วันพุธที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556

ผลิตก๊าซจาก 'หินดินดาน' ความหวังใหม่พลังงานโลก


ปัจจุบันมนุษย์ใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าใจหาย จนทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าหากเรายังไม่ช่วยกันประหยัด ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอาจหมดไปจากโลกได้ภายในระยะเวลา 50 ปี ทั้งนี้แนวคิดล่าสุด ’การผลิตก๊าซจากหินดินดาน“ จึงนับเป็นความหวังใหม่ของโลกที่จะสามารถนำมาทดแทนได้ แต่เทคโนโลยีการผลิตค่อนข้างซับซ้อน และถือว่ายังใหม่มากสำหรับประเทศไทย...!!

ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล สาขาธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ให้ความรู้ว่า การเจาะบ่อน้ำมันค้นหาพลังงานเริ่มมีครั้งแรกที่มลรัฐเพนซิลเวเนีย เมืองไททัสวิลล์ เมื่อปี พ.ศ. 2402 ในขณะนั้นจำนวนประชากรโลกมีเพียงประมาณ 1,000 ล้านคนเท่านั้น และเมื่อเวลาผ่านไปไม่ถึง 160 ปี มีประชากรโลกเพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่า เป็นประมาณกว่า 7,000 ล้านคน ซึ่ง BP Statistical Review of World Energy Outlook ฉบับเดือนมิถุนายน 2555 ได้รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของโลกมีประมาณ 1.65 ล้านล้านบาร์เรล และ 7,361 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ตามลำดับ โดยมีการใช้พลังงานทั้งสอง คือน้ำมันดิบประมาณ 88 ล้านบาร์เรลต่อวันและก๊าซธรรมชาติ 311,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งหากมีการใช้พลังงานดังกล่าวในปริมาณที่คงที่และไม่มีการค้นพบแหล่งสำรองเพิ่มเติมหรือมีแหล่งพลังงานอื่นทดแทน ปริมาณน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของโลกที่มีอยู่จะหมดลงในอีก 54 ปี และ 64 ปี ตามลำดับ

สำหรับประเทศไทยนั้นกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ระบุว่า ปี 2554 ประเทศไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลวพิสูจน์แล้วประมาณ 400 ล้านบาร์เรล คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 0.02 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณสำรองโลก ส่วนปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้วประมาณ 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต หรือประมาณ 0.01 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณสำรองโลก ประเทศไทยผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติได้วันละ 200,000 บาร์เรล และ 2,794 ล้านลูกบาศก์ฟุต หากมีการใช้พลังงานดังกล่าวในปริมาณที่คงที่และไม่มีการค้นพบแหล่งสำรองเพิ่มเติมหรือมีแหล่งพลังงานอื่นทดแทน ปริมาณน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของไทยที่มีอยู่จะหมดลงในภายในระยะเวลา 50-60 ปี ขณะที่ความต้องการใช้เชื้อเพลิงอีกประเภทคือ น้ำมันดิบ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และก๊าซธรรมชาติ 4.5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สัดส่วนการนำเข้าเชื้อเพลิงทั้ง 2 ในปัจจุบันจึงได้วันละประมาณ 800,000 บาร์เรล และ 1.7 พันล้านลูกบาศก์ฟุต ตามลำดับ

จากข้อมูลปริมาณสำรองพิสูจน์ของทรัพยากรพลังงาน อาจสะท้อนให้เห็นอนาคตด้านพลังงานน้ำมันและพลังงานก๊าซธรรมชาติของไทยที่น่าเป็นห่วงไม่น้อย การยืดอายุแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงของเราที่มีอยู่ให้ยาวนานขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์สูงสุดและเป็นธรรมต่อรัฐและต่อผู้ประกอบการคงต้องดำเนินการผสมผสานในหลายรูปแบบ เช่น การเพิ่มศักยภาพและเทคโนโลยีด้านการสำรวจ การพิสูจน์ปริมาณสำรอง และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มการผลิตในแหล่งเดิม การสำรวจ ค้นหา และพิสูจน์เพิ่มปริมาณสำรองแหล่งปิโตรเลียมใหม่ ๆ การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมบริเวณอ่าวไทยใกล้เขตกัมพูชาน่าจะมีส่วนในการสร้างความมั่นคงด้านพลังได้ไม่น้อย แต่อย่างไรก็ตาม รายงานการเปลี่ยนแปลงปริมาณสำรองน้ำมันดิบโลกจาก 1.21 ล้านล้านบาร์เรล ในปี พ.ศ. 2546 เป็น 1.52 ล้านล้านบาร์เรล ในปี พ.ศ. 2554 และ 1.65 ล้านล้านบาร์เรล ในปี พ.ศ. 2555 และการเปลี่ยนแปลงเพิ่มปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติของโลก ถึง 11 เปอร์เซ็นต์ในช่วงที่ผ่านมา นับเป็นสัญญาณเชิงบวกที่แสดงว่าแนวโน้มในการค้นพบแหล่งปิโตรเลียม   ใหม่ ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยของเรายังมีความหวังอยู่

