เมื่อ 13 ปีที่แล้ว ในขณะที่ผมและกลุ่มลงพื้นที่หมู่บ้านชาวประมงแห่งหนึ่งชายทะเล จังหวัดสงขลา ชายชราคนหนึ่งได้เล่าให้ฟังว่า
"เมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว ในขณะที่ลุงและชาวบ้านกำลังยุ่งอยู่กับการช่วยกันปลดปลาจำนวนมากที่ติดตาอวน มีชายแปลกหน้ามาจากไหนไม่มีใครทราบได้พูดขึ้นว่า "คอยดูนะอีกไม่นานทะเลนี้จะไม่มีปลาให้จับ เพราะญี่ปุ่นจะจับไปหมด"
ลุงคนนี้ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ก็น่าจะมีอายุประมาณ 100 ปีเศษเห็นจะได้ เพราะหน้าตาของท่านรุ่นราวคราวเดียวกับพ่อผม ลุงได้เล่าต่อไปว่า ในตอนนั้นลุงไม่เชื่อเลยพร้อมกับแย้งชายหนุ่มแปลกหน้าไปว่า "จะเป็นไปได้อย่างไร ดูซิ! อวนของพวกเราผืนเล็กนิดเดียว แต่ติดปลามากมายจนปลดกันไม่หมด ต้องไปขอร้องคนทั้งหมู่บ้านให้มาช่วยกันปลด แล้วทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาลสุดลูกหูลูกตา มีปลา ปู กุ้ง หอยมากมาย ใครจะมีปัญญามาจับได้หมด เป็นไปไม่ได้เลย"
ในวันที่ลุงเล่าให้พวกเราฟัง ลุงได้สารภาพว่า "ตอนนั้นลุงไม่เชื่อเลย แต่วันนี้ทุกอย่างก็เป็นจริงตามที่ชายแปลกหน้าคนนั้นได้พูดเอาไว้ไม่มีผิด"
ผมกลับมานั่งไล่เรียงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ แล้วพบว่าในช่วงเวลาที่ชายแปลกหน้าพูดเป็นช่วงที่ประเทศเยอรมนี (ไม่ใช่ญี่ปุ่นตามที่ลุงเล่า) ได้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมตัวใหม่คืออวนตาถี่ที่ทำจากโรงงานด้วยวัตถุเส้นใยสังเคราะห์อย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้ ไม่ใช่ฟั่นด้วยด้ายอย่างในอดีต
อวนที่ผลิตจากระบบอุตสาหกรรมใหม่ (ในขณะนั้น) ได้ส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลทั่วโลกลดลงอย่างรวดเร็ว องค์การอาหารโลกประเมินว่าค่าเฉลี่ยของปริมาณปลาที่เรืออวนลากจับได้ต่อชั่วโมงได้ลดลงจากประมาณ 300 กิโลกรัมลงมาเหลือเพียงประมาณ 20 กิโลกรัมในช่วงเวลา 50-60 ปีเท่านั้น
เรื่องราวที่ผมเล่ามาค่อนข้างยาวนี้ก็เพื่อจะแสดงว่า ความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีได้ส่งผลกระทบในด้านลบต่อชาวโลกอย่างใหญ่หลวง เกินกว่าจินตนาการของคนธรรมดาๆ จะคาดคิดไปถึงได้ หรือราวกับเพลงลูกทุ่งที่เคยโด่งดังในอดีตว่า "โถใครจะเชื่อ" ของยอดรัก สลักใจ
จะว่าไปแล้ว คนรุ่นอายุ 60 ปีต้นๆ อย่างผมเป็นรุ่นที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของสองสังคม คือ สังคมที่ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มาก กับสังคมที่ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ เพราะคนที่เกิดในยุคประมาณ 120 ปีก่อน กับคนที่อายุยังไม่ถึง 50 ปี จะได้มีโอกาสสัมผัสเพียงสังคมเดียวเท่านั้น และจินตนาการไปถึงอีกสังคมหนึ่งไม่ได้ หรือทำใจให้เชื่อไม่ได้ไม่ว่าจะมีหรือเคยมีอีกสังคมหนึ่งเกิดขึ้นในโลกใบนี้ด้วย
ลุงชาวประมงที่ผมเล่า ไม่เชื่ออย่างเด็ดขาดว่าในอนาคตทะเลจะไม่มีปลา ขณะที่เด็กรุ่นนี้ก็ไม่เชื่อว่าในอดีตเคยมีปลาอุดมสมบูรณ์มาก ตอนที่ผมยังเป็นเด็กเล็กราคากุ้งแชบ๊วย (กุ้งทะเลตัวใหญ่) กิโลกรัมละ 5 บาท กินกันจนเบื่อ มาวันนี้กิโลกรัมละ 400-500 บาทยังหาซื้อไม่ค่อยได้
ไม่เพียงเรื่องทรัพยากรสัตว์น้ำที่เพิ่งมีปัญหาการลดลงอย่างฉับพลันในช่วง 50-60 ปีมานี้เท่านั้น การใช้น้ำมันของโลกก็เช่นเดียวกัน ศาสตราจารย์ Dennis L. Meadows นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันในกลุ่ม The Club of Rome ที่เคยออกมาเตือนชาวโลกเมื่อปี 2514 ในเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างล้างผลาญว่า นับตั้งแต่มีมนุษย์เกิดขึ้นในโลกจนถึงปี 2485 (ปีที่เขาเกิด) ชาวโลกใช้น้ำมันไปเพียง 4% เท่านั้น แต่หลังจากนั้นมีการใช้มากถึง 96% ของที่ใช้ไปทั้งหมดในประวัติศาสตร์
