วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

จริงหรือ?ไทยส่งออกน้ำมันดิบมา 13 ปี อเมริการับน้ำมันดิบจากไทย กลั่นและขายหน้าปั๊มต่ำกว่าไทย 10 กว่าบาท

source : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1345693989&grpid=03&catid=05&subcatid=0500

วันนี้ (22 ส.ค.) เวลา 13.30 น. มีการจัดเวทีสาธารณะ “แก๊ส กับ น้ำมัน: ทำไมแพง?” ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ และเครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม (SIRNet)


ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน กล่าวว่า  วันนี้ไทยใช้น้ำมันแพงเกินสมควร ขณะที่อเมริกาเป็นประเทศค้าเสรี ไม่พยุงราคาน้ำมัน บริษัทน้ำมันคิดกำไรเต็มที่ แต่อเมริกามีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์


“ไทยส่งออกน้ำมันดิบมา 13 ปี อเมริการับน้ำมันดิบจากไทย กลั่นและขายหน้าปั๊มต่ำกว่าไทย 10 กว่าบาท เมื่อวันที่ 12 มีนาคม เบนซิน 95 ของไทยมีราคาแพงกว่ามาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า และอเมริกา คำถามคือเราจะแข่งขันในเออีซีได้อย่างไร แต่ก่อนน้ำมันดิบกับน้ำมันสุกต่างกัน 5-6 บาท ทุกวันนี้ต่างกัน 20 กว่าบาท ส่วนข้ออ้างว่าน้ำมันดิบตลาดโลกแพง ปี 51 น้ำมันดิบตลาดโลกมีราคา 30 บาท วันนี้น้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 20 บาท ขณะที่หน้าปั๊มสำหรับเบนซิน 40 กว่าบาท ถ้าน้ำมันดิบตลาดโลกแพงอเมริกาก็ต้อง 40 บาทเหมือนเราแต่ราคาน้ำมันดิบอเมริกาขณะนี้อยู่แค่เพียง 30 กว่าบาท”

ไทยอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าผู้ผลิตแก๊สธรรมชาติ ระดับโลก ในปี 2010 ไทยผลิตได้ 3.6 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร สูงกว่าหลายประเทศในกลุ่มโอเปค ขณะที่ราคาแก๊ส NGV ที่อเมริกาอยู่ที่ 2 บาทกว่า ส่วนไทยอยู่ที่ 8.50 บาท ทั้งที่จากข้อมูลสถาบันพลังงานสหรัฐฯ ไทยเป็นผู้ผลิตแก๊สระดับโลก เราอยู่อันดับที่ 24 ส่วนน้ำมันดิบอยู่อันดับ 33 ของโลก


เหตุที่น้ำมันแพงเพราะ (1) ราคาจำหน่ายน้ำมันในประเทศใช้ราคาเทียบเท่านำเข้า เวลาส่งออกให้เทียบเท่าส่งออก (2) การครอบงำธุรกิจโรงกลั่น ปัจจุบันมี 5 โรงมีผู้ถือหุ้นใหญ่รายเดียว ทำให้ค่าการตลาดจาก 1-1.50 บาท เป็น 2-12 บาท ถ้ามีการแข่งขันน้ำมันหน้าโรงกลั่นแต่ละโรงจะไม่เท่ากันเพื่อได้ส่วนแบ่งการ ตลาด (3) การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่ออุ้มราคาก๊าซหุงต้ม ซึ่งเอาไปหนุนราคาวัตถุดิบให้ธุรกิจปิโตรเคมีด้วย ทั้งที่ควรเป็นกองทุนรักษาระดับราคาเชื้อเพลิง


สิ่งที่ต้องแก้ไข ได้แก่ (1) พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ซึ่งใช้มากว่า 40 กว่าปี (2) แก้ไขมติ ครม.ในการนำแก๊ส LPG ไปให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีก่อนและต้องขายโดยอิงราคาตลาดโลกให้แก่ประชาชน


นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเขียนให้รัฐสามารถประกอบธุรกิจแข่งขันกับเอกชนได้ แต่ไม่ใช่ครอบงำ ผูกขาด หรือควบรวมธุรกิจอื่น ๆ และยังกำหนดให้ดำเนินนโยบายการแข่งขันอย่างเสรี แต่สิ่งที่ปรากฏคือการผูกขาดในธุรกิจปิโตรเลียม


