วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2556

อินโดนีเซียกับภาระหนักอุดหนุนพลังงาน


การให้เงินอุดหนุนพลังงาน ทำให้ราคาพลังงานอินโดนีเซียถูกที่สุดในเอเชีย

ปัจจุบันรัฐบาลอินโดนีเซียกำลังเผชิญต้นทุนเงินอุดหนุนพลังงานที่สูงลิ่วและมีสัดส่วนมากกว่า 30% ของการใช้จ่ายภาครัฐ อันทำให้โครงการอื่นที่มีความจำเป็นมากกว่า ถูกมองข้ามไป
สัปดาห์นี้อาจเป็นโอกาสที่ประธานาธิบดีสุสิโล บัมบัง ยูโดโยโน สามารถประกาศมาตรการใหม่ที่เข้มงวดการใช้น้ำมันในราคาอุดหนุน แต่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นปีหน้า และความทรงจำจากเหตุรุนแรงที่ประชาชนออกมาประท้วงราคาน้ำมัน ทำให้เป็นที่คาดหมายว่าในที่สุดเขาจะยอมจำนนต่อความต้องการของผู้มีสิทธิออกเสียง และไม่ยุติการให้เงินอุดหนุน
ดังนั้น ทางเลือกหนึ่งของรัฐบาลคือห้ามรถยนต์ส่วนตัวใช้น้ำมันราคาอุดหนุนในกรุงจาการ์ตาและเมืองใหญ่อื่นๆ แต่นักวิจารณ์กล่าวว่า มาตรการนี้บังคับใช้ได้ยาก และช่วยบรรเทาปัญหางบประมาณได้เพียงเล็กน้อย โดยปีที่แล้วค่าใช้จ่ายในการอุดหนุนมีจำนวนถึง 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 4% ของจีดีพี
แรงกดดันให้อินโดนีเซียลดเงินอุดหนุนมีมานานแล้ว แต่การขึ้นราคาน้ำมันถือเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ทางการเมืองก่อนถึงการเลือกตั้งปีหน้า เพราะอาจกระทบประชาชนผู้มีรายได้น้อย และเป็นสาเหตุให้เกิดเงินเฟ้อ
ที่ผ่านมารัฐบาลกล่าวเป็นนัยว่า มีโอกาสน้อยมากที่จะขึ้นราคาน้ำมันปีนี้ จึงอาจเป็นไปได้ว่าประธานาธิบดียูโดโยโนจะส่งผ่านปัญหานี้ไปให้ผู้นำอินโดนีเซียคนต่อไป หลังเขาหมดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในเดือนตุลาคม 2557
สิ่งที่รัฐบาลทำได้ตอนนี้คือหวังว่าจะสามารถลดรายจ่ายในการอุดหนุน ด้วยการเหนี่ยวรั้งการใช้น้ำมันของประชาชนให้น้อยลง
หากยังไม่ลืม ช่วงนี้ของปีที่แล้ว ชาวอินโดนีเซียนับหมื่นเดินขบวนบนท้องถนนเพื่อต่อต้านข้อเสนอของรัฐบาลที่จะขึ้นราคาน้ำมัน 33% ในที่สุดความพยายามของรัฐบาลก็ล้มเหลว และราคาน้ำมันในประเทศยังถูกกว่าราคาตลาดครึ่งหนึ่ง โดยน้ำมันไร้สารตะกั่วหนึ่งลิตรขายในราคาเพียง 50 เซ็นต์ ขณะที่ราคาในมาเลเซียลิตรละ 61 เซ็นต์ และสิงคโปร์ราคาลิตรละ 1.71 ดอลลาร์
ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 15 ปีก่อน การประท้วงเรื่องราคาน้ำมันส่งผลให้รัฐบาลของประธานาธิบดีซูฮาร์โตล่มสลายมาแล้ว เหตุการณ์นั้นยังเป็นสิ่งที่ติดแน่นอยู่ในความทรงจำของบรรดานักการเมืองที่รอคอยการเลือกตั้งประธานาธิบดีปีหน้า
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนให้ความเห็นว่า การอุดหนุนราคาน้ำมันนั้นไม่เป็นธรรมเพราะเอื้อประโยชน์ให้คนรวยและชนชั้นกลางระดับบนที่มีรถยนต์ส่วนตัว ธนาคารโลกประมาณว่า มาตรการดังกล่าวช่วยคนมีรถยนต์ประหยัดค่าน้ำมันได้เดือนละประมาณ 100 ดอลลาร์จากราคาน้ำมันที่ถูกลง ขณะที่คนขี่มอเตอร์ไซค์ได้ประโยชน์จากการประหยัดเดือนละ 10 ดอลลาร์ ส่วนคนใช้รถสาธารณะได้ประโยชน์เพียง 1 ดอลลาร์ต่อเดือนเท่านั้น
การทุ่มงบประมาณอุดหนุนราคาน้ำมันมากกว่า 6% ของการเติบโตทางเศรษฐกิจในแต่ละปี หมายถึงการใช้น้ำมันที่เพิ่มมากขึ้น และต้องนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นด้วย ปัจจุบันอินโดนีเซียเป็นประเทศนำเข้าน้ำมัน ไม่ใช่ผู้ส่งออกเหมือนในอดีต
เมื่อปีที่แล้ว การนำเข้าน้ำมันทำให้อินโดนีเซียขาดดุลการค้าและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นครั้งแรกนับจากวิกฤติการเงินเอเชียเมื่อปี 2540 การขาดดุลส่งผลต่อเนื่องไปถึงเงินรูเปียะห์ ซึ่งเมื่อปีที่แล้วอ่อนค่าลงเกือบ 6% เทียบกับดอลลาร์
กองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดว่า หากรัฐบาลไม่ขึ้นราคาน้ำมัน เงินอุดหนุนที่ประมาณ 4% ของจีดีพี จะทำให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มเป็น 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์ จากปีที่แล้วที่ขาดดุล 2.42 หมื่นล้านดอลลาร์



Link : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/world/20130326/496978/%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99.html



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น