วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เมียนมาร์ 'ฮับพลังงาน' ประชาชนอาเซียน



     เมียนมาร์เตรียม เป็น “ฮับพลังงาน” แห่งเออีซี หลังจากท่อส่งน้ำมันและก๊าซ ยาว 800 กิโลเมตรจากท่าเรือน้ำลึกจ้าวผิ่วในอ่าวเบงกอลขึ้นเหนือผ่านพรมแดนจีนที่รัฐคะฉิ่นเข้าเมืองคุนหมิง เปิดเดินเครื่องส่งก๊าซเดือนมิถุนายนนี้ เผยเมียนมาร์เตรียมโกยเงินกว่าแสนล้านบาทต่อปี จากการขายก๊าซธรรมชาติให้จีนและไทย
      สื่อในกรุงย่างกุ้ง รายงานว่าโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน จากท่าเรือน้ำลึกจ้าวผิ่วขึ้นเหนือไปที่ชายแดนเมียนมาร์ติดกับจีนที่รัฐคะฉิ่นเพื่อส่งน้ำมันและก๊าซให้ประเทศจีนโดยมีปลายทางอยู่ที่เมืองคุนหมิงมีความยาวในประเทศเมียนมาร์ 800 กิโลเมตร มีกำหนดเสร็จสมบูรณ์แล้วในวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมาและกำหนดเริ่มก๊าซให้กับบริษัท ไชน่าปิโตรเลียม คอร์ปในเดือนมิถุนายนนี้ขณะที่การขนส่งน้ำมันจะเริ่มในเดือนธันวาคม
      โครงการดังกล่าวจะเป็นการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ผ่านท่อน้ำมันยาวรวม 1,500 กิโลเมตรและก๊าซมีความยาวรวม 1,700 กิโลเมตรจากท่าเรือจ้าวผิ่ว ไปถึงเมืองคุนหมิงมูลค่าลงทุน 2,500 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 75,000 ล้านบาท) เป็นโครงการยุทธศาสตร์ของจีนในการขนน้ำมันจากตะวันออกกลาง เข้าสู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนและก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาร์ โดยไม่ต้องอ้อมแหลมมะละกา โดยท่อน้ำมันและก๊าซ สามารถขนถ่ายน้ำมันได้มากกว่า 22 ล้านตันและก๊าซ 420,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อปี
      ก๊าซธรรมชาติที่จะขนผ่านท่อเข้าประเทศจีนจะมาจากแหล่งก๊าซฉ่วย นอกชายฝั่งแถบอ่าวเบงกอล เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างบริษัท แดวูของเกาหลีใต้ บริษัทของอินเดียและบริษัท เมียนมาร์ออยล์แอนด์ก๊าซของเมียนมาร์ โดยจะส่งขายก๊าซให้ประเทศจีนเฉพาะจากแหล่งนี้ปีละ 12,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต
      การส่งออกก๊าซให้ประเทศจีน เมื่อรวมกับการส่งออกให้ประเทศไทย จะทำให้เมียนมาร์มีรายได้จากการส่งออกก๊าซธรรมชาติรวมกันปีละ 4,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 120,000 ล้านบาท) โดยเป็นรายได้จากการส่งออกไปจีน 1,500 ล้านดอลลาร์และส่งออกมาประเทศไทย 2,500 ล้านดอลลาร์
      โดยนอกจากรายได้จากการส่งออกแล้ว รัฐบาลเมียนมาร์ยังมีรายได้จากค่าใช้ถนนปีละ 13.8 ล้านดอลลาร์และการขนน้ำมันดิบผ่านแดนอีกตันละ 1 ดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะทำรายได้ให้เมียนมาร์อีกปีละ 35 ล้านดอลลาร์
      อย่างไรก็ดี การที่ท่อก๊าซและน้ำมัน วิ่งผ่านรัฐคะฉิ่น ซึ่งยังมีกองกำลังรัฐฉานติดอาวุธ อยู่ใกล้ ๆ ทำให้เกิดความกังวลในเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งมีผู้นำรัฐฉานและคะฉิ่น หลายรายออกมาระบุว่า ชาวคะฉิ่นไม่ได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าวและยังเป็นการชักนำทหารให้เข้ามา ในงานรักษาความปลอดภัยให้กับท่อน้ำมันและก๊าซอีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากท่อก๊าซหรือน้ำมันระเบิด
      ทางด้านบริษัทบริษัท ไชน่าปิโตรเลียม คอร์ปฯ ระบุว่า บริษัทได้ใช้เงินกว่า 10 ล้านดอลลาร์เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตชาวคะฉิ่นในแถบที่ท่อน้ำมันและก๊าซวิ่งผ่าน โดยลงทุนเป็นเงิน 10 ล้านดอลลาร์สร้างระบบสายส่งไฟฟ้าสำหรับชาวบ้านและเงินอีก 14 ล้านดอลลาร์เพื่อใช้ในโครงการปรับปรุงชีวิตชาวบ้านทางด้านสุขภาพ การศึกษา ไฟฟ้าและโรงเรียนอาชีวะ
 
