วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554
มจธ.ขอเป็น 'สีเขียว'
ความเก๋าของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ต้องยกนิ้วให้กับศาสตร์ทางวิศวกรรม เครื่องจักรกล สิ่งประดิษฐ์ และเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างหุ่นยนต์สมองกลอัจฉริยะ โดยเฉพาะคณะวิศวกรรมศาสตร์ของ มจธ.เป็น 1 ใน 8 แห่งที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย
แต่อีกมุมหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นเลิศทางด้านวิศวกรรม-เทคโนโลยี ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และได้รับการจัดอันดับให้เป็น "มหาวิทยาลัยสีเขียว" อันดับที่ 17 ของโลกจากมหาวิทยาลัยกว่า 1,000 แห่งทั่วโลกที่ส่งข้อมูลเข้าประกวด ถือเป็นอันดับที่ 1 ของไทย และอันดับที่ 3 ของเอเชียแปซิฟิก
เบื้องหลังอันดับ 1 ของสีเขียว
ความสำเร็จของ มจธ.ในการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวติดอันดับ 17 ของโลก จากการจัดอันดับโดยมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย เริ่มต้นในยุคสมัยของอธิการบดีชื่อ "ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร" ซึ่งประกาศนโยบายชัดเจนในเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยจัดตั้งศูนย์การจัดการพลังงาน สิ่งแวดล้อมความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ให้เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสีเขียว
พร้อมทั้งประกาศนโยบายให้วิทยาเขตบางขุนเทียน ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างในช่วงนั้น จะต้องมีระบบนิเวศโดยรอบเป็นพื้นที่สีเขียว
ทั้งนี้ การก้าวย่างสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว ยังได้รับสนับสนุนงบดำเนินโครงการ ภายใต้โครงการจัดการสิ่งแวดล้อมความปลอดภัยแบบกองทุนการจับคู่ระหว่างรัฐบาลกับ มจธ.วงเงิน 110 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2547-2551
มหาวิทยาลัยสีเขียว คือ มหาวิทยาลัยที่มีการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างคุ้มค่า จัดระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืนและลดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน ทั้งการอนุรักษ์พลังงาน การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และพลังงานทดแทน
"เราได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2546 ตามเกณฑ์ความเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวที่มหาวิทยาลัยอินโดนีเซียกำหนดไว้ เช่น การพัฒนาเส้นทางเดินเท้าและจักรยาน การจัดการขยะและของเสีย การใช้พลังงานทดแทนทั้งโซลาร์เซลล์และไบโอก๊าซจากเศษอาหาร รวมถึงการใช้รถโดยสารที่ใช้ไบโอเอทานอล ED95 คันแรกของประเทศ เป็นพาหนะรับส่งนักศึกษาและบุคลากร" เพิ่มเติมโดย รศ.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มจธ.ในปัจจุบัน
สตาร์ทจากขยะ
ผศ.สุชาดา ไชยสวัสดิ์ ผู้จัดการศูนย์การจัดการด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อมความปลอดภัย และอาชีวอนามัย (อีอีเอสเอช) มจธ. ขยายความว่า มจธ.เริ่มจัดทำระบบจัดการขยะตั้งแต่ปี 2546 ด้วยการจัดตั้งธนาคารขยะ รณรงค์ให้นักศึกษาและบุคลากรคัดแยกขยะ พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนถังขยะติดรูปภาพอธิบายประเภทขยะไว้ชัดเจน
โครงการประสบความสำเร็จอย่างมาก สามารถสร้างรายได้จากการขายขยะกว่า 1.2 ล้านบาทในปี 2548 ลดค่าจ้างแรงงานในการคัดแยกขยะ และสามารถกำจัดขยะได้อย่างถูกต้องไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่น ขณะที่ปีที่ผ่านมา สามารถลดปริมาณขยะภายในมหาวิทยาลัยเหลือเพียง 25.88 กิโลกรัมต่อคนต่อปี จากตัวเลข 28.49 กิโลกรัมในปี 2552
ส่วนขยะที่เป็นเศษวัสดุเหลือใช้จากห้องเรียน อย่างเศษเหล็ก เศษปูน ส่วนใหญ่จะถูกนำไปกำจัดด้วยการถมลงบริเวณพื้นที่ชายฝั่งที่มีปัญหาการกัดเซาะจากน้ำทะเล
หลังจาก มจธ.ประสบความสำเร็จจากกิจกรรมคัดแยกขยะ เส้นทางเดินของมหาวิทยาลัยสีเขียวถูกขยายผลเป็นโครงการอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น การจัดทำข้อมูลการใช้สารเคมีในห้องปฏิบัติการประจำปี เพื่อนำไปสู่การลดใช้สารเคมีและหาวิธีการกำจัดที่ถูกวิธี การตรวจสอบสภาพน้ำเสียเพื่อบำบัดก่อนระบายสู่แหล่งน้ำสาธารณะ โครงการลดใช้พลังงานไฟฟ้าและพลังงานน้ำ
"เราตั้งเป้าจะลดใช้พลังงานไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นลงอย่างน้อย 5% ต่อคนต่อปี ซึ่งในปีแรกของการเริ่มโครงการ ประสบความสำเร็จด้วยยอดลดใช้พลังงานได้ถึง 9%" ผศ.สุชาดากล่าว
ขยับสู่พลังงานทดแทน
ในส่วนของการใช้พลังงานทดแทน มจธ.ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ร่วมกับไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง รวมถึงมีระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากเศษอาหารซึ่งมีมากถึง 200 กิโลกรัมต่อวัน สำหรับต้มน้ำลวกช้อนและให้ความร้อนกับเครื่องล้างจาน
"มจธ.มุ่งมั่นด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนต้นแบบ เพื่อเป็นต้นแบบให้กับองค์กรอื่นๆ และชุมชนต่อไป" ผศ.สุชาดากล่าว
ส่วนเส้นทางปัจจุบันในยุคสมัยของ รศ.ศักรินทร์ ได้สานต่อกิจกรรมมหาวิทยาลัยสีเขียวผ่านกิจกรรมโครงการยืมขี่ฟรี (Bike Share for Free) ส่งเสริมให้นักศึกษาและบุคลากรขี่จักรยานภายในสถาบัน ทั้งยังจัดรถรับส่งบุคลากรด้วยระบบขนส่งรวมหรือรถบัสระหว่างวิทยาเขตบางขุนเทียนและบางมด เพื่อลดใช้พาหนะที่เป็นยานยนต์ ลดการเกิดมลภาวะและลดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน
"เป้าหมายที่อยากให้เกิด ไม่ใช่แค่เพียงนักศึกษาและบุคลากรที่ประหยัดพลังงานตามนโยบาย แต่เราต้องการคนที่มีความคิด สามารถสร้างสรรค์กิจกรรมและเชิญชวนผู้อื่นให้มีส่วนรวมประหยัดด้วยกันในอนาคต" รศ.ศักรินทร์กล่าวชัดเจนตามคอนเซปต์ของมหาวิทยาลัยสีเขียว
source :http://eureka.bangkokbiznews.com/detail/395516
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น