วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เทคโนโลยีเปลี่ยน โลกก็เปลี่ยน!

โดย ประสาท มีแต้ม 
     
  เมื่อ 13 ปีที่แล้ว ในขณะที่ผมและกลุ่มลงพื้นที่หมู่บ้านชาวประมงแห่งหนึ่งชายทะเล จังหวัดสงขลา ชายชราคนหนึ่งได้เล่าให้ฟังว่า
      
       "เมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว ในขณะที่ลุงและชาวบ้านกำลังยุ่งอยู่กับการช่วยกันปลดปลาจำนวนมากที่ติดตาอวน มีชายแปลกหน้ามาจากไหนไม่มีใครทราบได้พูดขึ้นว่า "คอยดูนะอีกไม่นานทะเลนี้จะไม่มีปลาให้จับ เพราะญี่ปุ่นจะจับไปหมด"
      
       ลุงคนนี้ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ก็น่าจะมีอายุประมาณ 100 ปีเศษเห็นจะได้ เพราะหน้าตาของท่านรุ่นราวคราวเดียวกับพ่อผม ลุงได้เล่าต่อไปว่า ในตอนนั้นลุงไม่เชื่อเลยพร้อมกับแย้งชายหนุ่มแปลกหน้าไปว่า "จะเป็นไปได้อย่างไร ดูซิ! อวนของพวกเราผืนเล็กนิดเดียว แต่ติดปลามากมายจนปลดกันไม่หมด ต้องไปขอร้องคนทั้งหมู่บ้านให้มาช่วยกันปลด แล้วทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาลสุดลูกหูลูกตา มีปลา ปู กุ้ง หอยมากมาย ใครจะมีปัญญามาจับได้หมด เป็นไปไม่ได้เลย"
      
       ในวันที่ลุงเล่าให้พวกเราฟัง ลุงได้สารภาพว่า "ตอนนั้นลุงไม่เชื่อเลย แต่วันนี้ทุกอย่างก็เป็นจริงตามที่ชายแปลกหน้าคนนั้นได้พูดเอาไว้ไม่มีผิด"
      
       ผมกลับมานั่งไล่เรียงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ แล้วพบว่าในช่วงเวลาที่ชายแปลกหน้าพูดเป็นช่วงที่ประเทศเยอรมนี (ไม่ใช่ญี่ปุ่นตามที่ลุงเล่า) ได้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมตัวใหม่คืออวนตาถี่ที่ทำจากโรงงานด้วยวัตถุเส้นใยสังเคราะห์อย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้ ไม่ใช่ฟั่นด้วยด้ายอย่างในอดีต
      
       อวนที่ผลิตจากระบบอุตสาหกรรมใหม่ (ในขณะนั้น) ได้ส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลทั่วโลกลดลงอย่างรวดเร็ว องค์การอาหารโลกประเมินว่าค่าเฉลี่ยของปริมาณปลาที่เรืออวนลากจับได้ต่อชั่วโมงได้ลดลงจากประมาณ 300 กิโลกรัมลงมาเหลือเพียงประมาณ 20 กิโลกรัมในช่วงเวลา 50-60 ปีเท่านั้น
      
       เรื่องราวที่ผมเล่ามาค่อนข้างยาวนี้ก็เพื่อจะแสดงว่า ความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีได้ส่งผลกระทบในด้านลบต่อชาวโลกอย่างใหญ่หลวง เกินกว่าจินตนาการของคนธรรมดาๆ จะคาดคิดไปถึงได้ หรือราวกับเพลงลูกทุ่งที่เคยโด่งดังในอดีตว่า "โถใครจะเชื่อ" ของยอดรัก สลักใจ
      
       จะว่าไปแล้ว คนรุ่นอายุ 60 ปีต้นๆ อย่างผมเป็นรุ่นที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของสองสังคม คือ สังคมที่ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มาก กับสังคมที่ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ เพราะคนที่เกิดในยุคประมาณ 120 ปีก่อน กับคนที่อายุยังไม่ถึง 50 ปี จะได้มีโอกาสสัมผัสเพียงสังคมเดียวเท่านั้น และจินตนาการไปถึงอีกสังคมหนึ่งไม่ได้ หรือทำใจให้เชื่อไม่ได้ไม่ว่าจะมีหรือเคยมีอีกสังคมหนึ่งเกิดขึ้นในโลกใบนี้ด้วย
      
       ลุงชาวประมงที่ผมเล่า ไม่เชื่ออย่างเด็ดขาดว่าในอนาคตทะเลจะไม่มีปลา ขณะที่เด็กรุ่นนี้ก็ไม่เชื่อว่าในอดีตเคยมีปลาอุดมสมบูรณ์มาก ตอนที่ผมยังเป็นเด็กเล็กราคากุ้งแชบ๊วย (กุ้งทะเลตัวใหญ่) กิโลกรัมละ 5 บาท กินกันจนเบื่อ มาวันนี้กิโลกรัมละ 400-500 บาทยังหาซื้อไม่ค่อยได้
      
       ไม่เพียงเรื่องทรัพยากรสัตว์น้ำที่เพิ่งมีปัญหาการลดลงอย่างฉับพลันในช่วง 50-60 ปีมานี้เท่านั้น การใช้น้ำมันของโลกก็เช่นเดียวกัน ศาสตราจารย์ Dennis L. Meadows นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันในกลุ่ม The Club of Rome ที่เคยออกมาเตือนชาวโลกเมื่อปี 2514 ในเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างล้างผลาญว่า นับตั้งแต่มีมนุษย์เกิดขึ้นในโลกจนถึงปี 2485 (ปีที่เขาเกิด) ชาวโลกใช้น้ำมันไปเพียง 4% เท่านั้น แต่หลังจากนั้นมีการใช้มากถึง 96% ของที่ใช้ไปทั้งหมดในประวัติศาสตร์
      
       จากสองเรื่องที่เล่ามานี้เป็นตัวอย่างด้านลบ ที่มนุษย์ได้นำเทคโนโลยีมาล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติซึ่งควรจะมีการใช้อย่างยั่งยืนชั่วลูกชั่วหลาน ต่อไปนี้เราลองมาดูอีกเรื่องหนึ่งซึ่งตรงกันข้าม คือ การนำเทคโนโลยีด้าน social media หรือ social networking มาใช้ในการเปลี่ยนแปลงสังคม
      
       เมื่อประมาณ 50-60 ปีที่แล้ว ชาวโลกยังไม่มีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ก้าวหน้าอย่างทุกวันนี้ (คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงนี้ แต่ประสิทธิภาพด้อยกว่าปัจจุบันนี้นับล้านล้านเท่า) การลุกขึ้นสู้ของประชาชนหลายประเทศใน 50-60 ปีก่อนได้ชูคำขวัญว่า "การปฏิวัติจะไม่เกิดขึ้นบนหน้าจอโทรทัศน์" (The Revolution Will Not Be Televised เพลงของ Gil Scott-Heron จังหวะที่เร้าใจ สามารถฟังได้จาก Youtube ครับ)
      
       แต่ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีด้าน social media ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว การลุกขึ้นสู้ของประชาชนหลายประเทศในกลุ่มอาหรับได้ชูคำขวัญว่า "การปฏิวัติเริ่มต้นที่การส่งข้อความเพียงข้อความเดียว
      
       ตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงหนึ่งปีกว่าๆ มานี้ก็คือการลุกขึ้นปฏิวัติของหลายประเทศในแอฟริกา ที่เริ่มต้นจากคำถามใน social media ว่า ทำไมราคาอาหารแพงจัง
      
       สิ่งที่ผมอยากจะสรุปในที่นี้ก็คือ สิ่งที่เราเคยเชื่อกันว่ามันเป็นไปไม่ได้เมื่อ 50 ปีที่แล้ว มันกลับเป็นไปได้ในปัจจุบันนี้ นั่นคือเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจนประเด็นร่วมผุดบังเกิดขึ้นและส่งผ่านข้อมูลความคิดถึงกันอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ประชาชนนับล้านออกมาสำแดงพลังของตนเองเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือในรัฐบาลของหลายประเทศได้สำเร็จ
      
       ปัจจุบันคนไทยใช้ Facebook มากถึง 13.7 ล้านคน (มากเป็นอันดับ 16 ของโลก) เป็นเครื่องมือในการสื่อสารถึงกันในสังคมออนไลน์ คำถามก็คือทำไมสังคมไทยจึงไม่ค่อยมีพลังสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนสังคมไปสู่จินตนาการที่สังคมต้องการ หรือเป็นเพราะว่าสังคมเรายังไม่มีจินตนาการ่วมกันเลย
      
