วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดต้นแบบจากญี่ปุ่น

source : http://www.thainews-online.com/index.php?mo=3&art=42013641

เมื่อเร็ว ๆนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งจากการดูงานทำให้รับทราบว่าโรงไฟฟ้าของประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งอย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่คนไทยกลัวกันนัก กลับสามารถอยู่ร่วมกับคนในชุมชนได้อย่างเป็นธรรมชาติ มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างโรงไฟฟ้าและชุมชน

โดยเริ่มจากโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดของบริษัท เจ พาวเวอร์ หรือ บริษัท พัฒนาพลังงานไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีโรงไฟฟ้าในเครืออยู่ประมาณ 67 แห่ง อย่างโรงไฟฟ้าถ่านหิน "มัตซูอุระ" ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองนางาซากิ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ายูนิตละ 1,000 เมกะวัตต์ 2 ยูนิต รวม 2,000 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบเปิด ที่มีการเทกองถ่านหินในพื้นที่เปิดโล่ง มีเพียงกำแพงกั้นเพียงข้างเดียวเท่านั้น เพราะแต่ละด้านที่เหลือจะติดกับทะเล ตัวโรงไฟฟ้า และแนวต้นไม้ที่ปลูกไว้เพื่อดูดซับฝุ่นละออง ที่ดูด้วยตาเปล่าแทบมองไม่เห็น และถึงแม้ว่าโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะมีการกองถ่านหินอยู่บนลานที่เปิดโล่ง อยู่ใกล้กับชุมชน ที่มีการปลูกข้าว ทำการเกษตร แต่ผลผลิตของเกษตรกรเหล่านั้นกลับไม่ได้ลดน้อยลงเลย ในขณะเดียวกันทางโรงไฟฟ้าก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการบริหารจัดการในเรื่องของการปล่อยมลพิษต่างๆ ทั้ง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ,ไนโตรเจนออกไซด์ และฝุ่นขี้เถ้าให้เป็นไปตามมาตรฐานที่รัฐบาลกำหนดและเป็นไปตามข้อตกลงร่วมกันกับชุมชน ทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน นอกจากนี้ชุมชนเหล่านี้ยังได้รับผลประโยชน์อย่างเช่น เรื่องค่าไฟฟ้า หรือการอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ที่โรงไฟฟ้าได้ทำให้กับชุมชน ทำให้ชุมชนและโรงไฟฟ้าสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีปัญหา

นอกจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบเปิดแล้ว ยังได้มีการโอกาสไปดูโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบปิดด้วย อย่างโรงไฟฟ้าถ่านหิน "อิโซโกะ" ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองโยโกฮามา ถือเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สะอาดที่สุดในโลก เป็นโรงไฟฟ้าแบบปิดที่จัดเก็บถ่านหินไว้ในไซโล มีกำลังการผลิต 1,200 เมกะวัตต์ มีการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อดักจับมลมีพิษที่มีประสิทธิภาพมากกว่า 99.94% มีระบบบำบัดน้ำเสียจากกระบวนการผลิต ก่อนปล่อยออกสู่ทะเล ที่สำคัญตั้งอยู่ใจกลางเมืองที่มีประชาชนอาศัยอยู่หลายแสนคน ล้อมรอบไปด้วยโรงกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้า และโรงแยกก๊าซ แต่กลับเป็นที่ยอมรับจากประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งยังนำรายได้จากบริษัทมาตั้งเป็นกองทุนเพื่อพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตของชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ทำให้สามารถอยู่กับชุมชนมานานกว่า 30 ปี

