เขียนโดย ดร | |
Wednesday, 23 March 2011 | |
สยามรัฐรายวัน 23 มีนาคม 2554 พอมีปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทีก็สะดุ้งที พอเรื่องซาลงก็คงกลับมาเสนอกันใหม่ หรือไม่เสนอแต่งุบงิบทำกันต่อไปเรื่อยๆ จนไปตั้งไกลแล้วค่อยมาทำประชาพิจารณ์ ประเทศไทยทำอะไรลักไก่แบบนี้เสมอ ออกทางประตูไม่ได้ก็ออกทางรูหมาลอด ไม่มีรูหมาลอดก็ขุดรูเองจนออกได้ เวลาเสนอเรื่องแบบนี้ก็มีแต่ข้อดี ก็มีข้อจำกัดด้วย แต่..คำว่า “แต่” นั้นพูดเบาๆ และบอกว่า ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่โตอะไร แก้ได้ ป้องกันได้ เทคโนโลยีสมัยนี้ก้าวหน้า “แค่สับสวิทช์เท่านั้น วิศวกรก็เดินออกจากโรงงานได้” ไม่มีปัญหาอย่างที่ใครๆ กลัวกัน แล้วที่เกิดที่ญี่ปุ่นเป็นไง ไหนบอกว่าไม่มีใครซื่อสัตย์เท่าญี่ปุ่น ไม่มีเทคโนโลยีไหนก้าวหน้าเท่าญี่ปุ่น แล้วออกมาสารภาพว่าได้ “ปิดบัง” ข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แล้วจะให้เชื่อได้อย่างไรว่า คนไทยที่กำลังเสนอโครงการนี้จะไม่ “ปิดบัง” มากกว่าคนญี่ปุ่น ที่ผ่านมาก็ออกมาขู่กันว่า ถ้าไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเกิดวิกฤตพลังงานและมีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ แม้ว่าจะยังพอมีทางเลือกบ้าง แต่ยังไงก็ไม่มีทางตอบสนองความต้องการของประเทศได้ ที่อ้างกันวันนี้มักเป็นต้นทุนการผลิต ซึ่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะถูกสุด ถูกกว่าที่ใช้ถ่านหิน น้ำมัน แก๊ส รวมทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ขยะ และชีวมวล แต่ถามว่าชีวิตคนถูกกว่าไฟฟ้าหรือ อยากพูดถึงพลังงานที่เรียกกันว่าพลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทน ซึ่งเป็นอะไรที่ได้มาจากธรรมชาติ มาจากของใช้ใกล้ตัวที่ทิ้ง เหลือใช้ หรือที่สามารถปลูกให้โตเร็วและใช้งานได้ ซึ่งเราไม่ได้พูดกันอย่างจริงจัง เพราะพูดไปแล้วไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร ปัญหาจึงไม่ใช่เพราะไม่มี “วัตถุดิบ” จากธรรมชาติหรือของเสียจากชุมชน แต่เพราะไม่รู้ว่าจะให้ชุมชนทำเรื่องนี้ได้อย่างไร เพราะรัฐเองก็ไม่เคยจริงจังกับเรื่องที่ว่านี้ ไม่เคยตั้งเป็นเป้าหมายว่าจะเพิ่มสัดส่วนของพลังงานจากส่วนนี้ให้มากกว่าร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 10 ร้อยละ 20 ได้หรือไม่ เมื่อไรและด้วยวิธีไหน ต้องลงทุนและลงแรงเท่าไรอย่างไร (แบบที่เยอรมนี เนเธอร์แลนด์เขาตั้งเป้าหมายและทำได้) พูดง่ายๆ ไม่มี “เจตจำนงทางการเมือง” เรื่องพลังงานทางเลือก เพราะถ้าหากมีจริง และระดมพลังกันอย่างจริงจัง และไม่เฉพาะแต่กระทรวงมหาดไทย หรือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หรือกระทรวงพลังงาน แต่ต้องผนึกพลังกันทุกกระทรวงส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนทำ 2 เรื่องไปพร้อมกัน คือ ประหยัดพลังงานและสร้างพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียน ทำอย่างไรให้มีแผนการลดพลังงานลงจริงจัง