วันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การล่าอาณานิคมเพื่อน้ำมันของสหรัฐฯ

นับตั้งแต่โลกได้ผ่านยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 18 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน "น้ำมัน" หรือ "ทองคำสีดำ" ได้มีบทบาทสำคัญอย่างใหญ่หลวงต่อทิศทางของเศรษฐกิจและการเมืองโลก สหรัฐอเมริกากลายเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุด มีปริมาณการผลิตเองที่ไม่เพียงพอ ทำให้สหรัฐฯ ต้องจ่ายเงินนำเข้าน้ำมันเป็นจำนวนมหาศาลทุกปี จนในที่สุดรัฐบาลสหรัฐฯ ก็เกิดแนวคิดเข้ายึดครองแหล่งน้ำมันของประเทศต่างๆ ไว้เสียเอง โดยการสร้างเหตุต่างๆ นานาเพื่อนำกำลังทหารเข้ารุกรานประเทศเจ้าของแหล่งน้ำมัน และชักใยอยู่เบื้องหลังรัฐบาลของประเทศนั้นๆ รอบศตวรรษที่ผ่านมากองทัพสหรัฐฯ ได้เปิดทางให้บริษัทน้ำมันของสหรัฐฯ เข้าครอบครองแหล่งน้ำมันไปแล้วหลายแห่งทั่วโลก ติดตามรายละเอียดของลำดับเหตุการณ์ทั้งหมดได้จากที่นี่
ค.ศ.1816 : น้ำมันถูกนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับบ้านเรือนและโรงงานเป็นครั้งแรกในสหรัฐฯ หลังจากนั้นน้ำมันก็เริ่มมีบทบาทที่โดดเด่นมากขึ้น

ค.ศ.1859 : บ่อน้ำมันแห่งแรกในสหรัฐฯ ถูกขุดขึ้นที่รัฐเพนซิลเวเนีย

ค.ศ.1867 : สหรัฐฯ จ่ายเงิน 7.2 ล้านดอลลาร์ (เทียบมูลค่าปัจจุบัน 120 ล้านดอลลาร์) ให้กับรัสเซีย เพื่อซื้อดินแดนอะแลสกาขนาด 1.7 ล้านตารางกิโลเมตร (3 เท่าของประเทศไทย) สื่ออเมริกันถึงกับด่ารัฐบาลว่าซื้อก้อนน้ำแข็งมาในราคาแพงมาก แต่หลังจากนั้นรัฐบาลสหรัฐฯ ก็เปิดเผยว่ามันเต็มไปด้วยทองคำและน้ำมัน

ค.ศ.1870 : John D. Rockefeller ก่อตั้งบริษัท Standard Oil เพื่อผลิต กลั่น และจำหน่ายน้ำมัน บริษัทแห่งนี้เติบโตอย่างรวดเร็วโดยฮุบกิจการของคู่แข่ง ขยายการลงทุนและตลาดไปยังต่างประเทศ จนกลายเป็นบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่บริษัทแรกๆ ของโลก ซึ่งก็ทำให้ Rockefeller กลายเป็นคนรวยที่สุดของโลกในเวลานั้นด้วย

ค.ศ.1898 : สหรัฐฯ เพิ่มบทบาทของตัวเองในทวีปเอเชีย โดยทำสงครามกับสเปน และจบลงด้วยข้อตกลงยกเกาะฟิลิปปินส์ให้สหรัฐฯ ไปครอบครอง ปีต่อมาสหรัฐฯ ใช้นโยบายเปิดประตูจีน (Open Door Policy) โดยทำหนังสือเรียกร้องไปยังชาติมหาอำนาจในขณะนั้น คือ อังกฤษ, เยอรมนี, อิตาลี, รัสเซีย, ฝรั่งเศส รวมทั้งญี่ปุ่น ให้เลิกกีดกันชาติอื่นเข้าไปทำการค้าในประเทศจีน ซึ่งก็ทำให้บริษัท Standard Oil ขายน้ำมันก๊าดสำหรับตะเกียงของชาวจีนได้เป็นจำนวนมหาศาล จนประเทศจีนกลายเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชียของบริษัทแห่งนี้

