นโยบายพลังงานก๊าซแอลพีจี ใครได้ ใครเสีย (1) : รู้ทันกระแส เศรษฐกิจและพลังงาน : โดย ... ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่นโยบายและเศรษฐกิจพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นโยบายของรัฐบาลในการควบคุมราคาก๊าซแอลพีจีเป็นเจตนาดีในการช่วยเหลือภาค ครัวเรือนให้ใช้เชื้อเพลิงสะอาด ในราคาไม่สูงมาก และลดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งปริมาณการใช้ในภาคครัวเรือนไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากจนเป็นภาระ แต่เมื่อเกิดวิกฤติราคาน้ำมัน โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ.2550 ทำให้มีรถยนต์ปรับเปลี่ยนมาใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นอย่างมาก และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอยู่ตลอดเวลา จนเป็นภาระกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ต้องนำเงินมาอุดหนุนด้านราคา
ทั้งนี้ หากประเทศไทยยังต้องมีการตรึงราคาก๊าซแอลพีจีต่อไป จะเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานที่ไม่ถูกต้อง เป็นการใช้พลังงานที่มีราคาถูกแบบสิ้นเปลืองและไม่รู้ค่า เพราะรัฐช่วยแบกรับภาระบางส่วนไว้ ทำให้ผู้ใช้พลังงานไม่รู้สึกว่าต้องช่วยกันประหยัดพลังงาน ระดับราคาพลังงานที่ต่ำเป็นปัจจัยให้เกิดการเร่งให้นำทรัพยากรของชาติมาใช้ อย่างรวดเร็วและอาจไม่เหลือทรัพยากรพลังงานแก่คนรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป
ดังนั้น ในระยะสั้น การตรึงราคาก๊าซแอลพีจีอาจช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ แต่ในระยะยาวก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องต่างๆ อาทิ 1.ไม่ส่งเสริมการประหยัดและการใช้พลังงานทดแทน 2.ไม่ช่วยลดการพึ่งพาพลังงานนำเข้า 3.สูญเสียเงินตราต่างประเทศ 4.ฐานะการคลังอ่อนแอ (การขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะ) และ 5.ลักลอบส่งออกก๊าซแอลพีจีไปประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในปัจจุบัน ราคาแอลพีจีของไทยยังต่ำกว่าเพื่อนบ้าน ทำให้เกิดการลักลอบส่งออกขายประเทศเพื่อนบ้าน คาดว่าปริมาณการลักลอบไม่ต่ำกว่า 5,000 ตันต่อปี
การปล่อยลอยตัวราคาพลังงานให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงการนำพลังงานไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูง สุด เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในระยะยาว ในปี 2554 ไทยมีปริมาณการผลิตก๊าซแอลพีจี ประมาณ 5 ล้านตันต่อปี ในขณะที่มีปริมาณการใช้สูงถึงเกือบ 6.5 ล้านตันต่อปี
จากสถานการณ์การนำเข้าก๊าซแอลพีจีของไทยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ภาครัฐต้องมีนโยบายลอยตัวราคาก๊าซแอลพีจีเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2553 โดยที่รัฐบาลมีมติเห็นชอบให้ปรับราคาก๊าซแอลพีจี ณ โรงกลั่น ให้สะท้อนราคาตลาดโลกมากขึ้น โดยกำหนดให้ราคาก๊าซแอลพีจี ณ โรงกลั่นเท่ากับ 76% อิงราคาก๊าซแอลพีจีตลาดโลก และ 24% อิงราคาควบคุมปัจจุบันที่ 333 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (10,323 บาทต่อตัน) ในขณะที่ราคา ณ โรงแยกก๊าซคงที่ที่ 333 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (10,323 บาทต่อตัน)
หากไม่ปรับราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีให้สะท้อนราคาตลาดโลก จะส่งผลให้การใช้และการนำเข้าให้สูงเกินกว่าขีดความสามารถในปัจจุบัน และภาระกองทุนน้ำมันฯ จะเพิ่มขึ้น แม้จะมีการปรับราคา ณ โรงกลั่นของกลุ่มโรงกลั่น
source : http://www.komchadluek.net/detail/20120817/137788/%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99LPG%E0%B9%83%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%281%29.html#.UFn7PK5-m1s
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น