วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ย้อนรอยปิโตรเลียมไทย ตอนที่ 6 :บทบาทของภาคเอกชนในประวัติศาสตร์ปิโตรเลียมไทย

source : http://www.thainews-online.com/index.php?mo=3&art=600878

เมื่อรัฐบาลได้ตระหนักแล้วว่าการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล และยังมีความเสี่ยงที่สูงมาก การออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้ามายื่นขอสิทธิ์การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศเป็นครั้งแรกจึงได้เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2504 โดยมีบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากต่างประเทศให้การตอบรับและสนใจ เพราะในทางธุรกิจเชื่อกันว่า เมื่อมีความเสี่ยงสูง ก็ต้องมีผลตอบแทนที่คุ้มค่าเช่นกัน จึงมีบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งในและต่างประเทศเข้ามายื่นขอสิทธิ์การสำรวจหลายราย จนถือได้ว่ายุคนั้นเป็นยุคตื่นตัวของการสำรวจปิโตรเลียมเลยทีเดียว


จากข้อมูลที่ได้มีการบันทึกไว้ บริษัท Union Oil Company of California ซึ่งปัจจุบันคือบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด คือบริษัทต่างชาติที่ปักธงเป็นเจ้าแรก ในการได้สิทธิให้ทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ภาคอีสาน หลังได้รับการอนุมัติจากรัฐเมื่อปี พ.ศ.2505 แต่การขุดเจาะหลุมสำรวจน้ำมันของบริษัทก็ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงจำต้องคืนสิทธิในพื้นที่ทั้งหมดให้กับกรมโลหะกิจ หรือกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในปัจจุบัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 บริษัท กัลฟ์ออยล์ ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติรายที่สองก็ได้รับสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในบริเวณกรุงเทพฯและปริมณฑล แต่เมื่อเริ่มทำการขุดเจาะสำรวจก็ไม่พบปิโตรเลียมเช่นเดียวกัน จึงได้ปรับปรุงหลุมเป็นหลุมผลิตน้ำบาดาลและมอบให้กับกรมทรัพยากรธรณีไป


ถึงแม้ว่าในช่วงเริ่มต้น การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนบกจะกลายเป็นความล้มเหลวของบริษัทต่างชาติ แต่หลังจากที่ทางองค์การสหประชาชาติ มีการออกกฎหมายทางทะเล ที่ใช้บังคับแก่ชาติสมาชิกซึ่งอยู่ในอาณาเขตชายฝั่งและให้ทรัพยากรใต้ทะเลในพื้นที่ดังกล่าวเป็นสิทธิแก่เจ้าของประเทศ จึงส่งผลให้ประเทศไทย สามารถออกประกาศเชิญชวนเอกชนให้มายื่นขอสิทธิสัมปทานการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย และในทะเลอันดามันได้ ซึ่งปรากฏว่ามีบริษัทต่างชาติให้ความสนใจและได้รับอนุญาตถึง 6 บริษัท และบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการขุดเจาะสำรวจและสามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้เป็นเจ้าแรกในประเทศไทยก็คือบริษัท Union Oil หรือบริษัทเชฟรอนในปัจจุบันนั่นเอง โดยพบทั้งก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลว ที่มีปริมาณมากพอที่จะผลิตเชิงพาณิชย์จากแปลงสัมปทาน B12 ซึ่งได้รับการพัฒนาจนกลายมาเป็นแหล่งเอราวัณในปัจจุบัน


หลังจากนั้น Texas Pacific (ปัจจุบันได้โอนสิทธิให้กับบริษัท ปตท.สผ. และบริษัทผู้ร่วมทุน) ก็กลายเป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรายที่สองในอ่าวไทย ที่เจาะหลุมสำรวจพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย จากแปลงสัมปทาน B17 และมีการพัฒนาจนกลายเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ที่รู้จักกันในชื่อแหล่งบงกช
จากความล้มเหลวของบริษัทเอกชนในช่วงเริ่มต้นของการเปิดให้สัมปทาน จนกลายมาเป็นความสำเร็จในช่วงต่อมา และกลายเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทยให้เข้าสู่ยุคแห่งความโชติช่วงชัชวาล มีแหล่งพลังงานเป็นของตัวเอง และช่วยลดภาระการนำเข้าพลังงาน สะท้อนให้เห็นถึงการตัดสินใจที่ถูกต้องของภาครัฐในการดำเนินนโยบายด้านพลังงาน โดยเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการ


ข้อมูลอ้างอิง; จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน

////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น