ลดพลังงานแปลว่าลดค่าไฟโดยการรู้จักประหยัดไฟ เปิดปิดอย่างไร วางแผนการใช้แอร์ ใช้ไฟในบ้าน ในที่ทำงาน ในโรงงาน ในที่สาธารณะ อย่างไรจึงจะประหยัดจริง นักศึกษาผู้ใหญ่ในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตทำโครงงานลดค่าไฟที่บ้านจาก 700 กว่าบาท เหลือเพียง 300 กว่าบาท โดยไม่ได้อยู่แบบมืดๆ แต่อยู่แบบ “พอเพียง” และสิ่งที่ได้ก็ไม่ใช่เพียง “เงิน” ที่ประหยัดได้เดือนละ 400 บาท แต่ได้วินัยชีวิต ได้การจัดระเบียบชีวิตของตนเอง ไม่ให้อยู่แบบ “เรื่อยๆ สบายๆ” หรือแบบตามบุญตามกรรม (แล้วก็ได้แต่กรรมไม่ได้บุญ) ทำอย่างไรโรงเรียนตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยมทุกแห่งทั่วประเทศจะช่วยกันเรียนรู้การประหยัดพลังงานและสร้างพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียนให้สถานศึกษาของตนเอง พลังงานจากขยะ จากเศษพืช กิ่งไม้ ปลูกต้นไม้โตเร็ว พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม น้ำ ที่มีอยู่ในพื้นที่ของแต่ละแห่ง และนำเอา “วิชา” ดังกล่าวไปช่วยกันทำต่อที่บ้านของตนเองกับพ่อแม่พี่น้อง ทำอย่างไรให้ชุมชนทุกแห่ง อบต. เทศบาล ทุกแห่งเอาเรื่องพลังงานมาเป็นวาระสำคัญ และจัดการใช้ขยะ เศษวัสดุต่างๆ ในท้องถิ่นของตนเองให้เป็นพลังงานทางเลือกให้ได้ ถ้าหากทุกครัวเรือน ทุกชุมชนระดมพลังกันอย่างจริงจัง รัฐให้การส่งเสริมสนับสนุนการลงทุนด้วย สร้างแรงจูงใจในการลดภาษีและอื่นๆ ปัญหาใหญ่วันนี้ที่เราทำไม่ได้ ไม่ใช่เพราะไม่มีความสามารถ แต่เพราะ “ไม่เห็นด้วย” มากกว่า เพราะยังคิดว่า การลงทุนทีเดียวในโครงการใหญ่ๆ อย่างไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ดี ก๊าซธรรมชาติก็ดีจะคุ้มกว่า ได้ผลดีกว่า ยุ่งยากน้อยกว่า (และได้กินหัวคิวมากกว่า) เราติดอยู่ที่วิธีคิด ที่ยังเชื่อว่า การพัฒนาประเทศต้องเน้นที่การเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้ว่าต้องเสี่ยงกับปัญหาที่เกิดขึ้น (จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์) และอันตรายอื่นๆ อย่างมลพิษต่างๆ ที่มาจากพลังงานหลัก ถ่านหิน น้ำมัน ซึ่งเป็นพลังงานของการพัฒนากระแสหลักที่เชื่อ GDP มากกว่า GDH เชื่อเศรษฐกิจที่กินได้มากกว่าเศรษฐกิจที่ทำให้คนมีความสุข ถ้าหากเราไม่ปรับวิธีคิด ไม่ปรับกระบวนทัศน์การพัฒนา ยังเชื่อมั่นในวิถีเดิมกันต่อไป ก็ต้องเสี่ยงและต้องพร้อมที่จะรับผลกระทบต่างๆ กันต่อไป ถ้ายังเอาเศรษฐกิจเป็นเป้าหมาย เอาความสุขเป็นผลพลอยได้ ก็ต้องยอม รับผลพลอยได้อีกด้านหนึ่งที่เป็นพิษด้วย เรื่องพลังงานไม่ใช่เรื่องเทคนิก แต่เป็นเรื่องปรัชญาพื้นฐานการพัฒนาว่าจะเพิ่มกันต่อไปเรื่อยๆ หรือจะหาทางลดการใช้พลังงาน ลดเป้าหมายการเติบโต ไปช้าๆ แต่มั่นคงและเผื่อแผ่ให้คนส่วนใหญ่ได้เดินไปพร้อมกันได้อย่างปลอดภัย ไม่ใช่เศรษฐกิจโตแต่เสี่ยงตายและคนส่วนใหญ่ยังทุกข์ยากอย่างเมืองไทยวันนี้ |
วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2554
ปัญหาพลังงาน ทางเลือกที่รัฐไม่เลือก
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น