ได้มีเนื้อหาของคนในชุมชนเป็นเนื้อหาของคนอื่นๆ ทั้งหมด

“สิ่งที่ประชาชนในพื้นที่และชาวสตูลทำ หลังจากรับรู้ว่าจะเกิดความหายนะขึ้นกับพื้นที่ และระบบนิเวศคือ การรวมตัวกันพูดคุยและศึกษา เรียนรู้โครงการท่าเรือฯ และโครงการต่อเนื่อง โดยมีนักวิชาการอิสระคอยให้คำปรึกษา แนะนำ และช่วยสร้างเวทีเรียนรู้ที่เป็นหลักวิชาการให้กับพวกเราอย่างเที่ยงตรง จากการศึกษาเอกสารของโครงการ ทำให้เราได้ค้นพบข้อเท็จจริงดังกล่าว ทั้งที่จริงแล้วเราได้พยายามจะสอบถามข้อสงสัยเหล่านั้น ไปยังผู้มีอำนาจ และเจ้าของโครงการมาโดยตลอด เพื่อสร้างความกระจ่างชัดเจนต่อสังคมเมืองสตูล และประชาชนทั่วไป แต่ไม่เคยได้รับความร่วมมืออย่างตรงไปตรงมาจนถึงบัดนี้ สิ่งที่เรารับรู้เป็นข้อมูลทั้งหมด เป็นข้อมูลที่เราสืบค้นกันเอง เมื่อเรารับรู้ว่าหายะจะเกิดกับเราการคัดค้านโครงการก็เกิดขึ้น” นางนภาวรรณกล่าว

ชี้โครงการฯสร้างความแตกแยกในพื้นที่

ด้านนายฮุสดีน อุสมา ประธานเครือข่ายคัดค้านโครงการท่าเรือฯ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา ความรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับโครงการท่าเรือมีความคลุมเครือมาก และกลายเป็นประเด็นถกเถียงของชาวสตูลมานานนับปี และความคับข้องใจยิ่งหนักขึ้นทุกวัน จนกลายเป็นวิวาทะระหว่างกันตามสภากาแฟ และในชุมชน แต่ไม่สามารถที่จะสื่อสารไปถึงระดับนโยบายได้ โดยเฉพาะเสียงจากชุมชน ที่คัดค้านโครงการดังกล่าว


            “กำลังเกิดความขัดแย้งขึ้นในพื้นที่ ระหว่างกลุ่มที่ผลักดันโครงการกับประชาชนในพื้นที่ และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นถูกนำไปขยายความ ให้ร้าวลึกให้เกิดขึ้นกับสังคมเมืองสตูลมากขึ้น โดยการเบี่ยงประเด็นกล่าวหาว่า คนกลุ่มคัดค้านเอาข้อมูลเท็จมา สร้างความสับสนให้คนสตูล และยังกล่าวหาว่า เป็นพวกขัดขวางการพัฒนา ไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงไม่ต้องการความเจริญ ซึ่งเป็นความเลวร้ายมากของฝ่ายผลักดันโครงการ”

นายฮุสดีนกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากรมเจ้าท่าไม่ได้สนใจข้อทักท้วงของคนสตูล แต่กลับขออนุมัติงบประมาณกว่า 14 ล้านบาท ว่าจ้างนักวิชาการจำนวนหนึ่ง มาทำการประชาสัมพันธ์โครงการฯ บิดเบือนกลบเกลื่อนความจริง เรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยการโฆษณาเพียงบางส่วนของโครงการ และไม่บอกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนและระบบนิเวศ และไม่ได้บอกว่าจะเกิดโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมปากบาราและอุตสาหกรรมต่อ เนื่อง บอกเพียงท่าเรือน้ำลึกธรรมดาเท่านั้น การแสดงพลังคัดค้านโครงการในวันนี้เพื่อส่งสารไปถึงรัฐบาลว่า คนสตูลไม่ต้องการโครงการดังกล่าว

 source : http://www.tcijthai.com/TCIJ/view.php?ids=713.php.php

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น