       กล่าวเฉพาะในกลุ่มเล็กๆ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สมาคมรักษ์ทะเลไทย ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานกับชาวประมงชายฝั่งได้จัดให้มี "การอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการใช้ระบบสารสนเทศกับงานพัฒนา" ผมเองได้รับเชิญให้ไปบรรยายในประเด็นย่อยที่เกี่ยวกับความสำคัญของข้อมูลข่าวและการสื่อสารต่อสาธารณะสิ่งที่สมาคมฯ คิดก็คือทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ
      
        รวมถึงองค์กรชาวบ้านสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสื่อสารต่อสาธารณะเพื่อฟื้นให้ทรัพยากรสัตว์น้ำกลับคืนมา สมาคมฯ ได้ชูคำขวัญว่า "อยากให้ปลากลับบ้าน ร่วมรักษาทะเลกับเรา" ซึ่งผมเชื่อว่าทำได้ครับ
      
       ถ้าเราสามารถใช้เทคโนโลยีการสื่อสารยุคนี้ทำความเข้าใจกับสาธารณะอย่างจริงจัง มีวิชาการที่ถูกต้องและอย่างต่อเนื่องครับ


Source  : 
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000025898 

วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

กลเกมก่อการร้าย เข้าทางสหรัฐฯเปิดสงครามโจมตีอิหร่านฮุบบ่อน้ำมัน?

ภาพเหตุการณ์ระเบิดกลางกรุงเทพฯ ที่ถนนสุขุมวิท 71 เมื่อวันที่ 14 ก.พ.

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สงครามก่อการร้ายของศัตรูคู่อาฆาตอิหร่าน-อิสราเอล ที่มีชาติมหาอำนาจตะวันตกอยู่เบื้องหลัง นำไปสู่การสร้างสถานการณ์ความรุนแรงทั่วโลก เพื่อสหรัฐฯ จะได้ใช้เป็นข้ออ้างและสร้างเงื่อนไขบุกเข้าโจมตีอิหร่านเหมือนกรณีโจมตีอิรัก ตามเป้าหมายยึดครองศูนย์กลางแหล่งพลังงานของโลก พร้อมกับดับอหังการ์ “อักษะแห่งความชั่วร้าย” แห่งโลกมุสลิม



เหตุการณ์ระเบิดกลางกรุงเทพฯ บนถนนสุขุมวิท 71 เมื่อวันอังคาร (14 ก.พ.) นับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ไทยถูกใช้เป็นสมรภูมิสงครามก่อการร้ายของศัตรูคู่อาฆาตอิหร่านกับอิสรเอลตัวแทนของโลกตะวันตกหรือสหรัฐอเมริกา คล้อยหลังจากการก่อเหตุระเบิดที่พุ่งเป้าสังหารนักการทูตอิสราเอลในอินเดียและจอร์เจียเมื่อวันจันทร์ (13 ก.พ.) แต่ทั้งสามเหตุการณ์ได้เกิด “ความผิดพลาด” ของกลุ่มผู้ก่อการร้ายทำให้เป้าหมายสังหารไม่บรรลุผล



พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ดูแลฝ่ายความมั่นคง ได้ตอบกระทู้ในสภาเมื่อวันพฤหัสบดี (16 ก.พ.) ว่า ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าเป็นการก่อการร้าย เพราะวัตถุระเบิดมุ่งกระทำต่อตัวบุคคลไม่ใช่เหตุรุนแรงขนาดใหญ่อย่างก่อการร้าย ทั้งยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับนายอาทริส อุสเซน สัญชาติสวีเดน เชื้อชาติเลบานอนที่จับได้ก่อนหน้านี้ รวมทั้งการเชื่อมโยงกับกลุ่มฮิซบอลลอฮ์กับประเทศอิหร่านก็ไม่เกี่ยวข้อง เพราะเป็นคนละสัญชาติ เชื้อชาติ และระเบิดก็เป็นคนละชนิดกันอย่างเห็นได้ชัด ส่วนผู้ต้องหาทั้งหมดที่ถือพาสปอร์ตอิหร่านนั้น กำลังตรวจสอบเอกสารตัวบุคคลว่าถือสัญชาติอิหร่านแล้วเป็นคนอิหร่านจริงหรือไม่



ขณะที่สื่อต่างประเทศ ต่างรายงานว่า เหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นจุดชนวนให้อุณหภูมิความขัดแย้งของคู่อาฆาตทั้งสองเพิ่มดีกรีความร้อนแรงถึงขีดสุด โดย นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอง ออกมาระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเปิดโปงให้เห็นถึง “กิจกรรมก่อการร้าย” ของอิหร่าน ซึ่งประเทศทั้งหลายทั่วโลกต้องช่วยกันประณามและหาทางหยุดยั้ง



สื่อของอิสราเอล ยังรายงานว่า นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ชี้ชัดว่า อิหร่านกับกลุ่มฮิซบอลลอฮ์ อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดรถยนต์โจมตีสถานทูตอิสราเอลในอินเดียและจอร์เจีย และเชื่ออีกว่า อิหร่านและกลุ่มฮิซบอลลอฮ์อยู่เบื้องหลังการโจมตีในไทยด้วย



แต่ทาง รามิน เมห์มานปารัสต์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน สวนกลับทันควันว่า การกล่าวหาของอิสราเอล ซึ่งอิหร่านเรียกขานว่า “ระบอบปกครองไซออนนิสต์ (ลัทธิฟื้นชาติยิว)” เป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้น เขายังบอกว่า ข้อกล่าวหาของอิสราเอลมีขึ้นหลังจากสหรัฐอเมริกา เคยกล่าวหาในเดือนต.ค.ปีที่แล้วว่า อิหร่านวางแผนลอบสังหารเอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบียประจำกรุงวอชิงตัน รวมทั้งกรณีที่อินเดียและจอร์เจียซึ่งทั้งหมดต่างเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริง



การโยนความผิด การกล่าวหาซึ่งกันและกันของอิสราเอลและอิหร่านจากเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้งทั่วโลก บวกกับความซับซ้อนของความขัดแย้งในประเทศภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีประเทศมหาอำนาจชักใยอยู่เบื้องหลัง ทำให้ยากที่จะรู้ว่าอะไรคือความจริง อะไรคือความเท็จ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของผู้ก่อการร้ายที่ทั้งสองฝ่ายต่างให้การสนับสนุน หรือเป็นการจัดฉากของประเทศมหาอำนาจ ที่สร้างเงื่อนไขเพื่อความชอบธรรมในการเปิดสงครามสมรภูมิตะวันออกกลางระลอกใหม่ โดยมี อิหร่าน เป็นเป้าหมายโจมตี



แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือน ญี่ปุ่น จะกังวลและได้กลิ่นอายสงครามตะวันออกกลางโชยมา จึงเตือน เอฮุด บารัค รมว.กลาโหมของอิสราเอล ที่กำลังตระเวนเยือนชาติเอเชียว่า หากอิสราเอลใช้ปฏิบัตการทางทหารต่ออิหร่านก็อาจเป็น “อันตรายร้ายแรงที่สุด” เพราะสถานการณ์ปัจจุบันมีความเสี่ยงที่จะ “ยกระดับความรุนแรง”



สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้ง “ASTVผู้จัดการ” เป็นอีกผู้หนึ่งที่เชื่อว่า ความขัดแย้งของโลกมาอยู่ที่อเมริกากับอิหร่าน โดยโลกตะวันตกใช้อิสราเอลเป็นตัวแทน และใช้หน่วยสืบราชการลับกลางหรือซีไอเอออกปฏิบัติการ เช่น การลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน ที่สหรัฐอเมริกา อ้างว่าโครงการพัฒนานิวเคลียร์เพื่อสันติของอิหร่านนั้นเป็นภัยคุกคาม ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นการสร้างสถานการณ์เผชิญหน้าอย่างชัดเจน



ความจริงแล้ว ข้อกล่าวหาโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน อาจเหมือนกรณีสหรัฐฯ ใช้ข้อกล่าวหาว่าโจมตีอิรักว่ามีอาวุธชีวภาพ และอาวุธทำลายล้างสูง โดยซ่อนความกระหายครอบครองเส้นทางขนส่งและฮุบบ่อน้ำมันเอาไว้เบื้องหลัง



หากมองย้อนกลับไป นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาต่อภูมิภาคตะวันออกกลาง แจ่มชัดมาตั้งแต่หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วว่า ต้องการเข้ามาควบคุมศูนย์กลางแหล่งพลังงานของโลกเพื่ออำนาจทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา



อดีตรองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ดิ๊ก เชนีย์ เคยประกาศไว้ว่า อำนาจในการควบคุมท่อส่งน้ำมันเป็น “เครื่องมือในการคุกคามและขู่กรรโชก” หากอำนาจนั้นตกไปอยู่ในมือประเทศอื่นเว้นแต่สหรัฐอเมริกา และหากสหรัฐฯสามารถควบคุมแหล่งพลังงานในตะวันออกกลางได้ สหรัฐฯ ก็จะมีอำนาจวีโต้เหนือประเทศอุตสาหกรรมคู่แข่งอื่นๆ หรือประเทศอื่นๆ ทั่วโลก



เจมส์ เบเกอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เคยกล่าวไว้ในปี ค.ศ. 2001 ว่า “...โลกกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะหมิ่นเหม่ต่อการใช้ความสามารถในการผลิตน้ำมันจนถึงขีดสุด มีโอกาสเกิดวิกฤตการณ์น้ำมัน ที่จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงยิ่งกว่าครั้งใดในรอบสามทศวรรษ ปัจจัยนี้จะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายทางนโยบายของสหรัฐฯ ในทุกๆ ด้าน ทั้งนโยบายที่มีต่อตะวันออกกลาง อดีตสหภาพโซเวียตและจีน รวมทั้งการต่อสู้กับการก่อการร้ายระหว่างประเทศ”



แต่ทว่า ยิ่งสหรัฐอเมริกา ต้องการควบคุมแหล่งพลังงานในภูมิภาคตะวันออกกลางมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งสร้างความขัดแย้งและแรงต่อต้านเพิ่มเท่าทวีคูณ โดยเฉพาะ อิหร่าน ที่ท้าทายไม่ยอมก้มหัวให้ “มาเฟียโลก” สหรัฐอเมริกา กระทั่งอาจถือได้ว่า อิหร่าน เป็นหนึ่งในประเทศที่ท้าทายอำนาจของสหรัฐอเมริกามากที่สุดในเวลานี้ กรณีโครงการนิวเคลียร์ ที่อิหร่านมีท่าทีแข็งกร้าวและเดินหน้าเสริมสมรรถนะยูเรเนียมแม้ว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะมีมติคว่ำบาตรก็ตาม เป็นตัวอย่าง



นอกจากนั้น อิหร่าน ยังเร่งสร้างฐานอำนาจในภูมิภาคและขยายอิทธิพล ทั้งยังวางยุทธศาสตร์การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และเป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้าและบริการระหว่างอ่าวเปอร์เซียและอัฟกานิสถานรวมถึงจีน



ความแข็งแกร่งของอิหร่าน ดูเหมือนสหรัฐอเมริกา จะมีส่วนช่วยทางอ้อม เพราะหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ สหรัฐอเมริกา ทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายโดยล้มล้างระบอบตาลีบานในอัฟกานิสถาน และโค่นล้มซัดดัม ฮุสเซน ศัตรูสำคัญของอิหร่านตั้งแต่อดีตสิ้นซาก เมื่อบวกกับรายได้จากการส่งออกน้ำมัน ชัยชนะของกลุ่มฮามาสในการเลือกตั้งปาเลสไตน์ และความสำเร็จของกลุ่มอิซบอลลอฮ์ ยิ่งหนุนส่งให้อิหร่าน กลายเป็นประเทศที่มีอำนาจและทรงอิทธิพลโดดเด่นขึ้นมาครอบงำภูมิภาคตะวันออกกลางเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ



ความรุ่งโรจน์ของอิหร่าน ที่สหรัฐอเมริกา ถือว่าเป็น “อักษะแห่งความชั่วร้าย (Axis of Evil)” โดยเชื่อว่าประเทศเหล่านี้ ซึ่งประกอบด้วย อิรัก อิหร่าน และเกาหลีเหนือ กำลังพัฒนาอาวุธร้ายแรงและสามารถที่จะส่งต่ออาวุธเหล่านั้นให้กับขบวนการก่อการร้ายได้ เป็นเรื่องที่สหรัฐอเมริกายอมไม่ได้



การใช้ข้อกล่าวหาอิหร่านสนับสนุนขบวนการก่อการร้ายกลุ่มอิซบอลลอฮ์ก่อเหตุรุนแรงทั่วโลก ทั้งที่ผู้ติดตามสถานการณ์โลกมุสลิม ยืนยันว่า ฮิซบอลลอฮ์ ไม่ก่อการร้ายนอกพื้นที่ตะวันออกกลาง และข้อกล่าวหาพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อสร้างเงื่อนไขโจมตีและยึดครองอิหร่าน นอกจากจะสกัดกั้นอิหร่านไม่ให้ท้าทายอำนาจและแผ่อิทธิพลออกไปแล้ว สหรัฐอเมริกายังจะสามารถตักตวงประโยชน์จากการยึดครองแหล่งพลังงานของโลก และมีอำนาจต่อรอง ถ่วงดุล กับกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันมากขึ้น ในทางทางเศรษฐกิจสหรัฐฯจะมีบทบาทในการเพิ่มหรือลดการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่าน ส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกและเศรษฐกิจโดยรวม



อย่างไรก็ตาม ใช่ว่า อิหร่านจะเป็นหมูสนาม เพราะหากถูกกดดันหรือถูกโจมตี อิหร่านอาจตอบโต้ด้วยการใช้วิธีลดการส่งออกน้ำมัน หรือหยุดการส่งออกน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันโลกผันผวนอย่างหนัก กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกทรุดตัวลง โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมรายใหญ่จะได้รับผลกระทบมากเสียยิ่งกว่าที่อิหร่านจะได้รับเสียอีก



กรณีตัวอย่างล่าสุด คือ การขยับตัวขึ้นอย่างแรงของราคาน้ำมัน เมื่อวันพุธ (15 ก.พ.) หลังจากกระทรวงการต่างประเทศ อิหร่าน เรียกเอกอัครราชทูต 6 ชาติสมาชิกอียู ว่ากำลังพิจารณาระงับการขายน้ำมันให้ซึ่งเป็นการตอบโต้สหภาพยุโรปที่ออกมาตรการคว่ำบาตรยุติการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน ซึ่งเป็นผลมาจากข้อสงสัยว่าอิหร่านกำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่อิหร่านยืนยันว่าเป็นโครงการนิวเคลียร์เพื่อสันติ



การเปิดสงครามโจมตีอิหร่านของสหรัฐฯ อาจเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ หากการสร้างสถานการณ์เผชิญหน้าสุกงอมได้ที่ แต่อุดมการณ์ต่อต้านอเมริกันก็จะแผ่กระจายไปทั่วภูมิภาคตะวันออกกลางและประเทศมุสลิมอื่นๆ ทั่วโลก โดยมีอิหร่านเป็นหัวหอกและต้นแบบในการต่อสู้กับมาเฟียโลก นั่นเท่ากับว่าผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา ในภูมิภาคตะวันออกกลางก็จะถูกสั่นคลอน เสี่ยงต่อภัยคุกคามมากขึ้นเช่นกัน อิสราเอลซึ่งเป็นตัวแทนของสหรัฐฯ ก็ย่อมมีความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีมากขึ้นกว่าเดิม การปะทะกันระหว่างโลกตะวันตกกับโลกมุสลิมที่รุนแรงอาจ “ยกระดับ” กลายเป็นสงครามโลกครั้งที่สาม สงครามที่สุดท้ายแล้วไม่มีใครต้องการ

