วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2555

กูรูเริ่มพูดถึง ‘ยุคหลังน้ำมัน’ กันแล้ว

กาแฟดำ....

กูรูเรื่องราคาน้ำมันกำลังถกกันว่า แนวโน้มของน้ำมันจะวิ่งขึ้น หรือแผ่วลงจากนี้ถึงสิ้นปี
 เพราะใครทำนายได้จะกลายเป็น "เซียน" แห่งวงการที่หาตัวจับยากทันที

แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในช่วงหลังนี้สร้างความประหลาดใจให้กับผู้พบเห็นพอสมควร เพราะก่อนหน้านี้ มีการทำนายกันว่ายังไงๆ ก็จะต้องพุ่งขึ้น เพราะ

1. ตะวันตกคว่ำบาตรน้ำมันจากอิหร่าน ทำให้ตลาดโลกขาดแหล่งซื้อน้ำมันดิบสำคัญไปหนึ่งแห่ง
2. อิหร่านอาจปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นจุดขนส่งของน้ำมันโลกไม่น้อยกว่าร้อยละ 20

แต่เมื่อมีปัจจัยดันราคาน้ำมันขึ้นก็มีปัจจัยดันลงเหมือนกันเช่น

1. วิกฤติหนี้สินของกรีซที่หนักหน่วงถึงขั้นที่หลายชาติต้องลงขันเพื่ออุ้มไม่ให้เจ๊งต่อหน้าต่อตา
2. อิรักกับลิเบีย กลับมาส่งน้ำมันดิบออกอีกครั้งหลังการสู้รบในประเทศซาลง

เหตุการณ์โลกทุกประเด็นมีผลบวกและลบต่อราคาน้ำมันได้ทั้งสิ้น อิหร่านทำให้ขึ้น กรีซ ก็กดให้ลงได้
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าเทคโนโลยีก็มีส่วนช่วยถ่วงดุลราคาน้ำมันได้ไม่น้อย

ถึงขั้นที่มีคนกล้าฟันธงว่าหากพิจารณาปัจจัยทั้งหลายรวมกันแล้ว ราคาน้ำมันดิบน่าจะคงอยู่ที่ระดับ 80 ถึง 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในอีกหลายปีจากนี้ไปก็ได้

แปลว่าจะมีเสถียรภาพพอที่จะอนุญาตให้ประเทศทั้งหลายทั้งผู้ขาย และผู้ซื้อสามารถวางแผนเศรษฐกิจของตนได้อย่างมีความมั่นใจในระดับหนึ่ง ไม่ต้องฝันร้ายว่าจะตื่นขึ้นมาเช้าวันหนึ่งแล้วราคาน้ำมันดิบพุ่งพรวดพราดหรือหล่นฮวบฮาบจน "เอาไม่อยู่" อย่างที่หวั่นหวาดอยู่ทุกวันนี้

และแม้หากจะมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่ดันให้ราคาน้ำมันขยับขึ้นเกิน 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็จะมีเหตุที่จะทำให้ราคาน้ำมันหดตัวลงได้

เพราะการรณรงค์ให้คนใช้พลังงานทดแทน และหันไปใช้รถไฮบริด หรือก๊าซธรรมชาติมากขึ้นก็มีส่วนถ่วงดุลไม่ให้น้ำมันดิบแพงกว่าที่ควรจะเป็น

ประเทศผลิตน้ำมันขายตระหนักข้อนี้ดี และเตรียมการแล้วสำหรับวันหนึ่งข้างหน้าที่ความต้องการน้ำมันของโลกจะลดน้อยถอยลงจนการพึ่งพาน้ำมันจะไม่อยู่ในระดับที่สูงอย่างทุกวันนี้
อยู่ที่ประเทศไหนจะปรับตัวให้ถอยห่างจากน้ำมันได้เร็วกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน ซึ่งก็จะเป็นตัวกำหนดว่าใครจะมีนโยบายพลังงานที่ยั่งยืนกว่ากันอีกด้วย

