Source : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/world/20120317/442174/news.html
14 มีนาคมที่ผ่านมา ถือเป็นวันสากลแห่งการปฏิบัติการเพื่อแม่น้ำ ที่อาจไม่ได้เป็นที่รับรู้กันในวงกว้างมากนัก แต่เป็นวันที่นักกิจกรรมพิทักษ์แม่น้ำทั่วโลก ใช้เป็นวันนึกถึงการต่อสู้เพื่อปกป้องแม่น้ำจากการสร้างเขื่อน สิ่งปลูกสร้างบังคับธรรมชาติ ที่เป็นทั้งพระเอกและผู้ร้าย และเป็นข้อถกเถียงกันไม่รู้จบถึงผลดีผลเสีย
ขณะที่การต่อสู้ระหว่างความต้องการพลังงานอย่างไร้ขีดจำกัด กับการปกป้องแม่น้ำและผืนป่า ที่เหลือน้อยลง ยังคงดำเนินต่อไป ในโอกาสนี้ จึงรวบรวมเขื่อนอย่างน้อย 10 แห่ง ที่เรียกได้ว่าเป็นการก่อสร้างหรือแผนก่อสร้าง ที่เต็มไปด้วยข้อถกเถียง เริ่มจาก
1.เขื่อนไตรผา ในจีน
เขื่อนยักษ์กั้นแม่น้ำแยงซี ที่ก่อสร้างจากคอนกรีต 16 ล้านตัน กลายเป็นอ่างเก็บน้ำความยาวเกือบเท่ากับอังกฤษ เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าใหญ่สุดของโลก ด้วยกำลังการผลิตไฟฟ้า 18,200 เมกกะวัตต์ ช่วยบรรเทาน้ำท่วม ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแยงซีในฤดูร้อน แต่การถือกำเนิดของเขื่อน มาพร้อมกับต้นทุนทางสังคม และสิ่งแวดล้อมที่ไม่อาจคำนวณได้ รวมถึงการที่ชาวบ้านต้องโยกย้ายที่อยู่ 1.4 ล้านคน น้ำท่วมหมู่บ้านกว่า 1,400 แห่ง
รัฐบาลจีนยอมรับเมื่อปีที่แล้วว่า เขื่อนไตรผา ก่อปัญหาด้านธรณีวิทยา คน และระบบ ทั้งยังพูดเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับผลกระทบทางลบต่อปริมาณน้ำและการเดินเรือ ท้ายน้ำอีกด้วย
2.เขื่อน อิไตปู ในบราซิล
เขื่อนกั้นแม่น้ำปาราญา ระหว่างบราซิลกับปารากวัย เป็นเขื่อนใหญ่อันดับสอง ของโลกรองจากเขื่อนไตรผาของจีน ผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนปารากวัย 80% จึงกลายเป็นเขื่อนส่งออกไฟฟ้าใหญ่สุดของโลก แม้เขื่้อนอิไตปู เป็นแหล่งจัดหาพลังงานสะอาดและส่งเสริมเศรษฐกิจของสองประเทศ แต่การก่อสร้างเขื่อน ทำให้น้ำท่วมแนวน้ำตกขนาดใหญ่ "เซเต เกดาส" ที่ครั้งหนึ่ง เคยเป็นคู่แข่งของน้ำตกชื่อก้องโลก"อิกัวซู"อย่างสิ้นเชิง ทำลายป่าฝนกินพื้นที่กว่า 700 ตารางกิโลเมตร และชาวบ้านต้องอพยพย้ายถิ่นฐานกว่า 4 หมื่นคน
3.เขื่อน แกรนด์ อินคา