Source : http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9550000021789

วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

แฉเอกชนอังกฤษใช้พลังงานเปลือง ภาพถ่ายฟ้องเปิดไฟทิ้งทั้งเมือง

ฮัฟฟิงตันโพสต์รายงานผลสำรวจโดยบริษัทบริติชแก๊ส ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการไฟฟ้าและพลังงานรายใหญ่ของอังกฤษเผยว่า บริษัทหลายแห่งในเกาะอังกฤษสิ้นเปลืองค่าไฟร้อยละ 46 ไปกับการเปิดไฟทิ้งไว้ในสำนักงานหลังเวลาทำงาน (08.00 - 18.00 น.)
รายงานนี้ได้จากการศึกษาข้อมูลมิเตอร์อย่างละเอียดกว่า 6,000 แห่ง และใช้เครื่องสแกนความร้อนถ่ายภาพย่านธุรกิจในเมืองต่างๆ ยามค่ำคืน เพื่อตรวจสอบว่ามีอาคารใดใช้พลังงานในช่วงเวลากลางคืนบ้าง โดยสีส้มและเหลืองแสดงว่ามีพลังงานหรือรังสีแผ่ออกมาจากอาคาร สีน้ำเงินเข้มคือจุด ที่ไม่มีการใช้พลังงาน
บริติชแก๊สชี้ว่า กรุงลอนดอนและเมืองเบอร์มิงแฮมในอังกฤษมีการใช้พลังงานอย่างประหยัดในหลายพื้นที่ ยกเว้นแต่เพียงลานจอดรถหรือห้างสรรพสินค้าบางแห่งที่เปิดไฟไว้ตอนกลางคืน
ขณะที่เมืองเอดินเบอระในสกอตแลนด์ หรือเมืองแมนเชสเตอร์ในอังกฤษ กลับมีหลายส่วนเป็นสีเหลือง แสดงว่าเป็นการใช้พลังงานที่สิ้นเปลือง บริติชแก๊สสรุปว่าบริษัทหลายแห่งสามารถประหยัดค่าไฟได้ถึง 1,000 ปอนด์ต่อปี
ทางด้านสถาบันศึกษาปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก อันเป็นโครงการร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและองค์กรกรีนพีซในอังกฤษ เสนอไว้เมื่อเดือนที่แล้วว่า การใช้พลังงานที่สิ้นเปลืองในหลายเขตธุรกิจเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องแก้ไขอันดับแรกๆ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ ทุกครัวเรือนและทุกกิจการในอังกฤษใช้พลังงานที่ปราศจากคาร์บอนภายในปี 2593
 
 
 
Source : http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROMFpXTXdNVEUyTURJMU5RPT0=&sectionid=TURNeU5nPT0=&day=TWpBeE1pMHdNaTB4Tmc9PQ==

วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สงครามโลกครั้งที่ 4

หากท่านมีเงินหรือทองจำนวนหนึ่งที่สะสมได้จากการทำงานอย่างหนักและด้วยความซื่อสัตย์มาตลอดชีวิตอยู่ในธนาคารในประเทศไทยที่เริ่มเกิดความไม่แน่นอนในทางการเมืองและเศรษฐกิจแล้ว ท่านจะตัดสินใจทำอะไรกับสมบัติเหล่านี้? ท่านอาจจะตัดสินใจขนออกไปฝากในธนาคารในประเทศที่คิดว่ามีความปลอดภัยกว่า คำถามต่อไปก็คือประเทศอะไรที่ปลอดภัยที่ท่านพอจะไว้ใจได้ในขณะนี้? ผมไม่ทราบว่าประเทศไทยมีทองหรือเงินฝากไว้ที่ประเทศใดในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา หากมีจริงก็คงจะต้องติดตามข่าวประเทศเวเนซุเอลาที่ถอนทองจำนวนแรกออกจากประเทศอังกฤษ 200 กว่าตันคิดเป็นเงินประมาณ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังกำลังจะถอนส่วนที่สองหรือสามอีกในเร็วๆ นี้


ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเป็นโรคที่ยังรักษาไม่หายและอาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีจึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้รัฐบาลเวเนซุเอลาตัดสินใจดังกล่าว คำถามที่สองก็คือการตัดสินใจส่งทองกลับบ้านจะหนีพ้นอันตรายได้จริงหรือ? หากว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลจากความหมดความน่าเชื่อถือในประเทศอังกฤษแล้วเวเนซุเอลาคงต้องหาประเทศที่มีระดับความน่าเชื่อถือที่สูงกว่า คำถามที่สามคือประเทศที่ว่านี้อยู่ไหน? ประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส หรือ สหรัฐฯ สหรัฐฯเป็นประเทศที่แปลกคือมีเงินไม่ขาดมือ แม้ขาดดุลการค้ามหาศาล ซึ่งคำนวณถึงวันนี้แล้วทุกครัวเรือนเป็นหนี้ประมาณ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯเป็นอย่างต่ำ สหรัฐฯต้องปัดกวาดบ้านให้ได้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง สงครามของโลกครั้งต่อไปนี้สหรัฐฯจะไม่มีญี่ปุ่น เยอรมนี อิตาลี เป็นคู่ต่อสู้หลักแต่จะเป็นทุกประเทศที่ไม่มีข้อตกลงทางการค้าทวิภาคีกับสหรัฐฯซึ่งสหรัฐฯได้ตกลงไปแล้ว 17 ข้อตกลงและล่าสุดได้เพิ่มอีก 3 ประเทศคือเกาหลีใต้ ปานามาและโคลัมเบีย

หากมองไปข้างหน้าซัก 5 ปีเราก็อาจได้เห็นจำนวนข้อตกลงเพิ่มขึ้นระหว่างประเทศในกลุ่ม อาเซียน กับสหรัฐฯ และเมื่อเรามองให้ไกลออกไปอีกเราก็จะเห็นความเชื่อมโยงระหว่าง อาเซียนกับจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เมื่อถึงเวลานั้นสงครามก็อาจจะยุติเพราะสหรัฐฯได้ไปกว่าครึ่งโลกซึ่งเป็นครึ่งโลกที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในศตวรรษ 21

สิ่งที่เราจะได้เห็นหลังสงครามโลกครั้งนี้คือการปรับระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯเพื่อลดตัวเลขขาดดุลการค้าด้วยการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีสูงโดยเฉพาะที่สัมพันธ์กับการผลิตและบริการที่ลดก๊าซเรือนกระจก ขณะเดียวกันสหรัฐฯก็จะต้องแก้ปัญหาการบริโภคเกินขนาด(Overconsumption) ด้วยการทบทวนโครงสร้างภาษีในประเทศเสียใหม่ แต่การแก้ปัญหาก็คงจะยาก หากนักการเมืองจากสองพรรคของสหรัฐฯยังแตกแยกอย่างแรง(Polarized)เช่นในปัจจุบัน การประท้วงที่เรียกว่า "Occupy Wall Street" ในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องที่สหรัฐฯทำข้อตกลงการค้าเสรีมากเกินไป แต่มาจากสาเหตุของความแตกต่างของรายได้ระหว่างผู้บริหารและพนักงานซึ่งมากถึง 300 เท่า สร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น ซึ่งแปลว่าตลอดเวลาประมาณ 40 ปีที่ผ่านมานั้นการจัดการเศรษฐกิจของสหรัฐฯมีปัญหาคือผลิตภาพการผลิตสินค้าตกต่ำแต่กลับไปเพิ่มในภาคบริการทางการเงินซึ่งไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มที่แท้จริง ประเด็นสุดท้ายคือสหรัฐฯ ต้องทบทวนนโยบายเศรษฐกิจที่ปล่อยให้ "ตลาด" เป็นตัวกำหนดมากเกินไป เครื่องมือที่สหรัฐฯ กำลังใช้อยู่คือการทำข้อ ตกลงฯดังที่ได้กล่าวข้างต้น และสุดท้ายผมเชื่อว่าสหรัฐฯ จะแก้ปัญหาการเมืองพร้อมๆ กับลดช่องว่างระหว่างชนชั้นได้

ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องเลือกเดินทางร่วมไปกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคนี้ให้ได้ การจะมีข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศใดนั้นไม่เป็นการสร้างปัญหาเพิ่มหากเรามีเป้าพัฒนาเศรษฐกิจประเทศอย่างชัดเจน



จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,705 15-18 มกราคม พ.ศ. 2555

ไนจีเรีย:ตัวอย่างของการบริหารนโยบายพลังงานที่ล้มเหลว

ไนจีเรียเป็นประเทศในกลุ่มผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าส่งออก (OPEC) และเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา แต่ก็ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เรียกว่า ต้องคำสาปจากน้ำมันหรือ oil curse เพราะประชาชนชาวไนจีเรียไม่ได้รับประโยชน์หรือความมั่งคั่งจาก ทรัพยากรอันมีค่าของตนเท่าที่ควร เพราะความฉ้อฉลโกงกินของนักการเมืองและข้าราชการ ประชาชนชาวไนจีเรียไม่ได้รับส่วนแบ่งที่เป็นธรรมจากรายได้ที่ได้จากการขายทรัพยากรอันมีค่าอย่างทั่วถึง


การแบ่งสรรรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่เป็นธรรมนี้ ประกอบกับความยากจนและยากแค้นในการดำรงชีวิต ได้ทำให้ขบวนการก่อการร้ายในไนจีเรียเติบโตอย่างรวดเร็ว และฟักตัวจนกลายเป็นปัญหาระดับชาติ คุกคามการทำธุรกิจขุดเจาะสำรวจและผลิตน้ำมันของบริษัทน้ำมันข้ามชาติที่เข้ามาร่วมทุนและได้รับสัมปทานจากรัฐบาลไนจีเรีย ทำให้การผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียมีปัญหาสะดุด หรือขาดตอนไม่ราบรื่นอยู่เป็นประจำ