โดยเฉพาะพลังงานจาก “หินดิน ดาน” (shale) เป็นหินตะกอนเนื้อเม็ดที่ประกอบด้วยเม็ดตะกอนละเอียดขนาดเม็ดดิน (ขนาด 1/256 มม.) และทรายแป้ง (1/64 มม.) มีลักษณะเป็นชั้นบาง ๆ ส่วนที่ไม่แสดงลักษณะชั้นมักเรียกว่า หินโคลน เกิดสะสมตัวของตะกอนขนาดเล็กและซากพืชสัตว์ ในสภาพแวดล้อมที่เป็นน้ำนิ่ง ทั้งบนบก ชายฝั่งและในทะเล ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง หินตะกอนเนื้อละเอียดกลุ่มนี้พบมากกว่าหินตะกอนกลุ่มอื่น เฉลี่ย 70 เปอร์เซ็นต์ของหินตะกอนทั้งหมด พวกที่มีอินทรีย์สารเป็นองค์ประกอบมาก มักให้สีดำเข้ม (carbonaceous shale) ซึ่งมักเป็นหินต้นกำเนิดปิโตรเลียม (petroleum source rocks) อย่างดี

หินดินดานที่ให้ก๊าซโดยทั่วไปถือเป็นแหล่งกักเก็บชนิดที่มีความต่อเนื่องและมักมีการกระจายตัวกว้างขวาง จึงมีแนวโน้มที่จะเป็นแหล่งกักเก็บที่มีอายุการผลิตที่ยาวนาน ต่างจากแหล่งก๊าซธรรมชาติปกติที่แหล่งกำเนิดและแหล่งกักเก็บก๊าซอยู่ในที่เดียวกัน การผลิตก๊าซจากชั้นหินดินดานในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะบริเวณอ่าวด้านตะวันออก ส่วนกลางของทวีป และบริเวณเทือกเขาร็อกกี้ ได้มีการพัฒนามานับศตวรรษแล้ว ผลผลิตก๊าซดังกล่าวจากหินดินดานเป็นทั้งหินต้นกำเนิดและหินกักเก็บปิโตรเลียมในก้อนเดียวกัน ได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่น่าประทับใจ โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 48 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549

และในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 ส่วนนี้ได้ครองสัดส่วนของตลาดก๊าซธรรมชาติในประเทศสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ทำให้ราคาซื้อขายก๊าซธรรมชาติลดต่ำลงมาก จาก 13 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี พ.ศ. 2549 เหลือเพียง 4 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี พ.ศ. 2554 แหล่งก๊าซข้างต้นได้เพิ่มปริมาณสำรองก๊าซธรรม ชาติพิสูจน์ของประเทศสหรัฐอเมริกาอีก 36 เปอร์เซ็นต์ หรืออีก 687 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2554 ศักยภาพของก๊าซในหินดินดานนั้นได้ส่งผลกระทบต่อตลาดก๊าซธรรมชาติบ้างแล้ว และมีหลายประเทศที่ตื่นตัวสนใจในเทคโนโลยีนี้ เช่น โปแลนด์ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ออส เตรเลีย และ จีน การประเมินปริมาณสำรองก๊าซจากชั้นหินดินดานอยู่กับที่ใน 32 ประเทศทั่วโลก เบื้องต้นประมาณ 22,000 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต โดยมีส่วนที่เทคโนโลยีจะสกัดออกมาใช้ได้ ประมาณ 5,760 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต

การผลิตก๊าซจากชั้นหินดินดาน ถือเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย แต่เคยมีกรณีศึกษาว่าด้วยเรื่องการพัฒนาก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดานของไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมสองเรื่อง คือ ’การประเมินศักยภาพก๊าซในหินดินดานจากหลุมเจาะเก่าในแอ่งสกล นคร” โดย ดร.ภูมี ศรีสุวรรณ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (พ.ศ. 2549) ซึ่งได้ประเมินปริมาณสำรองก๊าซ ณ แหล่งประมาณ 4 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และ ’การวิเคราะห์ธรณีเคมีของหินดินดานอายุไทรแอสซิก เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างรอยแตกเชิงไฮโดรลิกในชั้นหิน บริเวณบ้านซัลพลู อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา” โดยนางสาววิภาดา นิพนธ์ บัณฑิตธรณีศาสตร์ มหา วิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้สรุปผลการศึกษาว่ามีความเป็นไปได้ที่จะสร้างรอยแตกเชิงไฮโดรลิกในชั้นหินดินดานในระดับดีที่สุด และระดับดีปานกลาง

