ผ่านพ้นกันไปแล้วสำหรับเทศกาลส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ และก็ถึงเวลากลับมาตั้งหน้าตั้งตาทำส่วนที่เหลือของปีให้ดีที่สุด ทั้งในเรื่องส่วนตัว และส่วนรวม ซึ่งทีมงานโลก 360 องศา ก็จะยังคงนำเรื่องราวที่น่าสนใจมาฝากทุกท่าน เพื่อร่วมสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมอุดมปัญญา ดังที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้
สำหรับเรื่องราวที่เรานำเสนอไปเมื่อสัปดาห์ก่อนๆ นี้ เป็นรูปแบบในการพัฒนาและการสร้างสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อมของประเทศเยอรมนี ซึ่งเราหยิบยกมาแค่ 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ การจัดการกับขยะและของเสีย และการจัดการด้านพลังงานไฟฟ้า ซึ่งสัปดาห์นี้เราจะขอนำเสนอกรณีศึกษาเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าในประเทศเยอรมนี ซึ่งถือว่าต้นทุนสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่โลกถูกเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ และภาคอุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นพลังงานไฟฟ้าจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้
โดยพื้นฐานแล้ว เยอรมนีมีความโดดเด่นและมีชื่อเสียงเกี่ยวกับนวัตกรรมทางด้านพลังงานไฟฟ้า โดยเป็นประเทศผู้ส่งออกเทคโนโลยีและอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานหลายชนิด เช่น พลังงานจากลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน
ถึงแม้ว่าเยอรมนีจะมีเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่ทันสมัยจากหลายๆ แหล่งพลังงาน แต่ประเทศนี้ก็ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง และในเวลาเดียวกันก็ต้องสนับสนุนการเติบโตทางธุรกิจและการรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน
ซึ่งก่อนหน้านี้บรรดาประเทศพัฒนาแล้วอาจต้องหนักใจบ้างในการตัดสินใจเลือกแหล่งพลังงานเพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่า ทุกๆ อย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ ทุกอย่างล้วนมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป ซึ่งแหล่งพลังงานก็เช่นเดียวกัน
ย้อนหลังกลับไปในยุคแรกๆ ที่มนุษย์ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมนั้น ไฟฟ้าส่วนใหญ่ได้จากพลังน้ำ และเชื้อเพลิงชีวภาพ (ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ) โดยไฟฟ้าพลังน้ำก็ได้จากการปล่อยน้ำจากที่สูงลงที่ต่ำ ซึ่งก็ไม่สามารถทำได้ตลอดเวลา ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวภาพก็เกิดเป็นมลพิษ ดังนั้นจึงมีความพยายามคิดค้นพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดขึ้นมาแทนที่ กลายเป็นยุคที่พลังงานลมและแสงอาทิตย์เข้ามาเป็นทางเลือกมากขึ้น ซึ่งความสะอาดและการหมุนเวียนก็สามารถขจัดข้อจำกัดเดิมๆ ของการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวภาพออกไป แต่ประสิทธิภาพและกำลังการผลิตก็ยังคงไม่เพียงพอที่จะสนองความต้องการทางด้านอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วงปี 2005 ถึง 2010 รัฐบาลเยอรมนีทุ่มเงินหลายพันล้านยูโรเพื่อวิจัยและพัฒนาพลังงานทางเลือก ทำให้ชนิดของพลังงานทางเลือกใหม่ๆ ถูกนำเสนออย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าพลังงานทางเลือกชนิดใดจะมีประสิทธิภาพ และมีต้นทุนต่ำพอ ที่ควรส่งเสริมให้ใช้สำหรับภาคธุรกิจได้ จนมีข้อสังเกตว่า นโยบายส่วนใหญ่ที่ผ่านมาจะให้ความสำคัญกับการหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มากกว่าการพัฒนาแหล่งพลังงานเดิมๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
คุณสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เคยกล่าวไว้ตอนหนึ่งระหว่างการให้สัมภาษณ์กับรายการโทรทัศน์ โลก 360 องศา ว่า “การพิจารณาว่าจะเลือกใช้เชื้อเพลิงประเภทใดในการผลิตไฟฟ้านั้น ทุกประเทศก็จะมองถึงการมีอยู่ และความพอเพียงเป็นหลัก ซึ่งก๊าซธรรมชาติก็คงมีให้ใช้อีกสัก 60 ปี ส่วนถ่านหินก็ยังมีปริมาณเพียงพออีก 200 กว่าปี ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ จะทำให้มีไฟฟ้าใช้ได้อีกเป็นพันปี แต่อย่างไรก็ตาม แหล่งเชื้อเพลิงแต่ละชนิดก็มีข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป ซึ่งแต่ละประเทศก็คงคำนึงถึงหลายๆ ปัจจัยที่สอดคล้องกัน เช่น เชื้อเพลิงชนิดนั้นๆ มีให้ใช้ได้นานเพียงใด เมื่อเรานำมาผลิตไฟฟ้าแล้วจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมขนาดไหน ต้นทุนการผลิตสอดคล้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ และที่สำคัญคือประชาชนสามารถยอมรับได้มากน้อยเพียงใด”
แนวคิดการผลิตไฟฟ้าในยุคปัจจุบัน จึงเป็นการพิจารณาอย่างรอบด้าน และคิดอย่างสมเหตุสมผล เช่น การผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ แม้จะไม่มีมลพิษ แต่มีประสิทธิภาพสูง แต่ก็ควรจะรอจนกว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ปลอดภัยกว่าเดิม ส่วนพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดที่ยังมีข้อจำกัดเรื่องประสิทธิภาพและต้นทุน ก็ควรจะมีการพัฒนาต่อไปจนกว่าจะมีต้นทุนที่ถูกกว่าและมีประสิทธิภาพที่สูงกว่าปัจจุบัน ในเวลาเดียวกันการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล จำพวกก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน ก็ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดมลพิษให้ได้มากที่สุด เพราะเป็นแหล่งเชื้อเพลิงที่มีราคาอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้
ประเทศเยอรมนีเองก็ใช้วิธีคิดแบบเดียวกันนี้ คือ การพัฒนาพลังงานทดแทนก็ยังดำเนินการอยู่เรื่อยๆ แต่ในเวลาเดียวกัน ไฟฟ้าที่ใช้เป็นหลักอยู่ในประเทศก็มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งมีการพัฒนาจนเรียกได้ว่าเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด คือ มีเทคโนโลยีชั้นสูงที่สามารถดักจับมลพิษและของเสียที่เกิดขึ้น จนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในเวลาเดียวกันก็ยังสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตให้อยู่ในเกณฑ์ต่ำที่ประชาชนยอมรับได้
ตัวอย่างที่เด่นชัดของโรงไฟฟ้าถ่านหินยุคใหม่ของเยอรมนี คือ โรงไฟฟ้า Schwarze Pumpe ตั้งอยู่ในเมือง Spremeberg ทางตะวันออกของประเทศ ซึ่งขึ้นชื่อว่ามีความทันสมัยและใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ออกแบบและก่อสร้างโดยบริษัท SIEMENS และเป็นเจ้าของโดยบริษัทสวีเดนชื่อ Vattenfall
ภายในพื้นที่ของโรงไฟฟ้า เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าต้นแบบที่ปลอดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แห่งแรกของโลก โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เรียกว่า Carbon Capture Storage หรือ CCS ซึ่งนอกเหนือจากการดักจับมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้แล้ว โรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ให้ไหลออกสู่ชั้นบรรยากาศได้อีกด้วย จึงเป็นการตอบโจทย์รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม
คงไม่ใช่แค่เพียงโรงไฟฟ้าที่เยอรมนีเท่านั้นที่มีความพยายามสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานโดยใส่ใจกับปัจจัยรอบด้าน และตราบเท่าที่มนุษย์ยังคงมีความต้องการใช้พลังงานอยู่ เทคโนโลยีใหม่ๆ จะยังถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการค้นหาพลังงานทดแทนใหม่ๆ หรือการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดข้อจำกัดของแหล่งพลังงานแบบเดิมๆ ก็ตาม
source:http://www.posttoday.com/%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99-%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81/130618/%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B5-3-%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%96%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%94-%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%B2-%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น