นอกจากนี้ ด้วยความที่รัฐบาลไนจีเรียไร้ความสามารถในบริหารความมั่งคั่งจากรายได้จำนวนมหาศาลที่ได้จากการขายน้ำมันเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดีได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงเลือกวิธีที่ง่ายที่สุดและนิยมใช้กันในหมู่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันทั่วโลก นั่นก็คือการตั้งราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศให้ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง และตรึงราคาน้ำมันไว้เป็นระยะเวลายาวนาน โดยรัฐบาลทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากในการอุดหนุนราคาพลังงาน

แต่นโยบายดังกล่าวก็กลายเป็นดาบสองคม เพราะการที่รัฐบาลตั้งราคาน้ำมันสำเร็จรูปต่ำกว่าต้นทุนและควบคุมราคาไม่ให้สูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ไม่มีใครสนใจลงทุนสร้างโรงกลั่นน้ำมันในไนจีเรีย ดังนั้นไนจีเรียจึงต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศประมาณ 70% ของปริมาณการใช้ทั้งหมด โดยนำเข้าจากโรงกลั่นน้ำมันในยุโรปและตะวันออกกลาง ทั้งๆที่ตัวเองเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่รายหนึ่งของโลก กลายเป็นว่าไนจีเรียส่งออกน้ำมันดิบไปขายในราคา 100 $/bbl. แต่ต้องไปซื้อน้ำมันสำเร็จรูปมาใช้ในราคา 120-130 $/bbl. และปริมาณการใช้ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะรัฐบาลไปกดราคาเอาไว้ให้ต่ำกว่าความเป็นจริง ประชาชนก็ใช้กันอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ประหยัด

การอุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศดังกล่าว นอกจากต้องสิ้นเปลืองงบประมาณมากจนรัฐบาลต้องใช้เงินถึง 7,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (233,100 ล้านบาท) ในการอุดหนุนราคาน้ำมันในแต่ละปี และถ้ายังคงอุดหนุนกันต่อไปในระดับนี้อีกเพียง 3-4 ปี ไนจีเรียก็จะเผชิญกับภาวะวิกฤติหนี้สาธารณะอย่างที่บางประเทศในยุโรปกำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้แล้ว ยังทำให้รัฐบาลมีเงินไปใช้จ่ายในโครงการพัฒนาประเทศหรือโครงการทางด้านสวัสดิการสังคมน้อยลงอีกด้วย

ด้วยสาเหตุดังกล่าว ประธานาธิบดี Goodluck Jonathan ผู้ซึ่งเพิ่งชนะเลือกตั้งเมื่อเร็วๆนี้ จึงได้ตัดสินใจยกเลิกการอุดหนุนราคาน้ำมัน และประกาศขึ้นราคาน้ำมันเบนซินไปกว่าเท่าตัว จากเดิมซึ่งเคยตรึงราคาอยู่ที่ 12.64 บาท/ลิตร โดยประธานาธิบดีระบุว่าจะนำเงินที่ประหยัดได้นี้ไปลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน อย่างเช่น โรงไฟฟ้า และถนนหนทาง เป็นต้น แต่ประชาชนก็ไม่พอใจและพากันออกมาประท้วง รวมทั้งมีการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ทั่วประเทศ กลายเป็นวิกฤติทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งอาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับไนจีเรียได้ถึงวันละ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเลยทีเดียว ถ้ามีการปิดกั้นการส่งออกน้ำมันจริง อีกทั้งยังจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น และกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอีกด้วย

จะเห็นว่าปัญหาสำคัญที่เป็นปัญหาพื้นฐานของไนจีเรียคือปัญหาทางโครงสร้างการบริหารจัดการรายได้จากทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม และความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในการกระจายความมั่งคั่งไปสู่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่รัฐบาลกลับเลือกที่จะไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการอุดหนุนและตรึงราคาพลังงาน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาว

ดังนั้นแม้แต่ในประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย แต่ถ้าบริหารนโยบายพลังงานผิดพลาดก็อาจนำประเทศชาติไปสู่หายนะได้ ทั้งนี้เพราะทรัพยากรธรรมชาตินั้นมีคุณค่าในตัวของมันเอง เมื่อเราค้นพบก็ต้องใช้ให้คุ้มค่าและต้องใช้อย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่สักแต่ว่าใช้ให้หมดๆไปในคนรุ่นเรา ต้องคำนึงถึงคนรุ่นหลังด้วย กรณีไนจีเรียจึงเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า แม้แต่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันเอง ถ้ากำหนดทิศทางพลังงานไม่ถูกต้องเสียแล้ว มีทรัพยากรธรรมชาติมากมายก็ไม่มีประโยชน์ครับ



จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,708 26-28 มกราคม พ.ศ. 2555

วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ชุมชนยุคใหม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มของตัวเองมาตลอด ด้วยความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกันทำงาน เพื่อการพัฒนาและความอยู่รอดของตัวเอง โดยเฉพาะในสถานที่ที่ห่างไกล ภาครัฐยังเข้าไปช่วยไม่ถึง มีทรัพยากรธรรมชาติอะไรที่มีอยู่ก็นำมาใช้หรือดัดแปลงให้เข้ากับภาวะที่ต้อง การ ทำให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนของตัวเอง มิต้องรอคอยจากภาครัฐให้มาช่วยเหมือนก่อนแล้ว

ชุมชนบ้านคลองเรือ ต.ปากทรง อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร เป็นหนึ่งของชุมชนยุคใหม่จากหลายชุมชนในประเทศที่รวมตัวกันสร้างสิ่งที่เขา ขาดแคลนคือไฟฟ้า จากทรัพยากรน้ำที่เขามีอยู่คือต้นน้ำพะโต๊ะ สร้างเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำเกิดเป็นกระแสไฟฟ้าได้ใช้ในหมู่บ้านของเขา บริหารจัดการกันเอง เป็นตัวอย่างของความสามัคคีร่วมใจกันอย่างดี

ประวัติของหมู่บ้านคลองเรือ นายมนัส คล้ายรุ่ง ผู้ใหญ่บ้านได้เล่าให้ฟัง เมื่อ 40 ปีก่อนภาคใต้มีปัญหาจากการทำแร่ดีบุก คนจาก 17 จังหวัดทั่วประเทศจึงหันมาที่ตำบลนี้ทำทั้งดีบุกและปลูกพืชไร่ไปด้วย ต่อมาเมื่อมีการควบคุมเรื่องที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ จึงได้ตั้งเป็น กฎระเบียบป่าชุมชน ร่วมกับป่าไม้ ผู้ที่มาอยู่ก่อนปี 2536 จะมีสิทธิทำกินในที่ดินห้ามซื้อขาย มีกรรมการควบคุมเข้มและปลูกไม้ยืนต้นมาก ภายใต้โครงการ คนอยู่ ป่ายัง

ตำบลนี้อยู่ลึกเข้าไปจากถนนสายหลังสวน-ระนอง ราว 12 กม. ทางไม่ดีนัก ได้มีการรวมตัวเพื่อจะหาไฟฟ้ามาใช้ จากคณะทำงานประกอบด้วย อ.จิตติ มงคลชัยอรัญญา แห่งคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. เป็นหัวหน้า พร้อมด้วยคณะทำงานจากคณะวิศวกรรม มอ. และศูนย์การเรียนรู้ มหาวิทยาลัยชีวิตเมืองนครศรีธรรมราช, กฟผ., กรมอุทยานแห่งชาติ หน่วยอนุรักษ์และจัดการลุ่มน้ำพะโต๊ะ และชาวบ้านคลองเรือ ต.ปากทรง หมู่ 9 ได้ร่วมกันคิดและผลักดัน จนเกิดเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 100 กิโลวัตต์ สำเร็จได้ใช้ในหมู่บ้านพร้อมบริหารจัดการกันเอง เมื่อ 24 ม.ค. 2555