Source: http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=185447:2013-06-03-04-06-31&catid=231:aec-news&Itemid=621

อินเดีย กับการปฏิวัติด้านพลังงานทดแทน

Coal mine, Asansol, India (Photograph by Partha Sarathi Sahana/Flickr)  
Source: http://www.seub.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=1060:seubnews&catid=5:2009-10-07-10-58-20&Itemid=14

ร้อยละ 76 ของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะสร้างในอนาคต รวมทั้งการเติบโตร้อยละ 90 ของความต้องการถ่านหินของโลกในปี 2016 เกิดขึ้นจากยักษ์ใหญ่แห่งพลังงานถ่านหิน 2 ประเทศคือจีนและอินเดีย ในขณะที่ประชากรภายในประเทศของอินเดียมีแนวโน้มสูงขึ้นและอาจสูงกว่าประเทศจีนในไม่ช้า ข้อเท็จจริงหนึ่งที่น่าแปลกใจคือกว่า 1 ใน 4 ของประชาชนภายในประเทศยังไม่มีไฟฟ้าใช้


พลังงานไฟฟ้าในอินเดียยังคงผลิตโดยใช้ถ่านหินเป็นหลัก ซึ่งถ่านหินที่มีมากมายในอินเดียนั้นเริ่มเกิดปัญหาด้านการขนส่ง ส่งผลถึงต้นทุนของถ่านหินที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจนต้องพึ่งพาการนำเข้าถ่านหิน และกำลังจะเปลี่ยนสถานะเป็น ‘ผู้นำเข้า’ ถ่านหินเช่นเดียวกับประเทศจีนเมื่อปี 2009 ที่ผ่านมา แน่นอนว่าอุปสงค์ถ่านหินที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ประเทศมหาอำนาจทางถ่านหิน 6 ประเทศที่ผลิตถ่านหินส่งออกคิดเป็นร้อยละ 80 ของถ่านหินทั่วโลก ได้โอกาสขึ้นราคา การนำเข้าถ่านหินที่เพิ่มขึ้นและค่าเงินอินเดียที่อ่อนตัวลงย่อมส่งผลต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจจนโครงการผลิตไฟฟ้าถ่านหินหลายโครงการเริ่มประสบปัญหาทางการเงิน

การคาดการณ์ว่าราคาถ่านหินอาจสูงขึ้น 2 – 3 เท่าสร้างแรงกดดันอย่างมากให้กับบริษัทผู้ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4GW ซึ่งเป็นโรงงานถ่านหินที่มีกำลังผลิตสูงที่สุดในโลก หลายโรงงานเริ่มไม่สามารถจัดหาถ่านหินมาผลิตไฟฟ้าได้ จนเกิดภาวะขาดแคลนไฟฟ้า ในขณะที่รัฐบาลยังคงไม่ต้องการเพิ่มราคาไฟฟ้า กระทั่งปลายปี 2011 บริษัทจัดหาเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Development Finance Company) ได้ยุติการปล่อยสินเชื่อสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มเติม และในเดือนกุมภาพันธ์ 2012 ธนาคารกลางของอินเดียได้ปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ธนาคารที่ประสบปัญหาจากการปล่อยสินเชื่อโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต่อมา Tata Power บริษัทผู้ครอบครองโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดยักษ์ได้ประกาศเปลี่ยนแผนการพัฒนาจากโรงงานถ่านหิน สู่พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แทน

ขณะที่ความต้องการไฟฟ้ามีสูงขึ้น อินเดียเริ่มประสบปัญหาด้านพลังงานที่เริ่มขาดแคลน รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของต้นทุน จนผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้าของอินเดียบางรายเลือกมุ่งไปที่การสร้างประสิทธิภาพสูงสุดในการผลิตไฟฟ้า สนับสนุนพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งริเริ่มโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก

อินเดียถือเป็นตลาดอันดับ 3 ของพลังงานลม และปัจจุบันได้ติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่มีกำลังการผลิตสูงราว 4 เท่าของกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ภายในประเทศ พร้อมทั้งเพิ่มกำลังผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์อีก 1 GW ในปี 2012 ซึ่งอินเดียนั้นมีโอกาสอย่างมากเนื่องจากยังไม่มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่นโครงการของบริษัท Infosys ที่จะสร้างสำนักงานใหม่ที่ใช้พลังงานลดลง 70 เปอร์เซ็นต์ใน Bangalore ซึ่งได้รับความสนใจจากทั่วโลก ทั้งหมดนี้เกิดมาจากความร่วมมือรหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชนที่มุ่งปฏิวัติพลังงานในอินเดียและนำไปสู่การขับเคลื่อนธุรกิจ

ภาพประกอบ : เหมืองแร่ในกรุง Asansol ประเทศ India ภาพถ่ายโดย Partha Sarathi Sahana