“ด้านปัญหาในเรื่องการกำกับกิจการพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เป็นหน่วยงานที่ดูแลเฉพาะปลายน้ำ แต่ต้นน้ำตั้งแต่ราคาแก๊สกับขั้นอยู่กับคณะกรรมการปิโตรเลียมกับผู้รับ สัมปทานปิโตรเลียม ประเด็นคือคนกำกับไปทำหน้าที่ตกลงราคาขาย แทนที่จะกำกับให้เกิดการแข่งขัน และที่มากไปกว่านั้น ประธานปิโตรเลียมคือปลัดกระทรวงพลังงาน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธาน บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) และเป็นประธานของ บมจ.ปตท.สผ. ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับสัมปทานที่ตนต้องไปตกลงซื้อขายแก๊สธรรมชาติ”


คนไทยเป็นเจ้าของแก๊สธรรมชาติแต่ไม่มีสิทธิ์ได้ใช้ทรัพยากรของตัวเอง เพราะมีการกีดกันการเข้าถึงด้วยโครงสร้างสูตรราคากำหนดแก๊สซึ่งเขียน โดยกระทรวงพลังงาน โดยมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานบอร์ดของบริษัทกิจการพลังงาน อีกทั้งยังเป็นประธานปิโตรเลียม และเป็นประธานขุดเจาะสำรวจ


นายศุภกิจ นันทวรการ ตัวแทนจากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่า ไทยผูกขาดระบบพลังงานเพราะแนวคิดการพัฒนาพลังงานแบบรวมศูนย์ ตั้งแต่โรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกแก๊สธรรมชาติ ระบบท่อส่งแก๊ส ระบบไฟฟ้า ขณะที่มีผู้ใช้จำนวนมาก


“เราถูกครอบงำว่าการพัฒนาแบบรวมศูนย์คือหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ ขณะที่ระบบพลังงานแบบกระจายศูนย์ที่ให้ทุกคนเป็นผู้ใช้และผู้ผลิตกระจายไป ตามครัวเรือนต่าง ๆ เช่น การใช้แผ่นโซลาเซลล์ กังหันน้ำผลิตไฟฟ้า กังหันลมผลิตไฟฟ้า การแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน  ชุมชนหลายแห่งในไทยมีศักยภาพผลิตพลังงานแต่ไม่ได้รับการสนับสนุน”

นางสาวสมลักษณ์ หุตานุวัตร ตัวแทนจากเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SNV) กล่าวถึงปัญหา 3 ประการในธุรกิจพลังงาน ได้แก่ (1) สื่อมวลชนกระแสหลัก ไม่มีโอกาสให้ข้อมูลที่ถูกต้องและรอบด้านสู่สาธารณะอย่างเปิดเผย (2) กติกาที่ไม่ให้ระบบความเป็นธรรมเกิดขึ้นในพลังงานทุกรูปแบบ แม้แต่พลังงานทดแทน (3) คน ได้แก่ คนที่มีความรับผิดชอบเชิงกำกับสั่งการ ทั้งระบบโครงสร้างพลังงาน คนที่อยู่ในอำนาจตรวจสอบที่เป็นองค์กรอิสระรวมถึงตุลาการ ทั้งหมดไม่มีความรู้เรื่องพลังงานลึกซึ่งพอที่จะตรวจสอบ และคนไทยที่เป็นเจ้าของทรัพยากรแผ่นดินไม่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม


“สิ่งที่เลวร้ายในเวลานี้คือบัตรเครดิตพลังงาน แทนที่จะให้คนไทยทุกคนเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าและน้ำมัน กลับใช้บัตรเครดิตสร้างบุญคุณระหว่างรัฐกับผู้รับบัตรเครดิต ใช้ระบบประชานิยมทั้งที่ทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นของประชาชน ซึ่งคนไทยทุกคนควรประณาม”


ส่วนทางออกได้แก่ (1) นักวิชาการต้องซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ (2) นักกฎหมายต้องช่วยแก้กฎหมายเกี่ยวกับพลังงานทุกฉบับ และกระจายอำนาจพลังงานให้แก่ท้องถิ่น (3) ปลดข้าราชการที่ไปรับตำแหน่งในบริษัทพลังงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น