เมื่อ 26 ม.ค. คณะของ กฟผ. สุทธิพงษ์ เทพพิทักษ์, ธาตรี ริ้วเจริญ, เยาวลักษณ์ โหตรภวานนท์, วราทิพย์ อานันทนสกุล, ศิริชัย  อายุวัฒน์, ฐิติภัทร์ ภาณุไพศาล และคณะ ได้นำสื่อมวลชนไปร่วมในพิธีเปิดเวทีสมัชชาเครือข่ายจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและพลังงานอย่างยั่งยืน มาจากทั่วประเทศเกิน 1,000 คน มี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ร่วมแสดงปาฐกถาพิเศษด้วย โรงไฟฟ้าที่เปิดในวันนี้สำเร็จจากความร่วมมือหลายฝ่าย กฟผ. เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนเรื่องนี้

ธนาคารต้นไม้ เป็นจุดเด่นอันหนึ่งของชุมชนนี้ ชัยรัตน์ แว่นแก้ว เป็นบ้านหนึ่งที่ได้ไปดู เป็นกฎของหมู่บ้านที่ต้องปลูกเพื่อเป็นทรัพย์สินของครอบครัว ได้ปลูกตั้งแต่ปี 2536 ไม้ยืนต้นเกิน 500 ต้น มูลค่าเกิน 5,000 บาท เป็นหลักทรัพย์ใช้ค้ำประกันได้ ทุกครัวเรือนปลูกกันหมด ได้พบผู้คนหลายท่าน ต่างให้ความเห็นที่น่าสนใจ พงศา ชูแนม หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำได้บอกว่า ชุมชนนี้ได้ทำ 3 อย่างเป็นหลัก ธนาคารต้นไม้, เศรษฐกิจพอเพียงระดับชุมชน ให้พึ่งตัวเองได้ หากถูกตัดขาดจากภายนอก เช่น ถนนขาดจากอุบัติภัยก็มีชีวิตอยู่ได้ และ การเข้าถึงเอาทรัพยากรมาเป็นพลังงาน

ประยงค์ สุทธิคณะ พนักงานสาธารณสุขเขตนี้ ได้บอกถึงโรคของประชาชนในหมู่บ้านนี้ โรคเอชไอวี ยาเสพติด ไม่มี มาลาเรียประปราย ส่วนใหญ่สุขภาพดีร่างกายแข็งแรงต้องทำมาหากินทุกวัน สารพิษจากปุ๋ยเคมีไม่มี ใช้ปุ๋ยชีวภาพ ปาล์ม กาแฟ หมาก มะพร้าว ทุเรียน มังคุด งามไปหมด

รางวัลต่าง ๆ ที่ได้รับ ธงพิทักษ์ป่าเพื่อรักษาชีวิตในฐานะรักษาป่ายอดเยี่ยม รางวัลยอดเยี่ยมแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ, รางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอยู่เย็นเป็นสุข, รางวัลตำบลเขียวขจีดีเด่น, มาตรฐานโฮมสเตย์ไทย, ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง และรางวัลชนะเลิศการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ครั้งที่ 4 เมื่อปี 2553

คณะได้ไปดูธนาคารต้นไม้ ฟังการสัมมนาเหล่าสมัชชาสิ่งแวดล้อม ขึ้นไปดูโรงไฟฟ้าพลังน้ำต้องเดินทางเลาะไหล่เขาไปอีก 2 กม. ทางยังไม่ดี ได้เห็นถึงความลำบากอุตสาหะของชุมชนที่ช่วยกันทำจนสำเร็จ

ชุมชนบ้านคลองเรือ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร เป็นชุมชนหนึ่งจากหลายแห่งทั่วประเทศที่มีศักยภาพเข้มแข็ง สามารถเอาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ เป็นแบบอย่างที่ดีของการพัฒนาชุมชนยุคใหม่ ข้อมูลเพิ่มเติม วราทิพย์ อานันทนสกุล 08-1874-2127.



Source : http://www.dailynews.co.th/article/1490/10786

แฉเลห์กลลักลอบนำเข้าน้ำมันทอดซ้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน - เพื่อสุขภาวะเพื่อสังคมไทย

น้ำมันทอดซ้ำยังเป็นภัยสุขภาพใกล้ตัวคนไทย เป็นสารก่อมะเร็งและโรคอ้วนตามมา ขณะที่ภาครัฐยังไม่มีมาตรการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ทั้งที่เมื่อจัดระบบแล้วจะทำผลพลอยได้ผลิตเป็นไบโอดีเซลได้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดแถลงข่าว “ยุทธศาสตร์จัดการน้ำมันทอดซ้ำ เพื่อป้องกันมะเร็งและความดันโลหิตสูงในคนไทย”

นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แต่ละปีคนไทยบริโภคน้ำมันพืชกว่า 800,000 ตัน ส่วนใหญ่นิยมรับประทานอาหารประเภททอด โดยพบว่า มีร้านค้าจำนวนมากที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ เป็นอันตรายต่อสุขภาพเพราะมีสารอันตราย คือ สารโพลาร์ (Polar Compounds) เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และสารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons :PAHs) เป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งพบได้ทั้งในน้ำมันทอดอาหารที่เสื่อมสภาพ และในไอที่ระเหยขณะทอดอาหาร จึงมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้ทั้งผู้ขายและผู้บริโภค

นพ.มงคล กล่าวต่อว่า ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2552 พบคนไทยมีอัตราการป่วยโรคความดันโลหิตสูงถึง 981.48 คนต่อประชากรแสนคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงมีความสัมพันธ์กับโรคระบบไหลเวียนโลหิต เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดหัวใจตีบ และเส้นเลือดสมอง เป็นสาเหตุการตายอันดับที่สี่ของคนไทย ส่วนโรคมะเร็ง เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนไทย มีอัตราป่วย 133.1 คนต่อประชากรแสนคน

“ขณะนี้พบว่ามีการนำเข้าน้ำมันใช้แล้วจากประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ จำนวนมาก ซึ่งมีการนำไปขายให้ธุรกิจเอสเอ็มอี และนำไปฟอกให้ใสแล้วนำกลับมาขายให้บริโภคใหม่ ซึ่งยังไม่มีกฎหมายควบคุม ฉะนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรมีการปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 เพื่อให้น้ำมันทอดซ้ำ เป็นวัตถุอันตราย เพื่อสามารถควบคุมไม่ให้นำมาบริโภคซ้ำซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้” นพ.มงคล กล่าว

ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ผู้ช่วยอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมวิทย์ ร่วมกับ  สสส. และ คคส. ทำงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำร่องหลายแห่ง ดำเนินโครงการปฏิวัติน้ำมันทอดซ้ำ เพื่อสร้างความตื่นตัวในทุกภาค ซึ่งได้ผลอย่างมากช่วยตัดวงจรน้ำมันเสื่อมสภาพไม่ให้เข้ามาในวงจรอาหารได้ หากนำน้ำมันทอดซ้ำไปผลิตเป็นพลังงานทดแทนไบโอดีเซลได้ทั้งหมด ไทยจะมีพลังงานทดแทนใช้ไม่น้อยกว่า 100 ล้านลิตรต่อปี

“กรมวิทย์ และเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค สำรวจพบมีกลุ่มพ่อค้าเห็นแก่ได้ออกซื้อน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพจากแหล่งต่าง ๆ นำไปฟอกสีให้ใส ใส่ถุงพลาสติกไม่มีฉลาก แล้วนำกลับมาขายให้กับโรงงานผลิตอาหารขนาดเล็ก โรงงานก๋วยเตี๋ยว ตลอดจนให้กับผู้บริโภคตามตลาดนัด และตลาดสด  หรือที่รู้จักในชื่อ “น้ำมันลูกหมู” ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชนอย่างมาก”

รศ.ดร.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงาน คคส. กล่าวว่า เครือข่ายภาควิชาการ องค์กรภาครัฐ และภาคประชาสังคม ร่วมจัดทำ “ยุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางอาหาร : การจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ” เพื่อเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 4 ในวันที่ 2-4 ก.พ.นี้ ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. ยุทธศาสตร์ท้องถิ่นปลอดภัยจากน้ำมันทอดซ้ำ 2. ยุทธศาสตร์ผู้ประกอบการรับผิดชอบต่อสังคม 3. ยุทธศาสตร์พัฒนามาตรการกำกับดูแลและดำเนินทางกฎหมาย 4. ยุทธศาสตร์พัฒนาองค์ความรู้เพื่อการจัดการ และ 5. ยุทธศาสตร์การสร้างความตระหนักรู้ต่อสังคม

ภก.วรวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาชนสามารถตรวจสอบน้ำมันพืชก่อนใช้ได้ว่าเป็นน้ำมันมีคุณภาพ หรือไม่ โดยกรมวิทย์ ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คิดค้นชุดตรวจสอบน้ำมันทอดซ้ำ “ซุปเปอร์จิ๋ว” ราคาเพียง 20 บาท รู้ผลเร็วภายใน 2 นาที ได้ผลแม่นยำถึง 99.2% โดยใส่น้ำยาจากชุดทดสอบลงไปในน้ำมันทอดซ้ำแล้วเขย่า หากน้ำมันเปลี่ยนสีเป็นสีชมพู แสดงว่าน้ำมันดังกล่าวยังมีคุณภาพดีอยู่ ซึ่งในอดีตต้องใช้เครื่องตรวจในห้องปฏิบัติการ ราคาถึง 40,000 บาท ใช้เวลานานถึง 4 ชั่วโมง ผู้สนใจสอบถามข้อมูลได้ที่ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุบลราชธานี โทร. 0-4531-2231-3.

