วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

รีไซเคิลดีไซน์...ใช้ได้จริง

โลกใบเล็กนี้เต็มไปด้วยขยะ จากประชากรกว่า 6,000 ล้านคน ทุกวันนี้เราอยู่บนกองขยะ

รู้มั้ยว่าโลกใบเล็กที่มนุษย์กว่า 6,000 ล้านคนอาศัยอยู่นั้น เกิด กิน อยู่ นอนหลับ จนถึงหมดลมหายใจไป... แต่ละคนใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองไปมากมาย เราบริโภคแล้วทิ้ง แล้วซื้อใหม่ ใช้แล้วก็ทิ้ง คนกรุงทิ้งขยะกันวันละ 1 กิโลกรัม ต่อคนต่อวัน คิดดูเถิดว่า แต่ละเดือน แต่ละปี ถ้าเอาขยะของคนทั้งโลกมากองรวมกัน คงใหญ่กว่าโลกที่เราอยู่แน่นอน
ขยะทับถมนานปี บ้างไม่ย่อยสลาย คนตายไปเกิดใหม่อีกหลายสิบชาติ ขยะที่เคยทิ้งไปเมื่อชาติก่อนยังคงอยู่ เช่น ผ้าฝ้าย กว่าจะย่อยสลายหมดใช้เวลา 1-5 เดือน เศษกระดาษ 2-5 เดือน เชือก 3-14 เดือน เปลือกส้ม 2 ปี ผ้าขนสัตว์ 1 ปี ไม้ 12 ปี รองเท้าหนัง 25-40 ปี กระป๋องอะลูมิเนียม 80-100 ปี เหล็ก 100 ปี ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก 400-500 ปี ผ้าอ้อมสำเร็จรูป 500 ปี โฟม อันตรายมากไม่มีวันย่อยสลาย ขวดแก้ว ชั่วนิรันดร์...
โลกล้นขยะ มลพิษท่วมเมือง ปัญหาก็เกิดตามา โลกร้อน ธรรมชาติหดหาย มนุษย์นั่นแหละรับผลกระทบไปเต็มๆ ทุกวันนี้ คำว่าโลกร้อน จึงเหมาะนักกับกิจกรรมซีเอสอาร์ หรือโครงการรณรงค์เสริมสร้างภาพลักษณ์องค์กร ทำดีมีคำชม แถมช่วยลดอุณหภูมิองศาโลก ที่อาจจะลงทีละนิดๆ แต่ก็ต่อชีวิตให้โลก
ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย...
มีไม่กี่คนนักหรอกที่ลุกขึ้นมา นำขยะทิ้งแล้วกลับมาฟื้นชีวิตใหม่ เอาไปผลิตเป็นสินค้าให้คนใช้ได้จริง หนึ่งในนั้นคือ คุณพจน์ เขียวชอุ่ม แห่ง กรีน ไทย โพรดัคท์ (Green Thai Product) แบรนด์สินค้าจาก "ฟอยล์" หรือ อะลูมิเนียม ฟอยล์ แผ่นพลาสติกบางใสสีเงินวาว ที่เห็นทั่วไปใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหาร ยา เครื่องสำอาง ฯลฯ ฟอยล์ เป็นวัสดุเหลือใช้ ต้องทิ้งแน่ ๆ รอวันย่อยสลาย แต่หนุ่มคนนี้ช่างคิด กลับนำฟอยล์ที่ไร้ค่าในร้านขายของเก่า มาดีไซน์ใหม่เป็นกระเป๋า สมุดโน้ต ขายต่อได้ราคา เป็นนักรีไซเคิลตัวจริง
ความเป็นมาแต่เดิมนั้น คุณพจน์ ทำงานออร์แกไนซ์ จัดกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้องค์กรต่างๆ บทแรกก็ถือว่าเป็นผู้ช่วยกอบกู้สภาวะแวดล้อมโลกแล้ว...