กลุ่ม 8 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ และรัฐบาลประเทศแอฟริกา คาดหวังว่า ในอนาคตว่า เขื่อนแกรนด์ อินคา มูลค่า 8 หมื่นล้านดอลลาร์ ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก จะผลิตไฟฟ้าได้สองเท่าของเขื่อนหมายเลขหนึ่งของโลก อย่างไตรผาของจีน และพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะแรกเริ่มบนกาฬทวีป ส่งออกไฟฟ้าไปไกลถึงแอฟริกาใต้ ไนจีเรีย และอียิปต์ กระทั่งในยุโรปและอิสราเอล แต่กลุ่มสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านในพื้นที่มั่นใจว่า คนจนจะไม่ได้รับประโยชน์
4.เขื่อน ซาดาร์ ซาโรวาร์
เป็นเขื่อนอื้อฉาวที่สุด ในโครงการพัฒนาหุบเขาแม่น้ำนาร์มาดา ในรัฐคุชราต ที่ประกอบด้วยเขื่อนสามขนาด เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ 30 แห่ง กลาง 135 แห่ง และเล็ก 3,000 แห่ง ทุกแห่งออกแบบมาเพื่อการชลประทานและน้ำดื่ม การสร้างเขื่อน ทำให้ประชาชนหลายแสนต้องโยกย้ายถิ่นฐาน และสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมกินวงกว้าง ธนาคารโลก ที่เคยสนับสนุนโครงการในตอนแรก ตัดสินใจถอนตัว ท่ามกลางกระแสประท้วงเมื่อปี 2537 แต่รัฐบาลอินเดีย เดินหน้าก่อสร้างเขื่อนต่อโดยใช้งบประมาณของตนเอง
5.เขื่อนอิลิซู ในตุรกี
เป็นที่รู้จักในตุรกีว่า แก๊ป เป็นโครงการเขื่อน ที่จุดกระแสถกเถียงอย่างมากในระดับนานาชาติ นับจากเริ่มมีข้อเสนอสร้างตั้งแต่ปี 2497 เขื่อนกั้นแม่น้ำไทกริส เริ่มสร้างเมื่อปี 2549 ซึ่งหากแล้วเสร็จ จะผลิตไฟฟ้าได้ 1,200 เมกกะวัตต์ แต่จะทำให้ชาวบ้านไร้ที่อยู่ 7 หมื่นคน กับทำให้เมือง ฮาซานคีนฟ์ เมืองโบราณอายุ 10,000 ปี จมหายไปทั้งเมือง พร้อมความหลากหลายทางชีวภาพอันมีค่า กระแสคัดค้านหนักหน่วงจากภาคประชาชน ทำให้ยุโรปถอนการสนับสนุนในเวลาต่อมา แต่รัฐบาลตุรกี มีแผนเดินหน้าสร้างต่อ
6.เขื่อนอัสวาน ในอียิปต์
เขื่อนอัสวาน สร้างขึ้นเพื่อแก้ภัยแล้งและอุทกภัย เป็นแหล่งชลประทานครอบคลุมพื้นที่หลายล้านไร่ ผลิตไฟฟ้าได้ 2.1 กิกะวัตต์ และสนับสนุนอุตสาหกรรมประมง แต่ผลกระทบทางลบ ก็มากมายมหาศาล พื้นที่ทำการเกษตรแถบลุ่มน้ำไนล์ ในอียิปต์ เสื่อมทรามลงอย่างช้าๆ เพราะน้ำและดินตะกอนอันอุดมในด้วยแร่ธาตุที่เคยมากับกระแสน้ำไนล์ ยามเพิ่มระดับขึ้นสูง ถูกกักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำ ไม่ได้ไหลลงมาตามธรรมชาติ รัฐบาลอียิปต์ จัดหาโคลนปุ๋ยเทียมแก่เกษตรกรราว 1 ล้านตันต่อปี แต่ก็ไม่อาจชดเชยกับโคลนปุ๋ยที่แม่น้ำไนล์พัดพามา 40 ตันต่อปีเหมือนเมื่อก่อน
7.เขื่อน เอลวา และ ไกลนส์ แคนยอน
