วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555

โรงกลั่นน้ำมันความมั่นคงทางพลังงาน(1)

โรงกลั่นน้ำมัน...ธุรกิจแห่งความมั่นคงทางพลังงาน (1) : คอลัมน์ รู้ทันกระแส เศรษฐกิจและพลังงาน : โดย ... ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่นโยบายและเศรษฐกิจพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ) 

 

          เหตุการณ์เพลิงไหม้โรงกลั่นน้ำมันบางจากที่สุขุมวิท 64 ทำให้หลายท่านอาจกลับมาสนใจกิจการโรงกลั่นน้ำมันของไทยว่า มีความเป็นมาอย่างไรและมีความสำคัญอย่างไรต่อเศรษฐกิจ ก่อน อื่นผมขออธิบายว่า การกลั่นน้ำมัน หรือภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Oil refinery นั้น คือกระบวนการแปรรูปจากน้ำมันดิบเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันชนิดต่างๆ ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยกระบวนการกลั่นน้ำมันยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เป็นผลพลอยได้นอกจากผลิตภัณฑ์น้ำมัน เช่น ถ่านโค้ก (Coke) และยางมะตอย (Asphalt) เป็นต้น


         ผลิตภัณฑ์สำคัญที่ได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบประกอบไปด้วย 1.ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas : LPG) หรือก๊าซหุงต้ม เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากส่วนบนสุดของหอกลั่นในกระบวนการกลั่นน้ำมัน หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแยกก๊าซธรรมชาติ ก๊าซปิโตรเลียมเหลวมีจุดเดือดต่ำมาก จะมีสภาพเป็นก๊าซในอุณหภูมิและความดันบรรยากาศ ดังนั้น ในการเก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวจะต้องเพิ่มความดันหรือลดอุณหภูมิ เพื่อเปลี่ยนสภาพจากก๊าซเป็นของเหลว ซึ่งก๊าซปิโตรเลียมเหลวใช้เป็นเชื้อ เพลิงได้ดี และเวลาลุกไหม้ให้ความร้อนสูง และมีเปลวสะอาด การใช้ประโยชน์ ก็คือ การใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับหุงต้ม เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์และรถยนต์ รวมทั้งเตาเผาและเตาอบต่างๆ
          2. น้ำมันเบนซิน (Gasoline) น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน หรือเรียกว่าน้ำมันเบนซิน ได้จากการปรับแต่งคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันโดยตรง และจากการแยกก๊าซธรรมชาติเหลว น้ำมันเบนซินจะผสมสารเคมีเพิ่มคุณภาพ เพื่อให้เหมาะกับการใช้งาน เช่น เพิ่มค่าออกเทน สารเคมีสำหรับป้องกันสนิมและการกัดกร่อนในถังน้ำมันและท่อน้ำมัน เป็นต้น
          3. น้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินใบพัด (Aviation Gasoline) ใช้สำหรับเครื่องบินใบพัด มีคุณสมบัติคล้ายกับน้ำมันเบนซินในรถยนต์ แต่ปรุงแต่งคุณภาพให้มีค่าออกเทนสูงขึ้น ให้เหมาะสมกับเครื่องยนต์ของเครื่องบินซึ่งต้องใช้กำลังขับดันมาก
          4. น้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น (Jet Fuel) ใช้เป็นเชื้อเพลิงไอพ่นของสายการบินพาณิชย์เป็นส่วนใหญ่ มีช่วงจุดเดือดเช่นเดียวกับน้ำมันก๊าดแต่ต้องสะอาดบริสุทธิ์มีคุณสมบัติ บางอย่างดีกว่าน้ำมันก๊าด
          5. น้ำมันก๊าด (Kerosene) ประเทศไทยรู้จักใช้น้ำมันก๊าดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่เดิมใช้เพื่อจุดตะเกียงแต่ปัจจุบันใช้ประโยชน์หลายประการ เช่น เป็นส่วนผสมสำหรับยาฆ่าแมลง สีทาน้ำมันชักเงา ฯลฯ

----------
(หมายเหตุ : โรงกลั่นน้ำมัน...ธุรกิจแห่งความมั่นคงทางพลังงาน (1) : คอลัมน์ รู้ทันกระแส เศรษฐกิจและพลังงาน : โดย ... ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่นโยบายและเศรษฐกิจพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) <Chodechai.energyfact@gmail.com>)
----------


source : http://www.komchadluek.net/detail/20120720/135570/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%281%29.html#.UFn9TK5-m1s

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น