"ทำกิจกรรมหรือซีเอสอาร์ให้บริษัทต่างๆ เช่น พาพนักงานไปปลูกป่าชายเลน สอนการสร้างฝาย อบรมเรื่องการแยกขยะ เป็นต้น พอทำไปทำมาคนที่จ้างเราก็ให้คิดว่าจะทำของชำร่วยหรือของขวัญแจกลูกค้า แต่ขอเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม บางคนให้กระเป๋าผ้าซึ่งก็แจกกันเยอะ แล้วคนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้มักจะเก็บเอาไว้ เขาอยากได้สินค้าใหม่ เป้าหมายแรกมองสิ่งรอบตัวก่อน อะไรที่เป็นขยะ คนทิ้งแล้ว เอามาทำอะไรต่อไม่ได้ ตอนแรกคิดถึงบรรจุภัณฑ์จำพวกรีฟิลล์ของน้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก ที่เขาใช้แล้วทิ้งจริง ๆ เป็นขยะเลย ร้านรับซื้อของเก่าก็ไม่เอาเพราะเอาไปรีไซเคิลไม่ได้ ต้นทุนการแยกสีแพง ผมก็เอากลับออกแบบเป็นกระเป๋าใบเล็กๆ ที่ใส่นามบัตร สมุด ไปเสนอตามองค์กรที่ผลิตของเหล่านี้แหละ ไปเสนอเขาซึ่งหลายที่ก็ชอบนะ ทำโครงการขึ้นมาเอารีฟิลล์มาใช้ต่อได้ หรือเอาไปเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าครั้งต่อไป แบรนด์ของเขายังอยู่เช่น น้ำยาปรับผ้านุ่มยี่ห้อนี้ เอารีฟิลล์ที่เขาทิ้งแล้วมาเย็บเป็นกระเป๋า ยังเห็นชื่อแบรนด์อยู่ ถือว่าโปรโมทไปด้วย แต่พอนานไปเราก็รอ ผ่านไป 1 ปี ก็ยังเงียบ..."
แนวคิดดีแต่ไม่มีผู้สนองตอบ เหมือนทำดีแต่ไม่มีคนเห็น คนระดับบริหารจัดการยังติดภาพลักษณ์เดิมๆ แนวคิดเดิมๆ กลัวเสียแบรนด์... การรอคอย 1 ปี ผ่านไปไม่เห็นผล ทำให้เขากลับมาคิดใหม่ ทำใหม่ ประกอบกับตัวเองก็ทดลองหาวัสดุเหลือทิ้งอย่างอื่น มาดีไซน์เป็นของใช้ได้ จนในที่สุดคิดถึง ฟอยล์
"ผมก็ลองออกแบบเป็นกระเป๋า ตอนแรกทำแล้วลงไปเว็บไซต์ บริษัท SCG มาเห็น พอดีเขาจะจัดงานสถาปนิก 53 เขาติดต่อมาว่าอยากได้กระเป๋าใส่เอกสารให้ลูกค้าที่มาร่วมงาน ผมก็ใช้ฟอยล์ ออกแบบเป็นกระเป๋า ผลตอบรับค่อนข้างดี"
วัสดุฟอยล์ ได้จากร้านรับซื้อของเก่า แต่ก็มีข้อกำจัดว่า ฟอยล์ทิ้งแล้วมักมีขนาดไม่ใหญ่ ทำสินค้าชิ้นใหญ่ๆ ไม่ได้ ข้อจำกัดอีกอย่างคือ ความมันลื่นของพื้นผิว ทำให้สกรีนสีใดๆ ไม่ได้ ตามความประสงค์ของลูกค้า เช่น สกรีนชื่อบริษัท โลโก้
"จะเขียนอะไรตกแต่งไม่ได้เลย ผมก็เลยเสนอว่าติดเป็นแถบชื่อของบริษัทหรือโลโก้แล้วเย็บติดด้านข้างเล็กๆ ตรงนี้ตอบโจทย์ลูกค้าไม่ได้เต็มที่ เหตุนี้เองเวลาที่เราสื่อสารกับลูกค้าต้องเพิ่มเป็น 2-3 เท่า"
