วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

มตินานาชาติรับมือ'ก๊าซ'ถล่มโลก



"ใช้ถุงผ้าไม่เอาพลาสติก" "ปิดไฟ-ลดแอร์" "ปั่นจักรยานลดควันพิษ" ฯลฯ คำพูดเหล่านี้ในอีก 8 ปีข้างหน้าจะไม่ใช่แค่พูดเท่ๆ ของพวกอิงกระแสลดโลกร้อนอีกต่อไป เพราะประเทศไทยอาจต้องออกกฎหมายหรือกฎบังคับให้ประชาชนลดการใช้พลังงานฟุ่มเฟือยอย่างจริงจัง เนื่องจากมติของที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 17 หรือ "คอป 17" (17th United Nations Climate Change Conference) จัดขึ้นในเมืองเดอร์บัน สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2554 นั้น ได้กำหนดข้อตกลงใหม่ให้ 194 ประเทศทั่วโลกมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากเดิมที่มีแต่ประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้นที่ถูกบังคับ




สืบเนื่องจากผลงานวิจัยชิ้นใหม่ที่ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า โลกมนุษย์กำลังถูกคุกคามด้วยภาวะโลกร้อน รายงานจาก "เยอรมันวอช" (Germanwatch) เผยแพร่ออกมาว่าอุณหภูมิโลกกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากวันใดเพิ่มขึ้นมากกว่า 3.5 องศาเซลเซียส จะทำให้เกิดภัยแห้งแล้ง อุทกภัย พายุ และระดับน้ำทะเลที่แปรปรวนอย่างรุนแรงขึ้น มนุษย์โลกไม่ต่ำกว่าสิบล้านจะได้รับผลกระทบโดยตรง หากพิจารณาเหยื่อภัยธรรมชาติ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2534 -2553 พบว่ามีภัยธรรมชาติที่เกิดจากสภาพอากาศแปรปรวน 1.4 หมื่นครั้ง ทำให้ผู้เสียชีวิตไปแล้ว 7 แสนคน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบังกลาเทศ พม่า และฮอนดูรัส สอดคล้องกับรายงานจากสหประชาชาติเมื่อเดือนพฤศจิกายนระบุว่าจากการเก็บสถิติต่อเนื่อง 160 ปี ตั้งแต่พ.ศ.2393 ปรากฏว่าปี 2554 ถือเป็นปีที่อุณหภูมิทั่วโลกร้อนมากจนทะลุกลายเป็นอันดับ 10



การประชุมคอป 17 เดิมกำหนดไว้ให้สิ้นสุดในวันที่ 9 ธันวาคม แต่ผู้แทนแต่ละประเทศถกเถียงกันอย่างเมามัน มีการประท้วงต่อรองกันหลายแง่มุม ทั้งสหภาพยุโรป, อินเดีย, จีน และสหรัฐ สุดท้ายแคนาดาประกาศถอนตัวออกไปอย่างกะทันหัน ทำให้การประชุมต้องขยายเวลาจนถึงวันที่ 11 ธันวาคม ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ในปี 2555 ทุกประเทศจะส่งตัวแทนมาเริ่มกระบวนการร่างข้อตกลงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกฉบับใหม่ เพื่อให้มีผลผูกพันทางกฎหมาย และให้มีผลบังคับใช้ได้ในปี 2563 เนื้อหาสำคัญของข้อตกลงนี้ คือ ทุกประเทศต้องเสนอตัวเลขมาว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร โดยเน้นก๊าซเรือนกระจก 6 ชนิด คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน ก๊าซเปอร์ฟูลออโรคาร์บอน และ ก๊าซเฟอร์เฮ็กซาฟลูโอไรด์



หลังการประชุมสิ้นสุดลง "พิทยา พุกกะมาน" ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ชัดเจน เพื่อให้ประเทศภาคีอื่นยอมรับว่ามีการปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าวแล้ว ขณะนี้ประเทศไทยได้เตรียมพร้อมรองรับผลกระทบจากโลกร้อน โดยพยายามเพิ่มขีดความสามารถในการพยากรณ์อากาศ การจัดทำยุทธศาสตร์รองรับภัยพิบัติระยะยาว ฯลฯ



คนไทยอาจคิดว่าตัวเองเป็นประเทศเล็กๆ ปล่อยก๊าซทำโลกร้อนไม่มากนัก หารู้ไม่ว่าไทยอยู่อันดับ 22 จากทั้งหมด 216 ประเทศทั่วโลก ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลคาร์บอนไดออกไซด์ (CDIAC) ขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ในแต่ละปีประเทศไทยปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาถึงปีละ 285 ล้านตัน หรือ 1% ของทั้งหมด ส่วนอันดับ 1-5 ได้แก่ จีน 7,031 ล้านตัน (23%) 2 อเมริกา 5,461 ล้านตัน (18%) 3 สหภาพยุโรป 4,177 ล้านตัน (14%) 4 รัสเซีย 1,742 ล้านตัน (6%) 5 ญี่ปุ่น 1,208 ล้านตัน (4%)



ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผอ.สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม หนึ่งในตัวแทนเอ็นจีโอที่ติดตามปัญหาโลกร้อนมาเกือบ 10 ปี เล่าว่า ผลจากการประชุมที่เดอร์บันทำให้ทุกประเทศต้องกลับไปทำการบ้านมาว่า อีก 8 ปีข้างหน้าจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ปีละเท่าไร รัฐบาลไทยต้องวางแผนผลิตไฟฟ้าและพลังงานทางเลือกตั้งแต่วันนี้ ส่วนประชาชนทั่วไปช่วยกันประหยัดพลังงาน เช่น ใช้ระบบขนส่งมวลชน ปิดไฟที่ไม่จำเป็นต้องใช้ ฯลฯ ภาวะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ทุกวันนี้มันส่งผลกระทบถึงไทยแล้ว กรณีน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบจากภูมิอากาศแปรปรวน ทำให้ลมมรสุมมาผิดฤดูกาลหรือมีจำนวนมากกว่าปกติ จากไปนี้ภาคเกษตรกรต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ฤดูกาลทำไร่ทำนาจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม



ขณะที่ รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ นักวิชาการโลกร้อน คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์กติกาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า โดยเฉลี่ยคนไทยทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 5-6 ตันต่อคนต่อปี ในปี 2563 อาจถูกบังคับให้ลดประมาณร้อยละ 5 จากที่ตัวเลขปัจจุบัน หากเปรียบเทียบประชากรชาติอื่นในเอเชียแล้วตัวเลขค่อนข้างสูง การจะรู้ว่าลดหรือไม่ลด ผู้เชี่ยวชาญดูจากปริมาณการใช้พลังงานและไฟฟ้าว่าตัวเลขลดลงหรือไม่ วันนี้รัฐบาลควรเริ่มประชุมหารือกับทุกภาคส่วนว่าจะทำอย่างไร เพื่อจัดทำนโยบายภาครวมของประเทศออกมา เช่น หน่วยงานรัฐจะเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนได้อย่างไรบ้าง ทั้งพลังงานแสงแดด พลังงานลม ต้องพยายามเพิ่มให้ได้เป็นร้อยละ 20 ของพลังงานทั้งหมด ส่วนภาคเอกชนต้องลดการใช้ถ่านหินในโรงงานอุตสาหกรรม ลดใช้ไฟฟ้าเปลี่ยนเป็นหลอดประหยัดพลังงาน เปลี่ยนระบบขนส่ง ฯลฯ เช่นเดียวกัน คนทั่วไปต้องช่วยกันประหยัดพลังงานด้วย



"ภาครัฐอย่าคิดแต่โครงการวันเดียวสั้นๆ เช่น ปิดไฟวันเดียว ใช้ถุงผ้าวันเดียว โลกร้อนส่งผลกระทบถึงทุกคน ต้องไม่คิดว่าทำคนเดียวไม่ได้ผล ถ้าคนอื่นไม่ทำด้วย รัฐต้องสนับสนุนภาคเอกชนและประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่านี้" นักวิชาการโลกร้อนกล่าวแนะนำทิ้งท้าย
 


Source : http://www.komchadluek.net/detail/20120117/120493/%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8B%E0%B8%96%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81.html

วันเสาร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2555

ใครได้-ใครเสียหากปิดช่องแคบฮอร์มุซ

 อิหร่านจะปิดช่องแคบฮอร์มุซได้จริงตามที่ขู่หรือไม่และการปิดช่องทางขนส่งน้ำมันสำคัญแห่งหนึ่งของโลกแห่งนี้ใครคือผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์



ครั้งสุดท้ายที่อิหร่าน พยายามปิดช่องแคบฮอร์มุซ เส้นเลือดใหญ่การค้าน้ำมันเชื่อมชาติร่ำรวยน้ำมันในอ่าวเปอร์เซียสู่โลกภายนอก ในช่วงทศวรรษหลังปี 2523 กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน ยังมีแค่เรือยาง ไม่กี่ลำและทุ่นระเบิดรุ่นแรกๆสำหรับภารกิจนี้เท่านั้น แต่หากมีครั้งต่อไป อิหร่าน น่าจะต้องเตรียมตัวอย่างดี

สำหรับบรรดาผู้นำสายเหยี่ยวของอิหร่าน ช่องแคบฮอร์มุซ ได้กลายเป็นไพ่ใบสำคัญในเกมการเผชิญหน้ากับตะวันตกมาอย่างยาวนาน