ทศวรรษ 1910 : Henry Ford พัฒนาระบบการผลิตรถยนต์ให้เป็นแบบสายพาน ซึ่งผลิตได้รวดเร็ว จำนวนมาก และต้นทุนต่ำ ทำให้สหรัฐฯ ก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันปริมาณความต้องการน้ำมันในตลาดโลกก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย

ค.ศ.1911 : ศาลสูงสหรัฐฯ มีความเห็นว่า บริษัท Standard Oil ผูกขาดตลาดอย่างไม่สมเหตุสมผล และมีการหลบเลี่ยงข้อกฎหมาย จึงมีคำสั่งให้สลายบริษัท Standard Oil ออกเป็นบริษัทเอกชนที่เป็นอิสระต่อกันทั้งหมด 34 แห่ง ซึ่งหลายบริษัทในจำนวนนี้คือบริษัทค้าน้ำมันรายใหญ่ของโลกในเวลาต่อมา เช่น Esso, Mobil (ปัจจุบันรวมกันเป็น ExxonMobil), Chevron และ Conoco เป็นต้น

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ค.ศ.1914 - 1918) : ในช่วงแรกของสงคราม สหรัฐฯ ยังวางตัวเป็นกลางและพยายามทำตัวเป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้กับทั้งสองฝ่าย แต่ในช่วงปลายสงคราม กองทัพเรือเยอรมันทำสงครามเรือดำน้ำแบบไม่จำกัดขอบเขต ทำให้เรือสินค้าของสหรัฐฯ ได้รับความเสียหายหลายลำ จนในที่สุดสหรัฐฯ ก็ตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรและเป็นฝ่ายชนะ ผลที่ตามมาหลังสงครามก็คือ ฝ่ายสัมพันธมิตรได้เข้าแทรกแซงการเมืองในประเทศอิหร่านซึ่งอุดมไปด้วยน้ำมัน โดยสนับสนุน Reza Khan ให้โค่นล้มกษัตริย์เชื้อสายตุรกีซึ่งอยู่ในฝ่ายพ่ายแพ้สงครามโลก Reza Khan ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์เมื่อปี ค.ศ.1925 พระนามว่า Reza Shah Pahlavi และอยู่ภายใต้การครอบงำของฝ่ายสัมพันธมิตร บ่อน้ำมันส่วนใหญ่ในอิหร่านตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท Anglo-Persian Oil Company (ปัจจุบันคือ BP) จากอังกฤษ และสหรัฐฯ เริ่มเดินตามอังกฤษเข้าไปหาผลประโยชน์ในอิหร่าน

ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 : เป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ แซงรัสเซียขึ้นมาเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก และสหรัฐฯ ยังเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกอีกด้วย

ปริมาณการใช้น้ำมันของ 5 ประเทศหลัก



ปริมาณการผลิตน้ำมันของ 4 ประเทศหลัก


สงครามโลกครั้งที่สอง (ค.ศ.1939 - 1945) : กษัตริย์ Reza Shah Pahlavi มีแนวโน้มเปิดรับเยอรมนีเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับอังกฤษ ดังนั้นในปี ค.ศ.1941 กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรจึงบุกเข้ายึดประเทศอิหร่านเพื่อปกป้องผลประโยชน์จากบ่อน้ำมัน และตั้งพระราชโอรสของ Reza Shah Pahlavi ขึ้นเป็นกษัตริย์แทน พระนามว่า Mohammad Reza Pahlavi

ทศวรรษ 1960 : แม้สหรัฐฯ จะเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน จนสหรัฐฯ ต้องเริ่มนำเข้าน้ำมันอย่างมีนัยสำคัญ

