ปฏิบัติการเสมือน “การพลีชีพ” ของพนักงานโรงนิวเคลียร์ ทำให้ทั่วโลกประจักษ์ถึง “ความอดทนและความมีระเบียบวินัย” ของชาวญี่ปุ่นผู้ประสบภัยพิบัติ
มหันตภัยครั้งร้ายแรงที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่สองของญี่ปุ่นที่เกิดจากแผ่นดินไหว และสึนามิบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมานั้น นอกจากจะทำให้ทั่วโลกได้ประจักษ์ถึง “ความอดทนและความมีระเบียบวินัย” ของชาวญี่ปุ่นผู้ประสบภัยพิบัติครั้งนี้แล้ว
ปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา ที่เสียหายและเกิดการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีอันเป็นผลพวงจากแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งประวัติศาสตร์นี้ ยังทำให้ชาวโลกได้รู้จัก “ความกล้าหาญและเสียสละ” ของพนักงานปัจจุบันของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าว และบรรดาวิศวกรตลอดจนพนักงานที่เกษียณอายุแล้วแต่เคยมีประสบการณ์ทำงานที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกด้วย
โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นถึงแม้จะมีประโยชน์มหาศาลในการผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับทั้งภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนแล้ว แต่ก็มีอันตรายร้ายแรงอย่างยิ่ง เพราะกัมมันตภาพรังสีสามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็ง การผิดปกติของทารกในครรภ์ หรือส่งผลร้ายต่อเม็ดเลือดได้
ดังนั้น ในภาวะปกติพนักงานที่ทำงานในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องสวมชุดป้องกันพิเศษซึ่งปกคลุมทุกส่วนของร่างกายตั้งแต่หัวจรดเท้าเมื่อต้องเข้าไปในบริเวณที่อาจมีกัมมันตภาพรังสีได้ โดยมีหน่วยวัดระดับกัมมันตภาพรังสีที่เรียกว่า “มิลลิซีเวิร์ท” เป็นเกณฑ์พิจารณาปริมาณรังสีที่พนักงานได้รับระหว่างการปฏิบัติงานซึ่งไม่ควรเกิน 100 มิลลิซีเวิร์ท
เมื่อเกิดปัญหากัมมันตภาพรังสีรั่วไหลที่โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมาหลังการเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิแล้ว ได้มีการอพยพพนักงานทั้งหมดออกจากบริเวณดังกล่าว แต่วันรุ่งขึ้นพนักงาน 180 คนที่กลับเข้าไปที่โรงงานนั้นอีกครั้งหนึ่งในปฏิบัติการฉุกเฉินเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น พวกเขาจะแบ่งเป็นทีมเข้าไปทำการสูบน้ำทะเลเพื่อลดความร้อนของเตาปฏิกรณ์และติดตามผล โดยสับเปลี่ยนกันทุกๆ 10-15 นาที พวกเขาทำงานในภาวะที่มีความเสี่ยงของระดับกัมมันตภาพรังสีสูงถึง 400 มิลลิซีเวิร์ท
ปฏิบัติการดังกล่าวเปรียบเสมือน “การพลีชีพ” ของบรรดาพนักงานที่ไม่ปรากฏนามเหล่านั้น จึงกลายเป็นข่าวไปทั่วโลก สื่อมวลชนญี่ปุ่นให้สมญาวีรบุรุษนิรนามทั้งหมดว่า “ซามูไรแห่งฟูกูชิมา”
เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นครั้งแรกหลังการเกิดภัยพิบัติและได้ทราบข่าวล่าสุด ซึ่งแสดงถึงความกล้าหาญและเสียสละของชาวญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่ง
ยาสุเทรุ ยามาดะ อดีตวิศวกรโรงงานวัย 72 ปีได้รวบรวมบรรดาอดีตวิศวกรอดีตช่างเทคนิค ตลอดจนอดีตพนักงานฝ่ายต่างๆ แม้กระทั่งอดีตพ่อครัวซึ่งล้วนแล้วแต่มีอายุมากกว่า 60 ปีได้มากกว่า 200 คน โดยทั้งหมดอาสาเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาในโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา
ยามาดะกล่าวว่า การกระทำของพวกเขาไม่ใช่เป็นการกระทำของวีรบุรุษแต่เป็นการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล เพราะพวกเขามีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการทำงานมาก่อน อีกทั้งสูงอายุแล้ว จึงสมควรที่จะรับความเสี่ยงจากกัมมันตภาพรังสีมากกว่าคนหนุ่มสาวที่ยังมีอนาคตยาวไกล
ยามาดะเกิดความคิดดังกล่าวเมื่อเขาได้ดูวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ครั้งประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นนี้ทางโทรทัศน์ เขาจึงได้ติดต่ออดีตเพื่อนร่วมงานของเขาทั้งทางอีเมลและทวิตเตอร์ โดยได้รับการตอบรับอย่างรวดเร็วจากผู้ร่วมอุดมการณ์วัยเกษียณมากกว่า 200 คนเพื่อรักษาชีวิตของชาวญี่ปุ่นที่อ่อนวัยกว่าไว้ให้ได้มากที่สุด กลุ่มของยามาดะได้มีโอกาสพบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คัน และได้เริ่มปรึกษาหารือกันเพื่อดำเนินการขั้นต่อไป
พวกเราคนไทยและชาวโลกเคยได้ยินกิตติศัพท์ของกลุ่ม “คามิคาเซะ” นักบินญี่ปุ่นที่ปฏิบัติการ “พลีชีพ” ในสงครามโลกครั้งที่สองมาแล้ว กว่าครึ่งศตวรรษหลังจากปฏิบัติการบันลือโลกดังกล่าว เราก็ได้ประจักษ์ถึง “สปิริตแห่งซามูไร” ในสายเลือดของชาวอาทิตย์อุทัยนี้อีกครั้งหนึ่งทั้งจากคนหนุ่มสาว และวัยเกษียณในกรณีของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมาครั้งนี้
“สปิริตแห่งซามูไร” นี้เองที่ทำให้ญี่ปุ่นยืนหยัดรักษาความยิ่งใหญ่ของประเทศไว้ได้อย่างมั่นคง ถึงแม้ว่าขณะนี้จะเจออุปสรรคอันยากเข็ญ ในไม่ช้า “ลูกพระอาทิตย์” ก็จะก้าวเดินต่อไปอย่างสง่างามด้วยแรงใจและความชื่นชมของชาวโลกที่ประจักษ์แจ้งในศักดิ์ศรีของชาวญี่ปุ่นจากมหันตภัยครั้งนี้
source :http://www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/panatda/20110615/395467/สปิริตของนิวเคลียร์ซามูไร.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น