วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปิโตรเลียมไทย ใครโชติช่วงชัชวาล?

โดย สันติ โชคชัยชำนาญกิจ

            ท่ามกลางปัญหาสินค้าแพงในขณะนี้ มีการวิเคราะห์เชื่อมโยงไปถึงปัญหาราคาน้ำมันที่แพงขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์ ASTV ก็ได้มีการกล่าวถึงข้อมูลที่น่าตื่นเต้นว่า ประเทศไทยมีแหล่งพลังงานจำนวนมหาศาล ผลิตก๊าซธรรมชาติติดอันดับ 24 ของโลก และผลิตน้ำมันเป็นอันดับ 33 ของโลก แซงหน้าหลายประเทศในโอเปก แต่คนในชาติกลับต้องใช้น้ำมันแพงกว่าประเทศอื่น จากการเปิดเผยข้อมูลของ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้าน พลังงาน วุฒิสภา ที่ระบุว่า  หน่วยงานของสหรัฐอเมริกา  ( EIA : Energy Information Administration) จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 24 ของโลกในการผลิตก๊าซธรรมชาติ เราชนะประเทศในกลุ่มโอเปก อย่างไนจีเรีย เวเนซุเอลา ลิเบีย คูเวต อิรัก บรูไน โบลิเวีย โดยตัวเลขเมื่อปี 2551 ไทยส่งออกปิโตรเลียม ทั้งน้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว รวมทั้งหมดเกือบ 3 แสนล้านบาท หรือประมาณ 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าข้าวและยางพารา
            ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ชวนเข้าใจไปว่า ประเทศไทยร่ำรวยไปด้วยทรัพยากรปิโตรเลียม จริงอยู่ที่ว่าข้อมูลข้างต้นเป็นข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบได้ไม่ผิดเพี้ยน แต่การที่จะสรุปว่าประเทศไทยมีทรัพยากรพลังงานมหาศาลนั้นอาจจะไม่ถูกต้องนัก เพราะจากข้อมูลของ CIA สหรัฐที่มีการอ้างถึงควบคู่กับข้อมูลของ EIA  ระบุว่า ในปี 2011 ประเทศไทยผลิตก๊าซธรรมชาติมากเป็นอันดับ 26 ของโลก มากกว่าประเทศในกลุ่มโอเปคหลายประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน ในส่วนของปริมาณสำรองที่มีอยู่ ประเทศไทยกลับมีน้อยกว่าเขาเป็นอย่างมาก ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 เปรียบเทียบการผลิตและปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติ
 
ปริมาณการผลิตต่อปี
(ข้อมูลปี 2011)
ปริมาณสำรอง
(proved reserves)
 
ลำดับที่
ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต
ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต
ไทย
26
1.09
11.02
ไนจีเรีย
29
0.82
186.86
เวเนซูเอล่า
30
0.81
178.85
อิรัค
62
0.05
111.93
คูเวต
41
0.41
63.49
ลิเบีย
35
0.56
54.66
โบลิเวีย
36
0.52
9.94
บรูไน
40
0.41
13.8
 

            ประเทศที่มีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติมากอันดับ 1-30 ของโลกมีปริมาณสำรองรวมกันคิดเป็น 96% ของโลก ส่วนประเทศไทยซึ่งถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 38 มีปริมาณสำรอง 11 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต คิดเป็นเพียง 0.16% เท่านั้น เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่มีอยู่ 85 และ 106 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตตามลำดับ เรายังห่างไกลจากคำว่าประเทศที่ร่ำรวยทรัพยากรพลังงานมากนัก
            จากตารางที่ 1 มีคำถามว่า ก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่สามารถใช้ไปได้นานเท่าไหร่ เมื่อนำปริมาณสำรองหารด้วยปริมาณการผลิตต่อปี คำตอบก็จะเป็นดังตารางที่ 2 คือก๊าซธรรมชาติของเราจะหมดภายใน 10 ปี ภายใต้ระดับการผลิตในปี 2011 ซึ่งแนวโน้มการผลิตของเราเพิ่มขึ้นทุกปี หมายความว่าอาจจะหมดก่อน 10 ปี ในขณะที่ไนจีเรีย เวเนซูเอล่า และอิรัค มีก๊าซธรรมชาติที่สามารถผลิตต่อไปได้มากกว่า 100 ปี
             อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วประเทศไทยเราไม่ถึงกับย่ำแย่ขนาดนั้น เพราะเรายังมีปริมาณสำรองที่ “ยังไม่ได้พิสูจน์” อีก 17 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต (ยังไม่ได้พิสูจน์หมายความว่าน่าจะมีแต่ไม่ทราบปริมาณที่แน่ชัด อาจจะน้อยกว่าหรือมากกว่าตัวเลขที่ระบุก็ได้) แต่กระนั้น ไทยเราก็ยังถือเป็นประเทศที่มีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติไม่ได้มากมายอยู่นั่น เอง