แม้ตระหนักดีว่า อิหร่านไม่มีวันตีเสมอแสนยานุภาพทางทหารของสหรัฐฯ ต่อให้พัฒนาเทคโนโลยีจนถึงทดลองหัวรบนิวเคลียร์ติดขีปนาวุธได้ แต่อาวุธที่ว่า ก็มีโอกาสจะถูกยิงตกในชั่วอึดใจจากหนึ่งในฐานต่อต้านขีปนาวุธหลายร้อยแห่งที่สหรัฐฯติดตั้งประจำการอยู่รอบอ่าวเปอร์เซีย

หนทางโจมตีตะวันตกอย่างได้ผลกว่า จึงน่าจะเป็นการสร้างความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจให้กับประเทศเหล่านั้น


ความสำคัญของช่องแคบฮอร์มุซ คือเป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมัน 20 % ของโลก เชื่อมประเทศส่งออกน้ำมันในอ่าวเปอร์เซีย อย่างบาห์เรน อิหร่าน คูเวต กาตาร์ ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เข้ากับมหาสมุทรอินเดีย โดยเฉลี่ย เรือบรรทุกน้ำมันแล่นผ่านช่องแคบวันละ 14 ลำ ขนส่งน้ำมันวันละประมาณ 17 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ ยังกลายเป็นเส้นทางสำคัญสำหรับเรือบรรทุกแก๊สธรรมชาติเหลว จากประเทศอย่างการ์ตาอีกด้วย


ในห้วงเวลาที่ความตึงเครียดเเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์อิหร่านพุ่งถึงจุดวิกฤติ ไม่เหนือความคาดหมายเท่าไหร่ที่อิหร่านออกมาขู่ปิดช่องแคบฮอร์มุซ หากสหรัฐฯและสหภาพยุโรปใช้มาตรการแซงชั่นอุตสาหกรรมน้ำมันอิหร่าน

การส่งออกน้ำมันสร้างรายได้สกุลเงินต่างชาติให้อิหร่านในแต่ละปีประมาณ 80%หากอิหร่านต้องระงับการส่งออกน้ำมัน ก็จะทำให้รัฐบาลขาดแคลนเงินสด ซ้ำเติมสภาพเศรษฐกิจที่สาหัสอยู่แล้วจากผลของมาตรการคว่ำบาตรที่มีอยู่เดิม

เงิน ริอัล ของอิหร่าน ที่อ่อนค่าลงในปีที่แล้ว 40 % ได้ดิ่งฮวบลงอีก 12 % ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทันทีที่มีข่าวว่า 7 ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) เห็นพ้องมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันอิหร่านตามรอยสหรัฐฯ
แนวโน้มที่จะโดนมาตรการแซงชั่นเพิ่ม ทำให้บรรดาผู้นำทางทหารและการเมืองอิหร่าน ออกมาขู่ปิดช่องแคบฮอร์มุซเพื่อตอบโต้ และพล.อ.อยาโตลเลาะห์ ซาเลฮี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดอิหร่าน ได้ขู่จะโจมตีกองเรือสหรัฐฯ หากพยายามจะขยับเรือบรรทุกเครื่องบินเข้าไปในอ่าวเปอร์เซีย

สำหรับคนจำนวนมาก มองว่าคำขู่อิหร่านไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าการออกมายืดเส้นยืดสายแสดงความแข็งข้อต่อต้านตะวันตกอีกครั้งหนึ่ง ขณะอิหร่านกำลังจะมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในเดือนมีนาคม ทางการเตหะรานต้องการแสดงให้เห็นว่าจะไม่ยอมก้มหัวให้กับการบีบบังคับให้อิหร่านยุติโครงการวิจัยนิวเคลียร์


แต่หากมองเลยไปถึงความไม่เป็นเอกภาพของผู้มีอำนาจในเตหะราน และคาดการณ์ไม่ได้ในหลายครั้ง ตะวันตกไม่สามารถตั้งอยู่ในความไม่ประมาท และจะต้องป้องกันความพยายามขัดขวางเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการค้าโลกไม่ให้เกิดการสะดุด
ขีดความสามารถทางทหารของอิหร่านพัฒนาเรื่อยมานับจากกลางทศวรรษหลังปี 2523 ซึ่งเป็นครั้งหลังสุดที่อิหร่านพยายามขัดขวางการเดินเรือสินค้าในอ่าวเปอร์เซียอย่างตึงเครียด
อิหร่านโกรธแค้นที่สหรัฐฯสนับสนุนซัดดัม ฮุสเซน ผู้นำอิรักเวลานั้นอย่างไม่ปิดบัง ในช่วงสงครามอิรัก-อิหร่าน และได้เริ่มสุ่มโจมตีการเดินเรือของประเทศอ่าวเปอร์เซียที่สนับสนุนอเมริกา อย่างเช่น คูเวต ทำให้กองทัพเรือสหรัฐฯต้องเข้าแทรกแซงในนามของคูเวต

แม้ในแง่แสนยานุภาพ อิหร่านไม่มีอะไรจะไปต่อกรกับกองเรือที่ 5 ซึ่งปฏิบัติการจากบาห์เรนได้ แต่ก็ได้สร้างความปั่นป่วนอย่างมหาศาลทีเดียว และทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกทะยานลิ่ว ด้วยวิธีการง่ายและเร็วคือการทิ้งทุ่นระเบิดในเส้นทางเดินเรืออันสำคัญ ขณะที่กองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติ โจมตีเรือบรรทุกน้ำมันจากเรือยาง ก่อนในที่สุด พลังอาวุธอันเหนือกว่ามากของวอชิงตัน จะเข้าไปสยบความพยายามปิดช่องแคบฮอร์มุซ

กระนั้น ผู้มีอำนาจในอิหร่านปฏิญาณไว้ว่า หากมีความจำเป็นที่จะต้องปิดเส้นทางเดินเรือนี้อีก พวกเขาจะต้องมีหนทางทำเช่นนั้นได้
นับจากนั้น กองทัพอิหร่านได้ทุ่มเวลาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ปรับปรุงยกระดับสมรรถนะทางการทหาร บนสมมติฐานว่าหากมีคำสั่งให้ปิดช่องแคบฮอร์มุซเมื่อไหร่ ก็จะลงมือปฏิบัติการได้ทันที ในเวลาไม่เกิน 2-3 วัน
อิหร่านอาจจะระดมขีปนาวุธปราบเรือ เรือดำน้ำ ทุ่นระเบิดและเรือเล็กอีกหลายพันลำ มาใช้โจมตีการเดินเรือ หากผู้มีอำนาจในอิหร่านตัดสินใจปิดช่องแคบจริง
ผู้บัญชาการระดับสูงอิหร่านมีความมั่นใจในศักยภาพของตนขนาดที่ พล.ร.อ. ฮาบิโบลเลาะห์ ซายารี ผู้บัญชาการกองทัพเรืออิหร่าน ออกมาโอ่เมื่อเร็วๆนี้ว่า การปิดช่องแคบฮอร์มุซ เป็นเรื่องง่ายเหมือนกับดื่มน้ำหนึ่งแก้ว จากนั้น เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าอิหร่านมีศักยภาพทำได้จริง ก็ได้ทำการซ้อมรบ 10 วันเสร็จสิ้นเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยทดลองขีปนาวุธปราบเรือที่มีพิสัยไกลถึง 200 กิโลเมตรในวันท้ายๆ

หลังจากนั้น 2 วัน อิหร่านประกาศว่า กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติจะจัดการซ้อมรบยุทธนาวีในช่องแคบฮอร์มุซ และอ่าวเปอร์เซียในเดือนกุมภาพันธ์ ภายใต้ชื่อรหัสว่า "พระศาสดาผู้ยิ่งใหญ่" เป็นการซ้อมรบประจำปีตลอด 7 ปีที่ผ่านมา
พล.ร.อ.อาลี ฟาดาวี ผู้บัญชาการทหารเรือของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติ กล่าวว่า ครั้งนี้จะแตกต่างจากครั้งก่อน ๆ แต่ไม่ได้เผยรายละเอียด กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติ เป็นหน่วยทหารทรงอิทธิพลที่สุดของอิหร่าน มีกองกำลังทางเรือ อากาศและภาคพื้นดิน เหมือนกับกองทัพตามแบบ นอกจากนี้ ยังรับผิดชอบโครงการขีปนาวุธอิหร่านด้วย

อย่างไรก็ดี แม้อิหร่านสำแดงว่ามีเขี้ยวเล็บแหลมคมกว่าในทศวรรษหลังปี 2523 แต่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยืนยันว่าอิหร่านยังไม่ได้เสี้ยวของแสนยานุภาพสหรัฐฯ


เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯลำเดียว สามารถประจำการระบบโจมตีทางอากาศได้มากกว่ากองทัพอากาศอิหร่านทั้งกอง สอดคล้องกับนักวิเคราะห์ทางการทหารส่วนใหญ่ที่ลงความเห็นไปในทางเดียวกัน การปราบกองทัพอิหร่าน จะใช้เวลาแค่ไม่กี่วันเท่านั้น
เผลอๆการตอบโต้ของสหรัฐฯต่อความพยายามใช้กำลังทหารขัดขวางการเดินเรือในอ่าวเปอร์เซียน จะไม่จำกัดวงที่กองทัพเรืออิหร่านเท่านั้น แต่จะนำไปสู่การที่สหรัฐฯและพันธมิตร ใช้เป็นข้ออ้างทำลายสิ่งปลูกสร้างทางนิวเคลียร์จของอิหร่าน เพื่อยุติวิกฤตินิวเคลียร์ในคราวเดียว
ดังนั้น หากอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซ เท่ากับว่าอิหร่านกำลังเดิมพันอย่างน่าหวาดเสียว จึงเป็นเหตุผลว่า เพราะอะไรนักการเมืองในตะวันตกจึงมองว่า อิหร่านขู่ให้กลัวไปอย่างนั้นเอง เพื่อหวังโน้มน้าวไม่ให้ตะวันตกออกมาตรการแซงชั่นอิหร่านเพิ่มอีก

มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านล่าสุดที่สหรัฐฯเตรียมนำมาใช้บีบบังคับอิหร่านให้ยกเลิกโครงการวิจัยนิวเคลียร์ โดยพุ่งเป้าภาคอุตสาหกรรมน้ำมันและธนาคารกลางอิหร่าน ที่รับผิดชอบรายได้ส่วนใหญ่จากการขายน้ำมัน กับมาตรการจากฝั่งสหภาพยุโรปที่เห็นพ้องแล้วในหลักการว่าจะห้ามนำเข้าน้ำมันอิหร่านแต่กำลังถกกันว่าควรจะเริ่มบังคับใช้เมื่อไหร่นั้น เป็นการโจมตีที่สร้างความเจ็บปวดให้กับอิหร่าน จนเผยให้เห็นความบาดหมางภายใน และบาดแผลเศรษฐกิจที่นับวันจะยิ่งเรื้อรังอันเป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตรหลายรอบก่อนหน้า
เพียงสองวัน หลังจากประธานาธิบดีบารัก โอบามา ลงนามในร่างกฎหมาย ค่าเงินริอัลของอิหร่านดิ่งฮวบทันที 13 % ตามด้วยการวิจารณ์รัฐบาลอย่างเปิดเผยของ นายมาห์มู้ด บาห์รามี ผู้ว่าการธนาคารกลางอิหร่าน ที่เตือนรัฐบาลไม่ให้แทรกแซงตลาด

หลายฝ่ายมองไปในทางเดียวกันว่า มาตรการคว่ำบาตรล่าสุด ไม่น่าจะบีบบังคับให้รัฐบาลและผู้นำศาสนาทรงอิทธิพลในเตหะราน ยอมถอยจากโครงการวิจัยนิวเคลียร์ ที่ตะวันตกปักใจเชื่อว่ามีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสมรรถนะแร่ยูเรเนียมสู่การพัฒนาอาวุธได้ แต่น่าจะเป็นมาตรการที่เพิ่มความเดือดร้อนให้กับชาวอิหร่าน ที่ต้องดิ้นรนอยู่รอดภายใต้มาตรการคว่ำบาตรหลายรอบก่อนหน้านี้มากกว่า

กาลา ไรอานี ผู้เชี่ยวชาญอิหร่านจาก ไอเอชเอส โกลบอล อินไซท์ ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน มักถูกเรียกขานว่าเป็นระบอบพลีชีพ ที่พร้อมจะสังเวยความเป็นอยู่ประชาชน เพื่อที่จะไม่ยอมจำนนต่อแรงกดดัน
รัฐบาลวอชิงตัน ซึ่งกังวลเรื่องราคาน้ำมันพุ่งสูงท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของตัวเอง ได้ชะลอการบังคับใช้มาตรการแซงชั่นอย่างน้อย 6 เดือน กระนั้นก็ตาม เพียงแค่มีสัญญาณออกมา ก็เขย่าตลาดน้ำมันอย่างหนักแล้ว ราคาน้ำมันดิบพุ่งเหนือ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ทันทีที่อิหร่านขู่จะปิดช่องแคบฮอร์มุซหากมาตรการคว่ำบาตรมีผล
ขณะเดียวกัน การเสื่อมค่าของเงินริอัล และการแสดงความเห็นของผู้ว่าธนาคารกลาง เผยให้เห็นว่า อิหร่านไม่อาจปิดบังปัญหาเศรษฐกิจหยั่งรากลึกซึ่งเป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตรต่อประเทศส่งออกน้ำมันใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกได้
นโยบายเศรษฐกิจประชานิยมของประธานาธิบดีมาห์มู้ด อามาดิเนจาดแห่งอิหร่าน ถูกโจมตีว่า เป็นวิธีของโรบิน ฮู้ดที่ประมาท หอบเงินจากคนรวยไปจุนเจือคนจน ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญ ถลุงรายได้จากน้ำมันไปกับโครงการอุตสาหกรรมและชนบทที่ไม่ได้ช่วยยกสถานะเศรษฐกิจในภาพรวม


ความสิ้นหวังทางเศรษฐกิจ เคยเป็นแรงกระเพื่อมให้เกิดการต่อต้านภายใต้ชื่อ "ขบวนการกรีน" และการประท้วงเมื่อปี 2552 ซึ่งเป็นการชุมนุมประท้วงต่อต้านอำนาจรัฐครั้งใหญ่สุดนับจากการปฏิวัติอิสลาม ในปี 2522 ซึ่งอิหร่านปราบปรามอย่างเด็ดขาดอยู่นานหลายเดือน


และนับจากนายอาห์มาดิเนจาด ได้รับเลือกอีกครั้งในปี 2552 เศรษฐกิจดูเหมือนแย่ลงอีก ผู้นำอิหร่านสวนกระแสคำแนะนำนักเศรษฐศาสตร์ เดินหน้าลดการอุดหนุนอาหารและพลังงาน เพื่อลดรายจ่ายรัฐบาล แต่แจกเงินเข้ากระเป๋าคนจนสุดของประเทศโดยตรง ส่งผลให้เงินเฟ้อพุ่งทะยาน ราคาอาหารเพิ่ม 30 % ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะราคานม ปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยเปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่แล้ว

การอ่อนค่าลงอย่างรุนแรงของเงินริอัลต่อดอลลาร์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา น่าจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อ และอิหร่านอาจต้องเผชิญกับแนวโน้มนี้ไปอีกอย่างน้อย 2 ปี ค่าเงินตกต่ำนอกจากเป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตร 4 รอบนับจากปี 2549 แล้ว ยังเป็นเพราะการบริหารการเงินผิดพลาด เช่น รัฐบาลลดอัตราดอกเบี้ยที่ยิ่งกระตุ้นเงินเฟ้อ ขณะนักเศรษฐศาสตร์แนะว่าควรปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น

นักธุรกิจอิหร่านคนหนึ่งกล่าวว่า ในเวลาไม่ถึงปี ค่าเงินอิหร่านเสื่อมลง 40 % ขณะที่ธนาคารให้ดอกเบี้ยแค่ 14 % จึงไม่มีเหตุผลที่จะเก็บเงินไว้ในธนาคาร และหากมาตรการคว่ำบาตรล่าสุดเริ่มใช้เมื่อไหร่ การทำธุรกิจก็จะยิ่งยุ่งยากมากขึ้น

นายมาห์มู้ด บาห์รามี ผู้ว่าการธนาคารกลางอิหร่าน เสนอให้ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อพยุงค่าเงินริอัลและคุมอัตราเงินเฟ้อ พร้อมกับขู่ว่าจะลาออกหากรัฐบาลก้าวก่ายนโยบายการเงิน

กระนั้น ยังไม่แน่นัดว่า ที่สุดแล้ว สหรัฐฯจะปฏิบัติใช้มาตรการคว่ำบาตรน้ำมันส่งออกอิหร่านหรือไม่ เพราะนอกจากมีห่วงเรื่องราคาน้ำมันและภาวะเศรษฐกิจโลกแล้ว ยังจะมีผลให้บริษัทต่างชาติ ต้องเลือกระหว่างการทำธุรกิจกับอิหร่าน หรือสหรัฐอเมริกาไปโดยปริยาย ซึ่งสร้างความลำบากให้กับพันธมิตร อย่าง เกาหลีใต้ที่เผยว่ากำลังเตรียมเจรจาขอยกเว้นจากมาตรการแซงชั่นนี้ เพราะอิหร่านเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่เกาหลีใต้ไม่อาจจะสูญเสียได้ และญี่ปุ่นซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ ที่จะต้องมองหาแหล่งซื้อใหม่

เจ้าหน้าที่อิหร่าน ระบุว่าหากอียูใช้มาตรการคว่ำบาตรน้ำมันกับอิหร่าน ก็เท่ากับเป็นการประกาศสงครามเศรษฐกิจต่อไป แต่อิหร่านไม่หวั่นผลกระทบ เพราะมั่นใจว่า ความต้องการซื้อน้ำมันอิหร่านสูงพอที่จะอยู่ได้โดยไม่มีปัญหา

โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นลูกค้าน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับ 3 ของอิหร่าน ได้ออกมาบอกแล้วว่า มาตรการแซงชั่นของสหรัฐฯจะไม่กระทบการทำธุรกรรมกับอิหร่าน

 
source : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/world/20120108/428347/%E0%B9%83%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89-%E0%B9%83%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%84%E0%B8%9A%E0%B8%AE%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%8B.html

2012 ปีแห่งสุดยอดมหกรรมกีฬา ปีแห่งความหวาดผวาของประชาคมโลก!

ไม่เชยแน่นอนครับถ้าจะบอกว่า "สวัสดี ปีใหม่" บนพื้นที่ตรงนี้อีกครั้ง !