จากสองเรื่องที่เล่ามานี้เป็นตัวอย่างด้านลบ ที่มนุษย์ได้นำเทคโนโลยีมาล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติซึ่งควรจะมีการใช้อย่างยั่งยืนชั่วลูกชั่วหลาน ต่อไปนี้เราลองมาดูอีกเรื่องหนึ่งซึ่งตรงกันข้าม คือ การนำเทคโนโลยีด้าน social media หรือ social networking มาใช้ในการเปลี่ยนแปลงสังคม
เมื่อประมาณ 50-60 ปีที่แล้ว ชาวโลกยังไม่มีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ก้าวหน้าอย่างทุกวันนี้ (คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงนี้ แต่ประสิทธิภาพด้อยกว่าปัจจุบันนี้นับล้านล้านเท่า) การลุกขึ้นสู้ของประชาชนหลายประเทศใน 50-60 ปีก่อนได้ชูคำขวัญว่า "การปฏิวัติจะไม่เกิดขึ้นบนหน้าจอโทรทัศน์" (The Revolution Will Not Be Televised เพลงของ Gil Scott-Heron จังหวะที่เร้าใจ สามารถฟังได้จาก Youtube ครับ)
แต่ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีด้าน social media ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว การลุกขึ้นสู้ของประชาชนหลายประเทศในกลุ่มอาหรับได้ชูคำขวัญว่า "การปฏิวัติเริ่มต้นที่การส่งข้อความเพียงข้อความเดียว
ตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงหนึ่งปีกว่าๆ มานี้ก็คือการลุกขึ้นปฏิวัติของหลายประเทศในแอฟริกา ที่เริ่มต้นจากคำถามใน social media ว่า ทำไมราคาอาหารแพงจัง
สิ่งที่ผมอยากจะสรุปในที่นี้ก็คือ สิ่งที่เราเคยเชื่อกันว่ามันเป็นไปไม่ได้เมื่อ 50 ปีที่แล้ว มันกลับเป็นไปได้ในปัจจุบันนี้ นั่นคือเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจนประเด็นร่วมผุดบังเกิดขึ้นและส่งผ่านข้อมูลความคิดถึงกันอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ประชาชนนับล้านออกมาสำแดงพลังของตนเองเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือในรัฐบาลของหลายประเทศได้สำเร็จ
ปัจจุบันคนไทยใช้ Facebook มากถึง 13.7 ล้านคน (มากเป็นอันดับ 16 ของโลก) เป็นเครื่องมือในการสื่อสารถึงกันในสังคมออนไลน์ คำถามก็คือทำไมสังคมไทยจึงไม่ค่อยมีพลังสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนสังคมไปสู่จินตนาการที่สังคมต้องการ หรือเป็นเพราะว่าสังคมเรายังไม่มีจินตนาการ่วมกันเลย
กล่าวเฉพาะในกลุ่มเล็กๆ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สมาคมรักษ์ทะเลไทย ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานกับชาวประมงชายฝั่งได้จัดให้มี "การอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการใช้ระบบสารสนเทศกับงานพัฒนา" ผมเองได้รับเชิญให้ไปบรรยายในประเด็นย่อยที่เกี่ยวกับความสำคัญของข้อมูลข่าวและการสื่อสารต่อสาธารณะสิ่งที่สมาคมฯ คิดก็คือทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ
รวมถึงองค์กรชาวบ้านสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสื่อสารต่อสาธารณะเพื่อฟื้นให้ทรัพยากรสัตว์น้ำกลับคืนมา สมาคมฯ ได้ชูคำขวัญว่า "อยากให้ปลากลับบ้าน ร่วมรักษาทะเลกับเรา" ซึ่งผมเชื่อว่าทำได้ครับ
ถ้าเราสามารถใช้เทคโนโลยีการสื่อสารยุคนี้ทำความเข้าใจกับสาธารณะอย่างจริงจัง มีวิชาการที่ถูกต้องและอย่างต่อเนื่องครับ
Source : |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น