ชุมชนยุคใหม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มของตัวเองมาตลอด ด้วยความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกันทำงาน เพื่อการพัฒนาและความอยู่รอดของตัวเอง โดยเฉพาะในสถานที่ที่ห่างไกล ภาครัฐยังเข้าไปช่วยไม่ถึง มีทรัพยากรธรรมชาติอะไรที่มีอยู่ก็นำมาใช้หรือดัดแปลงให้เข้ากับภาวะที่ต้อง การ ทำให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนของตัวเอง มิต้องรอคอยจากภาครัฐให้มาช่วยเหมือนก่อนแล้ว
ชุมชนบ้านคลองเรือ ต.ปากทรง อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร เป็นหนึ่งของชุมชนยุคใหม่จากหลายชุมชนในประเทศที่รวมตัวกันสร้างสิ่งที่เขา ขาดแคลนคือไฟฟ้า จากทรัพยากรน้ำที่เขามีอยู่คือต้นน้ำพะโต๊ะ สร้างเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำเกิดเป็นกระแสไฟฟ้าได้ใช้ในหมู่บ้านของเขา บริหารจัดการกันเอง เป็นตัวอย่างของความสามัคคีร่วมใจกันอย่างดี
ประวัติของหมู่บ้านคลองเรือ นายมนัส คล้ายรุ่ง ผู้ใหญ่บ้านได้เล่าให้ฟัง เมื่อ 40 ปีก่อนภาคใต้มีปัญหาจากการทำแร่ดีบุก คนจาก 17 จังหวัดทั่วประเทศจึงหันมาที่ตำบลนี้ทำทั้งดีบุกและปลูกพืชไร่ไปด้วย ต่อมาเมื่อมีการควบคุมเรื่องที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ จึงได้ตั้งเป็น กฎระเบียบป่าชุมชน ร่วมกับป่าไม้ ผู้ที่มาอยู่ก่อนปี 2536 จะมีสิทธิทำกินในที่ดินห้ามซื้อขาย มีกรรมการควบคุมเข้มและปลูกไม้ยืนต้นมาก ภายใต้โครงการ คนอยู่ ป่ายัง
ตำบลนี้อยู่ลึกเข้าไปจากถนนสายหลังสวน-ระนอง ราว 12 กม. ทางไม่ดีนัก ได้มีการรวมตัวเพื่อจะหาไฟฟ้ามาใช้ จากคณะทำงานประกอบด้วย อ.จิตติ มงคลชัยอรัญญา แห่งคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. เป็นหัวหน้า พร้อมด้วยคณะทำงานจากคณะวิศวกรรม มอ. และศูนย์การเรียนรู้ มหาวิทยาลัยชีวิตเมืองนครศรีธรรมราช, กฟผ., กรมอุทยานแห่งชาติ หน่วยอนุรักษ์และจัดการลุ่มน้ำพะโต๊ะ และชาวบ้านคลองเรือ ต.ปากทรง หมู่ 9 ได้ร่วมกันคิดและผลักดัน จนเกิดเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 100 กิโลวัตต์ สำเร็จได้ใช้ในหมู่บ้านพร้อมบริหารจัดการกันเอง เมื่อ 24 ม.ค. 2555
เมื่อ 26 ม.ค. คณะของ กฟผ. สุทธิพงษ์ เทพพิทักษ์, ธาตรี ริ้วเจริญ, เยาวลักษณ์ โหตรภวานนท์, วราทิพย์ อานันทนสกุล, ศิริชัย อายุวัฒน์, ฐิติภัทร์ ภาณุไพศาล และคณะ ได้นำสื่อมวลชนไปร่วมในพิธีเปิดเวทีสมัชชาเครือข่ายจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและพลังงานอย่างยั่งยืน มาจากทั่วประเทศเกิน 1,000 คน มี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ร่วมแสดงปาฐกถาพิเศษด้วย โรงไฟฟ้าที่เปิดในวันนี้สำเร็จจากความร่วมมือหลายฝ่าย กฟผ. เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนเรื่องนี้
ธนาคารต้นไม้ เป็นจุดเด่นอันหนึ่งของชุมชนนี้ ชัยรัตน์ แว่นแก้ว เป็นบ้านหนึ่งที่ได้ไปดู เป็นกฎของหมู่บ้านที่ต้องปลูกเพื่อเป็นทรัพย์สินของครอบครัว ได้ปลูกตั้งแต่ปี 2536 ไม้ยืนต้นเกิน 500 ต้น มูลค่าเกิน 5,000 บาท เป็นหลักทรัพย์ใช้ค้ำประกันได้ ทุกครัวเรือนปลูกกันหมด ได้พบผู้คนหลายท่าน ต่างให้ความเห็นที่น่าสนใจ พงศา ชูแนม หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำได้บอกว่า ชุมชนนี้ได้ทำ 3 อย่างเป็นหลัก ธนาคารต้นไม้, เศรษฐกิจพอเพียงระดับชุมชน ให้พึ่งตัวเองได้ หากถูกตัดขาดจากภายนอก เช่น ถนนขาดจากอุบัติภัยก็มีชีวิตอยู่ได้ และ การเข้าถึงเอาทรัพยากรมาเป็นพลังงาน
ประยงค์ สุทธิคณะ พนักงานสาธารณสุขเขตนี้ ได้บอกถึงโรคของประชาชนในหมู่บ้านนี้ โรคเอชไอวี ยาเสพติด ไม่มี มาลาเรียประปราย ส่วนใหญ่สุขภาพดีร่างกายแข็งแรงต้องทำมาหากินทุกวัน สารพิษจากปุ๋ยเคมีไม่มี ใช้ปุ๋ยชีวภาพ ปาล์ม กาแฟ หมาก มะพร้าว ทุเรียน มังคุด งามไปหมด
รางวัลต่าง ๆ ที่ได้รับ ธงพิทักษ์ป่าเพื่อรักษาชีวิตในฐานะรักษาป่ายอดเยี่ยม รางวัลยอดเยี่ยมแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ, รางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอยู่เย็นเป็นสุข, รางวัลตำบลเขียวขจีดีเด่น, มาตรฐานโฮมสเตย์ไทย, ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง และรางวัลชนะเลิศการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ครั้งที่ 4 เมื่อปี 2553
คณะได้ไปดูธนาคารต้นไม้ ฟังการสัมมนาเหล่าสมัชชาสิ่งแวดล้อม ขึ้นไปดูโรงไฟฟ้าพลังน้ำต้องเดินทางเลาะไหล่เขาไปอีก 2 กม. ทางยังไม่ดี ได้เห็นถึงความลำบากอุตสาหะของชุมชนที่ช่วยกันทำจนสำเร็จ
ชุมชนบ้านคลองเรือ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร เป็นชุมชนหนึ่งจากหลายแห่งทั่วประเทศที่มีศักยภาพเข้มแข็ง สามารถเอาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ เป็นแบบอย่างที่ดีของการพัฒนาชุมชนยุคใหม่ ข้อมูลเพิ่มเติม วราทิพย์ อานันทนสกุล 08-1874-2127.
Source : http://www.dailynews.co.th/article/1490/10786
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น