ก้าวสู่ศักราชใหม่ เข้าสู่ พุทธศักราช 2555 ซึ่งตรงกับปีคริสต์ศักราช 2012 ตามบันทึกแล้ว ปีนี้เป็นปีอธิกสุรทินที่วันแรก เป็นวันอาทิตย์ตามปฏิทินเกรกอเรียน และเป็นปีมะโรง จัตวาศก จุลศักราช 1374 ปีนี้วันเถลิงศกคือวันที่ 15 เมษายน



ในปีนี้ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้ทำการประกาศให้เป็นปีสากลแห่งความร่วมมือ เน้นความร่วมมือเข้าไปมีส่วนในการ พัฒนาทางสังคม-เศรษฐกิจ โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง การยอมรับผลกระทบของการพัฒนา ต่อการลดความยากจน การสร้างงานและบูรณาการทางสังคม พร้อมกับเป็นปีสากลแห่ง พลังงานยั่งยืนสำหรับทุกคนบนโลกใบนี้



ที่สำคัญปีนี้มีมหกรรมกีฬาที่ถือว่าสุดยอดที่สุดในโลกลงแข่งขันถึง 2 รายการด้วยกัน



หนึ่งคือ ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติ ยุโรป ครั้งที่ 14 หรือ ยูโร 2012 ที่ประเทศ ยูเครน-โปแลนด์ ที่จะร่วมกันจัดในระหว่าง วันที่ 8 มิถุนายน-1 กรกฎาคม






อีกหนึ่งคือ กีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ "โอลิมปิกเกมส์" ครั้งที่ 30 ที่มหานครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม-12 สิงหาคม






แน่นอนว่า เป็นกีฬาที่ทุกคนรอคอย แต่กลายเป็นว่า หลายๆ คนเริ่มมีความ คิดว่า จะได้เห็นกีฬาทั้งสองชนิดนี้แข่งขันกันได้หรือไม่ !?






เนื่องจากปี 2012 โด่งดังและโดดเด่น เป็นสง่ามานาน ในเรื่องชื่อเสียงที่บอกว่า จะถึงครา "สิ้นโลก" หรือว่าโลกแตกตามปฏิทิน ชาวมายาในวันที่ 21 ธันวาคมที่จะถึงนี้






โดยก่อนหน้านั้นทั่วโลกจะยับเยินด้วยภัยธรรมชาติ!






จริงหรือไม่นั้น ไม่มีใครบอกได้ว่า สิ่งใดจะเกิดขึ้น เพราะธรรมชาติอยู่เหนือความคาดเดา เมื่อรวบรวมเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่สู่ยุค 2010 เป็นต้นมา






โลกถือว่าถูกธรรมชาติเอาคืนอยู่บ่อยครั้ง และถี่ยิบมากขึ้นเรื่อยๆ!!!






หลายคนบอกว่า ความคิดดังกล่าว ส่วนสำคัญเกิดขึ้นมาจากภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ เรื่อง "2012 วันสิ้นโลก" จากค่ายโคลอมเบีย พิคเจอร์ส ที่เข้าฉายเมื่อช่วงปลายปี 2009






แต่หลังจากนั้นเกิดเหตุการณ์คล้ายๆ กับในภาพยนตร์นี้มากมายอย่างเหลือเชื่อ!!!!!!






เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เริ่มจากปี 2010 วันที่ 12 มกราคม เกิด แผ่นดินไหว 7.0 ริกเตอร์ ที่ประเทศเฮติ มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3 แสนคน ผู้บาดเจ็บอีกกว่า 3 แสนคน และอีกกว่า 1 ล้านคน ยังไม่มีที่อยู่อาศัย






เดือนต่อมาในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.8 ริกเตอร์ ที่ นอกชายฝั่งแคว้นเมาเล่ประเทศชิลี ทำให้แกนโลกเอียงไปจาก เดิม 3 นิ้ว! และทำให้ ระยะเวลาสั้นลงไป 1.26 ไมโครวินาที (1 ไมโครวินาที เท่ากับ 1 ในล้านวินาที)






มาถึงเดือนมีนาคม เกิดพายุทำให้เกิดฝนตกหนักในเมลเบิร์น เมื่อ 8 มีนาคม วัดระดับน้ำฝนได้ 26 มิลลิเมตร พื้นที่อื่นวัดระดับน้ำฝนได้สูงถึง 70 มิลลิเมตร แถมลูกเห็บขนาดเท่าลูกเทนนิสยังถล่มอีกด้วย, 20 มีนาคม ภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็งในประเทศ ไอซ์แลนด์ ปะทุทำให้ผู้คนนับล้านในยุโรปไม่สามารถใช้เส้นทางการบินสัญจรไปไหนได้เลย โดยปะทุต่อเนื่องและหนักมากในวันที่ 14 เมษายน ที่ปะทุขึ้นฟ้าสูงถึง 8 กิโลเมตร และ 31 มีนาคม แผ่นดินไหว 6.8 ริกเตอร์ ในอ่าวเบงกอล ที่หมู่เกาะอันดามันแอนด์ นิโคบาร์






7 เมษายน แผ่นดินไหวนอกชายฝั่งของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย 7.8 ริกเตอร์ จากนั้นเกิดคลื่นสึนามิขนาดเล็ก สูง 1.5 ซม., 14 เมษายน ประเทศจีน เกิดแผ่นดินไหว 7.1 ริกเตอร์ บริเวณเขต ปกครองตนเองยูซู มณฑลชิงไห่ สาธารณรัฐ ประชาชนจีน มีผู้เสียชีวิต 2,220 ราย สูญหาย 70 ราย และบาดเจ็บ 12,135 ราย






15 พฤษภาคม พายุทอร์นาโด และพายุลูกเห็บที่เมืองซุ่ยหัว ซึ่งอยู่ห่างจากเมือง ฮาร์บินประมาณ 120 กิโลเมตร ในมณฑลเฮยหลงเจียง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บมากมาย






จากนั้นในเดือนมิถุนายน มีเหตุการณ์ ภัยธรรมชาติมากมาย เริ่มจาก 1 มิถุนายน เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.4 ริกเตอร์ที่นอกหมู่เกาะอันดามันของอินเดียที่ระดับความลึก 127 กิโลเมตร ต่อด้วย 7 มิถุนายน ภูเขาไฟ ระเบิดพร้อมกันแต่คนละทิศ ที่รัสเซีย และเอกวาดอร์, 9 มิถุนายน เกิดแผ่นดินไหวขนาดเกือบ 6 ริกเตอร์ ที่ฟิลิปปินส์ และเกาะวาเนาตู






10 มิถุนายน เกิดน้ำท่วมขนาดใหญ่ ที่รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา, 12 มิถุนายน แผ่นดินไหว 7.5 ริกเตอร์ ที่นอกชายฝั่งอินเดีย ห่างจากซีกตะวันตกของหมู่เกาะนิโคบาร์ไปประมาณ 150 กิโลเมตรที่ความลึก 35 กิโลเมตร, 13 มิถุนายน เหตุภัยพิบัติพายุฝน และดินถล่มทางตอนใต้ ของจีน ซึ่งได้คร่าชีวิตชาวจีนไปจำนวนหนึ่ง และมีผู้อพยพ 3 ล้านคน, 16 มิถุนายน 2553 แผ่นดินไหว 6.2 ที่เกาะไบแอ็ก ในมหาสมุทรแปซิฟิกทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ของเกาะปาปัว นิวกินี, 18 มิถุนายน จีนเกิดน้ำท่วมและแผ่นดินถล่มฉับพลันใน พื้นที่ 74 เมือง ของ 6 มณฑล ประมาณการ ว่าประชาชนกว่า 2.56 ล้านคนได้รับผลกระทบ จากภัยพิบัติครั้งนี้






14 กรกฎาคม เกิดเหตุน้ำท่วม และ ดินถล่มจากฝนตกหนักทางภาคใต้ของจีน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 400 คน ซึ่งวันเดียวกันนั้น อินโดนีเซีย เกิดแผ่นดินไหว 5.6 ริกเตอร์, 16 กรกฎาคม พายุโซนร้อน "คอนเซิ่น" บริเวณทะเลจีนใต้ จากนั้นในช่วง ปลายเดือนจนถึงต้นเดือนกันยายน เกิดไฟป่าในรัสเซียนับหลายร้อยแห่ง เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ รัสเซีย มีผู้เสียชีวิต 8,000 คน






1 สิงหาคม เกิดอุทกภัยรุนแรงทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน จาก ผลพวงของพายุฤดูร้อน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต มากกว่า 1,000 ราย, 8 สิงหาคม เกิดอุทกภัย และแผ่นดินถล่มที่จีน เนื่องมาจาก ฝนตกหนัก ที่เมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือ ของประเทศจีน มีผู้เสียชีวิต 127 คน สูญหาย อีกกว่า 1,300 คน, 15 สิงหาคม เกิดเหตุไฟป่า ในโบลิเวียเป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่การประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินเนื่องจากพบว่ามีไฟป่า เกิดขึ้นมากกว่า 25,000 จุดทั่วประเทศ






6 กันยายน โคลนถล่มกัวเตมาลา พบผู้เสียชีวิตและสูญหายพุ่งเกินกว่า 100 ราย จากนั้นในวันที่ 25 ตุลาคม แผ่นดินไหว 7.7 ริกเตอร์ ที่อินโดนีเซีย จากนั้นวันรุ่งขึ้น ภูเขาไฟเมราพี ของแดนอิเหนา ก็ระเบิดซ้ำที่รัศมีการกระจายของขี้เถ้าขยายเป็นวงกว้าง เกือบ 4 กิโลเมตร ปิดท้ายเดือน 27 ตุลาคม สึนามิถล่มซ้ำที่หมู่เกาะเมนตาไว ประเทศอินโดนีเซีย 7.2 ริกเตอร์ มีผู้เสียชีวิต 108 คน สูญหายครึ่งพัน






จากนั้นในวันที่ 1 พฤศจิกายน พายุดีเปรสชั่นถล่มภาคใต้ของไทย ทำให้ภาคใต้ของเราแทบจะจมน้ำ เป็นความเสียหาย ที่ยากจะประเมินได้






กระทั่งในปีที่ผ่านมา พ.ศ.2554 ว่ากันว่าเป็นสัญญาณเตือนภัยให้กับหลายๆ คนได้ขบคิดหนักขึ้นอีกเป็นร้อยเท่าพันทวี เมื่อประเทศไทยโดนพิษน้ำท่วมถล่มแหลกจนไร้ที่อยู่อาศัย เดือดร้อนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนับร้อยปี!






