หลังจากที่มีกระแสการต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย
นอกเหนือจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ เช่น ถ่านหิน
ก๊าซธรรมชาติ ไม่เว้นแม้แต่โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนต่าง ๆ ก็พลอยโดนหางเลขไปด้วย
ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า ในอนาคตอาจเกิดปัญหาไฟตกไฟดับ
หรือปริมาณไฟฟ้าไม่พอใช้อาจต้องมีการดับไฟในบางช่วงเวลาเหมือนกับที่ประเทศญี่ปุ่น
โดยเฉพาะในช่วงปี 2557
ที่ปริมาณไฟฟ้าจะลดต่ำลงเหลือเพียง 9% จากปัจจุบันที่มีปริมาณสำรองประมาณ 20% แต่หากโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ
กฟผ.สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้า
และผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ทันก็จะทำให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าจะปรับขึ้นมาอยู่ที่
15% ซึ่งสวนทางกับความต้องการใช้ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย
ที่เริ่มฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยจะเห็นได้จากความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือพีค
ในปีนี้ ที่สูงถึง 23,900 เมกกะวัตต์
จากกำลังการผลิตทั้งประเทศประมาณ 31,446 เมกกะวัตต์
แต่ปัญหาอยู่ ณ
ขณะนี้ที่ยังไม่สามารถก่อสร้างได้เพราะยังมีการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่
โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง โดยหลายๆ
ภาคส่วนอยากให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติมาเป็นเชื้อเพลิงในการก่อสร้าง
เพราะเห็นว่ามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์
ในปริมาณที่น้อยกว่า แต่รู้หรือไม่ว่าขณะนี้ประเทศไทยเราใช้ก๊าซฯ
เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าสัดส่วนสูงถึง 70%
ของกำลังการผลิตทั้งประเทศ
ซึ่งถือเป็นประเทศแรกเลยก็ว่าได้ที่ใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงในสัดส่วนที่สูงขนาดนี้
ทำให้มีความเสี่ยงสูงมากเพราะราคาก๊าซฯ มีความผันผวนสูงขึ้นลงตามราคาน้ำมัน
ประกอบกับมีการประเมินว่าแหล่งก๊าซฯ ในอ่าวไทยจะใช้ได้อีกเพียง 15-20 ปีเท่านั้น
แต่ถ้าเศรษฐกิจโตเร็วขึ้นความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้น
ก็เป็นไปได้ที่ที่จะหมดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง ประเทศฝรั่งเศส เยอรมัน เดนมาร์ก อเมริกา
จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ยังไม่ถึงเลย
ในขณะเดียวกันประเทศพัฒนาแล้วอย่างนั้นกลับใช้เชื้อเพลิงที่บ้านเราต่อต้านนักหนา
อย่างนิวเคลียร์ในประเทศฝรั่งเศสที่มีการใช้สัดส่วนสูงถึง 76%
ในประเทศเกาหลี 34% ขณะที่ประเทศจีน
ก็มีการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินสูงถึง 79% สหรัฐอเมริกา
49% ส่วนการใช้ก๊าซฯ
เป็นเชื้อเพลิงของประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นอยู่ที่ระดับ 14–26%
เท่านั้น
สำหรับพลังงานหมุนเวียนประเทศพัฒนาแล้วต่างๆ
เหล่านี้จะมีการกระจายการใช้อย่างเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ
มีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเพื่อเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เสริมเท่านั้น
มิใช่ตัวหลักอย่างบ้านเรา ที่มุ่งแต่จะใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นเชื้อเพลิง
ที่มีต้นทุนค่าก่อสร้างและค่าไฟฟ้าที่สูงลิบลิ่ว
ถึงขนาดมีการตั้งเป้าหมายให้มีสัดส่วนสูงถึง 20%
หรือประมาณ 5,604 เมกกะวัตต์ ในปี
2565 หรือแม้แต่การที่จะต้องไปยืมจมูกคนอื่นหายใจ
อย่างการไปซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีสัดส่วนสูงถึง 25% โดยเฉพาะประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ซึ่งหากวันใดที่แหล่งผลิตมีปัญหาอาจเห็นประเทศไทยไฟตกดับก็เป็นได้
ซึ่งทางนายธวัช วัจนะพรสิทธิ์ รองผู้ว่าการกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม กฟผ.
ก็ยอมรับว่ามีความกังวลไม่ใช่น้อย จากการที่ไทยไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นใหม่ได้
ทำให้การตัดสินใจที่จะสร้างโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบโดยมีหลักในการคัดเลือก
3 ปัจจัย คือ ราคา ความมั่นคงทางพลังงาน และสิ่งแวดล้อม
ซึ่งตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าในอนาคต หรือ พีดีพี 2010 ได้กำหนดไว้ว่า กฟผ.
จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าหลายประเภท ทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก๊าซฯ นิวเคลียร์
และพลังงานทดแทน
นายธวัช ให้ความเห็นว่า เชื้อเพลิงที่เหมาะสม และน่าสนใจที่สุดในตอนนี้
คงหนีไม่พ้นถ่านหินสะอาด เพราะมีจำนวนมาก และต้นทุนราคาไม่แพงมากนัก
ประกอบกับปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีการสร้าง การดูแลที่ทันสมัยมากขึ้น
ทำให้ลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดซ์ออกไซด์ลงได้
แต่หากจะใช้โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมาเป็นตัวหลักเหมือนที่หลายฝ่าย ๆ
เสนอนั้น อาจทำได้ แต่ราคาไฟฟ้าจะค่อนข้างแพง เพราะมีต้นทุนราคาก่อสร้างสูง
และยังต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าสำรอง หรือแบ็คอัพเพื่อสำรอง
ทำให้เหมือนจะต้องมีโรงไฟฟ้าถึง 2 โรง ส่วนจะใช้โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
หรือพลังงานลม ประเทศไทยเราก็ใช่ว่าจะมีแสงอาทิตย์ หรือลมตลอด 24 ชั่วโมง
แต่มีเพียงบางช่วงหรือบางวันเท่านั้นแล้วหลังจากช่วงเวลานั้นจะใช้ไฟจากไหน
หรืออาจเสนอให้นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจีจากต่างประเทศ
นานวันเข้าราคาก็เริ่มสูงขึ้น ปริมาณก็ลดน้อยลง แต่มีอีก 1
เชื้อเพลิงที่ต้นทุนถูกไม่แพ้ถ่านหิน แถมยังไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
แต่คงเป็นการยากถ้าจะเกิดในประเทศไทย อย่างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์
เพราะยังได้รับการต่อต้านถึงแม้ว่าการศึกษายังไม่เสร็จก็ตาม
แต่เมื่อพูดถึงโรงไฟฟ้าในภูมิภาคนี้แล้ว
อีกประเทศหนึ่งที่มีการพัฒนาโรงไฟฟ้าในทุกรูปแบบ
คงหนีไม่พ้นประเทศเกาหลีที่มีทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์
โรงไฟฟ้าพลังน้ำ โรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์
โดยมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สูงถึง 34% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์รวม 21 เตา
หรือประมาณ 19,000 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 43% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศทั้งหมด 79,000-80,000 เมกะวัตต์
ที่เหลือก็จะมาจากโรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆ แต่ที่น่ายกย่อง คือ
ประชาชนชาวเกาหลีต่างยอมรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้า
หากถ้าถูกกำหนดขึ้นเป็นกฎหมายแล้วก็จะต้องปฏิบัติตาม
ขณะที่ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าเองก็มีงบประมาณในการดูแลประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ
อย่างเต็มที่จนเป็นที่พึงพอใจทั้ง 2 ฝ่าย จนกลายเป็นว่าหากจะมีคนสร้างโรงไฟฟ้า
ชาวบ้านแต่ละพื้นที่ต้องเสนอตัวเพื่อให้โรงไฟฟ้าเข้าไปตั้งอยู่ในหมู่บ้านของตน
เพราะโรงไฟฟ้าจะเข้ามาพร้อมกับความเจริญ ส่วนเรื่องการปล่อยมลพิษ
โรงไฟฟ้าก็มีการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ให้ออกมาสร้างความเดือดร้อนให้ใคร
เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ทาง
กฟผ.ได้พาคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าที่ประเทศเกาหลี โดยมีโรงไฟฟ้าที่น่าสนใจ
คือ โรงไฟฟ้าถ่านหิน Yeongheung
Thermal Power Site ของบริษัท Korea South-East Power ในเครือ บริษัท Korea Electric Power Corporation หรือ KEPCO ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหินบิทูบินัสที่มีกำลังการผลิตถึง
3,340 เมกะวัตต์
และมีการควบคุมดูแลผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมไม่ให้เกินเกณฑ์มาตรฐาน
โดยมีเครื่องตรวจจับแต่ละชนิดเพื่อรายงานค่าไม่ให้เกินมาตรฐาน
แต่หากเกินมาตรฐานก็จะส่งสัญญาณมาที่ห้องคุมทันที
นอกจากนี้แล้วข้อมูลทั้งหมดที่เกิดขึ้นยังส่งตรงไปยังรัฐบาลที่ดูแลด้านมลพิษ
โดยหากปล่อยให้มลพิษเกินค่ามาตรฐาน 3 ครั้งภายใน 1 วัน
หน่วยผลิตไฟฟ้านั้นจะต้องถูกสั่งให้หยุดการผลิตเพื่อทำการตรวจสอบทันที
ซึ่งถือว่าเป็นการให้ความสนใจในการปล่อยการมลพิษตั้งแต่ตัวองค์กรเองไปจนถึงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ Kori
Nuclear Power Site ของบริษัท Korea Hydro & Nuclear
