source : http://www.thainews-online.com/index.php?mo=14&newsid=330058
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า
ในโอกาสที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ได้มอบหมายนโยบายเร่งด่วนให้กับกระทรวงพลังงานให้เดินหน้าปรับราคาน้ำมันทั่วประเทศให้เป็นราคาเดียว
พร้อมทั้งอุดหนุนผู้มีรายได้น้อยที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว
หรือแอลพีจี ผ่านบัตรเครดิตพลังงาน
และศึกษาผลกระทบกลุ่มรถแท๊กซี่เพื่อกำหนดนโยบายการปรับขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์
หรือ เอ็นจีวี รวมทั้งการเพิ่มสำรองน้ำมัน หนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด และให้ บริษัท
ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดสรรผลกำไรกลับคืนสู่สังคม
โดยในส่วนของการปรับราคาน้ำมันทั่วประเทศให้เป็นราคาเดียวนั้น
ได้มอบหมายให้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทุนก่อสร้างท่อส่งน้ำมันเพิ่มเติมจากท่อหลักที่มีอยู่แล้ว
ซึ่งขณะนี้มีแผนจะต่อท่อหลักไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จังหวัดนครราชสีมา
และภาคเหนือ ที่ จังหวัดนครสวรรค์
จึงต้องการให้มีการก่อสร้างท่อน้ำมันย่อยเชื่อมโยงไปยังจังหวัดต่างๆ
เพื่อให้ประชาชนที่อยู่พื้นที่ห่างไกลได้ใช้น้ำมันราคาถูกลงและเป็นราคาเดียวกับที่จำหน่ายในกรุงเทพฯ
ทั้งนี้ การลงทุนในท่อเส้นใหม่ ๆ อาจจะต้องมีการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาดำเนินการ
เพื่อให้คิดค่าผ่านท่อที่เหมาะสม
ส่วนการปรับราคาแอลพีจีนั้น
มอบหมายให้กระทรวงพลังงานศึกษาว่าหากมีการปรับขึ้นราคาแล้วจะทำให้ประชาชนเดือดร้อนอย่างไร
และควรจะมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไรหากมีการทยอยปล่อยลอยตัวราคาแอลพีจี
โดยเฉพาะในภาคครัวเรือน
เพราะปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีการอุดหนุนราคาแอลพีจีไปแล้วกว่า 1
แสนล้านบาท และกองทุนน้ำมันฯ มีสถานะติดลบอยู่ประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท และในอีก 2
ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี
จะต้องมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว
สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในส่วนของการปรับขึ้นราคาแอลพีจี
กระทรวงพลังงานได้เสนอข้อมูลให้ตนได้รับทราบแล้วว่าจะมองไปที่กลุ่มผู้ยากจน
โดยกำหนดว่าผู้มีรายได้น้อยควรจะเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน
และใช้ก๊าซหุงต้มไม่เกิน 6 กิโลกรัมต่อเดือน ซึ่งจะครอบคลุมประชาชน 4 ล้านครัวเรือน
ยกตัวอย่าง เช่น ถ้ามีการอุดหนุนกิโลกรัมละ 10 บาท อาจะต้องใช้เงินปีละ 2,880
ล้านบาท นอกจากนั้น กลุ่มที่ควรได้รับการสนับสนุน คือ
ผู้ขายอาหารรายย่อย
โดยทั้งสองส่วนจะใช้วิธีการสนับสนุนผ่านบัตรเครดิตพลังงาน
ซึ่งผู้ที่เข้าเกณฑ์ผู้มีรายได้น้อยจะต้องมาขึ้นทะเบียนเพื่อทำบัตรเครดิตพลังงาน
และนำบัตรไปใช้ซื้อก๊าซราคาถูก
และกระทรวงพลังงานจะใช้วิธีตั้งวงเงินอุดหนุนผ่านบัตรเครดิต
และกำหนดปริมาณการซื้อและการใช้ของผู้ที่ได้รับการสนับสนุน
โดยประมาณการว่าจะต้องใช้เงินอุดหนุนไม่เกิน 5 พันล้านบาทต่อปี
