วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2555

ไม่เผา! เกษตรกรพะเยาหมักฟางข้าว-ซังข้าวโพดเป็นปุ๋ยลดหมอกควัน

Source: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000034621


Press Release - เกษตรกรพะเยาลดละ เลิกจากการเผาฟางข้าว-ซังข้าวโพด เปลี่ยนมาทำปุ๋ยหมักเพื่อใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี ได้ประโยชน์ทั้งลดต้นทุน และแก้ปัญหาหมอกควัน
      
       กลุ่มบุคคลรักสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับเทศบาลตำบลฝายกวาง อ.เชียงคำ จ.พะเยา จัดงานมหกรรมอาหารที่เกิดจากผลผลิตของการใช้ปุ๋ยหมักจากฟางข้าว-ซังข้าวโพด ซึ่งสืบเนื่องมาจากโครงการลดผลกระทบต่อสุขภาพจากการเผาฟางข้าวหรือซังข้าว โพด ด้วยวิธีการผลิตปุ๋ยหมักไว้ใช้ในครัวเรือน โดยมีหมู่บ้านเข้าร่วมโครงการ 17 หมู่บ้าน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงกว่า 75% แถมยังช่วยลดปัญหาปริมาณขยะและลดปัญหาหมอกควันจากการเผาฟางข้าว-ซังข้าวโพด หลังการเก็บเกี่ยว
      
       นายภุชงค์ มหาวงศนันท์ ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่าเทศบาลตำบลฝายกวาง ร่วมกับกลุ่มบุคคลรักสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ได้ตระหนักถึงปัญหาการเผาเศษฟางข้าว-ซังข้าวโพด เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตร 90% ปลูกข้าวปีละ 1 ครั้ง และพืชไร่ มีทั้งข้าวโพดปีละ 2-3 ครั้ง บางครัวเรือนปลูกถั่ว ยางพารา มันสำปะหลัง หลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว ประชาชนมักจะเผาเศษฟางข้าว-ซังข้าวโพดในพื้นที่โล่ง ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันและกลิ่นรบกวนประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง มีปัญหาร้องเรียนและส่งผลให้ประชาชนมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ จากสถิติของอนามัยฝายกวางพบว่าในปี 2551 มีผู้ป่วย 280 คน เป็นโรควิงเวียนศีรษะจากกลิ่นเหม็นควันเผาไหม้
      
       ทางโครงการฯ จึงได้จัดให้มีการส่งเสริมประชาชนนำเศษวัสดุเกษตรมาทำปุ๋ยหมักด้วย “สูตรแม่โจ้ 1” ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมดูงาน แนะนำ สาธิต และให้ทุกหมู่บ้านได้ทดลองทำปุ๋ย ปลูกผักปลอดสารพิษ ซึ่งชาวบ้านได้นำปุ๋ยที่ได้ไปใช้กับแปลงเกษตรของตนด้วย
      
       ด้านนางพร สะสม ชาวบ้านฝายกวาง หมู่  1 ต.ฝายกวาง อ.เชียงคำ จ.พะเยา กล่าวว่า หลังจากร่วมกิจกรรม ได้มีการนำเศษวัสดุการเกษตรทุกอย่าง ทั้งฟางข้าว-ซังข้าวโพด ถั่วแดง และใบไม้ทุกชนิด มาผสมกับมูลสัตว์ ในสัดส่วน 3:1 แล้วมาขึ้นเป็นกองสูงประมาณเมตรครึ่ง ผลัดเวรกันมารดน้ำวันละครั้ง ทิ้งไว้ประมาณ 2 เดือน ก็ได้ปุ๋ยไปใช้แทนปุ๋ยเคมี โดยมีการจัดสรรแบ่งปันกันในกลุ่มสมาชิก มีการคิดราคาเป็นต้นทุนไว้ใช้ซื้อมูลวัวสำหรับการผลิตปุ๋ยครั้งต่อไป ซึ่งต้นทุนปุ๋ยหมักต่ำกว่าต้นทุนปุ๋ยเคมีสูตร 13/13/21 ซึ่งมีราคากระสอบละ 1,050 บาท ขณะที่ปุ๋ยหมักมีต้นทุนเพียงกระสอบละ 290 บาท
      
       ขณะที่นายสยาม บุญต่อ สาธารณสุขเทศบาลตำบลฝายกวาง เสริมว่าจุดเริ่มต้นมาจากการที่เทศบาลต้องการลดปัญหาเรื่องขยะและปัญหาหมอก ควัน ซึ่งสามารถบรรลุผลเป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้และสุขภาพที่ดีขึ้น ทางเทศบาลจึงพร้อมจะผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ในทุกครัวเรือนของตำบลฝายกวาง
      
       ทั้งนี้ ปุ๋ยหมักสูตรแม่โจ้ 1 จัดเป็นนวัตกรรมการเกษตรที่ทางชาวบ้านฝายกวาง อ.เชียงคำ จ.พะเยา นำมาปรับปรุงด้วยการใช้วัสดุที่หลากหลาย ตามสภาพผลผลิตเกษตรในแต่ละพื้นที่ อาทิ ใช้มูลสุกรและมูลไก่ ทดแทนมูลวัว หรือใช้เศษวัสดุเกษตรอื่นๆ ที่มีอยู่ โดยอานิสงส์จากการเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยหมัก ไม่เพียงช่วยลดต้นทุนการผลิต เพราะมีราคาที่ถูกกว่าปุ๋ยเคมี แต่ยังมีส่วนช่วยลดสภาพหมอกควันที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญอยู่ในขณะนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น