ส่วนเรื่องมลภาวะเป็นพิษที่หลายฝ่ายในบ้านเรากังวลว่าหากมีการสร้างโรงไฟฟ้าขึ้น อาจทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม อากาศเป็นพิษ น้ำเป็นพิษ ซึ่งที่นี่ไม่เคยมีปัญหานั้น เพราทางโรงไฟฟ้ามีการบริหารจัดการที่ดี และทางเทศบาลนครโยโกฮามา ยังสามารถติดตามตรวจสอบข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมง จากระบบออนไลน์ ข้อมูลการผลิตไฟฟ้า และการปล่อยสารต่างๆ ส่วนเรื่องปัญหาน้ำเป็นพิษ นี่ยิ่งแล้วใหญ่เห็นได้กับตาตนเองว่ายังมีชาวบ้านแถวนั้นมานั่งตกปลาข้าง ๆโรงงานเป็นจำนวนมาก จนถึงขั้นเป็นหมู่บ้านชายประมงเลยก็ว่าได้

นั่นคือ ตัวอย่างของโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ส่วนอีกโรงที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม คือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ถึงแม้ว่าบ้านเรายังไม่รู้อนาคตว่าจะได้ก่อสร้างหรือไม่ แต่เมื่อได้ไปเห็นของจริง อย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ "คาชิวาซากิ คาริวะ" ที่เมืองฟูกูชิมา ของบริษัทโตเกียว อิเล็กทริค พาวเวอร์ หรือเทปโก ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิต 8,212 เมกะวัตต์ต่อปี ก็ต้องตะลึง เพราะเป็นอีกโรงที่มีการบริหารจัดการที่ดีมาก แม้ว่าขณะนี้ต้องหยุดเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ผลิตไฟฟ้าตามนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นที่สั่งปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วประเทศทั้ง 54 โรง ภายหลังจากเกิดปัญหาที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมาจากผลกระทบแผ่นดินไหวเมื่อปี 2554

ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คาชิวาซากิ คาริวะ ต้องเร่งจัดทำแผนป้องกันเหตุการณ์ที่อาจเกิดในอนาคตและอยู่ระหว่างการนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาตามข้อกำหนด โดยทุ่มงบประมาณกว่า 70,000 ล้านเยน ในการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำที่สูงถึง 15 เมตร ยาวกว่า 1 กิโลเมตร การทำพนังกั้นน้ำ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จ ในเดือนกรกฎาคม 2556 นอกจากนี้ยังเตรียมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยใช้รถเคลื่อนที่ มี 2 เซต เซตละ 9 คัน แต่ละเซตปั่นไฟได้ 4,500 กิ๊กกะวัตต์ มีขีดความสามารถปั่นกระแสไฟฟ้าสำรองได้มากสุดถึง 9,000 กิ๊กกะวัตต์การสร้างอ่างเก็บน้ำ และแท็งก์น้ำมันเชื้อเพลิงขนาด 1.5 แสนลิตร เป็นต้น

นายกาทูฮิโกะ ฮายาชิ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คาชิวาซากิ คาริวะ กล่าวว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คาชิวาซากิ คาริวะ แห่งนี้มีทั้งหมด 7 ยูนิต มูลค่าการลงทุนรวม 3 ล้านล้านเยน มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 8,212 เมกะวัตต์ ครอบคลุมพื้นที่ 4.2 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ติดชายฝั่งทะเลระหว่าง 2 หมู่บ้าน คือ คาชิวาซากิ กับ คาริวะ ซึ่งสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมและประมงได้ตามปกติ เพราะการลงทุนได้นำเทคโนโลยีมีความปลอดภัยสูงสุดซึ่งสามารถทนแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ถึง 3 เท่า ขณะที่อุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ได้มีการออกแบบให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด เครื่องจักรจะหยุดทำงานอัตโนมัติหากเกิดความผิดพลาดขึ้นในระบบ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าประเภทใดก็ตามในประเทศญี่ปุ่น การดำเนินงานต่าง ๆ จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนด หรือแม้กระทั่งการทำตามข้อตกลงร่วมกันระหว่างโรงไฟฟ้ากับชุมชนโดยไม่บิดพลิ้ว ซึ่งจะทำให้โรงไฟฟ้าและชุมชนอยู่ด้วยกันได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น