ตามสภาพธรณีวิทยาของประเทศ ไทยชั้นหินดินดานพบอยู่ทั่วไปในทุกภูมิภาคของประเทศ ในช่วงธรณีกาลต่าง ๆ ตั้งแต่ชั้นหินตะกอนส่วนล่างสุดถึงส่วนที่วางตัวอยู่บนสุด หรือตั้งแต่ยุคพาเลโอโซอิก (ยุคเก่า) ยุคมีโซโซอิก (ยุคกลางหรือยุคไดโนเสาร์) และยุคซีโนโซอิก (ยุคใหม่หรือยุคที่ให้ถ่านหิน หินน้ำมัน และปิโตรเลียมส่วนใหญ่ของภูมิภาค) อย่างไรก็ตามข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพการสะสมก๊าซ ความสามารถในการให้ก๊าซ ความหนาและความต่อเนื่องของชั้นหินในกลุ่มหินอายุต่าง ๆ ต้องมีการศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียดชัดเจน

สำหรับข้อจำกัดการขุดเจาะหิน ดินดาน ความซับซ้อนของเทคโนโลยีการขุดเจาะโดยใช้น้ำแรงดันสูงผสมสารเคมีและทราย คือ 1.ความชัดเจนของศักยภาพก๊าซในหินดินดาน ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นไม่อาจปฏิเสธได้เพราะประสิทธิภาพในการพัฒนาแหล่งของประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ที่สำคัญคือการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเจาะและการผลิต ทำให้สามารถลดต้นทุนได้อย่างมาก อุปสรรคสำคัญคือความไม่สม่ำเสมอของชั้นหินดิน ดานและการที่ต้องเจาะหินพร้อม ๆ กับการอัดน้ำแรงดันสูงให้หินแตก 2.การพัฒนาแหล่งก๊าซในหินดินดานต้องพึ่งพาการเจาะขนานใหญ่ การเจาะต่อเนื่อง การอัดแรงดันน้ำและสารเคมีเพื่อให้เนื้อหินแตกมาก ๆ เป็นการเพิ่มรอยแตก เพื่อก๊าซที่แทรกในช่องว่างระหว่างเม็ดตะกอนจะได้ถูกปล่อยออกมา จึงต้องอาศัยทั้งความชำนาญและความเชี่ยวชาญพิเศษที่เพียงพอ และโดยที่ต้องมีหลุมเจาะที่ค่อนข้างถี่ อาจกระทบต่อการใช้ประโยชน์ที่ดิน หากเป็นพื้นที่มีประชากรหนาแน่น

3. ด้านสิ่งแวดล้อมที่พึงระวัง เนื่อง จากกระบวนการอัดแรงดันน้ำให้หินดินดานแตกนั้นต้องใช้น้ำจำนวนมากร่วมกับสารเคมี หากไม่มีการควบคุมและจัดการที่เหมาะสม สารเหล่านี้อาจปนเปื้อนแหล่งน้ำบาดาลและน้ำผิวดิน รวมถึงโอกาสที่ก๊าซมีเทนไหลเข้าสู่บ่อน้ำใช้ผิวดิน 4.กฎเกณฑ์การอนุญาตขุดเจาะเพื่อผลิตก๊าซจากหินดินดาน ในแต่ละภูมิภาค หรือแม้แต่ในแต่ละมลรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกาก็ไม่เหมือนกัน และด้วยความไม่แน่ชัดเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อม มลรัฐนิวยอร์ก และแมรีแลนด์ได้แขวนการอนุญาตการใช้เทคโนโลยีแรงดันน้ำอัดหินดินดานให้แตกนี้ไว้ก่อน ส่วนประเทศฝรั่งเศสซึ่งพึ่งพาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ได้ออกกฎหมายแบน (ห้าม) การใช้ hydraulic fracturing

5.ประเทศไทยเองควรมีการเตรียมพร้อม และติดตามเทคโนโลยีฯอย่างใกล้ชิด ควรผูกเงื่อนไขให้ผู้ได้รับสัมปทานสำรวจผลิตปิโตรเลียมที่จะมีขึ้นรอบใหม่เป็นผู้ศึกษาเก็บข้อมูลพื้นฐาน เกี่ยวกับศักยภาพก๊าซในหินดินดานของพื้นที่สัมปทานนั้น ๆ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการใช้ประโยชน์ในอนาคต

และสุดท้ายการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด การส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเพื่อหาพลังงานทางเลือกอื่น ๆ อย่างจริงจัง ล้วนเป็นทางเลือกของเราสำหรับการเผชิญวิกฤติการพลังงานของประเทศในอนาคต…!!
รู้จักพลังงานทางเลือกอื่น
1.ถ่านหิน ถือเป็นแหล่งพลังงานหลัก ราคาถูกกว่าพลังงานประเภทอื่น ๆ ยกเว้นพลังน้ำ โดยประเทศที่มีปริมาณสำรองแหล่งถ่านหินลำดับต้น ๆ ของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน ออสเตรเลีย และอินเดีย มีปริมาณถ่านหินสำรองพิสูจน์ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 909 พันล้านตัน ถ้าใช้ในอัตราปัจจุบันจะสามารถใช้ได้อีกไม่น้อยกว่า 155 ปี สำหรับประเทศนำเข้าถ่านหินรายใหญ่ คือ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย สหราชอาณาจักร และเยอรมนี ซึ่งถ่านหินส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ประเทศที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวนมากลำดับ
ต้น ๆ ของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย รัสเซีย ออสเตรเลีย โปแลนด์ ญี่ปุ่น และเวียดนาม ซึ่งโรงไฟฟ้าถ่านหินส่วนใหญ่ในปัจจุบันใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด เป็นพื้นฐาน ประกอบกับราคาต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำกว่าเชื้อเพลิงประเภทอื่น จึงเป็นทางเลือกที่แม้แต่ประเทศร่ำรวยทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชียต่างปฏิเสธไม่ได้ โดยประเทศสหรัฐอเมริกาพึ่งพาไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหินมากถึง 49 เปอร์เซ็นต์