ปริมาณการผลิตและการนำเข้าน้ำมันต่อวันของสหรัฐฯ



ค.ศ.1951 : กระแสชาตินิยมของชาวอิหร่านส่งให้ Mohammad Mosaddegh ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เขายึดบ่อน้ำมันทั้งหมดกลับมาเป็นของรัฐบาลอิหร่าน จน CIA และ MI6 ต้องสนับสนุนนายพล Fazlollah Zahedi โค่นล้มรัฐบาล Mosaddegh ลง แล้วกษัตริย์ Mohammad Reza Pahlavi ก็ทรงคืนบ่อน้ำมันให้กับสหรัฐฯ และอังกฤษอีกครั้ง

วิกฤติน้ำมัน ค.ศ.1973 : สืบเนื่องมาจากสงครามยมคิปปูร์ระหว่างชาติอาหรับกับประเทศอิสราเอล โดยฝ่ายแรกได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต ส่วนฝ่ายหลังได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ เปรียบเหมือนสงครามตัวแทนและการทดลองอาวุธใหม่ของ 2 ชาติมหาอำนาจ ในเวลานั้นชาติอาหรับผู้ค้าน้ำมันที่เพิ่งรวมตัวกันเป็นกลุ่มโอเปก ได้ตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการงดขายน้ำมันให้กับสหรัฐฯ และยังลดปริมาณการผลิตน้ำมันลงอย่างต่อเนื่องทุกเดือน ทำให้เกิดวิกฤติน้ำมันขึ้นทั่วโลก นับเป็นช่วงเวลาที่สหรัฐฯ ต้องผลิตน้ำมันใช้เองมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติ คือ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ผลเสียในครั้งนั้นทำให้สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตตัดสินใจหยุดให้การสนับสนุนแก่คู่สงครามทั้ง 2 ฝ่าย และสหประชาชาติได้เข้าไปไกล่เกลี่ยจนสงครามสงบลง

ราคาน้ำมันในตลาดโลก (สีน้ำเงินคือราคา ณ ขณะนั้น สีส้มคือราคาเมื่อปรับค่าเงินปี ค.ศ.2008)


ทศวรรษ 1980 : ปริมาณการนำเข้าน้ำมันของสหรัฐฯ เพิ่มแบบก้าวกระโดดจาก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาเป็น 6 ล้านบาร์เรลต่อวันในเวลาเพียงไม่กี่ปี สวนทางกับปริมาณการผลิตน้ำมันที่ลดลงอย่างต่อเนื่องหลังผ่านช่วงสูงสุดเมื่อครั้งเกิดวิกฤติน้ำมัน และวิกฤติน้ำมันในครั้งนั้นยังเป็นบทเรียนสำคัญที่สอนให้สหรัฐฯ รู้จักอาวุธสงครามทรงอานุภาพที่เรียกว่าน้ำมัน จนต้องเร่งสำรวจหาแหล่งน้ำมันแห่งใหม่มาสำรองไว้

ค.ศ.1975 : ประเทศโปรตุเกสถอนตัวออกจากการครอบครองดินแดนติมอร์ตะวันออกโดยไม่ได้จัดการปกครองให้เรียบร้อย สหรัฐฯ จึงสนับสนุนประธานาธิบดี Suharto ของอินโดนีเซีย นำกองทัพบุกเข้ายึดครองติมอร์ตะวันออกเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศอินโดนีเซีย แล้วสหรัฐฯ กับอินโดนีเซียก็จัดสรรผลประโยชน์จากแหล่งทรัพยากรพลังงานทางทะเลในพื้นที่ของติมอร์ตะวันออกกัน

วิกฤติน้ำมัน ค.ศ.1979 : สืบเนื่องมาจากการปฏิวัติอิสลาม โดยชาวอิหร่านนับล้านคนชุมนุมขับไล่บริษัทอเมริกันและโค่นล้มกษัตริย์ Mohammad Reza Pahlavi ลงได้สำเร็จในปี ค.ศ.1978 ปีต่อมา Ayatollah Khomeini ผู้นำศาสนาและผู้นำการประท้วง เดินทางกลับเข้าสู่ประเทศอิหร่าน ตั้งตัวเป็นผู้นำสูงสุดทางศาสนาและการเมือง แล้วยึดบ่อน้ำมันกลับมาเป็นของรัฐบาลอิหร่านอีกครั้ง พร้อมกับลดปริมาณการผลิตน้ำมันลงจนเกิดเป็นวิกฤติน้ำมันรอบใหม่

