สภาพความเสียหายของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิ (แฟ้มภาพจากเอเอฟพี) |
ดร.ทากาโตชิ ทาเกโมโตะ (Dr.Takatoshi Takemoto) วิศวกรนิวเคลียร์จากห้องปฏิบัติการวิจัยเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ สถาบันเทคโนโลยีโตเกียว (Tokyo Institute of Technology) ประเทศญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า จากประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์กว่า 20 ปีของเขานั้น บอกได้เทคโนโลยีโรงไฟฟ้นิวเคลียร์ในปัจจุบันซึ่งเดินมาถึงรุ่นที่ 4 แล้ว มีความปลอดภัยมากกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมะ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่นแรก
แม้ว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิ (Fukushima Daiichi) ของบริษัทโตเกียวอิเล็กทริกพาวเวอร์ (Tokyo Electric Power Co.) หรือเท็ปโก (TEPCO) จะประสบกับภัยธรรมชาติทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิ แต่ในมุมของ ดร.ทาเกโมโตะมองว่าปัญหาที่เกิดนั้นเป็นความผิดพลาดของมนุษย์ โดยเป็นปัญหาเรื่องการจัดการ ซึ่งหากทำได้ดีปัญหาก็จะไม่ใหญ่โตขนาดนี้ แต่เท็ปโกกลับไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อ 2-3 ปีก่อนนักวิชาการเคยเตือนว่าจะเกิดสึนามิสูงกว่าระดับกำแพง 10 เมตรที่สร้างไว้ แต่ผู้ประกอบการกลับไม่ลงทุนสร้างกำแพงให้มีความสูงในระดับที่น่าจะปลอดภัย
หลังเหตุการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติและส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ดร.ทาเกโมโตะบอกว่ามีเสียงคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตามมา และฝ่ายค้านใช้เป็นเรื่องโจมตีรัฐบาล แต่ขณะนี้ทางรัฐบาลยังไม่ตัดสินใจว่าจะเอานิวเคลีรย์หรือไม่ ทั้งนี้ ญี่ปุ่นใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานพื้นฐานในสัดส่วนคงที่ 34% และใช้พลังงานน้ำมันเป็นพลังงานหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยเริ่มใช้พลังงานนิวเคลียร์มาประมาณ 50 ปี ซึ่งหลังจากรัฐบาลตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จึงได้ส่งคนไปศึกษาเทคโนโลยีนี้ที่สหรัฐฯ
ปัจจุบันญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 แบบ คือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบเตาปฏิกรณ์น้ำเดือด (Boiling Water Reactor: BWR) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของมิตซูบิชิ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบเตาปฏิกรณ์ความดัน (Pressurized Water Reactor: PWR) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของโตชิบา โดยประมาณ 80% ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบน้ำเดือด ทั้งนี้ญี่ปุ่นมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใช้งานอยู่ 55 โรง
สำหรับเมืองไทยหากจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บ้าง ดร.ทาเกโมโตะ แนะว่าควรต้องสร้างบุคลากรรองรับ และถ้าพัฒนาคนทางด้านนี้ขึ้นมาแล้วแต่ไทยไม่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ บุคลากรเหล่านั้นยังไปทำงานในโรงไฟฟ้าอื่นๆ ได้เพราะใช้ความรู้พื้นฐานเดียวกัน
ทั้งนี้ เป็นการเปิดเผยระหว่างการประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ครั้งที่ 12 ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ระหว่างวันที่ 6-7 ก.ค.54 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ ในหัวข้อ กึ่งศตวรรษนิวเคลียร์ไทย กับอนาคตในทศวรรษหน้า (Half Century and Upcoming Decade of Technology in Thailand)
source : http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000083616
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น