2.พลังงานชีวมวล จากวัตถุดิบในท้องถิ่น ของเสียหรือขยะชีวมวล เพื่อผลิตพลังงานจากวัสดุข้างต้น เช่น แป้งมันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม เอทานอล ไบโอดีเซล ก๊าซชีวภาพ ฟาร์มปศุสัตว์ และพลังขยะ พลังงานส่วนนี้แม้ว่าจะมีขนาดเล็ก แต่สามารถช่วยให้ชุมชนเข้มแข็ง และสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น

3.พลังงานแสงอาทิตย์ มีมากมายมหาศาล ประเมินว่าถ้าสามารถดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์ที่ปล่อยออกมาได้เพียง 0.02 เปอร์เซ็นต์ ก็เพียงพอสำหรับความต้องการพลังงานที่ใช้อยู่ในปัจจุบันของคนทั้งโลก การใช้พลังงานแสงอาทิตย์จึงมีความตื่นตัวและเจริญเติบโตมากที่สุด ถึง 35 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับพลังงานทดแทนอื่น ๆ โดยเฉพาะในประเทศ จีน อินเดีย อียู ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ส่วนประเทศไทยก็มีการพัฒนาและใช้พลังงานส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามประเทศในแถบที่มีศักยภาพด้านพลังงานแสงอาทิตย์สูงสุดนั้นอยู่บริเวณทะเลทราย

4.พลังงานนิวเคลียร์ เป็นพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาน้อยที่สุดและผลิตไฟฟ้าราคาต่อหน่วยด้วยต้นทุนต่ำกว่าเชื้อเพลิงประเภทอื่น แต่หลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ Fukushima ประเทศญี่ปุ่นเมื่อไม่นานมานี้ทำให้มีการชะลอการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลก

5.พลังงานลม พื้นที่ศักยภาพสูงของพลังงานลมอยู่กลางทะเล มหาสมุทร ไม่มีสิ่งกีดขวาง โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้ดำเนินการพัฒนาต้นแบบกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาด 50-250 KW ความเร็วลมต่ำที่เหมาะสมสำหรับสภาพภูมิประเทศและความเร็วลมของประเทศไทย

6.พลังความร้อนใต้พิภพ พื้นที่ศักยภาพสูงของพลังงานความร้อนใต้พิภพ มักอยู่ใกล้บริเวณที่เป็นแนวสันโค้งภูเขาไฟมีพลัง หรือบริเวณที่อยู่ใกล้ภูเขาไฟมีพลัง และบริเวณใกล้รอยตะเข็บหรือรอยต่อระหว่างแผ่นธรณี เช่น ประเทศญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เม็กซิโก อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยมีแนวรอยเลื่อนหลายแนวที่ส่งผ่านความร้อนขึ้นมาจากใต้พิภพ แหล่งน้ำพุร้อนต่าง ๆ ล้วนเป็นพื้นที่ศักยภาพพลังความร้อนใต้พิภพ ปัจจุบันได้มีการพบแหล่งน้ำพุร้อนกว่าร้อยแห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ บางส่วนอยู่ในภาคใต้และภาคกลาง



วันอังคารที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2556

"หายนะพลังงานไทย" ก๊าซหมดอ่าว น้ำมัน 100 ล้านลิตร/วัน-ไฟฟ้าเพิ่ม 1,500 MW

จากกรณีก๊าซธรรมชาติจากพม่า 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้ารวม 6,000 เมกะวัตต์ หยุดส่งเพื่อซ่อมแท่นผลิตที่ยุบตัวลงในช่วง 5-14 เมษายน 2556 จนกระทรวงพลังงานต้องงัดมาตรการประหยัดพลังงาน ขอความร่วมมือให้ลดการใช้ไฟ เพราะ "เสี่ยง" ที่ไฟฟ้าจะดับ เกิดการวิพากษ์วิจารณ์วงกว้างถึงความมั่นคงทางพลังงานของประเทศว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงหรือไม่ ชมรมคอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเสวนา "หายนะพลังงานไทย" หาคำตอบจากผู้รู้ด้านพลังงาน


นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ความเสี่ยงด้านพลังงาน หากมองตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 (2553-2573) จะพบว่าในช่วงท้ายแผนต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า 23-25 ล้านตัน/ปี จากปัจจุบันที่นำเข้าเพียง 500,000 ตัน/ปี 

การนำเข้าจำนวนมหาศาลดังกล่าวจะพบว่าประเทศมีความเสี่ยงอยู่หลายประเด็น คือ 1) ไทยยังไม่มีท่าเรือ-คลังเพื่อนำเข้า LNG ขนาดใหญ่ และหากจะก่อสร้างถือว่าเสี่ยงที่จะถูกต่อต้านจากประชาชน ทางเลือกที่มองไว้ แต่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ คือการขนถ่ายกลางทะเลแล้วต่อท่อส่งก๊าซ LNG เข้ามา 2) ข้อจำกัดเรือขนส่ง LNG มีเพียง 5 ประเทศชั้นนำที่ผลิตได้เท่านั้น การผลิตต่อลำใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี และแพงมาก 3) หากต้องลงทุนซื้อเรือต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า50,000 ล้านบาท การนำเข้าที่ 25 ล้านตัน ต้องใช้เรือมากถึง 21 ลำ ไทยพร้อมหรือไม่

ความเสี่ยงที่มากกว่านั้นคือแหล่งที่มีการผลิตก๊าซ LNG ส่วนใหญ่ถูกจับจองไป ทั้งการเข้าไปร่วมลงทุน และเข้าไปทำสัญญาซื้อขายแล้ว ส่วนใหญ่จากจีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น ในขณะที่ไทยยังไม่มีกำลังมากพอที่จะเข้าไป 

ไทยใช้น้ำมันแซงหน้าผู้ผลิต
นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่นำเข้ามากกว่าส่งออก ความต้องการใช้น้ำมันของประเทศอยู่ที่ 630,000 บาร์เรล/วัน หรือ 100 ล้านลิตร/วัน ในขณะที่โรงกลั่นในประเทศผลิตได้ 200,000 บาร์เรล/วัน หรือเพียง 34 ล้านลิตร/วันเท่านั้น และมีการส่งออกอยู่เพียง 6 ล้านลิตรเท่านั้น ที่ต้องส่งออก เพราะเป็นน้ำมันที่ไม่ตรงกับความต้องการของโรงกลั่น เมื่อปริมาณน้ำมันดิบในประเทศมีน้อย แต่เพื่อให้สามารถเดินเครื่องแบบลดต้นทุนได้มากที่สุด จึงต้องนำเข้าน้ำมันดิบเข้ามาเป็นส่วนใหญ่

ปัจจุบันมีปริมาณสำรองน้ำมันที่พิสูจน์พบแล้ว 3 อันดับแรกของโลก คือ 1) ประเทศเวเนซุเอลา 2) ประเทศซาอุดีอาระเบีย และ 3) ประเทศแคนาคา ในขณะที่ไทยอยู่อันดับที่ 47 ของโลก และสามารถผลิตน้ำมันเพื่อใช้เองเป็นอันดับที่ 32 ของโลก ที่ปริมาณ 300,000 บาร์เรล/วัน ที่สำคัญคือไทยมีความต้องการใช้น้ำมันอยู่อันดับที่ 19 ของโลก ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตด้วยซ้ำ 

ไทยเสี่ยงค่าไฟฟ้าทะลุ 6 บาท
ด้านนายพงษ์ดิษฐ พจนา รองผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกปี 1,500 เมกะวัตต์ เชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าในปัจจุบัน คือ 1) เชื้อเพลิงหลัก เช่น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน 2) เชื้อเพลิงเสริม เช่น พลังงานทดแทนต่าง ๆ วันนี้ประชาชนในประเทศต้องเลือกว่าต้องการใช้เชื้อเพลิงประเภทใด เพราะวันนี้ใช้ก๊าซสูงมากเกินไป 

มองเรื่องหายนะทางพลังงาน ไทยมี 2 เรื่อง คือ 1) ความมั่นคง ปัจจุบันใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ร้อยละ 68 ใช้ถ่านหิน ร้อยละ 19 (BLCP/Greco-one) พลังงานทดแทน ร้อยละ 6 นำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ร้อยละ 6 และใช้น้ำมัน ร้อยละ 1 เมื่อการผลิตก๊าซจากอ่าวไทยจะเหลือใช้ในระดับดังกล่าวได้เพียง 10 ปีข้างหน้า เมื่อไม่ต้องการถ่านหิน หรือนิวเคลียร์ ก็จะเห็นว่าการเปิดประมูลโรงไฟฟ้ารอบใหม่ 5,400 เมกะวัตต์ กำหนดให้เป็นก๊าซธรรมชาติเท่านั้น ฉะนั้นอัตราค่าไฟฟ้าของไทย 10 ปีต่อจากนี้อยู่ที่ 6 บาท/หน่วยแน่นอน หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ สิ่งที่ต้องเผชิญ คือไทยจะแข่งขันกับประเทศอื่นได้หรือไม่ ยิ่งเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ไทยจะแข่งขันอย่างไร ในเมื่อค่าไฟฟ้าเพื่อนบ้านถูกกว่า ฉะนั้นสิ่งแรก คือเสี่ยงหายนะทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นต้องเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาโรงไฟฟ้าในประเทศใหม่ 