สงครามอิรัก - อิหร่าน (ค.ศ.1980 - 1988) : สหรัฐฯ หันไปสนับสนุน Saddam Hussein ผู้นำของประเทศอิรัก ซึ่งมีข้อบาดหมางกับ Khomeini ในเรื่องนิกายของศาสนาอิสลามที่ต่างกัน และยังมีปัญหารุกล้ำพรมแดนกันอยู่บ่อยๆ เมื่ออิรักได้รับการหนุนหลังโดยสหรัฐฯ จึงเปิดฉากโจมตีอิหร่านอย่างเต็มรูปแบบ สงครามเกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ.1980 - 1988 ทั้ง 2 ประเทศได้รับความบอบช้ำอย่างหนักโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลอิรักเป็นหนี้ซาอุดีอาระเบียและคูเวตเป็นจำนวนมหาศาล ทางด้านอิหร่าน Khomeini ป่วยจนเสียชีวิต แต่สหรัฐฯ ก็ยังกลับเข้าอิหร่านไม่ได้ และผู้สืบทอดตำแหน่งของ Khomeini คือ Ayatollah Ali Khamenei ยังคงสืบสานปณิธานต่อต้านสหรัฐฯ มาจนถึงปัจจุบัน

สงครามอ่าวเปอร์เซีย (ค.ศ.1990 - 1991) : รัฐบาลอิรักพยายามบังคับให้เจ้าหนี้อย่างคูเวตยกหนี้ให้ โดยอ้างว่า ประเทศคูเวตผลิตน้ำมันเกินโควต้าของกลุ่มโอเปกจนราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำ และอ้างว่า คูเวตลักลอบสูบน้ำมันจากเขตแดนของอิรัก จากนั้นยังอ้างว่า คูเวตเคยเป็นดินแดนของอิรักมาก่อนที่จะได้รับเอกราชจากอังกฤษ ดังนั้น Saddam Hussein จึงส่งกองทัพอิรักบุกเข้ายึดประเทศคูเวต ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นจนเป็นวิกฤติน้ำมันอีกครั้ง ทำให้สหรัฐฯ ต้องนำกองกำลังผสมของสหประชาชาติบุกเข้าปลดปล่อยประเทศคูเวตและรุกเข้าไปในดินแดนอิรัก สงครามจบลงด้วยชัยชนะอย่างเด็ดขาดของกองกำลังผสม แม้ Saddam Hussein จะยังอยู่ในอำนาจได้ต่อไป แต่ประเทศอิรักก็บอบช้ำอย่างหนัก บวกกับมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจที่สหประชาชาติมีต่ออิรัก ทำให้ประเทศอิรักไม่สามารถฟื้นตัวจนไปรุกรานประเทศคูเวต หรือซาอุดีอาระเบียที่เป็นแหล่งน้ำมันสำคัญของสหรัฐฯ ได้อีก

ค.ศ.1999 : เนื่องจากแหล่งทรัพยากรพลังงานทางทะเลของติมอร์ตะวันออกนั้นคาบเกี่ยวกับเขตแดนทางทะเลของประเทศออสเตรเลียด้วย ดังนั้นรัฐบาลออสเตรเลียจึงทักท้วงการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างสหรัฐฯ กับอินโดนีเซีย ทำให้สหรัฐฯ กับออสเตรเลียหันมาจับมือกันสนับสนุนชาวติมอร์ตะวันออกให้ลุกฮือขึ้นปลดแอกตัวเองออกจากอินโดนีเซียจนเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น แล้วสหรัฐฯ ก็นำกองกำลังขององค์การสหประชาชาติเข้ามารักษาสันติภาพในติมอร์ตะวันออก จนผลักดันให้เกิดการประกาศอิสรภาพ ตั้งเป็นประเทศติมอร์ตะวันออกได้สำเร็จในปี ค.ศ.2002 โดยมีสหรัฐฯ และสหประชาชาติเป็นพี่เลี้ยงมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนผลประโยชน์จากทรัพยากรพลังงานทางทะเลก็ถูกสหรัฐฯ และออสเตรเลียจัดสรรกันไป

