วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เสียงร้องถึง"ปตท."


โพสท์ทูเดย์ 02 สิงหาคม 2556 

เสียงร้องถึง"ปตท."
โดย...ทีมข่าวในประเทศ
วิกฤตการณ์น้ำมันรั่วกลางทะเล 5 หมื่นลิตรที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบต่อ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ในกลุ่มบริษัท ปตท. กับความประมาทที่ทำให้เกิดผลกระทบมหาศาลกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนบรรยากาศการท่องเที่ยวของเกาะเสม็ด อีกหลายปมยังคลางแคลงใจ เพราะเชื่อว่าบริษัทปกปิดข้อมูลทั้งเรื่องจำนวนน้ำมันที่รั่วไหล การใช้สารเคมีสลายน้ำมันที่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อสิ่งแวดล้อม
โพสต์ทูเดย์รวบรวมความเห็นนักวิชาการ นักอนุรักษ์ ต่อข้อเสนอและความรับผิดชอบไปยัง ปตท. เพื่อเป็นบทเรียนไม่ให้เกิดซ้ำ
นักวิชาการ
อาภา หวังเกียรติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
“การให้ข้อมูลขณะนี้เป็นการให้ข้างเดียวจากผู้ที่สร้างความเสียหายเอง เป็นการปิดบังข้อมูลเพื่อไม่ให้หุ้นตก บริษัท ปตท. อย่าเพียงแค่เอาน้ำมันออกจากผิวน้ำแล้วเรื่องจบ เพราะมันมีผลกระทบระยะยาว ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการเสียโอกาสทำกิน ดังนั้นต้องชดเชยอย่างเป็นธรรม ถ้าเช่นนั้นต้องมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นแน่นอน”
สมพร ช่วยอารีย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
“แน่นอนว่าท่อมีโอกาสเสื่อม เขื่อนมีโอกาสร้าว ทุกอย่างมีโอกาสผิดพลาด ปตท.จึงต้องมีความพร้อมเรื่องบริหารจัดการมากกว่านี้ ที่สำคัญขณะนี้สังคมกำลังสับสนว่าปริมาณน้ำมันรั่วออกมาเท่าใดกันแน่ ดังนั้น ปตท.ควรตอบจากสิ่งที่เป็นไปได้ จากสิ่งที่เป็นจริง เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมแก้ปัญหา”
วเรศ วีระสัย นักวิทยาศาสตร์อาวุโสอดีตอาจารย์ภาคเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
“หน่วยงานควรมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ แต่ครั้งนี้กลับไม่ให้รายละเอียดอะไร ไม่บอกว่าใช้สารเคมีสลายคราบน้ำมันที่มีส่วนประกอบจากอะไร และจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์หรือไม่”
รักไทย บูรพ์ภาค วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ปตท.พยายามบอกว่าต้องการร่วมงานกับทุกฝ่าย แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นดึงฝ่ายวิชาการเข้าไปร่วมที่สำคัญต้องถามว่า ปตท.เป็นของใคร ถ้าเป็นของรัฐบาล รัฐก็ต้องรับผิดชอบร่วม ถ้าเป็นของเอกชนก็ต้องชดเชย ตอนนี้มันมึนไปหมด ยืนยันว่าหากชาวบ้านต้องการข้อมูลเพื่อฟ้องร้อง นักวิชาการจำนวนมากพร้อมจะช่วย”
พลังพล คงเสรี คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
“ผู้รับผิดชอบควรเปิดเผยว่าใช้สารเคมีใดในการกำจัดคราบน้ำมัน ควรมีบทสรุปให้ชัด จนถึงวันนี้หน่วยงานกลับยังไม่มีคำตอบว่าสารเคมีดังกล่าวมีโครงสร้างอย่างไร และจะกระทบต่ออะไรบ้าง”
นักอนุรักษ์
สุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก
"ภาคประชาชนจะร่วมกับทางเครือข่ายสิ่งแวดล้อม เพื่อฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้ดำเนินคดีกับบริษัทเอกชนและหน่วยงานของรัฐในประเด็นผลกระทบที่เกิดขึ้น"
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เครือข่ายเอ็นจีโอสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง
“สิ่งที่ต้องการรู้ที่สุดคือรายชื่อสารเคมีที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการกำจัดคราบน้ำมันจากประเทศสิงคโปร์นำมาใช้ ว่ามีอะไรบ้าง มีกี่ตัว และปริมาณมากแค่ไหน รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อที่ทางเครือข่ายจะช่วยกันตรวจสอบในระยะยาว ข้อมูลเหล่านี้ไม่ควรปกปิด”
ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
“ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรออกมาให้ข้อเท็จจริงกับคราบน้ำมันที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่กลับถูกจับได้ด้วยภาพถ่ายจากดาวเทียม โดยเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของกรมควบคุมมลพิษโดยตรง จึงต้องเร่งชี้แจง เพราะตอนนี้ไม่มีใครเชื่อ ปตท.แล้ว”
ศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.)
“การกำจัดน้ำมันรั่วมีขั้นตอนปฏิบัติที่ชัดเจนอยู่แล้ว จนถึงขณะนี้ ปตท.ต้องรู้แล้วว่าผิดพลาดตรงไหน ต้องไขข้อสงสัยของสังคม หรือว่าจริงๆ แล้ว ปตท.ก็ไม่รู้สาเหตุที่ชัดเจน เป็นเรื่องสุดวิสัยเกินจากที่คาดการณ์ไว้ หรือขาดประสบการณ์ในการจัดการปัญหา ปตท.ต้องออกมาบอก ต้องชี้แจงให้ชัด”
นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ผู้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว)
“ด้วยพฤติกรรมของบริษัท ปตท.ที่ผ่านมา ผมไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภาพสีเขียวของบริษัทได้ จึงขอส่งคืนโล่รางวัลและเงินรางวัล โดยขณะนี้เห็นว่า ปตท.มีความพยายามกลบเกลื่อนข้อเท็จจริงบางอย่าง ทั้งที่เมื่อเกิดแล้วควรจะแสดงความรับผิดชอบทันที”
ข้าราชการ-การเมือง
พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน
“ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว โดยเหตุดังกล่าวเป็นเรื่องที่บริษัท พีทีทีจีซี ต้องรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมด รวมถึงการเยียวยาด้านจิตใจด้วย แต่ส่วนตัวผมไม่สนับสนุนแนวคิดฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย และไม่มีแนวคิดที่รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับบริษัท ปตท. อยากให้เจรจามากกว่า”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม
“จะมีการฟ้องร้องหรือไม่นั้น ต้องรอรวบรวมข้อมูลความเสียหายทั้งหมดจากผู้ได้รับผลกระทบก่อน จากนั้นจึงจะเจรจากับบริษัท พีทีทีจีซี”