วันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2555

“แบบจำลองคดีโลกร้อน” กับการปรุงแกงส้ม

โดย ประสาท มีแต้ม

source :
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000028763




      ผมเคยเขียนบทความมามากแล้ว มีชิ้นนี้แหละครับที่รู้สึกว่าเขียนยากมากที่สุด ไม่ใช่เป็นเพราะเนื้อหายากและมีมากประเด็นเพียงอย่างเดียว แต่ต้องระวังกระแสสังคมที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดไม้ทำลายป่า ต้องระวังเรื่องการละเมิดอำนาจศาล และต้องให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้บนพื้นที่กระดาษอันจำกัด
      
        “คดีโลกร้อน” เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบกับชาวบ้านร่วมสองล้านคน โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเป็นโจทก์ฟ้องเกษตรกรในข้อหาทำลายป่าไม้ ทำให้ธาตุอาหารสูญหาย อุณหภูมิของอากาศสูงขึ้น ฯลฯ ในขณะที่เกษตรกรบางส่วนอ้างว่าพวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นมาก่อนที่ทางราชการจะประกาศเป็นเขตอุทยาน บางคนบอกว่า พวกเขาไม่ได้ตัดป่า แต่โค่นต้นยางพาราแก่ที่รุ่นพ่อปลูก เพื่อจะได้ปลูกยางพาราใหม่
      
        แต่ในการฟ้องร้องคดีดังกล่าว ทางกรมอุทยานฯ ได้ใช้งานวิจัยที่อาศัยแบบจำลองคณิตศาสตร์ที่นักวิชาการในกรมฯ ได้พัฒนาขึ้นเพื่อประเมินความเสียหายจากการบุกรุกป่า แล้วใช้ผลงานวิจัยนี้เพื่อบังคับคดีในศาลยุติธรรมซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า “คดีโลกร้อน” โดยที่อัตราค่าเสียหายถึงไร่ละ 1.5 แสนบาทต่อไร่ต่อปี ประกอบด้วย 7 รายการคือ ทำให้ (1) สูญหายของธาตุอาหาร 4,064 บาท (2) ดินไม่ดูดซับน้ำฝน 600 บาท (3) น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่ โดยการแผดเผาของดวงอาทิตย์ 52,800 บาท (4) ดินสูญหาย 1,800 บาท (5) อากาศร้อนมากขึ้น 45,453.45 บาท (6) ฝนตกน้อยลง คิดค่าเสียหาย 5,400 บาท (7) มูลค่าความเสียหายทางตรงจากป่าสามชนิด ซึ่งอยู่ระหว่าง 18,634.19 ถึง 61,263.36 บาท
      
        ผู้ต้องหาคนหนึ่งถูกศาลแพ่งพิพากษาให้ชำระค่าเสียหายถึง 1.3 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่เขาสามารถนำเงินมาชำระได้เพียง 175.52 บาทเท่านั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการบังคับคดี ผลการสืบหาหลักฐานพบว่าผู้ต้องหารายนี้มีเงินอยู่ในบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรฯ เพียง 675.52 บาท (ข้อมูลจากกรมบัญชีกลาง 2551) มีผู้ถูกดำเนินคดีไปแล้วรวมทั้งที่ค้างอยู่ในศาลเป็นจำนวนมาก แทบทุกภาคของประเทศ
      
        ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี (คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ว่า ให้เร่งทบทวนงานวิจัยชิ้นนี้ด้วยเหตุผลว่า “ยังขาดความสมบูรณ์และไม่เป็นที่ยอมรับของนักวิชาการ ให้นำผลงานวิจัยดังกล่าวเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและจัดประชาพิจารณ์” 
      
        ประเด็นนี้แหละครับที่ผมอยากจะเขียนถึง คือ งานวิจัยชิ้นนี้ได้ใช้ “แบบจำลองคณิตศาสตร์” เป็นเครื่องมือในการคำนวณหาค่าเสียหายอย่างไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการทางคณิตศาสตร์ที่ผมเคยสอนมา
      
        ปัญหาระหว่างรัฐบาล (โดยกรมอุทยานฯ) กับชาวบ้านเป็นเรื่องสำคัญและใหญ่โตมาก สมควรที่สื่อมวลชนและสังคมจะให้ความสนใจให้ลึกถึงแก่นและรอบด้าน ชาวบ้านในเครือข่ายและรัฐบาลชุดที่แล้วได้พยายามหาทางออกด้วยการออก “โฉนดชุมชน” แต่รัฐบาลก็ต้องพ้นวาระไปแล้ว ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในข้อที่ 5 เกี่ยวกับนโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าจะ “แก้ปัญหาการดำเนินคดีโลกร้อนกับคนจน” แต่ขณะนี้ยังไม่มีวี่แววว่ารัฐบาลนี้จะแก้ปัญหาด้วยวิธีการใดและเมื่อใด
      
        ขณะเดียวกัน เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ก็ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (3 ธันวาคม 53) ผมเองได้รับเชิญให้ไปแสดงความคิดเห็นร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ อีก 3 ท่าน โดยมีผู้วิจัย (ดร.พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล นักวิชาการของกรมฯ) เป็นผู้อธิบายข้อสงสัย ในการนี้มีตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 20 คนเข้าร่วมฟังด้วย
      