Power ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้านิวเคีลยร์ขนาดใหญ่ของเกาหลี
มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ผลิตไฟฟ้าอยู่ 6 เตา รวมกำลังการผลิต 5,137 เมกะวัตต์
และเตรียมที่จะเพิ่มเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่นใหม่ที่เป็นเทคโนโลยีของเกาหลีใต้เองอีก
2 เตา กำลังการผลิต 2,800 เมกะวัตต์
ซึ่งจะทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์โคริมีกำลังการผลิตรวมเกือบ 8,000 เมกะวัตต์ ใน 7-8 ปีข้างหน้า แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ นายปีเตอร์
(ซังนัม) นา ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาโครงการ บริษัท Korea Electric Power
Corporation ก็ระบุว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะทำให้ประชาชนยอมรับ
แต่ทางรัฐบาลเกาหลีต้องแสดงความจริงใจ
และชี้แจงว่าโครงการดังกล่าวมีประโยชน์อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น
ปัญหาการขาดแคลนพลังงาน เชื้อเพลิง ต่างๆ
และถ้าหากยอกให้สร้างดรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะมีข้อดี คือ ค่าไฟฟ้าที่มีราคาถูก
และไม่มีการปรับขึ้นราคาในเวลา 20 ปี
ส่วนชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ก็จะได้ค่าไฟฟ้าที่ถูกกว่าประชาชนทั่วไป
ซึ่งถือว่าเป็นข้อดี นี่ยังไม่รวมถึงความเจริญที่เข้ามาในหมู่บ้าน
ส่วนเรื่องการปล่อยมลพิษก็ต้องมีการยืนยันอย่างหนักแน่นว่าจะดูแลให้อยู่ในมาตรฐานที่กำหนดไว้
ไม่ใช่แค่นั้นที่ประเทศเกาหลีให้ความสำคัญ แต่พลังงานหมุนเวียน
อย่างพลังน้ำทางเกาหลีก็ให้ความสนใจไม่แพ้กัน โดยมี 1 โรงที่น่าสนใจ คือ
โรงไฟฟ้าพลังน้ำขึ้น-น้ำลง Sihwa
Tidal Power Plant ของบริษัท Korea Water Resources
Corporation หรือ K-Water เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ประโยชน์จากน้ำทะเล มากักเก็บเป็นทะเลสาบ
โดยมีความยาวแนวเขื่อนที่กั้นระหว่างทะเลและทะเลสาบรวมทั้งสิ้น 12.7 กิโลเมตร
มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 552 ล้านหน่วยต่อปี หรือประมาณ 254
เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 500,000 ล้านวอน
โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะใช้ความต่างระดับของน้ำขึ้น-น้ำลงซึ่งต่างกันประมาณ
4-5 เมตร
เมื่อน้ำขึ้นน้ำจากทะเลก็จะไหลเข้าไปในทะเลสาบที่สร้างขึ้นและเก็บกักน้ำเอาไว้
เมื่อระดับน้ำในทะเลลดลงก็จะเปิดประตูระบายน้ำเพื่อให้น้ำไหลผ่านกังหันน้ำ
(turbine)
จำนวน 10 ตัว เพื่อปั่นกระแสไฟฟ้า เฉลี่ยต่อวันได้ประมาณ
4–4.5 ชั่วโมงต่อวัน เนื่องจากเวลาน้ำขึ้น-น้ำลงมี 2
ช่วงเวลาใน 1 วันเท่านั้น โดยโครงการนี้มีเป้าหมายจะลดการใช้น้ำมันลงถึง
862,000 บาร์เรลต่อปี ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์
350,000 ตันต่อปี ลดซัลเฟอร์ออกไซด์ (SOx) ได้ 589 ตันต่อปี และไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) 400
ตันต่อปี และจำหน่ายคาร์บอนเครดิตเฉลี่ย 100-120 วอนต่อกิโลวัตต์
โดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่มีน้ำเสียปล่อยทิ้งทะเลด้วย
นอกจากนี้รัฐบาลเกาหลีมีแผนการก่อสร้างเพิ่มเติมอีกในอนาคตอีก 4 แห่ง
เพื่อลดการพึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ราคามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
โดยโรงไฟฟ้าประเภทนี้ คุณธวัช แอบกระซิบบอกว่า
เหมือนโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนลำตะคองของบ้านเรา
แต่จะต่างกันตรงที่ของเกาหลีเป็นน้ำทะเล ของไทยเป็นน้ำจืด
ก็จะเห็นแล้วว่าในประเทศที่เข้าพัฒนาแล้ว
จะต้องมีการกระจายการใช้เชื้อเพลิงให้สมดุลกัน ไม่พึ่งพาชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป
เพราะอาจเกิดความเสี่ยงต่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศได้
โดยเฉพาะในบ้านที่มีความต้องการใช้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แต่หากจะใช้อย่างเดียวและไม่มีการสร้างขึ้นใหม่เลย
เห็นทีลูกหลานเราอาจจะต้องเจอปัญหาไฟดับในบางพื้นที่หรือบางเวลา
หรือขั้นเลวร้ายสุดอาจต้องมีการจุดเทียนก็เป็นได้
เห็นทีรัฐบาลและประชาชนในบ้านเราต้องตัดสินใจแล้วว่าจะให้อนาคตด้านไฟฟ้าของบ้านเราเป็นแบบไหน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น