ทั้งที่มีบทเรียนน้ำท่วมใหญ่ปี 2553 แต่ก็ "เอา(ไม่)อยู่" เมื่อเจอพายุใหญ่ๆ เฉียด เข้ามาใกล้ถึง 4 ลูก คือ ไหหม่า, นกเตน, ไห่ถาง และ นาลแก ส่งผลให้พื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยเกิดฝนตกหนัก ดินถล่ม น้ำล้นเขื่อน






ซึ่งไม่แน่ใจเหมือนกันว่า "ธรรมชาติ" หรือ "มนุษยชาติ" กันแน่ ที่ถล่มคนไทยครานี้!!!






ในขณะที่เราต้อง "เอาตัวรอด" รักษาชีวิตให้อยู่และดำเนินต่อไป รอบโลกของเรานั้นถือว่า หนักหนาสาหัสอีกปี






23 กุมภาพันธ์ ที่เมืองไครสต์เชิร์ช นิวซีแลนด์ แผ่นดินไหว 6.3 ริกเตอร์ มี ผู้เสียชีวิต 181 คน จากนั้น 10 เดือน ต่อมา ในวันเดียวกันคือ 23 ธันวาคม ก็แผ่นดินไหวซ้ำอีกครั้ง






11 มีนาคม แผ่นดินไหว 9 ริกเตอร์ นอกชายฝั่งเกาะ "ฮอนชู" ของญี่ปุ่น จากนั้น เกิดสึนามิสูง 10 เมตร บางแห่งสูงถึง 40 เมตร มีผู้เสียชีวิตกับสูญหายรวมกว่าสองหมื่นคน พร้อมกันนี้ ยังก่อให้เกิดวิกฤตินิวเคลียร์ รั่วไหลจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิจิ ก่อนควบคุม ได้เมื่อ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา






นอกจากนั้นยังมี รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐ เจอแผ่นดินไหว 5.8 ริกเตอร์ เมื่อ 24 ส.ค. จากนั้นหนึ่งเดือนต่อมา แผ่นดินไหวแถบเขาหิมาลัย 6.9 ริกเตอร์ คนเสียชีวิตนับร้อย และหนักสุดคือ ตุรกี วันที่ 23 ต.ค. แผ่นดินไหว 7.2 ริกเตอร์ คนเสียชีวิตรวมกว่า 600 คน






นอกจากนี้ยังมีภูเขาไฟพูเยเว่ ของชิลี ปะทุเถ้าถ่านเต็มน่านฟ้าตั้งแต่กลางปีจนถึง เกือบสิ้นปี, ฟิลิปปินส์ โดนพายุถล่มกว่า 20 ลูก ยอดคนเสียชีวิตนับพัน, อเมริกา ถูกเฮอร์ริเคนถล่มแหลกหนักสุดรอบ 58 ปี, เม็กซิโก แห้งแล้งที่สุดในรอบ 70 ปี, หลายประเทศในแอฟริกา แล้งที่สุดในรอบ 100 ปี คนอดอยากนับล้านคน



ทั้งหมดคือสิ่งที่เกิดขึ้นตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และปีนี้เขาว่ากันว่า ปฏิทินมายามีส่วนที่จะทำให้โลกใบนี้พลิกโฉมหน้าในวันที่ 21 ธันวาคมที่จะถึงนี้ หลายโหรหลายหมอเริ่มออกมาเรื่อยๆ จริงหรือไม่นั้นอยู่ที่เราคิดเอง



เพราะสุดท้ายแล้ว "วิกฤติธรรมชาติ" คงจะไม่สามารถต่อกรกับ "วิกฤติมนุษยชาติ" ได้แน่ ไม่เชื่อดูเหตุการณ์ "โดมิโน่" ในแถบ ตะวันออกกลางและแอฟริกาเป็นตัวอย่าง



บทสรุปทั้งหมดจะเป็นอย่างไร ก็แล้วแต่ ขอเพียงทุกคนมุ่งหน้าทำความดี ทำจิตใจให้ดี เตรียมพร้อมและไม่ตั้งอยู่บนความประมาทก็แค่นั้นเอง



อย่ากลัว....อยู่แล้วสู้กับมัน



สวัสดีปีใหม่ขอรับ!!!!!!



บี แหลมสิงห์
source : http://www.naewna.com/news.asp?ID=295459

แอร์โรคลาส เปิดตัวนวัตกรรมใหม่ด้านพลังงาน

กลุ่มบริษัทตะวันออกโปลิเมอร์ฯ บริษัทแอร์โรคลาส เปิดตัวนวัตกรรมใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อม โชว์ “wind Turbine” กังหันลม ในบีโอไอแฟร์

นายภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ตะวันออกโปลิเมอร์ จำกัด เปิดเผยว่า งานบีโอไอ แฟร์ 2011 จะเป็นการแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีครั้งสำคัญของบริษัท รวมทั้งยังเป็นการสร้างภาพพจน์ที่ดีให้กับกลุ่มบริษัทตะวันออกโปลิเมอร์ฯ และบริษัทแอร์โรคลาส ฯ ที่บริษัทต้องการนำเสนอการผลิตสินค้านวัตกรรมเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม ตามคอนเซ็ปต์ “Green Clean & Energy Innovation”

ล่าสุดบริษัทได้เปิดตัว “AeroKlas@EPI” เป็นการนำเสนอโลกของอนาคตที่ต้องอยู่คู่กับผลิตภัณฑ์ที่กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยรูปแบบที่ประกอบไปด้วย โครงสร้างภายนอกจะถูกติดตั้งด้วยบล็อกพลาสติกขึ้นรูปโปร่งแสงจำนวน 800 ชิ้น ในส่วนโครงสร้างเหล็กที่รองรับจะสามารถถอดและนำไปใช้ใหม่ได้ใน

อนาคตเช่นเดียวกับบล็อกพลาสติกขึ้นรูปโปร่งแสงก็จะสามารถนำไปรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ทั้งหมดได้เช่นกัน ในส่วนหลังคาผลิตมาจากวัสดุโพลีคาร์บอเนตซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษโปร่งแสงให้แสงสว่างได้มากถึง 100% จะทำให้ภายในพาวิลเลี่ยนมีแสงสว่างตลอดทั้งวัน

ภายในแอร์โรคลาสพาวิลเลียน จะแบ่งโซนจัดแสดงออกเป็น 3 ส่วนคือ Green-Energy-Innovation โดยจะเน้นกระบวนการผลิตที่เป็นสีเขียวและประหยัดพลังงาน โดยในส่วนของโซน Green ในอาคารจะประกอบด้วยบริษัทในกลุ่ม อีสเทิร์นโพลีแพ็ค (EPP) ซึ่งเราถือเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยผลิตภัณฑ์พลาสติกที่นำมานั้นสามารถรีไซเคิลได้ 100% ทั้งหมด

นอกจากนี้ยังมีพลาสติกในกลุ่มที่สามารถย่อยสลายได้ ซึ่งพลาสติกของกลุ่มบริษัทฯ ได้รับการยอมรับนำไปใช้ในสายการบินต่างๆ มากมาย อาทิ สิงคโปร์แอร์ไลน์ อินโดนีเซียแอรไลน์ ฟิลิปปินส์แอร์ไลน์ รวมทั้งสายการบินในยุโรปด้วย

สำหรับโซน Energy เริ่มตั้งแต่ผนังด้านนอกทั้ง 4 ด้าน จะถูกติดตั้งด้วยหลอด LED กว่า 800 ดวง ที่ดีไซน์เป็นพิเศษสำหรับใช้ในงานบีโอไอแฟร์ซึ่งจะเน้นการประหยัดพลังงานในทุกรูปแบบ ไฮไลท์สำคัญของเทคโนโลยีการประหยัดพลังงาน คือ การแสดง แสง สี จากหลอด LED ที่ติดตั้งทั้งพาวิลเลียน ประกอบเสียงเพลงที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ สามารถเปลี่ยนสีได้มากกว่า 1 ล้านเฉดสี โดยทุกวันในช่วง 18.00 น. จะมีการเคารพธงชาติผ่าน แสง สี เสียง ประกอบเพลงชาติไทย โดยแสงจากหลอด LED จะเป็นเกิดเป็นรูปธงชาติไทยปกคลุม แอร์โรคลาส พาวิลเลียน

ในโซน Innovation เป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “แอร์โรคลาส” หลังจากที่ก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตพื้นปูกระบะอันดับ 1 ของโลก แอร์โรคลาสได้มีการพัฒนาและค้นคว้าเทคโนโลยีในการผลิตหลังคา ABS และฝาครอบกระบะ แอร์โรคลาส Deck Cover ที่มีน้ำหนักเบาและทน ทำให้รถยนต์สามารถลดการใช้พลังงานได้ งานในครั้งนี้เรายังได้นำไฮไลท์ของงานและเป็นอนาคตของโลก คือ การเปิดตัว Aeroklas Wind Turbine กังหันลมแนวตั้ง 3 ใบพัด ที่จะทำการแปลงพลังงานลมให้เป็นพลังงานไฟฟ้า เป็นพลังงานบริสุทธิ์ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ สามารถแปลงเป็นกระแสไฟฟ้าได้ตั้งแต่ต้นละ 3.5-10 กิโลวัตต์



source : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/auto-mobile/auto-mobile/20120107/428273/%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AA-%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99.html