Source : http://www.dailynews.co.th/article/728/10834

ห้องสมุดอีโค่แห่งแรกของไทย

เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้ว สำหรับห้องสมุดสิ่งแวดล้อมแห่งแรกของประเทศไทย อีโค่ ไลบรารี (Eco-Library)  ห้องสมุดต้นแบบเพื่อการเรียนรู้ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พลังงาน ผ่านสื่อความรู้ และการสัมผัสจริงจากงานออกแบบสร้างสรรค์บนเส้นทางสีเขียว โดยศูนย์ปฏิบัติการออกแบบจากวัสดุเหลือใช้  (Scrap Lab) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และสำนักหอสมุด ม.เกษตรศาสตร์ ได้ร่วมจัดทำขึ้น ภายใต้แนวคิด ห้องสมุดเพื่อความยั่งยืน โครงการเกษตรศาสตร์เพื่อสิ่งแวดล้อม (ECO-LIBRARY)

สำหรับแนวคิดในการออกแบบและพัฒนาห้องสมุดเพื่อสิ่งแวดล้อมนั้นมุ่งเน้นให้ เป็นแหล่งบริการความรู้ในการนำครุภัณฑ์และวัสดุเหลือใช้ โดยใช้องค์ความรู้จากศูนย์ปฏิบัติการออกแบบจากวัสดุเหลือใช้ มาออกแบบและเลือกวัสดุ

ห้องสมุดเพื่อสิ่งแวดล้อมมีพื้นที่ใช้สอยเพียง 250 ตารางเมตร จัดสรรให้พื้นที่มี 3 ส่วนหลักประกอบด้วย Common reading space หรือ Eco-space ให้บริการหนังสือทั่วไป เช่น นวนิยาย วรรณกรรม เยาวชน  นวนิยายแปล หนังสือธรรมะ หนังสือความรู้ทั่วไป และหนังสือด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน  มุมเด็ก  Kid play–space ให้บริการหนังสือสำหรับเด็ก ทั้งการ์ตูน หนังสือนิทาน  และหนังสือส่งเสริมการเรียนรู้ต่าง ๆ  และส่วนสุดท้าย Alumni Space พื้นที่ให้บริการศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำหรับศึกษาหาความรู้เพื่อการประกอบอาชีพ และการศึกษาต่อ

จุดเด่นของห้องสมุดอยู่ที่การดัดแปลงของทิ้งแล้วในห้องเก็บของและวัสดุในโรง งานมาสร้างสรรค์ อาทิ ตู้บัตรรายการมาทำเป็นผนังและที่เก็บของให้อารมณ์ของการเข้าในห้องสมุด  ของชิ้นนี้เป็นของเก่าเก็บในห้องเก็บของเพราะหมดประโยชน์การใช้งาน เมื่อมีคอมพิวเตอร์มาจัดเก็บทะเบียนหนังสือแทน  รวมทั้งเก้าอี้ โต๊ะล้วนเป็นของเก่าที่เคยถูกทิ้งไว้ในห้องเก็บของเช่นกัน แต่นำมาดัดแปลงและซ่อมแซมจนมีรูปลักษณ์ที่ทันสมัย  นอกจากวัสดุที่หาได้จากมหาวิทยาลัยแล้วยังใช้วัสดุจากภายนอกโรงงานที่เคย เป็นพันธมิตรที่ดีของ ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการออกแบบจากวัสดุเหลือใช้ อาทิ เศษผ้าม่านจากโรงงานที่ออกแบบฟังก์ชันการใช้สอยให้เป็นที่เก็บหนังสือได้ เศษผ้าชุดเครื่องแบบของพนักงานธนาคารไทยพาณิชย์นำมาเป็นผ้าหุ้มโซฟา เศษกระดุมจากโรงงานที่นำมาอัดเป็นเคาน์เตอร์ใช้บริการยืมหนังสือ  เศษผ้าไหม นำมาสร้างโคมไฟ ทำหมอนมะเฟืองในมุมเด็ก

ภาพรวมของภายในห้องสมุดนั้น ทำชั้นวางหนังสือทรงกลม ซึ่งทำมาจากแผ่น MDF  คละสีที่เหลือใช้จากโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ เสมือนต้นไม้ขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยความรู้และมีพื้นที่ภายในที่สงบ โดยรอบของห้องมีผ้าม่านที่ลดแสงสะท้อนและมีช่องสำหรับใส่วารสารต่างๆ ภายในห้องสมุดทาสีขาวและดำเพื่อให้หนังสือเด่น แต่เป็นสีทีไม่โมเดิร์น เพื่อให้เห็นเส้นสายลายไม้ กระดาษ ที่นำมาทำเป็นชั้นวางหนังสือเก้าอี้  ส่วนเรื่องแสงเน้นจัดให้เหมือนกับอ่านหนังสืออยู่ที่บ้าน

ดร.สิงห์  กล่าวถึงเบื้องหลังการทำงานว่า การริเริ่มโครงการนี้ใช้เวลาไม่นาน แต่สิ่งที่ต้องใช้เวลาคือคิดหาวัสดุที่เหมาะสมและลงตัวที่ใช้ในพื้นที่ 250 ตร.ม. เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด โดยแหล่งหาวัสดุมาจากโรงงานต่าง ๆ โรงงานที่เคยให้ความช่วยเหลือมาก่อน อย่างเช่น โรงงานผลิตผ้าม่าน  ธนาคารไทยพาณิชย์ไม่มีโรงงานแต่มีชุดพนักงานและมีงบประมาณช่วยเหลือทำให้ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง 

สำหรับหนังสือที่อยู่ในห้องสมุดจะเป็นหนังสือเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เรื่องราวของอีโค่ทั้งหมด รวบรวมมาจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ ม.เกษตร และหนังสือนวนิยายที่ทำให้เด็กอ่านเขียนเป็น วรรณกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ หวังว่าจะใช้หนังสือการ์ตูนมาดึงเด็กให้เข้าห้องสมุดเพราะเด็กไทยไม่ค่อย อ่านหนังสือ เมื่อเด็กมาอ่านการ์ตูนในอีโค่ไลบรารีจะเพิ่มความเข้าใจว่าการมีชีวิตที่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสร้างสิ่งสวย ๆ งาม ๆ ได้  ส่วนการใช้ประโยชน์ของห้องสมุด ด้านอื่น ๆ ในอนาคต ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมเวิร์กช็อป ทั้งของเด็กและผู้ใหญ่สอนเรื่องการออกแบบ การใช้ทรัพยากรที่อยู่อย่างคุ้มค่า

“ห้องสมุดนี่จะเป็นต้นแบบของการสร้างห้องสมุดว่าไม่ต้องน่าเบื่อ เป็นห้องสมุดที่เปิดเผยให้ชุมชนเห็นว่าไม่ต้องมีประตูปิดกั้น และอยากให้ทุกคนรู้ว่าสิ่งที่เราใช้อย่างฟุ่มเฟือย บางอย่างมันเพิ่มมูลค่าที่ได้จริงและได้เยอะมากดีกว่าไปถลุงผลิตของใหม่ออก มา สามารถมาใช้ได้ทุกวันเพราะแต่ละจุดเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ  จุดเด่นคือนำวัสดุเหลือใช้มาทำห้องสมุด รวมทั้งเรื่องระบบยืมหนังสือที่แตกต่างจากที่อื่น ที่นี่ ยืมได้ฟรีไม่ต้องมีบัตรสมาชิก ใช้ระบบเชื่อใจกัน ว่ายืมไปต้องมาคืนตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ เพื่อสอนชุมชนเรื่องความซื่อสัตย์เราไม่แน่ใจเมื่อใช้ระบบนี้ต่อไป ว่าห้องสมุดนี้จะว่างเปล่าหรือไม่ แต่เราต้องลองดู เพราะเราเชื่อในมารยาทของคนไทย”