สงครามอัฟกานิสถาน (ค.ศ.2001) : หลังเหตุวินาศกรรมที่ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เมื่อ 11 กันยายน ค.ศ.2001 สหรัฐฯ อ้างว่า เป็นฝีมือของกลุ่มอัลกออิดะฮ์ที่มี Osama Bin Laden เป็นหัวหน้า และมีฐานที่มั่นอยู่ในประเทศอัฟกานิสถาน แต่รัฐบาลตาลีบันซึ่งปกครองประเทศอัฟกานิสถานอยู่ในขณะนั้นได้ให้การสนับสนุนกลุ่มอัลกออิดะฮ์อย่างเต็มที่ สหรัฐฯ จึงเปิดฉากโจมตีประเทศอัฟกานิสถานโดยอ้างว่า เพื่อตามล่าตัว Osama Bin Laden และกวาดล้างกลุ่มผู้ก่อการร้าย แต่ในอีกทางหนึ่ง Osama Bin Laden ก็คืออดีตนักรบที่สหรัฐฯ สร้างขึ้นเพื่อให้ต่อสู้กับสหภาพโซเวียต ทั้งยังเป็นนักธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับประธานาธิบดี George W. Bush ของสหรัฐฯ ถึงขนาดในวันที่ตึกเวิลด์เทรดฯ ถล่ม ครอบครัว Bin Laden ยังได้รับการส่งตัวออกจากสหรัฐฯ อย่างปลอดภัย ดังนั้นการโจมตีประเทศอัฟกานิสถานแท้จริงแล้วยังมีเหตุผลอื่นที่แอบแฝงอยู่ นั่นก็เพราะประเทศอัฟกานิสถานเป็นทางผ่านของโครงการสร้างท่อส่งก๊าซ 2 สาย คือสายที่เชื่อมมาจากเอเชียกลางผ่านอัฟกานิสถานและปากีสถานออกสู่มหาสมุทรอินเดีย และสายที่เชื่อมมาจากตะวันออกกลางผ่านอัฟกานิสถานและออกสู่มหาสมุทรอินเดีย ดังนั้นเมื่อสหรัฐฯ นำกองทัพบุกโค่นล้มรัฐบาลตาลีบันและตั้งรัฐบาลใหม่ภายใต้การครอบงำของสหรัฐฯ ได้ ท่อส่งก๊าซและน้ำมันซึ่งสร้างรายได้มหาศาลก็อยู่ในการครอบงำของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

ท่อส่งก๊าซและน้ำมันที่ผ่านเขตแดนของประเทศอัฟกานิสถาน



สงครามอิรัก (ค.ศ.2003) : สงครามครั้งนี้เป็นเหมือนการสะสางภารกิจให้เสร็จสิ้นจากที่ได้ทำค้างไว้ในสงครามอ่าวเปอร์เซีย นั่นก็คือ การยึดครองประเทศอิรักซึ่งมีปริมาณน้ำมันสำรองมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยสหรัฐฯ อ้างว่า รัฐบาลอิรักครอบครองอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง ซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคงของโลก (แต่ภายหลังสหรัฐฯ ก็ออกมายอมรับว่าหาไม่พบ) สหรัฐฯ จึงร่วมกันพันธมิตรหลายชาตินำกองทัพบุกเข้าโจมตีประเทศอิรัก และด้วยสภาพที่ย่ำแย่อยู่แล้วของประเทศอิรักทำให้สงครามจบลงภายในเวลาอันสั้น Saddam Hussein ถูกจับกุมตัวและถูกแขวนคอในเวลาต่อมา สหรัฐฯ เข้าปกครองประเทศอิรักเป็นการชั่วคราวเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่ยังคงกองกำลังสหรัฐฯ ไว้ที่ประเทศอิรักเรื่อยมาอีกเกือบสิบปี และเพื่อฟื้นฟูกองทัพสำหรับป้องกันตัวเองของประเทศอิรัก รัฐบาลอิรักจึงได้ขายน้ำมันแล้วนำเงินมาซื้ออาวุธมูลค่ามหาศาลจากสหรัฐฯ เท่ากับถูกสหรัฐฯ ดูดทรัพยากรไปในทางอ้อมนั่นเอง