เยอรมนี 3 โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด...ชื่อเก่า แต่หน้าใหม่

ผ่านพ้นกันไปแล้วสำหรับเทศกาลส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ และก็ถึงเวลากลับมาตั้งหน้าตั้งตาทำส่วนที่เหลือของปีให้ดีที่สุด ทั้งในเรื่องส่วนตัว และส่วนรวม ซึ่งทีมงานโลก 360 องศา ก็จะยังคงนำเรื่องราวที่น่าสนใจมาฝากทุกท่าน เพื่อร่วมสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมอุดมปัญญา ดังที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้


สำหรับเรื่องราวที่เรานำเสนอไปเมื่อสัปดาห์ก่อนๆ นี้ เป็นรูปแบบในการพัฒนาและการสร้างสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อมของประเทศเยอรมนี ซึ่งเราหยิบยกมาแค่ 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ การจัดการกับขยะและของเสีย และการจัดการด้านพลังงานไฟฟ้า ซึ่งสัปดาห์นี้เราจะขอนำเสนอกรณีศึกษาเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าในประเทศเยอรมนี ซึ่งถือว่าต้นทุนสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่โลกถูกเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ และภาคอุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นพลังงานไฟฟ้าจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้



โดยพื้นฐานแล้ว เยอรมนีมีความโดดเด่นและมีชื่อเสียงเกี่ยวกับนวัตกรรมทางด้านพลังงานไฟฟ้า โดยเป็นประเทศผู้ส่งออกเทคโนโลยีและอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานหลายชนิด เช่น พลังงานจากลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน

ถึงแม้ว่าเยอรมนีจะมีเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่ทันสมัยจากหลายๆ แหล่งพลังงาน แต่ประเทศนี้ก็ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง และในเวลาเดียวกันก็ต้องสนับสนุนการเติบโตทางธุรกิจและการรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน

ซึ่งก่อนหน้านี้บรรดาประเทศพัฒนาแล้วอาจต้องหนักใจบ้างในการตัดสินใจเลือกแหล่งพลังงานเพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่า ทุกๆ อย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ ทุกอย่างล้วนมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป ซึ่งแหล่งพลังงานก็เช่นเดียวกัน

ย้อนหลังกลับไปในยุคแรกๆ ที่มนุษย์ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมนั้น ไฟฟ้าส่วนใหญ่ได้จากพลังน้ำ และเชื้อเพลิงชีวภาพ (ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ) โดยไฟฟ้าพลังน้ำก็ได้จากการปล่อยน้ำจากที่สูงลงที่ต่ำ ซึ่งก็ไม่สามารถทำได้ตลอดเวลา ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวภาพก็เกิดเป็นมลพิษ ดังนั้นจึงมีความพยายามคิดค้นพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดขึ้นมาแทนที่ กลายเป็นยุคที่พลังงานลมและแสงอาทิตย์เข้ามาเป็นทางเลือกมากขึ้น ซึ่งความสะอาดและการหมุนเวียนก็สามารถขจัดข้อจำกัดเดิมๆ ของการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวภาพออกไป แต่ประสิทธิภาพและกำลังการผลิตก็ยังคงไม่เพียงพอที่จะสนองความต้องการทางด้านอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วงปี 2005 ถึง 2010 รัฐบาลเยอรมนีทุ่มเงินหลายพันล้านยูโรเพื่อวิจัยและพัฒนาพลังงานทางเลือก ทำให้ชนิดของพลังงานทางเลือกใหม่ๆ ถูกนำเสนออย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าพลังงานทางเลือกชนิดใดจะมีประสิทธิภาพ และมีต้นทุนต่ำพอ ที่ควรส่งเสริมให้ใช้สำหรับภาคธุรกิจได้ จนมีข้อสังเกตว่า นโยบายส่วนใหญ่ที่ผ่านมาจะให้ความสำคัญกับการหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มากกว่าการพัฒนาแหล่งพลังงานเดิมๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น



คุณสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เคยกล่าวไว้ตอนหนึ่งระหว่างการให้สัมภาษณ์กับรายการโทรทัศน์ โลก 360 องศา ว่า “การพิจารณาว่าจะเลือกใช้เชื้อเพลิงประเภทใดในการผลิตไฟฟ้านั้น ทุกประเทศก็จะมองถึงการมีอยู่ และความพอเพียงเป็นหลัก ซึ่งก๊าซธรรมชาติก็คงมีให้ใช้อีกสัก 60 ปี ส่วนถ่านหินก็ยังมีปริมาณเพียงพออีก 200 กว่าปี ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ จะทำให้มีไฟฟ้าใช้ได้อีกเป็นพันปี แต่อย่างไรก็ตาม แหล่งเชื้อเพลิงแต่ละชนิดก็มีข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป ซึ่งแต่ละประเทศก็คงคำนึงถึงหลายๆ ปัจจัยที่สอดคล้องกัน เช่น เชื้อเพลิงชนิดนั้นๆ มีให้ใช้ได้นานเพียงใด เมื่อเรานำมาผลิตไฟฟ้าแล้วจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมขนาดไหน ต้นทุนการผลิตสอดคล้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ และที่สำคัญคือประชาชนสามารถยอมรับได้มากน้อยเพียงใด”

แนวคิดการผลิตไฟฟ้าในยุคปัจจุบัน จึงเป็นการพิจารณาอย่างรอบด้าน และคิดอย่างสมเหตุสมผล เช่น การผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ แม้จะไม่มีมลพิษ แต่มีประสิทธิภาพสูง แต่ก็ควรจะรอจนกว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ปลอดภัยกว่าเดิม ส่วนพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดที่ยังมีข้อจำกัดเรื่องประสิทธิภาพและต้นทุน ก็ควรจะมีการพัฒนาต่อไปจนกว่าจะมีต้นทุนที่ถูกกว่าและมีประสิทธิภาพที่สูงกว่าปัจจุบัน ในเวลาเดียวกันการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล จำพวกก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน ก็ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดมลพิษให้ได้มากที่สุด เพราะเป็นแหล่งเชื้อเพลิงที่มีราคาอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้

ประเทศเยอรมนีเองก็ใช้วิธีคิดแบบเดียวกันนี้ คือ การพัฒนาพลังงานทดแทนก็ยังดำเนินการอยู่เรื่อยๆ แต่ในเวลาเดียวกัน ไฟฟ้าที่ใช้เป็นหลักอยู่ในประเทศก็มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งมีการพัฒนาจนเรียกได้ว่าเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด คือ มีเทคโนโลยีชั้นสูงที่สามารถดักจับมลพิษและของเสียที่เกิดขึ้น จนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในเวลาเดียวกันก็ยังสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตให้อยู่ในเกณฑ์ต่ำที่ประชาชนยอมรับได้



ตัวอย่างที่เด่นชัดของโรงไฟฟ้าถ่านหินยุคใหม่ของเยอรมนี คือ โรงไฟฟ้า Schwarze Pumpe ตั้งอยู่ในเมือง Spremeberg ทางตะวันออกของประเทศ ซึ่งขึ้นชื่อว่ามีความทันสมัยและใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ออกแบบและก่อสร้างโดยบริษัท SIEMENS และเป็นเจ้าของโดยบริษัทสวีเดนชื่อ Vattenfall

ภายในพื้นที่ของโรงไฟฟ้า เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าต้นแบบที่ปลอดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แห่งแรกของโลก โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เรียกว่า Carbon Capture Storage หรือ CCS ซึ่งนอกเหนือจากการดักจับมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้แล้ว โรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ให้ไหลออกสู่ชั้นบรรยากาศได้อีกด้วย จึงเป็นการตอบโจทย์รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม

คงไม่ใช่แค่เพียงโรงไฟฟ้าที่เยอรมนีเท่านั้นที่มีความพยายามสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานโดยใส่ใจกับปัจจัยรอบด้าน และตราบเท่าที่มนุษย์ยังคงมีความต้องการใช้พลังงานอยู่ เทคโนโลยีใหม่ๆ จะยังถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการค้นหาพลังงานทดแทนใหม่ๆ หรือการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดข้อจำกัดของแหล่งพลังงานแบบเดิมๆ ก็ตาม
 
source:http://www.posttoday.com/%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99-%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81/130618/%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B5-3-%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%96%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%94-%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%B2-%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88

ยูเออี...สวรรค์กลางทะเลทราย


ดินแดนแห่งทะเลทรายในความคิดคำนึงคงร้อนระอุแผดเผาทั้งกายและใจ แต่ที่นี่ ณ อาบูดาบี ฉันไม่รู้สึกแม้แต่น้อยว่ายืนอยู่บนผืนทะเลทราย


ลมเย็นพัดเอื่อยๆ ที่อุณหภูมิราว 20 องศาในปลายเดือนพฤศจิกายน ช่างเย็นสบายจนทำให้จิตใจสงบและเยือกเย็นตามไปด้วย