ด้าน ดร.อารีย์ ธัญกิจจานุกิจ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด ม.เกษตร บางเขน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักหอสมุดได้ร่วมกับบริษัท เอสซีจี จัดโครงการเปลี่ยนขยะเป็นความรู้ ฟื้นฟูห้องสมุดหลังน้ำลด  โดยนำหนังสือเปียกน้ำมารีไซเคิล เป็นชั้นหนังสือ โต๊ะ-เก้าอี้ มอบให้ห้องสมุดโรงเรียน โดยมี ดร.สิงห์ ร่วมออกแบบ นอกจากช่วยลดขยะแล้ว ยังปลูกสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม

อีโค่ไลบรารี เปิดให้บริการทุกวันตามวันเวลาราชการ  รายละเอียดเพิ่มเติม http://kulc.lib.ku.ac.th/ecolibrary


Source : http://www.dailynews.co.th/article/728/10832

วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ จ.เพชรบูรณ์

1.บริษัท เพชรบูรณ์อินโนเวชั่น จำกัด

ผลิตภัณฑ์: ข้าวเปลือกตาก



โรงอบแบบเรือนกระจก รุ่น พพ. 2
ติดตั้งเสร็จวันที่  23 ธ.ค. 2554  
พื้นที่ติดตั้งรวม 99.2 ตร.ม.
ได้รับเงินช่วยเหลือการติดตั้งจาก พพ. จำนวน 434,400 บาท
สามารถอบข้าวเปลือกได้ครั้งละ 300 กก.



2.บริษัท เอส เค สตาร์ฟรุ๊ต จำกัด จ.เพชรบูรณ์
ผลิตภัณฑ์: มะขามอบแห้ง
 
 




โรงอบแบบเรือนกระจก รุ่น พพ. 3
ติดตั้งเสร็จวันที่ 30 พ.ย. 2554
พื้นที่ติดตั้งรวม 166.4 ตร.ม.
ได้รับเงินช่วยเหลือการติดตั้งจาก พพ. จำนวน 728,800 บาท
สามารถอบมะขามได้ครั้งละ 1,620 กก.


Source : http://www.solardryerdede.com/

อากาศยุโรปวิกฤตยอดตายทะลุ160แม่น้ำกลายเป็นน้ำแข็ง

Source : http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9550000015325


โรมาเนีย
เอเอฟพี - สภาพอากาศอันหนาวเหน็บทำยุโรปเมื่อวันพฤหัสบดี(2) ยังคงวิกฤต และยอดผู้เสียชีวิตพุ่งผ่าน 160 คนแล้ว หลายประเทศไล่ตั้งแต่อิตาลีไปจนถึงยูเครน ต้องเผชิญกับอุณหภูมิต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในบางพื้นที่ ขณะที่แม่น้ำบางสายถึงขึ้นจับตัวกลายเป็นน้ำแข็ง

เมื่อค่ำคืนวันพุธ(1) ในโปแลนด์ มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 9 ราย หลังอุณหภูมิทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศดิ่งลงไปที่ -32 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตจากสภาพอากาศอันหนาวเหน็บที่เริ่มมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว เพิ่มขึ้นเป็น 29 ราย

สวิตเซอร์แลนด์
 ในยูเครน ประชาชนหลายหมื่นคนพากันหลบหนีลมหนาวหลั่งไหลไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว 2,000 แห่งทั่วประเทศ หลังจากเวลานี้ยอดผู้เสียชีวิตรวมพุ่งขึ้นเป็น 63 คน โดยส่วนใหญ่เป็นคนเร่ร่อนที่หนาวตายเป็นท้องถนนและมีเพียงเล็กน้อยที่เสียชีวิตที่โรงพยาบาลจากภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ

ยูเครน
ด้วยความหนาวเหน็บและความหิวโหย ประชาชนราว 40,000 คน ต้องเข้าไปขอความช่วยเหลือจากศูนย์พักพิงชั่วคราวต่างๆที่ทางการจัดตั้งขึ้น โดยภายในศูนย์เหล่านั้นสามารถมอบความอบอุ่นและจัดเตรียมอาหารร้อนแก่ผู้ประสบภัยภายในประเทศที่ต้องผจญกับอุณหภูมิที่ดำดิ่ง โดยเฉพาะในคาร์เพเธียนส์ เมืองทางตะวันตกที่ติดลบ 33 องศาเซลเซียสและกรุงเคียฟ ที่ติดลบ 27 องศาเซลเซียส

ที่โรมาเนีย กระทรวงสาธารณสุขเผยว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 8 รายเมื่อคืนวันพุธ(1) ส่งผลให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 22 ศพ ขณะที่โรงเรียนหลายแห่งในบางพื้นที่ต้องงดการเรียนการสอนเนื่องจาออุณหภูมิติดลบถึง 31 องศาเซลเซียส

กรีซ
ส่วนในบัลแกเรีย ที่อุณหภูมิลดต่ำลงแบบที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนในประเทศแห่งนี้ สื่อมวลชนรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างต่ำ 10 ราย และด้วยแม่น้ำดานูบบางจุดกลายเป็นน้ำแข็งทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเคลื่อนย้ายเรือบางลำให้เข้าไปใกล้ท่าเรือเพิ่มเติมเพื่อปกป้องพวกมันจากน้ำแข็งที่คืบคลานเข้ามา ทั้งนี้ที่กรุงโซเรีย ชาวบ้านบางส่วนพบว่าธนบัตรของพวกเขาจับตัวแข็งเป๊ก ขณะที่ตู้เอทีเอ็มต้องงดให้บริการ



ในลัตเวีย เพียงแค่ที่กรุงริกา พบผู้เสียชีวิตรอบๆเมืองหลวงแห่งนี้มากถึง 10 รายเมื่อคืนที่ผ่านมา และตัวเลขนี้ยังไม่รวมจำนวนคนตายในส่วนอื่นๆของประเทศที่ยังไม่มีการแจ้งเข้ามา ขณะที่ในลิทัวเนีย ชาติเพื่อนบ้านพบชายเร่ร่อนรายหนึ่งนอนตายอยู่ในซากหักพังของบ้านร้างหลังหนึ่งในเมืองไคลเปดา และเขาเป็นเหยื่อของสภาพอากาศหนาวเหน็บรายที่ 9 ในประเทศแห่งนี้

ด้านอิตาลี มีรายงานว่าผู้โดยสารหลายร้อยคนต้องติดอยู่บนรถไฟหลายขบวนตลอดทั้งคืน ขณะที่อุณหภูมิที่หนาวจัดและหิมะตกหนักทั้งในตอนกลางและทางเหนือของประเทศก่อความโกลาหลด้านการสัญจรบนท้องถนน การเดินรถไฟและตามท่าอากาศยานต่างๆอย่างกว้างขวาง


เยอรมนี
 พร้อมกันนั้นอุณหภูมิที่หนาวเย็นยังคร่าชีวิตเด็กทารกรายหนึ่งในเมืองซิซิลีและนักโทษวัย 76 ปีอีกคนในเมืองปาร์มาท่ามกลางภาวะที่นักพยากรณ์บอกว่าเป็นสภาพอากาศที่หนาวเย็นที่สุดของอิตาลีในรอบ 27 ปีเลยทีเดียว

ในออสเตรีย พบหญิงชราวัย 83 ปีหนาวตายในป่า หลังสันนิษฐานว่าเธออาจเดินหกล้มจนหมดสติและก็ไม่ฟื้นขึ้นมาอีกเลย ทั้งนี้เธอกลายเป็นเหยื่อรายที่สองของประเทศที่ต้องมาจบชีวิตท่ามกลางสภาพอากาศอันเลวร้าย

ฝรั่งเศส
ส่วนที่เซอร์เบีย อากาศที่หนาวเหน็บคร่าชีวิตผู้คนไป 6 รายและทำชาวบ้านอีก 11,500 คนติดค้างตามหมู่บ้านแถบภูเขาในพื้นที่ห่างไกลที่ถนนถูกตัดขาด ขณะเดียวกันอุณหภูมิที่ดำดิ่งยังเป็นต้นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกียและกรีซ ชาติละ 2 ราย



ทั้งนี้ในฝรั่งเศส หลายแคว้นออกคำเตือนให้เฝ้าระวังสภาพอากาศอันเลวร้าย ขณะที่ทางการสั่งห้ามรถบรรทุกสัญจรตามถนนหลวงสายหลักหลายสาย เนื่องจากถนนเหล่านั้นยังคงมีความเสี่ยงจากหิมะตกหนักและน้ำแข็งเกาะถนนในระดับสูง