กระเป๋าใบขนาดใหญ่ขึ้นมาต้องใช้วิธีเย็บฟอยล์เพิ่ม เพราะข้อจำกัดเรื่องขนาดนั่นเอง กระนั้นก็มี Burt's Bee มาใช้บริการ ซึ่งก็น่ารักดี ติดแค่แถบป้ายเล็กๆ ชื่อสินค้า ให้คนถือคนใช้รู้ว่านี่คือกระเป๋าจากวัสดุฟอยล์ ที่ใช้แล้วทิ้ง
"ยังไงฟอยล์ก็ถูกทิ้งอยู่ดี ถ้าผลิตเป็นสินค้าใหม่แล้วลูกค้าไม่ซื้อ มันก็ต้องกลับไปเป็นขยะอยู่ดี ล็อตแรกที่ทำให้ SCG เป็นกระเป๋าราวหมื่นชิ้น ต่อมาก็มีข้อจำกัดอีกว่า งานอีเวนท์เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีทุกวัน ผมก็เลยออนไลน์สินค้าออกไป แล้วมองหาสถานที่จำหน่าย มีออเดอร์ต่างประเทศมาก เมื่อต้นปีก็ได้ออกงานแฟร์กับกรมส่งออก ซึ่งทำให้เราพอรู้ทิศทางการตลาด อย่างไรก็ดี ธุรกิจรีไซเคิลจริงๆ อยู่ยาก เหนื่อย หาผู้สนับสนุนค่อนข้างยาก โดยเฉพาะเรื่องทัศนคติ"
แต่โชคดีก็เริ่มเห็น หลังจากออนไลน์ไปแล้ว ตลาดต่างประเทศเห็นแล้วปิ๊ง ติดต่อไปขายต่อ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลย์ ชาวยุโรปที่คาดหวังได้แต่เข้ามาดูและชื่นชม แต่ไม่ซื้อ
"รัสเซียเห็นเขาชอบซื้อไปขายต่อ ส่วนคนไทยก็เริ่มให้ความสนใจ เวลาวางสินค้าผมจะมีวัสดุให้เห็นเป็นชิ้นๆ ว่าเป็นมายังไง เราต้องอธิบาย ฟอยล์ก็มีความหนาและความวาวต่างกัน เช่น บางชิ้นมันมาก บางชิ้นสีเทาอ่อนเข้มไม่เท่ากัน ผมว่าคนไทยกับทัศนคติเรื่องใช้ของรีไซเคิล ต้องปรับเปลี่ยน เริ่มดีขึ้นหน่อยแล้ว เราไม่ค่อยใช้ของรีไซเคิล หรือไม่รู้สึกว่าภูมิใจที่จะใช้สินค้าเหล่านี้ ไม่เหมือนแบรนด์เนม เขาจะคิดว่าสินค้ารีไซเคิลมีก็ได้ไม่มีก็ได้"
แต่ถ้ามีแล้วใช้ก็เท่ากับเราช่วยลดปริมาณขยะ กระเป๋าฟอยล์แบรนด์กรีน ไทย โปรดักท์ เริ่มแตกไลน์ขยายดีไซน์ใหม่ และตั้งราคาขายที่ทุกคนสัมผัสได้เช่น กระเป๋าใส่ไอแพด 300.- ซองมือถือ 150.- กระเป๋าสตางค์ 290.- ซองใส่นามบัตร 100.- กระเป๋าสะพายมีหลายขนาด 200-450.- กระเป๋าใส่ของอเนกประสงค์ ใส่ซีดี ใช้วัสดุอย่างอื่นประกอบกันดูทันสมัยขึ้น เช่น เดินเส้นขอบกระเป๋าด้วยผ้าหรือวัสดุอื่นๆ หรือทำซับในเป็นวัสดุสีสดใส ใช้หนังเทียมมาทำหูหิ้วหรือเดินเส้นขอบ สมุดโน้ตข้างในเป็นกระดาษรีไซเคิลจากเยื่อกระดาษกล่องนม
"ตอนนี้สินค้าเราวางขายในห้างสรรพสินค้า เช่น BeTrend ห้างโรบินสัน สยามพารากอน TCDC ล่าสุดในร้าน Propaganda ที่เขาให้พื้นที่เราเยอะเลย มีทุกคอลเลคชั่น"
ช่วยลดโลกร้อน ต้องช่วยกันใช้สินค้ารีไซเคิล เท่ากับทิ้งขยะน้อยลงวันละชิ้น ให้โลกยิ้มต่อไป...