มัสยิดชีคซาอิด: รวมโลกเป็นหนึ่ง

หลายคนบอกว่าชีวิตเริ่มต้นเมื่ออายุ 40 นั่นคงเป็นคำพูดที่ใช้เปรียบเทียบกับประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ดีที่สุดเพราะประเทศตะวันออกกลางแห่งนี้ใช้เวลาเพียง 4 ทศวรรษในการสร้างตัวเองจากทะเลทรายอันแห้งแล้งจนเติบโตเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งและแข็งแกร่งทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือเรียกย่อ ๆ ว่า ยูเออี เป็นสหพันธรัฐที่เกิดจากการรวมตัวกันของรัฐอาหรับ 7 รัฐริมอ่าวเปอร์เซีย ประกอบด้วย อาบูดาบี, อัจมาน, ดูไบ, ฟูไจราห์, ราส - อัล ไคมาห์, ชาร์จาห์ และ อุมม์ อัล - คูเวน และเป็นประเทศที่ติดอันดับประชากรมีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง (ราว 1.5 ล้านบาทต่อคนต่อปี - ข้อมูลปี ค.ศ. 2010)

ยูเออีเพิ่งจะฉลองวันชาติครบรอบ 40 ปีเมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา ถ้าปราศจากวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของชีค ซาอิด บิน สุลต่าน อัล นาห์ยัน เจ้าผู้ก่อตั้งประเทศซึ่งล่วงลับไปแล้ว ประเทศคงไม่สามารถก้าวมาไกลได้ขนาดนี้ ขณะเดียวกันชาวเอมิเรตส์ก็ได้เรียนรู้ว่าการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป

เมืองหลวงของยูเออีคืออาบูดาบีซึ่งเป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดและประชากรมีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดของประเทศ ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมรัฐนี้ถึงได้รับฉายาว่าเป็นสวรรค์แห่งทะเลทรายและสวนแห่งอ่าวเปอร์เซีย เพราะเงียบสงบและเขียวขจีด้วยต้นปาล์มเรียงรายบนเกาะกลางถนน

หลายคนอาจจะตื่นเต้นและตั้งตารอคอยการได้ขึ้นไปยืนอยู่บน เบิร์จ คาลิฟา ตึกที่สูงที่สุดในโลกของรัฐเพื่อนบ้านอย่างดูไบ แต่ฉันกลับประทับใจเมื่อได้มายืนอยู่หน้ามัสยิดชีคซาอิด ซึ่งเป็นมัสยิดประจำเมืองหลวงมากกว่า ด้วยความยิ่งใหญ่และอลังการทำให้มัสยิดหลวงแห่งนี้เป็นจุดหมายปลายทางหนึ่งที่นักท่องเที่ยวต้องมาเยือนให้ได้ เพราะเป็นเสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของประเทศ

ชีคซาอิดเป็นมัสยิดที่มีขนาดใหญ่และงดงามที่สุดในประเทศและใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก มีอาณาบริเวณ 22,412 ตารางเมตร ซึ่งเทียบเท่ากับสนามฟุตบอล 5 สนาม และสามารถรองรับผู้มาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้สูงถึง 41,000 คน ใช้เวลาก่อสร้างราว 10 ปี (ค.ศ. 1996 - 2007) ตามดำริของชีค ซาอิด ผู้ก่อตั้งประเทศและเจ้าผู้ครองนครอาบูดาบีซึ่งล่วงลับไปแล้ว จึงมีการตั้งชื่อมัสยิดตามผู้นำ

แนวคิดของการสร้างมัสยิดแห่งนี้คือการรวมโลกเอาไว้ในสถานที่แห่งเดียว เพราะนอกจากจะเปิดกว้างต้อนรับของผู้คนทุกเชื้อชาติศาสนาจากทั่วโลกแล้ว การออกแบบและก่อสร้างยังเป็นการรวมเอาสถาปัตยกรรมและช่างฝีมือจากทั่วโลก ทั้งอิตาลี เยอรมนี โมร็อกโก อินเดีย ตุรกี อิหร่าน จีน อังกฤษ นิวซีแลนด์ กรีซ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อีกทั้งยังมีการผสมผสานวัสดุที่หลากหลายทั้ง หินอ่อน หินสี ทองคำ อัญมณี คริสตัลและเซรามิค

มัสยิดแห่งนี้เป็นสถานศักดิ์สิทธิ์เพื่อการประกอบพิธีการทางศาสนาของชาวมุสลิม ทุกคนจึงต้องแสดงความเคารพในสถานที่ เริ่มด้วยการแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย ผู้ชายสามารถใส่เชิ้ตแขนยาวและกางเกงขายาวได้ ส่วนผู้หญิงห้ามใส่กางเกงขาสั้น กระโปรงสั้น ชุดรัดรูปหรือเสื้อผ้าที่เปิดเผยให้เห็นผิวหนัง และก่อนที่จะเข้าไปด้านใน ผู้หญิงจะต้องสวมชุดประจำชาติของชาวเอมิเรตส์ที่เรียกว่า อบาย่า (abaya) ซึ่งเป็นชุดคลุมยาวสีดำและมีผ้าคลุมศีรษะที่เรียกว่า ชยาล่า (shayla) ซึ่งทางมัสยิดจัดไว้ให้ และต้องโพกผ้าคลุมศีรษะอยู่ตลอดเวลา ถ้าผ้าหล่นลงมาเมื่อไหร่ต้องรีบนำขึ้นไปโพกหัวให้เร็วที่สุด

ที่นี่มีกฎสำหรับแขกผู้มาเยือนว่า ต้องปฏิบัติตัวให้เหมาะสม ห้ามจับมือหรือจูบกัน สามารถถ่ายรูปได้ทุกอย่างยกเว้นที่ฝังพระศพของ ชีค ซาอิด ห้ามแตะต้องคัมภีร์อัลกุรอาน ไม่เช่นนั้นอาจลงเอยด้วยการเข้าคุก

มัสยิดนี้สร้างขึ้นด้วยหินอ่อนสีขาว มีโดมสไตล์โมร็อกโกทั้งหมด 82 โดม มีเสาคอลัมน์ที่ทำเป็นรูปต้นปาล์มมากกว่า 1,000 ต้นทำด้วยหินอ่อนสีขาวและประดับประดาด้วยอัญมณีล้ำค่า ยอดเสาคอลัมน์ที่เป็นรูปใบไม้ทำด้วยทองคำ พื้นของลานกลางมัสยิดที่มีขนาด 18,000 ตารางเมตรก็ทำด้วยหินอ่อนและฝังด้วยลวดลายที่เป็นดอกไม้ขนาดใหญ่ซึ่งทำด้วยหินอ่อนสีและโมเสกล้ำค่าหลากชนิด

มัสยิดแห่งนี้ไม่ได้งดงามเฉพาะภายนอกเท่านั้น เพราะเมื่อเข้าไปภายในห้องโถงด้านในทุกคนถึงกับตะลึงกับภาพตรงหน้า การตกแต่งประดับประดาประหนึ่งว่าตั้งใจจะให้เป็นสรวงสวรรค์ เริ่มจากประตูทางเข้าที่ตกแต่งด้วยทองและกระจกแก้วแกะสลักสวยงาม ผนังหินอ่อนสีขาวฝังด้วยหินสีที่ทำเป็นลวดลายดอกไม้เลื้อยพันกันดูงดงามยิ่ง พรมปูพื้นในห้องเป็นพรมจากอิหร่านและเป็นพรมทอมือผืนใหญ่ที่สุดในโลกขนาด 5,627 ตารางเมตร หนัก 45 ตัน มีปมถักอยู่ 2,268,000,000 ปม

สิ่งที่เรียกความฮือฮาของนักท่องเที่ยวได้มากที่สุดคงจะเป็นแชนเดอเลียใหญ่บนเพดานที่เปล่งแสงระยิบระยับสมเป็นแชนเดอเลียที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่หนักกว่า 9 ตัน ที่นี่มีแชนเดอเลียทั้งหมด 7 โคมซึ่งนำเข้าจากเยอรมนี ทำด้วยทองคำและทองแดง ประดับด้วยคริสตัลสวารอฟสกี้จากออสเตรียและแก้วจากอิตาลี

ไม่มีใครทราบมูลค่าการก่อสร้างและของตกแต่งทั้งหมด แต่เชื่อแน่ว่าคงจะมหาศาล เพราะแค่สนนราคาของแชนเดอเลียทั้ง 7 และพรมทอมือในห้องโถงใหญ่ก็สูงถึงอย่างละ 300 ล้านบาท สมกับเป็นมรดกอันล้ำค่าของอาบูดาบีจริง ๆ

นอกจากมัสยิดชีคซาอิดที่เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมแล้ว อาบูดาบีกำลังพยายามจะสร้างตัวเองให้เป็นจุดหมายปลายทางของวัฒนธรรมด้วยการพัฒนาเกาะซาดิยาททางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองให้เป็นเมืองแห่งวัฒนธรรม โดยจะมีพิพิธภัณฑ์ระดับโลก 3 แห่งคือ ลูฟว์, ซาอิด ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ และกุกเกนไฮม์ ซึ่งจะแล้วเสร็จในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

แม้ว่าอาบูดาบีจะเป็นเมืองหลวงที่มั่งคั่งไปด้วยปริมาณน้ำมันและก๊าซสำรองถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของโลกและคาดว่าจะมีน้ำมันสำรองพอใช้ไปอีก 150 ปีข้างหน้า แต่ผู้ก่อตั้งประเทศที่ล่วงลับไปแล้วก็เล็งเห็นว่าถึงวันหนึ่งน้ำมันก็ต้องหมดไปจากโลก จึงต้องการลดการพึ่งพาน้ำมันลง ชีค ซาอิด จึงดำริให้มีการพัฒนาเมืองแบบยั่งยืนด้วยการสร้างมาสดาร์ ซิตี ซึ่งอยู่ใกล้กับสนามบินอาบูดาบีขึ้นมาเพื่อให้เป็นเมืองต้นแบบที่ไร้คาร์บอน เน้นการใช้พลังงานจากธรรมชาติหรือพลังงานทดแทนที่สะอาด และจะมีการสร้างกำแพงรอบเมืองเพื่อกั้นความร้อนจากทะเลทราย

เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ มาสดาร์จะใช้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงงานไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์เกือบทั้งหมด อาคารหรือบ้านแต่ละหลังจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าด้วย ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยมาสดาร์ที่เปิดทำการสอนในเมืองนี้แล้ว

เบิร์จ คาลิฟา: อนุสาวรีย์แห่งการล่มสลาย?