ตารางที่ 2 ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นระยะเวลาที่ใช้ได้
 
ใช้ได้นาน (ปี)
ไทย
10
ไนจีเรีย
228
เวเนซูเอลา
221
อิรัค
2,239
คูเวต
155
ลิเบีย
98
โบลิเวีย
19
บรูไน
34
 

            ลองมาดูในด้านน้ำมัน ข้อมูลจากแหล่งเดียวกันนี้เป็นดังตารางที่ 3 ในด้านปริมาณสำรอง ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 52 ของโลก แต่ปริมาณการผลิตอยู่ในลำดับที่ 33 ของโลก ตัวเลขที่น่าตื่นเต้นคือไทยเราผลิตน้ำมันได้มากกว่าบรูไน แต่ที่น่าตื่นเต้นกว่าก็คือปริมาณสำรองน้ำมันของเราจะหมดภายใน 3 ปีเท่านั้น ส่วนบรูไนสามารถผลิตต่อไปได้ 19 ปี ในขณะที่อิรัค คูเวต และเวเนซูเอล่ามีให้ผลิตต่อไปได้มากกว่า 100 ปี

ตารางที่ 3 เปรียบเทียบการผลิตและปริมาณสำรองน้ำมัน

ปริมาณการผลิตต่อวัน
(ข้อมูลปี 2010)
ปริมาณสำรอง
 (proved reserves)
ใช้ได้นาน (ปี)

ลำดับที่
(BBL / Day)
ล้าน BBL
อิรัค
9
2,642,000
115,000
119
ไนจีเรีย
10
2,458,000
37,200
41
คูเวต
11
2,450,000
104,000
116
เวเนซูเอลา
12
2,375,000
211,200
244
ลิเบีย
18
1,789,000
46,420
71
ไทย
33
406,800
435
3
บรูไน
43
159,400
1,100
19
โบลิเวีย
65
44,660
465
29
 

            ที่นำข้อมูลมาแสดงนี้ไม่ใช่เพื่อโต้แย้งข้อมูลของ ม.ล.กรกสิวัฒน์ ซึ่งต้องถือเป็นผู้รู้จริงเพราะเคยทำงานอยู่ในแวดวงธุรกิจปิโตรเลียมมาก่อน เพียงแต่เป็นการเพิ่มเติมข้อมูลให้เห็นว่า การผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในปริมาณมากเช่นที่เป็นอยู่ไม่ใช่เรื่องที่น่า ภูมิใจ ที่สำคัญคือ ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว เพราะการมีทรัพยากรพลังงานภายในประเทศถือเป็นปัจจัยสำคัญในเรื่องความมั่นคง พลังงาน การสงวนทรัพยากรไว้ใช้ในอนาคตจึงเป็นเรื่องที่ควรพิจารณาในการกำหนดนโยบาย
            ตัวอย่างเช่นมาเลเซียมีแหล่งก๊าซธรรมชาติมากกว่าไทยถึง 8 เท่า แต่มาเลเซียกำลังคิดที่จะหันมาใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้าบ้างเพื่อ สงวนก๊าซธรรมชาติไว้ใช้ให้นานมากขึ้น นี่ไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีเพราะพลังงานนิวเคลียร์เป็นทางเลือกที่ไม่ควรเลือก แต่มันก็สะท้อนให้เห็นว่า มาเลเซียคำนึงถึงความสำคัญของทรัพยากรพลังงานที่ตัวเองมีอยู่เป็นอย่างมาก
            สำหรับประเทศไทยที่มีทรัพยากรพลังงานอยู่เพียงน้อยนิด แต่เรากลับอยู่ในฐานะผู้ส่งออกน้ำมัน และในช่วง 3-4 ปีมานี้รัฐบาลได้ให้สัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นอีกเป็นพื้นที่มหาศาล ทำให้มีการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมแทบตลอดแนวชายฝั่งอ่าวไทย ไม่เว้นแม้กระทั่งบนบกในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทยจะโชติช่วงชัชวาลเป็นครั้งที่สองหรือไม่ก็คงต้องรอดู แต่ข้อเท็จจริงที่ทราบกันอยู่แล้วก็คือ ปัจจุบันแม้ว่าเราจะผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันได้เองเป็นปริมาณมากต่อปี แต่ราคาค่าพลังงานสำหรับคนไทยก็ยังแพงมากเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ คนไทยไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควรจากการนำทรัพยากรที่มีอยู่ขึ้นมาใช้อย่าง มโหฬาร เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ประโยชน์จากการขุดเจาะก๊าซและน้ำมันปริมาณมากๆ ต่อปีในทุกวันนี้ไปตกอยู่ที่ไหน จริงๆ แล้วปิโตรเลียมไทยทำให้ใครโชติช่วงชัชวาล ?
เรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อนและยืดยาว ขออนุญาตรวบรวมข้อมูลมานำเสนอในโอกาสหน้าครับ.

source : http://www.tcijthai.com/TCIJ/view.php?ids=669

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น