วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555

อนาคตพลังงานไทยในเออีซี : เพียงพอ หรือ ขาดแคลน

source : http://www.komchadluek.net/detail/20121214/147116/อนาคตพลังงานไทยในเออีซี.html

รู้ทันกระแสเศรษฐกิจและพลังงาน : ความท้าทายแห่งอนาคต ด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และพลังงาน (จบ) : โดย ... ดร. โชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่นโยบายและเศรษฐกิจพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) Chodechai.energyfact@gmail.com

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี 2558 ความท้าทายทางเศรษฐกิจประการหนึ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ เรื่องพลังงาน เพราะหากเราวิเคราะห์ถึงสถานการณ์พลังงานของประเทศไทย ประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้พลังงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่งที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานรวมกันสูงถึงกว่าร้อยละ 70 และภาคส่วนอื่นๆ รวมกันอีกประมาณร้อยละ 30 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายทั้งประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้นำเข้าพลังงานชนิดต่างๆ ทั้งไฟฟ้า ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ เพื่อรองรับการใช้งานภายในประเทศ

ในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าการนำเข้าพลังงานสูงถึง 1.237 ล้านล้านบาท สำหรับภาพรวมพลังงานช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้าพลังงานที่ 1.105 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าพลังงานช่วง 9 เดือนแรกเพิ่มขึ้นทุกประเภท โดยน้ำมันดิบมีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด 852,900 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 77 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 14.9 จากปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 รองลงมา ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.6 ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.0 ถ่านหินเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 และไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.8

สำหรับมูลค่าการใช้พลังงาน ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 มีมูลค่าการใช้พลังงานที่ 1.607 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทุกประเภทพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งมีมูลค่าการใช้สูงสุดที่ 978,679 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61 ของมูลค่าการใช้พลังงานทั้งหมด มีมูลค่าการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 รองลงมาได้แก่ ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.3 และลิกไนต์/ถ่านหิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 ตามลำดับ

ในด้านผลกระทบต่อภาคธุรกิจหลังการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ผมขอวิเคราะห์ประเด็นความท้าทายด้านพลังงานของไทยใน 3 มิติ ดังนี้

(1) ผลกระทบด้านราคาพลังงานของประเทศไทยจากการเปิดเออีซี สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง ผมมองว่าไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก เพราะประเทศไทยมีการเปิดเสรีอยู่แล้ว สำหรับเอทานอล เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปริมาณการผลิตเอทานอลมากที่สุดในภูมิภาค การเปิดเออีซีจะทำให้ราคาเอทานอลในประเทศดีขึ้น เพราะสามารถส่งออกเอทานอลส่วนเกินได้มากขึ้น ในด้านแอลเอ็นจี (ก๊าซธรรมชาติเหลว) ประเทศไทยนำเข้าแอลเอ็นจีในราคาตลาด (ราคาตลาดโลกที่ซื้อขายในภูมิภาคเอเชีย) เออีซีจึงไม่กระทบแอลเอ็นจีของไทย

ยังไม่จบนะครับ เพิ่งจะเริ่มต้นพื้นที่ก็หมดแล้ว ไว้สัปดาห์หน้าผมจะมาวิเคราะห์ประเด็นความท้าทายของพลังงานไทยในเออีซีต่อนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น