ถ้าเมืองหลวงอย่างอาบูดาบีเป็นตัวแทนของการสร้างความสมดุลให้ประเทศเพราะพยายามเน้นไปที่การพัฒนาแบบยั่งยืน ดูไบน่าจะเป็นตัวแทนของความปรารถนาที่จะสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วแต่กลับเปราะบาง

ในขณะที่อาคารบ้านเรือนของอาบูดาบีมีลักษณะเตี้ยๆ ทาสีธรรมชาติหรือสีทรายและเป็นสถาปัตยกรรมสไตล์อิสลาม ดูไบกลับมีแต่ตึกระฟ้ารูปทรงแปลกๆ หน้าต่างกระจกแวววาวเหมือนตึกในหนังอวกาศ แต่อย่างหนึ่งที่ทั้ง 2 รัฐมีเหมือนกันคือ บ้านเมืองสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย และไม่ค่อยเห็นคนออกมาเดินบนถนนหรือทางเท้า ยิ่งถ้าเป็นช่วงหน้าร้อนคนจะอยู่กันแต่ในตึก เพราะอากาศจะร้อนมาก อุณหภูมิสูงถึง 45 - 50 องศา

แม้ว่าน้ำมันล็อตแรกที่มีการส่งออกจากยูเออีในปี ค.ศ. 1962 จะขุดจากเกาะดาสของอาบูดาบี แต่มันกลับเป็นดูไบที่ทำให้โลกได้รู้จักยูเออี ดูไบเป็นเมืองใหญ่ที่พัฒนาตัวเองอย่างรวดเร็ว นอกจากจะเป็นเมืองท่าและเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญแล้ว ยังเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่โตเร็วที่สุดในโลกแห่งหนึ่งและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่สุดในตะวันออกกลาง

เมื่อ 30 ปีก่อน ตึกที่สูงที่สุดของดูไบคือตึกเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ ซึ่งสูงเพียงไม่กี่ชั้น แต่ปัจจุบันนี้เมื่อแหงนหน้าขึ้นไปบนท้องฟ้าจะเห็นตึกระฟ้าตั้งสูงตระหง่านอยู่มากมาย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาดูไบเน้นการพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อนำมาทดแทนรายได้จากการขายน้ำมันที่กำลังจะหมดลง

ชีค โมฮัมหมัด บิน ราชิด อัล มัคทูม เจ้าผู้ครองรัฐดูไบและนายกรัฐมนตรีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีความเชื่อว่า คนเราต้องฝันในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจว่าทำไมดูไบถึงชอบสร้างหรือทำอะไรใหม่ๆ ให้โลกตะลึง

ในปี ค.ศ. 1999 มีการเปิดตัวโรงแรมเบิร์จ อัล อาหรับ เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของดูไบ โรงแรมที่มีรูปทรงเหมือนใบเรือของเรือใบและเป็นโรงแรมหรูระดับ 7 ดาว แห่งแรกของโลกแห่งนี้ทำให้ดูไบได้ปักหมุดลงบนแผนที่โลก แต่ปัจจุบันมันกลายเป็นตึกเบิร์จ คาลิฟา ของดูไบที่สร้างความฮือฮาให้กับชาวโลก เพราะเป็นอาคารสูงที่สุดในโลก ด้วยความสูง 828 เมตร มี 160 ชั้น ใช้เงินลงทุนในโครงการราว 6 แสนล้านบาท

เดิมทีตึกนี้รู้จักกันในชื่อ "เบิร์จ ดูไบ" แต่เนื่องจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในดูไบ ทำให้ ชีค คาลิฟา บิน ซาอิด อัล นาห์ยัน เจ้าผู้ครองนครอาบูดาบีและประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เข้ามาช่วยอุ้มดูไบไว้ จึงมีการเปลี่ยนชื่อตึกมาเป็น "เบิร์จ คาลิฟา" เพื่อเป็นเกียรติแก่ ชีค คาลิฟา

ดูไบเปิดตัวตึกเบิร์จ คาลิฟาอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปีที่แล้ว โดยหวังจะใช้มันช่วยสร้างภาพพจน์ใหม่ของดูไบที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้สินเมื่อ 2 ปีก่อน ตอนเปิดตึกใหม่ ๆ มีคนคาดการณ์ว่าตึกสูงที่สุดในโลกแห่งนี้อาจจะกลายเป็นอนุสาวรีย์แห่งการล่มสลายของดูไบ เพราะตอนนั้นราคาอสังหาริมทรัพย์ในดูไบกำลังตกต่ำสุดๆ จากวิกฤติเศรษฐกิจโลกและของดูไบเอง ซึ่งเท่าที่ได้ไปสัมผัสก็รู้สึกว่ามันค่อนข้างเงียบเหงา ไม่คึกคัก ห้างหรูบางห้างในกรุงเทพฯดูจะคึกคักมากกว่าเสียอีก

ณ ปัจจุบันดูไบยังคงมีการพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์อย่างไม่หยุดยั้ง เพราะถนน 2 ข้างทางยังมีตึกสูงอีกหลายแห่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง

ถึงเวลาต้องโบกมือลาดินแดนที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมอลังการงานสร้างตามแบบฉบับของประเทศมั่งคั่งแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าผืนแผ่นดินที่ฉันยืนอยู่ตอนนี้ครั้งหนึ่งจะเคยเป็นผืนทรายอันแห้งแล้งที่มีเพียงเต็นท์เบดูอินไว้ให้พักพิง

แม้จะผ่านร้อนผ่านหนาวมาเพียง 40 ปี แต่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กลับแข็งแกร่งเกินวัยจนกลายเป็นดินแดนที่คนทั้งโลกต้องจับตามอง แต่อนาคตจะเป็นอย่างไรหรือจะยั่งยืนได้เพียงใด เป็นคำถามที่น่าหาคำตอบยิ่ง


ข้อควรรู้ก่อนเดินทาง

สายการบินเอทิฮัด แอร์เวย์ บินตรงจากกรุงเทพมหานครสู่สนามบินอาบูดาบีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ทุกวันๆ ละ 2 เที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6.30 ชั่วโมง เวลาท้องถิ่นช้ากว่าประเทศไทย 3 ชั่วโมง

การเดินทางไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ต้องขอวีซ่า โดยต้องมีผู้รับรองหรือสปอนเซอร์เป็นคนขอให้ โดยผ่านทางสายการบิน บริษัททัวร์หรือโรงแรมในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ไม่สามารถขอวีซ่าผ่านทางสถานทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่กรุงเทพฯ ได้ เมื่อลงเครื่องแล้วก่อนที่จะผ่านเคาน์เตอร์ตรวจคนเข้าเมือง ผู้โดยสารต้องเข้าไปสแกนม่านตาในห้องข้าง ๆ ก่อนเพื่อบันทึกข้อมูล

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางที่มีความเคร่งครัดในเรื่องการแต่งกายน้อยกว่าประเทศอื่นๆ แต่นักท่องเที่ยวควรแต่งกายให้เหมาะสมเมื่ออยู่ในสถานที่สาธารณะ ผู้หญิงไม่ควรนุ่งกางเกงขาสั้นหรือกระโปรงสั้นรวมถึงเสื้อผ้าที่เน้นส่วนสัดและเปิดเผยให้เห็นผิวหนัง ยกเว้นที่ชายหาดผู้หญิงสามารถสวมกางเกงขาสั้นและชุดบิกินีได้

นักท่องเที่ยวสามารถถ่ายรูปได้ทั่วไป แต่ถ้าต้องการถ่ายภาพชาวเอมิเรตส์หรือคนท้องถิ่นโดยเฉพาะผู้หญิงต้องขออนุญาตเจ้าตัวก่อน และไม่ควรถ่ายภาพตึกที่ทำการรัฐบาลหรือตึกของหน่วยงานทหาร

การซื้อและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องมีใบอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยซึ่งออกให้เฉพาะคนที่ไม่ได้เป็นชาวมุสลิมและต้องมีถิ่นพำนักอยู่ในยูเออีเท่านั้น ตามบาร์ในโรงแรมชั้นนำมีเหล้าเสิร์ฟ แต่ดื่มได้เฉพาะคนที่เป็นแขกของโรงแรมเท่านั้น คนที่ไม่ใช่แขกต้องแสดงใบอนุญาต รัฐอัจมาน เป็นรัฐที่ขายแอลกอฮอล์ได้อิสระ ส่วนรัฐชาร์จาห์ ห้ามขายและห้ามดื่มในทุกกรณี

สกุลเงินของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์คือ ดีแรมห์ (Dirham) 1 ดีแรมห์เท่ากับ 9 บาท










source: http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/lifestyle/20120107/427905/%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B5...%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2.html