เอลวา สร้างเสร็จเมื่อปี 2456 ห่างจากปากแม่น้ำเอลวาประมาณ 6.43 เมตร เหนือขึ้นประมาณ 16 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของเขื่อนไกลนส์ แคนยอน ที่สร้างเสร็จเมื่อปี 2470 ทั้งสองเขื่อน ก่อสร้างขึ้นเพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนโรงงานเยื่อกระดาษในเมืองพอร์ต แอนเจิลส์ และไม่มีบันไดปลา ทำให้ปลาแซลมอน ไม่อาจว่ายผ่านเขื่อนขึ้นไปยังต้นน้ำได้ เขื่อนทั้งสอง มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคาบสมุทรโอลิมปิค ในรัฐวอชิงตันช่วงเปลี่ยนผ่านศตวรรษที่แล้ว แต่ในวันนี้ ไม่มีประโยชน์อีกต่อไป เพราะพลังงานส่วนใหญ่ในพื้นที่ นำเข้ามาจากเมืองพอร์ตแลน์ รัฐโอเรกอน จึงถูกทุบทิ้ง นับเป็นการรื้อถอนเขื่อนใหญ่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ
8.เขื่อน กิเบ 3 ในเอธิโอเปีย
การพัฒนาทางการเกษตร ริมฝั่งแม่น้ำโอโม เกิดขึ้นพร้อมๆกับการมีเขื่อน กิเบ 3 สูง 243 เมตร ความยาวกว่า 200 กิโลเมตร นับเป็นการลงทุนใหญ่สุดของเอธิโอเปีย และเป็นโรงไฟฟ้าใหญ่สุดในทวีปแอฟริกา แต่การก่อสร้างเขื่อนนี้ เต็มไปด้วยข้อครหาละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดสรรน้ำให้กับการทำเกษตรขนาดอุตสาหกรรมมากกว่าเกษตรกรรายย่อย
อีกทั้ง เมื่อแล้วเสร็จและน้ำเต็มอ่างเก็บภายในปี 2558 ทะเลสาบทูร์คานา ปลายทางแม่น้ำโอโมจะหดลงเหลือแค่หนึ่งในสามของขนาดปัจจุบัน และกระทบความเป็นอยู่ของชาวบ้าน 3 แสนคน
9.เขื่อนกั้นแม่น้ำโขง
ลาว มีแผนสร้างเขื่อนไซยะบุรี ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้า 1,285 เมกะวัตต์ ขายไฟฟ้าให้ไทย และจะเป็นการเบิกทางสู่การก่อสร้างเขื่อนอีกหลายสิบแห่งในแม่น้ำโขง แต่แผนการยังถูกคัดค้านอย่างหนักจากกัมพูชาและเวียดนาม สองประเทศท้ายน้ำ ที่เกรงว่าเขื่อนจะกระทบการไหลของน้ำ ที่จำเป็นต่อการทำประมงและชลประทาน รัฐบาลที่เกี่ยวข้องได้แก่กัมพูชา เวียดนาม ลาวและไทย จึงเห็นพ้องระงับโครงการไว้ก่อน เพื่อรอการประเมินผลกระทบอย่างสมบูรณ์
10. เขื่อนเบโล มอนเต ในบราซิล
เขื่อนกั้นแม่น้ำ ซิงกู ในรัฐปารา รัฐในแถบลุ่มน้ำอะเมซอน ที่ใช้งบประมาณก่อสร้าง 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ คาดว่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าในปี 2558 ท่ามกลางการคัดค้านจากนักสิ่งแวดล้อมและผู้นำชนเผ่า เพราะแผนสร้างเขื่อน หมายถึงการทำให้ที่ดินจมใต้บาดาลประมาณ 500 ตารางกิโลเมตร คนไร้ที่อยู่อาศัยหลายหมื่น
เขื่อนเบโล มอนเต เป็นส่วนหนึ่งในแผนผลักดันการลงทุนและตอบสนองความต้องการพลังงาน จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยที่บราซิล ยังสามารถควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น