วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555

อนาคตพลังงานไทยที่น่าเป็นห่วง?(1)

อนาคตพลังงานไทยที่น่าเป็นห่วง? (1) : คอลัมน์ รู้ทันกระแส เศรษฐกิจและพลังงาน : โดย ... ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่นโยบายและเศรษฐกิจพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 

           วันนี้ หลายท่านอาจจะสงสัยว่า ทิศทางราคาน้ำมันในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อจากนี้ไป ผมจะขอวิเคราะห์ทิศทางสถานการณ์น้ำมันจากข้อมูลล่าสุดที่เรามีอยู่นะครับ ก่อนอื่นทรัพยากรปิโตรเลียมในโลกนั้นมีอยู่อย่างจำกัด จากปริมาณน้ำมันสำรองทั่วโลกที่มีอยู่คาดว่าเราจะสามารถมีน้ำมันใช้ได้อีก 46 ปี ก๊าซธรรมชาติจะมีใช้ได้อีก 59 ปี ส่วนปริมาณถ่านหินจะมีสำรองใช้ได้อีก 118 ปี แน่นอนว่าภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นพื้นที่ที่มีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำรอง มากที่สุดในโลกกว่าร้อยละ 50 ในขณะที่ถ่านหินสำรองจะกระจายตัวอยู่ในหลายภูมิภาคทั้งยุโรป อเมริกา และเอเชีย สำหรับประเทศไทย เรายังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน 


          ในปี 2554 ประเทศไทยต้องนำเข้าพลังงานขั้นต้นเป็นปริมาณ 1.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยกว่าร้อยละ 80 เป็นการนำเข้าเป็นน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าพลังงานสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาทในปี 2554 ซึ่งปริมาณการน้ำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติคิดเป็นร้อยละ 80 และร้อยละ 22 ของการใช้ตามลำดับ ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซฯ สูงเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค รองจากประเทศสิงคโปร์ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และพม่าเป็นประเทศผู้ส่งออกพลังงานเป็นหลัก
          นอกจากนี้ การใช้พลังงานของประเทศไทยยังไม่มีประสิทธิภาพ โดยการบริโภคพลังงานของประเทศไทยสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศอื่นเมื่อเทียบ กับรายได้ และแนวโน้มประสิทธิภาพการใช้พลังงานยังไม่ดีขึ้น ราคาพลังงานที่ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การใช้พลังงานไม่มีประสิทธิภาพ
          หลายท่านอาจเข้าใจว่าประเทศไทยสามารถผลิตพลังงานได้ แต่แท้จริงแล้วจะเห็นว่า ในปีที่ผ่านมา (2554) เรามีศักยภาพในการผลิตน้ำมันดิบได้ประมาณ 154,000 บาร์เรลต่อวัน แต่นำเข้าสู่กระบวนการผลิตน้ำมันในโรงกลั่นได้เพียง 115,000 บาร์เรลต่อวันเท่านั้น ในขณะที่มีปริมาณการใช้ภายในประเทศสูงถึงกว่า 8 แสนบาร์เรลต่อวัน
          นอกจากนี้ น้ำมันที่เราหาได้เองในประเทศนั้นไม่สามารถนำมาใช้กับโรงกลั่นในบ้านเราได้ ทั้งหมด เพราะน้ำมันบางแหล่งก็มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมกับกระบวนการผลิตและเทคโนโลยี ของโรงกลั่นในเมืองไทย ทุกวันนี้ ประเทศไทยจึงต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางเฉลี่ยวันละ 616,000 บาร์เรลมาเป็นวัตถุดิบในการกลั่น
          สรุปก็คือบ้านเราไม่ได้มีน้ำมันมากเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ เราจึงต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศส่วนใหญ่ต่อไป เราควรต้องประหยัดการใช้น้ำมันเพื่อลดภาระการนำเข้าและสูญเสียเงินออกนอก ประเทศ

        
--------------------
(อนาคต พลังงานไทยที่น่าเป็นห่วง? (1) : คอลัมน์ รู้ทันกระแส เศรษฐกิจและพลังงาน : โดย ... ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่นโยบายและเศรษฐกิจพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) <Chodechai.energyfact@gmail.com>)

source :  http://www.komchadluek.net/detail/20120803/136750/%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%95%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%87%281%29.html#.UFn-m65-m1s

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น