ปัจจุบันได้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลแล้ว รวม 1,610 เมกกะวัตต์ ส่วนใหญ่เป็นการผลิตไฟฟ้าของโรงงานน้ำตาล โรงสีข้าว และจากเชื้อเพลิงประเภทวัสดุคงเหลืออื่นๆ เช่น เศษไม้ กะลาปาล์ม และเหง้ามันสำปะหลัง ตามลำดับ เพื่อให้บรรลุผลตามแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ จะต้องมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลอีก 2,090 เมกกะวัตต์
ภาพประกอบ:www.eppo.go.th
นับตั้งแต่ปัจจุบัน จนถึงปี พ.ศ. 2565 นำมาซึ่งประเด็นคำถาม เช่น เป้าหมายที่กำหนดสามารถทำให้เป็นจริงได้หรือ? ชีวมวลที่มีจำนวนมากๆ เช่น แกลบ และชานอ้อยก็มีการใช้ประโยชน์จนเกือบหมดแล้ว เชื้อเพลิงที่เหลือปริมาณมากๆ เช่น ฟางข้าว ยอดและใบอ้อย ทะลายปาล์มเปล่า และวัสดุคงเหลือทางการเกษตรอื่นๆ ก็มีอยู่อย่างกระจัดกระจาย และยังมีคุณสมบัติทางด้านเชื้อเพลิงที่ไม่ดี เช่น มีความหนาแน่นน้อย มีความชื้นสูง และมีปริมาณเถ้าสูงเมื่อเผาไหม้ ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว ทำมีข้อจำกัดในการนำชีวมวลเหล่านั้นมาเป็นเชื้อเพลิง และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการเก็บรวบรวม การขนส่ง การเตรียม หรือการปรับปรุงคุณสมบัติทางด้านเชื้อเพลิงให้เหมาะสมกับการใช้งาน ซึ่งเป็นประเด็นคำถามที่มีเหตุผลสอดคล้องกับข้อเท็จจริง ดังนั้นจึงต้องพิจารณาสถานภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลในปัจจุบันว่า มีประสิทธิภาพการผลิตอย่างไร รวมทั้งศักยภาพชีวมวลจากแหล่งต่างๆ ที่มีโอกาสนำมาใช้ประโยชน์เพิ่มจะมีเพียงพอหรือไม่ รวมทั้งการกำหนดทิศทางและมาตรการในการสนับสนุน ส่งเสริมอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิผลควรจะดำเนินการกันอย่างไร จึงเป็นประเด็นที่สำคัญที่ต้องการการระดมความคิดเห็น การมีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกัน
สำหรับผู้เขียนมีความมั่นใจว่า เป้าหมายตามที่กำหนดในแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี ของกระทรวงพลังงาน สามารถผลักดันให้บรรลุผลที่เป็นจริงได้หากมีการกำหนดมาตรการสนับสนุนที่เหมาะสม โดยมีเหตุผลสนับสนุนดังนี้
1. การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลในปัจจุบันยังมีประสิทธิภาพต่ำ ผลการศึกษาจากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม พบว่า โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ จำนวน 47 โรง ผลิตไฟฟ้าเหลือใช้และจำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเฉลี่ย 14 หน่วยต่อการใช้ชานอ้อย 1 ตัน โดยโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถผลิตไฟฟ้าเหลือใช้และจำหน่ายได้ 80 หน่วยต่อการใช้ชานอ้อย 1 ตัน ซึ่งจากการประเมินการผลิตไฟฟ้าของโรงงานน้ำตาลเบื้องต้น พบว่า ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าของโรงงานน้ำตาลช่วงฤดูหีบผลิตไฟฟ้าได้ สูงถึง 718 เมกะวัตต์ นอกฤดูหีบมีกำลังผลิต 264 เมกะวัตต์ ดังนั้นหากโรงงานน้ำตาลทั้งหมดมีการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงแล้ว ประเทศไทยจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้ไม่ต่ำกว่า 5 เท่า โดยใช้เชื้อเพลิงชานอ้อยเท่าเดิม และเมื่อศึกษาการผลิตไฟฟ้าจากโรงสีข้าวบางโรง สถานการณ์ก็ไม่แตกต่างกันมากนัก คือ การผลิตไฟฟ้าของโรงสีข้าว โดนเฉลี่ยก็ยังอยู่ในระดับต่ำแต่ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้อีกมากหากมาตรการในการสนับสนุนของรัฐเหมาะสมและจูงใจให้เกิดการลงทุนในเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง
ภาพประกอบจาก:การผลิตไฟฟ้าของโรงงานน้ำตาล โดยใช้เชื้อเพลิงชาญอ้อย
http://protectionrelay.blogspot.com/2010/10blog-post_12.html#more
2. ศักยภาพชีวมวลยังมีเหลืออีกมาก จากการศึกษาของมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งศึกษาปริมาณวัสดุคงเหลือทางการเกษตร 5 ชนิด คือ ฟางข้าว ใบอ้อย เหง้ามันสำปะหลัง ทางปาล์ม และทะลายปาล์ม พบว่า แต่ละปี มีมากถึง 30 ล้านตัน นอกจากนี้ ยังมีเศษวัสดุอื่นๆ ที่ยังมิได้นำมาใช้ประโยชน์อีกมาก เช่น เศษไม้จากการตัดแต่งกิ่งของสวนผลไม้ต่างๆ ซังและต้นข้าวโพด ตอซังสัปปะรด เป็นต้น ชีวมวลเหล่านี้อยู่กระจัดกระจายในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และมักเป็นปัญหาที่เกษตรกรต้องเผาทิ้งในหน้าแล้งเพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกใหม่ก่อนหน้าฝน ซึ่งนอกจากจะไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แล้วยังก่อให้เกิดมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
จากลักษณะตามธรรมชาติของเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเหล่านี้ที่ถูกทิ้งอย่างกระจัดกระจายในชนบท มักจะมีความชื้นสูงทำให้มีประสิทธิภาพการเผาไหม้ต่ำ และยากต่อการใช้งาน ทำให้การนำเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่อยู่ในพื้นที่เหล่านี้มาใช้ประโยชน์มีค่าใช้จ่ายในการเก็บรวบรวมและการขนส่งสูง โดยรัฐจะต้องมีมาตรการสนับสนุนในระดับที่เหมาะสมเพื่อให้โรงไฟฟ้าชุมชนมีความเป็นไปได้ทางธุรกิจและสามารถดำเนินการโดยชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของได้อย่างยั่งยืน
3. ยังมีพื้นที่ตามหัวไร่ปลายนา พื้นที่เสื่อมโทรมและพื้นที่รกร้างว่างเปล่า อีกมากที่สามารถใช้เป็นพื้นที่ปลูกไม้โตเร็วเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น