        ต่อไปนี้ผมจะอธิบายว่าการสร้างแบบจำลองคณิตศาสตร์เป็นอย่างไร ไม่ถูกต้องอย่างไร โดยเริ่มต้นจากผลลัพธ์ที่ได้จาก “แบบจำลองคดีโลกร้อน” ของผู้วิจัย ตารางนี้แสดงถึงผลกระทบหลังจากการทำลายป่าต้นน้ำชนิดต่างๆ ที่ได้จากการคำนวณ ในกรณีของป่าดิบแล้ง(ที่ล้อมกรอบสีแดง) จะเกิดผลกระทบทำให้ธาตุอาหารหรือปุ๋ยในดิน คือไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และ โพแทสเซียม (K) เปลี่ยนแปลงไปดังตัวเลขในตาราง
       ผมได้เรียนถามผู้วิจัยว่า ในกรณีธาตุโพแทสเซียมมีค่าติดลบ -1.1 นั้นหมายความว่าอะไร ผู้วิจัยตอบว่า มีโพแทสเซียมเพิ่มขึ้น (ค่าบวกหมายถึงสูญหาย ดังนั้นในทางตรงกันข้าม ค่าลบจึงหมายถึงเพิ่มขึ้น) ผมถามต่อว่า มันเพิ่มมาจากไหน ผู้วิจัยตอบว่า “น่าจะมาจากการเผาป่า” คำตอบนี้ได้สะท้อนถึงสิ่งสำคัญมากในการสร้างแบบจำลองคณิตศาสตร์ซึ่งผมจะอธิบายในภายหลัง
      
        หลังเลิกประชุม ชาวบ้านถามผมในประเด็นนี้ ผมตอบไปในตอนนั้นว่า การสร้างแบบจำลองก็เหมือนกับการปรุงแกงส้มปักษ์ใต้ รสชาติของแกงต้องมีรสเปรี้ยว เผ็ด เค็ม หวานที่พอเหมาะ ถ้ายังเผ็ดไม่พอเราก็เติมพริก ถ้าเปรี้ยวไม่พอเราก็เติมส้ม รสชาติของแกงขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่เราใส่เข้าไป วัตถุดิบที่ว่านี้ในทางคณิตศาสตร์เขาเรียกว่า ตัวแปร หรือ ปัจจัยที่ทำให้เกิดรสชาติ และแกงที่มีรสชาติตามที่ต้องการคือ ผลลัพธ์ของแบบจำลอง
      
        กระบวนการสร้างแบบจำลองคณิตศาสตร์เรื่องนี้ก็เหมือนกับกระบวนการปรุงแกงส้ม เราต้องมากำหนดหรือเลือกว่ามี ตัวแปร หรือ ปัจจัยใด บ้างที่จะทำให้เกิดการสูญเสียปุ๋ย ในกรณีนี้ผู้วิจัยได้เลือกให้ ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็น ปัจจัย หรือ ตัวแปรต้นเหตุ(ในที่นี้คิดรวมอยู่ในค่าของ BDV ดังตาราง ถ้าค่า BDV สูงหมายถึงป่านั้นมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงหรือมีจำนวนชนิดของพันธุ์พืชและสัตว์มาก เช่น ป่าดิบชื้น ค่า BDV ต่ำ เช่น ป่าเต็งรัง ถ้าต่ำกว่านี้อีกก็หมายถึงป่าร้างที่ถูกทำลายทุกปี)
      
        ผมได้ศึกษางานวิจัยเรื่องนี้อย่างละเอียดแล้ว พบว่า ไม่มีปัจจัยการเผาป่าอยู่ในแบบจำลองเลย ดังนั้นเมื่อผลลัพธ์จากแบบจำลองให้คำตอบว่ามีบางธาตุเพิ่มขึ้น เราก็ต้องสืบค้นไปหา ปัจจัยต้นเหตุ หรือ ตัวแปรที่เรากำหนดไว้ก่อนแล้ว เมื่อไม่มีต้นเหตุแล้วจะเกิดผลลัพธ์ที่แปลกๆ นี้ได้อย่างไร แทนที่ผู้วิจัยจะตอบว่า ตัวแบบจำลองผิดพลาดหรือบกพร่อง กลับไปอ้างถึงปัจจัยที่ไม่ได้อยู่ในกรอบคิดของปัญหานี้มาก่อนเลย จะบอกว่าแกงส้มไม่อร่อยเป็นเพราะกะทิไม่ได้ เพราะแกงส้มไม่ใส่กะทิ
      
        ผมถือว่าคำตอบนี้ไม่เป็นเหตุเป็นผลซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็นตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และการสร้างแบบจำลองคณิตศาสตร์ 

      
        จากเอกสารของผู้วิจัยพบว่า ทางกรมฯ ได้ชี้แจงให้ผู้พิพากษาเขต 5 เข้าใจเพื่อประกอบการพิจารณาคดีมาก่อนแล้ว แต่ผมเองไม่เชื่อว่าท่านผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีนี้จะรู้เท่าทันอย่างลึกซึ้งในกระบวนการสร้างแบบจำลองของปัญหาที่มีความซับซ้อนมากขนาดนี้ นอกจากท่านจะต้องรู้จักตั้งคำถามและตรวจสอบหรืออาจต้องหาที่ปรึกษา ตรงนี้ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ผมต้องคิดแล้วคิดอีก แต่แล้วก็ตัดสินใจเขียนด้วยเจตนาดี เป็นวิชาการและด้วยความเคารพครับ.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น