หมายเหตุ : Green Thai Product โทร.02-513-4838, www.greenthaiproduct.com
คิดดี โปรเจ็คท์...เศษผ้าน่ารัก
ตุ๊กตา พรมเช็ดเท้า กระเป๋าเล็ก-ใหญ่ หมวก พวงกุญแจ ของทำมือล้วนๆ จากเศษผ้าและวัสดุเหลือทิ้ง เป็นของน่ารักๆ รีไซเคิลแท้ๆ จากมูลนิธิบ้านเกร็ดตระการ วางจำหน่ายในโครงการ คิดดี โปรเจ็คท์ (Kiddi Project) ซึ่งหนึ่งในผู้ร่วมโครงการ ได้แก่ อาจารย์จารุพัชร อาชวะสมิต เท็กซ์ไทล์ ดีไซเนอร์ กับเพื่อนๆ นักออกแบบ เป็นอาสาสมัครมาช่วยสอนเด็กสาวจาก บ้านเกร็ดตระการ เป็นศิลปะบำบัดสอนทำผลิตภัณฑ์จากเศษผ้าที่ไป "ขอเขามา" บางส่วนเป็นผ้าจาก จิม ทอมป์สัน โดยตัดเย็บร่วมกับวัสดุประกอบชิ้นอื่นที่ต้องซื้อ เช่น ห่วงของพวงกุญแจ เส้นด้ายที่ใช้ตัดเย็บ โดยผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่าย รายได้มอบให้เด็กเจ้าของชิ้นงานนั้นๆ ทั้งหมด เช่น กระเป๋าใบละ 200 บาท เด็กๆ จะได้รับเงินเต็มจำนวน มีใบเอกสารแผ่นเล็กๆ แนบอยู่ยืนยันว่า เงินรายได้ให้น้องๆ ทั้งหมด เพื่อเป็นทุนการศึกษาและดำรงชีวิตอยู่ต่อไป
เด็กหญิงจากบ้านเกร็ดตระการ เกาะเกร็ด นนทบุรี เป็นเด็กสาวอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ถูกล่อลวงมาค้าประเวณี มีทั้งเด็กพม่า ลาว กัมพูชา และเด็กไทย เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไปเข้าจับกุมแล้วก็จะพาเด็กๆ มาอยู่ที่นี่ ฝึกสอนวิชาชีพให้และรอส่งกลับบ้าน ดังนั้น ผลงานของเด็กๆ เมื่อขายได้จะเก็บเป็นเงินรวบรวมมอบให้แก่เด็กๆ รอเวลาส่งกลับบ้าน...
เลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากเศษผ้า วัสดุรีไซเคิลล้วนๆ ที่สถาบันคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านเกร็ดตระการ โทร.02-5845115-6 หรือเลือกดูผลิตภัณฑ์ที่ www.facebook.com/kiddiproject

source : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/living/20110704/398696/รีไซเคิลดีไซน์...ใช้ได้จริง.html




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น