วันเสาร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2555

2012 ปีแห่งสุดยอดมหกรรมกีฬา ปีแห่งความหวาดผวาของประชาคมโลก!

ไม่เชยแน่นอนครับถ้าจะบอกว่า "สวัสดี ปีใหม่" บนพื้นที่ตรงนี้อีกครั้ง !




ก้าวสู่ศักราชใหม่ เข้าสู่ พุทธศักราช 2555 ซึ่งตรงกับปีคริสต์ศักราช 2012 ตามบันทึกแล้ว ปีนี้เป็นปีอธิกสุรทินที่วันแรก เป็นวันอาทิตย์ตามปฏิทินเกรกอเรียน และเป็นปีมะโรง จัตวาศก จุลศักราช 1374 ปีนี้วันเถลิงศกคือวันที่ 15 เมษายน



ในปีนี้ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้ทำการประกาศให้เป็นปีสากลแห่งความร่วมมือ เน้นความร่วมมือเข้าไปมีส่วนในการ พัฒนาทางสังคม-เศรษฐกิจ โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง การยอมรับผลกระทบของการพัฒนา ต่อการลดความยากจน การสร้างงานและบูรณาการทางสังคม พร้อมกับเป็นปีสากลแห่ง พลังงานยั่งยืนสำหรับทุกคนบนโลกใบนี้



ที่สำคัญปีนี้มีมหกรรมกีฬาที่ถือว่าสุดยอดที่สุดในโลกลงแข่งขันถึง 2 รายการด้วยกัน



หนึ่งคือ ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติ ยุโรป ครั้งที่ 14 หรือ ยูโร 2012 ที่ประเทศ ยูเครน-โปแลนด์ ที่จะร่วมกันจัดในระหว่าง วันที่ 8 มิถุนายน-1 กรกฎาคม






อีกหนึ่งคือ กีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ "โอลิมปิกเกมส์" ครั้งที่ 30 ที่มหานครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม-12 สิงหาคม






แน่นอนว่า เป็นกีฬาที่ทุกคนรอคอย แต่กลายเป็นว่า หลายๆ คนเริ่มมีความ คิดว่า จะได้เห็นกีฬาทั้งสองชนิดนี้แข่งขันกันได้หรือไม่ !?






เนื่องจากปี 2012 โด่งดังและโดดเด่น เป็นสง่ามานาน ในเรื่องชื่อเสียงที่บอกว่า จะถึงครา "สิ้นโลก" หรือว่าโลกแตกตามปฏิทิน ชาวมายาในวันที่ 21 ธันวาคมที่จะถึงนี้






โดยก่อนหน้านั้นทั่วโลกจะยับเยินด้วยภัยธรรมชาติ!






จริงหรือไม่นั้น ไม่มีใครบอกได้ว่า สิ่งใดจะเกิดขึ้น เพราะธรรมชาติอยู่เหนือความคาดเดา เมื่อรวบรวมเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่สู่ยุค 2010 เป็นต้นมา






โลกถือว่าถูกธรรมชาติเอาคืนอยู่บ่อยครั้ง และถี่ยิบมากขึ้นเรื่อยๆ!!!






หลายคนบอกว่า ความคิดดังกล่าว ส่วนสำคัญเกิดขึ้นมาจากภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ เรื่อง "2012 วันสิ้นโลก" จากค่ายโคลอมเบีย พิคเจอร์ส ที่เข้าฉายเมื่อช่วงปลายปี 2009






แต่หลังจากนั้นเกิดเหตุการณ์คล้ายๆ กับในภาพยนตร์นี้มากมายอย่างเหลือเชื่อ!!!!!!






เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เริ่มจากปี 2010 วันที่ 12 มกราคม เกิด แผ่นดินไหว 7.0 ริกเตอร์ ที่ประเทศเฮติ มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3 แสนคน ผู้บาดเจ็บอีกกว่า 3 แสนคน และอีกกว่า 1 ล้านคน ยังไม่มีที่อยู่อาศัย






เดือนต่อมาในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.8 ริกเตอร์ ที่ นอกชายฝั่งแคว้นเมาเล่ประเทศชิลี ทำให้แกนโลกเอียงไปจาก เดิม 3 นิ้ว! และทำให้ ระยะเวลาสั้นลงไป 1.26 ไมโครวินาที (1 ไมโครวินาที เท่ากับ 1 ในล้านวินาที)






มาถึงเดือนมีนาคม เกิดพายุทำให้เกิดฝนตกหนักในเมลเบิร์น เมื่อ 8 มีนาคม วัดระดับน้ำฝนได้ 26 มิลลิเมตร พื้นที่อื่นวัดระดับน้ำฝนได้สูงถึง 70 มิลลิเมตร แถมลูกเห็บขนาดเท่าลูกเทนนิสยังถล่มอีกด้วย, 20 มีนาคม ภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็งในประเทศ ไอซ์แลนด์ ปะทุทำให้ผู้คนนับล้านในยุโรปไม่สามารถใช้เส้นทางการบินสัญจรไปไหนได้เลย โดยปะทุต่อเนื่องและหนักมากในวันที่ 14 เมษายน ที่ปะทุขึ้นฟ้าสูงถึง 8 กิโลเมตร และ 31 มีนาคม แผ่นดินไหว 6.8 ริกเตอร์ ในอ่าวเบงกอล ที่หมู่เกาะอันดามันแอนด์ นิโคบาร์