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำมันคนหนึ่งบอกว่าหากย้อนหลังไปปีที่แล้ว เหตุการณ์ลุกฮือทางการเมืองของโลกอาหรับ หรือ Arab Spring ก็ไม่ได้มีใครคาดหมายมาก่อน

พอเกิดเหตุการณ์การเมืองวุ่นวายในประเทศที่ผลิตน้ำมันเป็นจำนวนมาก ช่วงแรกก็มีความตื่นกลัวกันไม่ใช่น้อย แต่ลงท้ายก็ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหากับราคาน้ำมันดิบถึงขั้นรุนแรงจนเขย่าโลกอย่างที่กลัวกัน

และอย่าได้มองข้ามความเป็นไปได้ที่อิหร่านกับเวเนซุเอลา (ศัตรูคู่แค้นของโลกตะวันตกทั้งคู่) ที่จะตัดสินใจยกระดับการผลิตน้ำมันดิบของตนเพื่อที่จะเพิ่มรายได้ และเสริมบทบาทของตนในเวทีโลก

เชื่อกันว่า น้ำมันสำรองของอิหร่านยังมีอีกไม่น้อย (ในระดับ 137,000 ล้านบาร์เรล) และสามารถดันการผลิตน้ำมันต่อวันไปที่ 5 ถึง 7 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือสูงกว่าระดับปัจจุบันสองเท่าได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

อิรักเคยพิสูจน์แล้วว่าหลังสงคราม สามารถดันให้การผลิตน้ำมันของตนเพิ่มอีกร้อยละ 50 เป็นวันละ 3 ล้านบาร์เรลอย่างไม่ยากเย็นอะไร

ลิเบียก็ฟื้นจากความวุ่นวายทางการเมืองมาแล้ว และพร้อมที่จะผลิตน้ำมันขายให้ตลาดโลกได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
วันก่อนผมอ่านแนววิเคราะห์เรื่องนี้ของ นันเซน ซาเลรี ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารของ Saudi Aramco ซึ่งเห็นว่าเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดรถยนต์ใช้ไฟฟ้าจะเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้ความต้องการน้ำมันของโลกหดตัวลง

แม้ชนชั้นกลางจีน และอินเดียจะเริ่มมีสตางค์ใช้จ่ายมากขึ้น ก็จะไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะใช้เงินเพื่อบริโภคน้ำมันมากขึ้น

ตรงกันข้ามประสิทธิภาพที่สูงขึ้นจากการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังนิวเคลียร์และก๊าซจะเป็นตัวเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้น้ำมันอย่างมีนัยสำคัญ
เขาอ้างตัวเลขน้ำเข้าน้ำมันของสหรัฐ ว่า ลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ในห้าปีที่ผ่านมา และแนวโน้มก็ทำท่าว่าจะลดลงไปเรื่อยๆ เช่นกัน

เพราะสหรัฐคิดค้นเทคโนโลยีสกัดพลังงานจากหินน้ำมัน (oil shale) ซึ่งมีจำนวนมหาศาลได้ และเมื่อพัฒนาไปถึงจุดหนึ่งก็สามารถจะเริ่มพูดถึง “ยุคหลังการใช้น้ำมันดิบ” ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

นี่อาจจะเป็นภาพที่ดีเกินกว่าความเป็นจริง แต่ขณะเดียวกัน เหล่าบรรดากูรูพลังงานทั้งหลายก็เริ่มจะจับตาแนวโน้มพลังงานทดแทนกันอย่างเอาจริงเอาจังแล้วเช่นกัน

ผมหวังจะได้เห็น “ยุคหลังน้ำมัน” ในไม่เกินสิบห้าปีข้างหน้า
source : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/suthichaiyoon/20120609/455855/%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B9%E0%B8%94%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87-%E2%80%98%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99%E2%80%99-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น