ทั้งนี้ กฟผ.ขอเสนอว่า ในการปรับแผน PDP ใหม่นั้นจะต้องมีการนำเสนอราคาค่าไฟฟ้าในปีนั้น ๆ ด้วยว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าช่วยประเมินด้วยว่ายอมรับค่าไฟฟ้าระดับนี้ได้หรือไม่ 


ได้เวลามองถ่านหิน-นิวเคลียร์
ในขณะที่นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านพลังงาน กล่าวว่า ทรัพยากรในประเทศมีไม่มาก แต่ยังคงใช้ฟุ่ยเฟือย เพราะถูกตั้งราคาไว้ถูก และกำลังจะหมดไป เกิดวิกฤตแย่งชิงทรัพยากร อย่างกรณีก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) จนต้องนำเข้ามากขึ้น ไทยเป็นประเทศที่นำเข้าพลังงานมากกว่าส่งออก ผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ ในขณะที่ก๊าซในอ่าวไทยจะหมดไปในช่วง 10 ปี จากปัจจุบันที่ใช้อยู่ 4,800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และยังต้องนำเข้าอีก 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน อีก 10 ปีข้างหน้าจะเหลือใช้แค่ประมาณ 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เมื่อถึงตอนนั้นเราต้องนำเข้าเพิ่มขึ้นอีก จากปัจจุบันก็นำเข้าพลังงานค่อนข้างมาก 1.2 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต/ปี และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี 

ความเสี่ยงสูงของพลังงานไทย คือต้องพึ่งพาพลังงานจากภายนอก อย่างกรณีนำเข้าก๊าซจากพม่า จะทำอย่างไร หากในอนาคตพม่าไม่สามารถเพิ่มปริมาณให้ได้ เพราะพม่ากำลังเปิดประเทศ ความต้องการใช้ต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน อาจจะไม่ขายเพิ่มให้ไทย มองว่าในอนาคตไทยอาจจะต้องซื้อไฟฟ้าจากโครงการนิวเคลียร์ ที่กำลังพัฒนาในประเทศเวียดนาม ประเทศจะเสียดุลการค้ามากขึ้นอีก จากการนำเข้าพลังงาน โดยเฉพาะการนำเข้าก๊าซ LNG ที่คาดว่าราคาจะอยู่ที่ 15-16 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ในขณะที่ราคาก๊าซอ่าวไทยอยู่ที่ 9-10 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู เท่ากับว่า LNG นำเข้าแพงกว่าร้อยละ 50 ซึ่งกว่าจะถึงในช่วงปี 2573 ที่ประเทศมีความต้องการใช้ถึง 25 ล้านตัน ราคาจะปรับขึ้นไปอีกเท่าไร 

ศจ.ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ นักวิจัยอาวุโสด้านพลังงาน กล่าวว่า เทียบการใช้พลังงานกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) การใช้พลังงานสูงกว่าตลอด การใช้พลังงานทดแทนควรเพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบัน เพราะประเทศอังกฤษยังปรับเป้าหมายจากแค่เพียงร้อยละ 20 ให้เพิ่มเป็นร้อยละ 30 มองว่าในช่วง 15 ปีนี้ ไทยยังไม่ได้เผชิญหายนะ แต่หลังจากนี้ต้องกังวลแล้ว และควรมองไปถึงเชื้อเพลิงทางเลือกอื่น เช่น ถ่านหิน ซึ่งมีปริมาณสำรองที่ใช้ได้อีก 200 ปี และปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ่านหินสะอาด ทางเลือกอื่น คือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และพลังงานน้ำขนาดเล็ก ที่ต้องกลับมาพิจารณา เพื่อไม่ให้พลังงานไทยอยู่ในภาวะเสี่ยง

ที่มา - 
http://www.marinerthai.com/forum/index.php?topic=15647.0

วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2556

ชีวมวลแปรเป็น “แก๊สเชื้อเพลิง” ยั่งยืนและกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย

source : http://www.thaiday.com/iBizchannel/viewNews.aspx?NewsID=9560000039446

ความตื่นตัวจากกระบวนการผลิตพลังงานชีวมวลกลับมาเป็นที่สนใจในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วง 4-5 ปีนี้ได้มีการประยุกต์ใช้กับของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ที่เรียกว่า “กระบวนการแปรสภาพชีวมวลเป็นแก๊ส” (biomass gasification) กลายเป็นแก๊สเชื้อเพลิงที่จะให้ความยั่งยืนและยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