7 เมษายน แผ่นดินไหวนอกชายฝั่งของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย 7.8 ริกเตอร์ จากนั้นเกิดคลื่นสึนามิขนาดเล็ก สูง 1.5 ซม., 14 เมษายน ประเทศจีน เกิดแผ่นดินไหว 7.1 ริกเตอร์ บริเวณเขต ปกครองตนเองยูซู มณฑลชิงไห่ สาธารณรัฐ ประชาชนจีน มีผู้เสียชีวิต 2,220 ราย สูญหาย 70 ราย และบาดเจ็บ 12,135 ราย






15 พฤษภาคม พายุทอร์นาโด และพายุลูกเห็บที่เมืองซุ่ยหัว ซึ่งอยู่ห่างจากเมือง ฮาร์บินประมาณ 120 กิโลเมตร ในมณฑลเฮยหลงเจียง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บมากมาย






จากนั้นในเดือนมิถุนายน มีเหตุการณ์ ภัยธรรมชาติมากมาย เริ่มจาก 1 มิถุนายน เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.4 ริกเตอร์ที่นอกหมู่เกาะอันดามันของอินเดียที่ระดับความลึก 127 กิโลเมตร ต่อด้วย 7 มิถุนายน ภูเขาไฟ ระเบิดพร้อมกันแต่คนละทิศ ที่รัสเซีย และเอกวาดอร์, 9 มิถุนายน เกิดแผ่นดินไหวขนาดเกือบ 6 ริกเตอร์ ที่ฟิลิปปินส์ และเกาะวาเนาตู






10 มิถุนายน เกิดน้ำท่วมขนาดใหญ่ ที่รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา, 12 มิถุนายน แผ่นดินไหว 7.5 ริกเตอร์ ที่นอกชายฝั่งอินเดีย ห่างจากซีกตะวันตกของหมู่เกาะนิโคบาร์ไปประมาณ 150 กิโลเมตรที่ความลึก 35 กิโลเมตร, 13 มิถุนายน เหตุภัยพิบัติพายุฝน และดินถล่มทางตอนใต้ ของจีน ซึ่งได้คร่าชีวิตชาวจีนไปจำนวนหนึ่ง และมีผู้อพยพ 3 ล้านคน, 16 มิถุนายน 2553 แผ่นดินไหว 6.2 ที่เกาะไบแอ็ก ในมหาสมุทรแปซิฟิกทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ของเกาะปาปัว นิวกินี, 18 มิถุนายน จีนเกิดน้ำท่วมและแผ่นดินถล่มฉับพลันใน พื้นที่ 74 เมือง ของ 6 มณฑล ประมาณการ ว่าประชาชนกว่า 2.56 ล้านคนได้รับผลกระทบ จากภัยพิบัติครั้งนี้






14 กรกฎาคม เกิดเหตุน้ำท่วม และ ดินถล่มจากฝนตกหนักทางภาคใต้ของจีน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 400 คน ซึ่งวันเดียวกันนั้น อินโดนีเซีย เกิดแผ่นดินไหว 5.6 ริกเตอร์, 16 กรกฎาคม พายุโซนร้อน "คอนเซิ่น" บริเวณทะเลจีนใต้ จากนั้นในช่วง ปลายเดือนจนถึงต้นเดือนกันยายน เกิดไฟป่าในรัสเซียนับหลายร้อยแห่ง เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ รัสเซีย มีผู้เสียชีวิต 8,000 คน






1 สิงหาคม เกิดอุทกภัยรุนแรงทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน จาก ผลพวงของพายุฤดูร้อน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต มากกว่า 1,000 ราย, 8 สิงหาคม เกิดอุทกภัย และแผ่นดินถล่มที่จีน เนื่องมาจาก ฝนตกหนัก ที่เมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือ ของประเทศจีน มีผู้เสียชีวิต 127 คน สูญหาย อีกกว่า 1,300 คน, 15 สิงหาคม เกิดเหตุไฟป่า ในโบลิเวียเป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่การประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินเนื่องจากพบว่ามีไฟป่า เกิดขึ้นมากกว่า 25,000 จุดทั่วประเทศ






6 กันยายน โคลนถล่มกัวเตมาลา พบผู้เสียชีวิตและสูญหายพุ่งเกินกว่า 100 ราย จากนั้นในวันที่ 25 ตุลาคม แผ่นดินไหว 7.7 ริกเตอร์ ที่อินโดนีเซีย จากนั้นวันรุ่งขึ้น ภูเขาไฟเมราพี ของแดนอิเหนา ก็ระเบิดซ้ำที่รัศมีการกระจายของขี้เถ้าขยายเป็นวงกว้าง เกือบ 4 กิโลเมตร ปิดท้ายเดือน 27 ตุลาคม สึนามิถล่มซ้ำที่หมู่เกาะเมนตาไว ประเทศอินโดนีเซีย 7.2 ริกเตอร์ มีผู้เสียชีวิต 108 คน สูญหายครึ่งพัน