ค.ศ.2010 - 2011 : สหรัฐฯ อ้างว่า อิหร่านกำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ จึงชักชวนนานาชาติคว่ำบาตรการซื้อน้ำมันจากอิหร่าน นอกจากนั้นนักวิทยาศาสตร์ชาวอิหร่านซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านพลังงานนิวเคลียร์และยูเรเนียมยังถูกลอบวางระเบิดเสียชีวิตไปหลายราย อิหร่านได้ตอบโต้ด้วยการขู่ปิดช่องแคบฮอร์มุซซึ่งจะทำให้น้ำมันจากตะวันออกกลางถูกตัดเส้นทางลำเลียงออกสู่ทะเล และกระทบกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุด

สงครามกลางเมืองลิเบีย (ค.ศ.2011) : ชัยชนะของกลุ่มผู้ประท้วงชาวอียิปต์ที่สามารถโค่นล้มประธานาธิบดี Hosni Mubarak ซึ่งอยู่ในตำแหน่งกว่า 30 ปีลงได้ ทำให้ชาวลิเบียลุกฮือขึ้นขับไล่ Muammar al-Gaddafi ผู้นำที่ปกครองประเทศมากว่า 40 ปี ออกจากตำแหน่งด้วยเช่นกัน การปะทะอย่างรุนแรงของทั้งสองฝ่ายกลายเป็นสงครามกลางเมือง และสหรัฐฯ ได้ใช้โอกาสนี้แทรกตัวเข้ามา เพราะลิเบียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีปริมาณน้ำมันสำรองมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก สหรัฐฯ ได้สนับสนุนทั้งเงินและอาวุธให้กับกลุ่มกบฏที่เรียกตัวเองว่าสภาถ่ายโอนอำนาจ และในเวลาต่อมาสหรัฐฯ ได้ชักชวนนาโต้ส่งกองกำลังเข้าช่วยกลุ่มกบฏจนสามารถคว้าชัยชนะไว้ได้ และ Muammar al-Gaddafi ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม ปัจจุบันประเทศลิเบียก็ยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาล โดย Mustafa Abdul Jalil ประธานสภาถ่ายโอนอำนาจ ถือเป็นผู้ดูแลประเทศชั่วคราว ซึ่งมีสหรัฐฯ และสหประชาชาติให้การรับรอง

ค.ศ.2012 : สหรัฐฯ เตรียมใช้ประเทศอิสราเอลมาทำสงครามตัวแทนกับประเทศอิหร่าน โดยอิสราเอลอ้างว่า อิหร่านให้การสนับสนุนกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ลอบวางระเบิดสังหารนักการทูตอิสราเอลหลายราย ซึ่งรวมทั้งระเบิดที่เกิดขึ้นในซอยสุขุมวิท 71 ประเทศไทย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ด้วย และหากอิสราเอลใช้เหตุนี้เป็นข้ออ้างเปิดฉากโจมตีอิหร่าน สหรัฐฯ ก็จะให้การสนับสนุนอิสราเอลอย่างเต็มที่ เพื่อหวังจะได้กลับเข้าไปครอบครองบ่อน้ำมันในประเทศอิหร่านอีกครั้งหลังจากที่ถูกไล่ออกมาเป็นเวลากว่า 30 ปี



Source :http://politic.myfirstinfo.com/viewnews.asp?newsid=98511

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น