โดยการลดความช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มนี้
จะส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายได้เพิ่มขึ้น
และจะลดการเก็บเงินจากใช้น้ำมันได้
ด้านการปรับขึ้นราคาเอ็นจีวี
ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมว่าขณะนี้มีผู้ขับขี่รถแท๊กซี่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีจำนวนเท่าใด
และได้รับผลกระทบจำนวนเท่าใด
ก่อนนำมากำหนดนโยบายว่าควรจะปรับขึ้นราคาเอ็นจีวีอย่างไร
นอกจากนี้
ยังได้มอบหมายให้เร่งศึกษาการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ของประเทศเพิ่มจาก 36 เป็น 90
วัน เพราะเห็นว่ามีความจำเป็น และให้นำโครงการสะพานเศรษฐกิจ หรือแลนด์บริดจ์
มาเทียบเคียงว่าสามารถใช้ประโยชน์จากผลการศึกษาต่อการเพิ่มสำรองน้ำมันได้อย่างไร
แต่เน้นย้ำว่าไม่ได้สั่งให้ดำเนินโครงการดังกล่าว
เพียงแต่ให้นำผลศึกษาที่ทำไว้มาเทียบเคียงเพื่อใช้ประโยชน์บางส่วนเท่านั้น
เนื่องจากเห็นว่าผลการศึกษาในโครงการนี้
จะต้องมีการขนส่งน้ำมันทางท่อจากฝั่งทะเลตะวันตก มาฝั่งทะเลตะวันออก
และจะต้องมีการก่อสร้างคลังน้ำมันทั้งสองฝั่ง
ซึ่งอาจจะทำให้การสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์น้ำมันทำได้ง่ายขึ้น
ส่วนนโยบายบริหารจัดการเรื่องไฟฟ้า
จากแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของประเทศในระยะยาว หรือพีดีพี
ฉบับปัจจุบันมีการกำหนดให้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินสะอาด
มองว่าหากเป็นเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดจริงก็น่าจะดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นในประเทศไทยได้
แต่ขณะนี้คนไทยอาจจะฝังใจกับโรงไฟฟ้าแม่เมาะเมื่อหลาย 10 ปีก่อน จึงต้องให้
กฟผ.เร่งสร้างความเข้าใจมากขึ้น นอกจากนี้
ยังเห็นด้วยกับการกระจายการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า
เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า และลดปัญหาราคาค่าไฟฟ้าที่จะสูงขึ้น
จากการนำก๊าซธรรมชาติ และพลังงานทดแทนมาผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่มากขึ้น
ส่วนการกำกับดูแล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
มีแนวคิดว่า ต้องการให้ ปตท.นำกำไรในแต่ละปีที่มีมาก และถูกโจมตีจากสังคม
จึงมีนโยบายให้ ปตท. มีการแบ่งกำไรบางส่วนเข้ามาช่วยเหลือสังคมมากขึ้น
จึงมอบหมายให้ ปตท.ศึกษาการจัดสรรงบประมาณจากกำไรมาทำเรื่อง CSR เพื่อตอบแทนประชาชน
โดยให้เงินทำวิจัยแก่สถาบันการศึกษา ครู อาจารย์ หรืออื่นๆ
และให้ทุนวิจัยเพื่อพัฒนาสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ หรือโอท็อป
และจัดพื้นที่บางส่วนในสถานีบริการน้ำมันเพื่อการจำหน่ายสินค้าโอทอป
เป็นต้น
ประเทศอินโดนีเซียดำเนินนโยบายอุดหนุนราคาน้ำมันเกือบ 5 ทศวรรษแล้ว ก่อให้เกิดปัญหาขาดดุลงบประมาณ รัฐต้องตัดงบประมาณเพื่อใช้พัฒนาประเทศ ช่วยเหลือประชาชนด้านการศึกษา การรักษาโรค สวัสดิการเพื่อสังคม ด้วยเป้าหมายช่วยเหลือคนจน แต่งานวิจัยจำนวนมากชี้ว่าคนรวยต่างหากที่ได้ประโยชน์มากกว่า
ตอบลบhttp://www.chanchaivision.com/2013/06/indonesia-oil-subsidy-130623.html