จากนั้นในวันที่ 1 พฤศจิกายน พายุดีเปรสชั่นถล่มภาคใต้ของไทย ทำให้ภาคใต้ของเราแทบจะจมน้ำ เป็นความเสียหาย ที่ยากจะประเมินได้






กระทั่งในปีที่ผ่านมา พ.ศ.2554 ว่ากันว่าเป็นสัญญาณเตือนภัยให้กับหลายๆ คนได้ขบคิดหนักขึ้นอีกเป็นร้อยเท่าพันทวี เมื่อประเทศไทยโดนพิษน้ำท่วมถล่มแหลกจนไร้ที่อยู่อาศัย เดือดร้อนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนับร้อยปี!






ทั้งที่มีบทเรียนน้ำท่วมใหญ่ปี 2553 แต่ก็ "เอา(ไม่)อยู่" เมื่อเจอพายุใหญ่ๆ เฉียด เข้ามาใกล้ถึง 4 ลูก คือ ไหหม่า, นกเตน, ไห่ถาง และ นาลแก ส่งผลให้พื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยเกิดฝนตกหนัก ดินถล่ม น้ำล้นเขื่อน






ซึ่งไม่แน่ใจเหมือนกันว่า "ธรรมชาติ" หรือ "มนุษยชาติ" กันแน่ ที่ถล่มคนไทยครานี้!!!






ในขณะที่เราต้อง "เอาตัวรอด" รักษาชีวิตให้อยู่และดำเนินต่อไป รอบโลกของเรานั้นถือว่า หนักหนาสาหัสอีกปี






23 กุมภาพันธ์ ที่เมืองไครสต์เชิร์ช นิวซีแลนด์ แผ่นดินไหว 6.3 ริกเตอร์ มี ผู้เสียชีวิต 181 คน จากนั้น 10 เดือน ต่อมา ในวันเดียวกันคือ 23 ธันวาคม ก็แผ่นดินไหวซ้ำอีกครั้ง






11 มีนาคม แผ่นดินไหว 9 ริกเตอร์ นอกชายฝั่งเกาะ "ฮอนชู" ของญี่ปุ่น จากนั้น เกิดสึนามิสูง 10 เมตร บางแห่งสูงถึง 40 เมตร มีผู้เสียชีวิตกับสูญหายรวมกว่าสองหมื่นคน พร้อมกันนี้ ยังก่อให้เกิดวิกฤตินิวเคลียร์ รั่วไหลจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิจิ ก่อนควบคุม ได้เมื่อ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา






นอกจากนั้นยังมี รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐ เจอแผ่นดินไหว 5.8 ริกเตอร์ เมื่อ 24 ส.ค. จากนั้นหนึ่งเดือนต่อมา แผ่นดินไหวแถบเขาหิมาลัย 6.9 ริกเตอร์ คนเสียชีวิตนับร้อย และหนักสุดคือ ตุรกี วันที่ 23 ต.ค. แผ่นดินไหว 7.2 ริกเตอร์ คนเสียชีวิตรวมกว่า 600 คน






นอกจากนี้ยังมีภูเขาไฟพูเยเว่ ของชิลี ปะทุเถ้าถ่านเต็มน่านฟ้าตั้งแต่กลางปีจนถึง เกือบสิ้นปี, ฟิลิปปินส์ โดนพายุถล่มกว่า 20 ลูก ยอดคนเสียชีวิตนับพัน, อเมริกา ถูกเฮอร์ริเคนถล่มแหลกหนักสุดรอบ 58 ปี, เม็กซิโก แห้งแล้งที่สุดในรอบ 70 ปี, หลายประเทศในแอฟริกา แล้งที่สุดในรอบ 100 ปี คนอดอยากนับล้านคน



ทั้งหมดคือสิ่งที่เกิดขึ้นตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และปีนี้เขาว่ากันว่า ปฏิทินมายามีส่วนที่จะทำให้โลกใบนี้พลิกโฉมหน้าในวันที่ 21 ธันวาคมที่จะถึงนี้ หลายโหรหลายหมอเริ่มออกมาเรื่อยๆ จริงหรือไม่นั้นอยู่ที่เราคิดเอง



เพราะสุดท้ายแล้ว "วิกฤติธรรมชาติ" คงจะไม่สามารถต่อกรกับ "วิกฤติมนุษยชาติ" ได้แน่ ไม่เชื่อดูเหตุการณ์ "โดมิโน่" ในแถบ ตะวันออกกลางและแอฟริกาเป็นตัวอย่าง



บทสรุปทั้งหมดจะเป็นอย่างไร ก็แล้วแต่ ขอเพียงทุกคนมุ่งหน้าทำความดี ทำจิตใจให้ดี เตรียมพร้อมและไม่ตั้งอยู่บนความประมาทก็แค่นั้นเอง



อย่ากลัว....อยู่แล้วสู้กับมัน



สวัสดีปีใหม่ขอรับ!!!!!!



บี แหลมสิงห์
source : http://www.naewna.com/news.asp?ID=295459

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น