มีคนเคยกล่าวไว้ว่า “ก้าวแรกของการเดินทาง คือจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ ในเส้นทางของการสำรวจปิโตรเลียมในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน หากไม่มีใครเริ่มนับหนึ่งที่จะขุดเจาะสำรวจ จนถึงวันนี้เราก็คงจะยังไม่ได้ใช้ปิโตรเลียมที่มีอยู่ในประเทศไทยของเราเอง ดังนั้น ปิโตรเลียมหลุมแรกที่มีการขุดเจาะสำรวจ รวมถึงปิโตรเลียมหลุมแรกในแหล่งสัมปทานที่รัฐได้ให้สิทธิเอกชนเข้าดำเนินการสำรวจ จึงมีความสำคัญควรค่าแก่การบันทึกจดจำ ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และการจุดประกายความหวังให้กับคนไทย
ตามข้อมูลที่ได้มีการบันทึกไว้ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การขุดเจาะปิโตรเลียมหลุมแรก ว่าเกิดขึ้นในครั้งที่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการรถไฟหลวง ได้ทรงว่าจ้างช่างเจาะชาวอิตาเลียนเข้ามาทำการเจาะสำรวจปิโตรเลียมที่แอ่งฝาง ในบริเวณที่เรียกว่าบ่อหลวง ในปี พ.ศ. 2465 ซึ่งเป็นจุดที่มีการพบน้ำมันดิบไหลซึมขึ้นมาถึงผิวดินตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งการเจาะในครั้งนั้นถึงแม้จะไม่พบน้ำมันแต่จุดประกายให้เกิดความพยายามจากภาครัฐที่จะขุดค้นหาปิโตรเลียมต่อไป จนประสบความสำเร็จในการค้นพบน้ำมันดิบซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน เมื่อปี พ.ศ. 2496 ในแหล่งที่รู้จักกันดีในเวลาต่อมาว่าแหล่งไชยปราการ
บทเรียนจากปิโตรเลียมหลุมแรก ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า กระบวนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใต้ผืนดินและท้องทะเลที่ต้องขุดลึกลงไปหลายร้อยหลายพันเมตรนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนไทย ซึ่งทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องของเทคโนโลยี เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการสำรวจ ได้เรียนรู้หลักวิชาธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับชาวต่างชาติ และได้เรียนรู้เรื่องการบริหารความเสี่ยง
ในเวลาต่อมา กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวนับเป็นก้าวย่างสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในการเปิดสัมปทานเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาลงทุน ก่อเกิดการค้นพบปิโตรเลียมในแหล่งใหม่ๆเพิ่มเติม และทำให้คนไทยได้รู้จักแหล่งปิโตรเลียมที่มีความสำคัญ อย่างเช่น แหล่งเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งแรกในอ่าวไทย หรือแหล่งอื่นๆ อาทิ แหล่งไพลิน แหล่งเบญจมาศ และแหล่งปลาทอง ในขณะที่พื้นที่บนบกเราก็ได้รู้จักแหล่งน้ำมันสิริกิติ์ และแหล่งก๊าซธรรมชาติที่น้ำพอง เป็นต้น
จากการขุดเจาะปิโตรเลียมหลุมแรก จนถึงวันนี้ ข้อมูลจากรายงานการผลิตปิโตรเลียมของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติปีงบประมาณ 2553 ระบุว่าประเทศไทยมีความสามารถในจัดหาปิโตรเลียมได้เฉลี่ยถึงวันละ 783,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,650 พันล้านบาทต่อวัน หรือประมาณร้อยละ 44 ของความต้องการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นของประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่จัดหาได้ประมาณ 695,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ซึ่งจากอัตราความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องมีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถรองรับการเติบโตทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
เมื่อการเริ่มต้นนำมาซึ่งความหวัง
และความหวังได้แปรเปลี่ยนเป็นความเพียรพยายาม ที่จะเสาะแสวงหา
ก่อเกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้และนำมาซึ่งความสำเร็จในที่สุด
ใครจะคาดคิดว่าความหวังที่ดูเหมือนจะเลือนรางในอดีต
จะกลายเป็นการค้นพบปิโตรเลียมที่ก่อให้เกิดมูลค่ามหาศาลทางเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้ได้
ข้อมูลอ้างอิง; จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน
ข้อมูลอ้างอิง; จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น