      
 โดยเฉพาะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของโลกในปัจจุบัน รวมถึงมีแรงกระตุ้นโดยภาครัฐพยายามที่จะลดปริมาณการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก ในขณะเดียวกันก็จะช่วยผ่อนคลายโดยไปลดผลกระทบของราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งไม่มีทีท่าจะลดราคาลง 
ส่วนหนึ่งของชีวมวลต่างๆ ในประเทศไทย
       บทความเกี่ยวกับ ชีวมวลแปรรูปเป็น “แก๊สเชื้อเพลิง” โดย รศ. ดร. วิบูลย์ ศรีเจริญชัยกุล จากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า
       ผลิตภัณฑ์หลักได้จากกระบวนการการแปรสภาพเป็นแก๊สประกอบด้วย แก๊สเชื้อเพลิงพวกไฮโดรเจน และคาร์บอนมอนอกไซด์ (แก๊สสังเคราะห์, syn-gas) รวมทั้งแก๊สเชื้อเพลิงอื่นๆ ในปริมาณน้อยลงมา เช่น มีเทน อย่างไรก็ดี เนื่องจากกระบวนการนี้เกิดขึ้นในสภาวะที่ไม่มีการเผาไหม้โดยสมบูรณ์ ดังนั้น จะเกิดสารประกอบของเหลวที่มีมวลโมเลกุลสูงเรียกว่าทาร์ ซึ่งบางส่วนอาจอยู่ในสภาวะแก๊สขณะที่อุณหภูมิยังสูงอยู่และจะควบแน่นเป็นของเหลวเมื่ออุณหภูมิลดต่ำลง ดังนั้น ในการควบคุมระบบเช่นนี้จะต้องมีการดูแลในเรื่องของแก๊สและทาร์ที่อาจรั่วไหลออกสู่ภายนอกได้
       จากกระบวนการนี้มีข้อได้เปรียบตรงที่จะมีการเกิดแก๊สออกไซด์ที่มีพิษเป็นปริมาณน้อย ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของเตาปฏิกรณ์ ที่ใช้ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ อุณหภูมิเตา, อัตราส่วนออกซิเจนที่ป้อน ฯลฯ กระบวนการการแปรสภาพเป็นแก๊สมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมสูงขึ้นต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้กับของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ซึ่งน่าจะมีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
       นอกจากนี้ แก๊สเชื้อเพลิงที่ได้ยังสามารถนำไปใช้ผ่านระบบคัดแยกไฮโดรเจนเพื่อใช้กับระบบเซลล์เชื้อเพลิงซึ่งกำลังได้รับการพัฒนาเพื่อให้เป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่สำคัญต่อไปในอนาคต แก๊สสังเคราะห์ที่ได้ หากสามารถทำให้สะอาดแล้วก็ถือว่าเป็นสารเคมีพื้นฐานที่สำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ มากมาย
กระบวนการการแปรสภาพเป็นแก๊ส
       ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย 
     
  ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ยากต่อการประเมินในการพิจารณาทางด้านเศรษฐศาสตร์ของกระบวนการการแปรสภาพเป็นแก๊สที่มีการปลดปล่อยสารหลายชนิดออกสู่สภาวะแวดล้อม การปลดปล่อยแก๊สซัลเฟอร์และไนโตรเจนในระบบนี้ จะอยู่ในรูปแบบของสารประกอบรีดิวซ์ และมีปริมาณมากกว่าที่พบในแก๊สจากการเผาไหม้มาก ซึ่งทำให้การดักจับแก๊สเหล่านี้ทำได้ง่ายกว่ามาก ยกตัวอย่างเช่น มีข้อมูลยืนยันว่าระบบ Integrated Gasification Combined Cycle (IGCC) จะปลดปล่อยแก๊สเหล่านี้ออกมาน้อยกว่าการผลิตพลังงานจากการเผาไหม้ถ่านหินในขนาดใกล้เคียงกันที่ใช้เทคโนโลยีการทำความสะอาดแก๊สคล้ายคลึงกัน
       อีกทั้งการจัดการกับแก๊สซัลเฟอร์ในแก๊สเชื้อเพลิงผลิตภัณฑ์ซึ่งอยู่ในรูปของ สารประกอบรีดิวซ์ เช่น H2S นั้นง่ายกว่าการดักจับ SO2 ที่เกิดจากการผลิตพลังงานโดยการเผาโดยตรงมาก สารประกอบพวกซัลเฟอร์มักจะได้รับความสนใจเนื่องจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของ มันมีมากโดยเฉพาะการเกิดฝนกรด อย่างไรก็ดีเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถดักจับสารประกอบซัลเฟอร์เหล่านี้ได้ มากกว่า 99% ในการการแปรสภาพเป็นแก๊สจะไม่พบสารประกอบไนโตรเจนพวก NOX ส่วนการจัดการสารประกอบไนโตรเจนพวก HCN และ NH3 ที่เกิดขึ้นสามารถทำได้โดยเปลี่ยน HCN เป็น NH3 และจับชะด้วยน้ำ
       แน่นอนว่าการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกโดยเฉพาะ CO2 นั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า CO2 ที่เกิดขึ้นจากการนำแก๊สเชื้อเพลิงผลิตภัณฑ์ไปใช้งาน สามารถถูกดักจับเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น การนำมาผลิตยูเรีย หรือการนำไปใช้ในกระบวนการเพิ่มผลผลิตน้ำมัน (enhanced oil recovery, EOR) ซึ่งก็ถือว่าเป็นการกักเก็บ CO2 ไปในตัว แต่ระบบเหล่านี้ต้องใช้เงินลงทุนสูงและไม่เหมาะกับโครงการขนาดเล็ก สำหรับ CO ซึ่งมีปริมาณสูงในแก๊สเชื้อเพลิงที่ได้ เมื่อถูกนำไปเผาไหม้เป็นเชื้อเพลิงในระบบเครื่องยนต์ย่อมทำให้แก๊สที่ปลดปล่อยออกมาจากส่วนผลิตพลังงานมี CO เจือปนอยู่ ซึ่งปริมาณจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพและสภาวะการทำงานของเครื่องยนต์ที่ใช้
       ในส่วนของสารไฮโดรคาร์บอนพวก polyaromatic (PAH) จากข้อมูลที่มีการรายงานพบว่ามีเจือปนอยู่ในปริมาณต่ำมากเมื่อแก๊สผลิตภัณฑ์ ถูกเผาในระบบเครื่องยนต์ น้ำเสียส่วนใหญ่เกิดจากระบบทำความสะอาดแก๊สผลิตภัณฑ์ น้ำเสียส่วนนี้อาจมีสารอินทรีย์พวกน้ำมันดินเจือปนอยู่มากซึ่งต้องได้รับการ บำบัด และยังอาจมีสารประกอบอัลคาไลด์ละลายอยู่ น้ำเสียจะมีสภาพเป็นกรดหรือด่างก็ขึ้นอยู่กับปริมาณธาตุองค์ประกอบในชีวมวล ซึ่งค่าความเป็นกรดด่างในน้ำเสียนี้สามารถถูกปรับที่หน่วยสร้างฟล็อก (flocculation) ของระบบบำบัดน้ำเสีย ของเสียที่เป็นของแข็งจากแก๊สซิฟิเคชั่นจะมาจากองค์ประกอบเถ้าในชีวมวล มักไม่ค่อยพบสารประกอบที่มีความเป็นพิษ จึงสามารถนำเถ้าที่เกิดขึ้นไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น ใช้เป็นมวลสารทดแทนในการผลิตปูนซีเมนต์ หรือหากยังมีปริมาณคาร์บอนเหลืออยู่มากก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้าน พลังงานได้อีก
       ความจริงแล้วการแปรสภาพชีวมวลเป็นแก๊ส(gasification) มีใช้กันมาแล้วกว่า 100 ปี แต่ส่งผลกระทบในวงกว้างน้อยมาก เนื่องมาจากความคุ้มค่าในการลงทุนของเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) ครองแชมป์พลังงานยอดนิยมมาโดยตลอดหลายทศวรรษ ดังนั้น ในแง่ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของกระบวนการแปรสภาพชีวมวลเป็นแก๊สจึงขึ้นอยู่กับราคาของชีวมวล และระบบจัดหาชีวมวลที่มีประสิทธิภาพ 
เตาปฏิกรณ์เพื่อการแปรสภาพเป็นแก๊สแบบ Downdraft
       ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายในการเก็บรวบรวมและขนส่งชีวมวล ถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งโดยทั่วไประบบขนาดเล็ก-กลาง สำหรับชุมชนเพื่อผลิตแก๊สเชื้อเพลิงไว้ใช้งานโดยตรง หรือนำไปปั่นไฟอาจถือได้ว่าเหมาะสมสำหรับสภาพแวดล้อมของประเทศที่มีชีวมวลกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เพราะนอกจากจะช่วยในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ยังช่วยให้ชาวบ้าน ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้
       ชีวมวล แหล่งเชื้อเพลิงราคาถูก
      
 ชีวมวล (Biomass) เป็นสารอินทรีย์ที่ได้จากแหล่งกักเก็บพลังงานโดยธรรมชาติและสามารถนำมาใช้ผลิตพลังงานได้ เช่น เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร หรือกากจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น แกลบ ได้จากการสีข้าวเปลือกชานอ้อย ได้จากการผลิตน้ำตาลทรายเศษไม้ ได้จากการแปรรูปไม้ยางพาราหรือไม้ยูคาลิปตัสเป็นส่วนใหญ่ และบางส่วนได้จากสวนป่าที่ปลูกไว้กากปาล์ม ได้จากการสกัดน้ำมันปาล์มดิบออกจากผลปาล์มสดกากมันสำปะหลัง ได้จากการผลิตแป้งมันสำปะหลังซังข้าวโพด ได้จากการสีข้าวโพดเพื่อนำเมล็ดออกกาบและกะลามะพร้าว ได้จากการนำมะพร้าวมาปลอกเปลือกออกเพื่อนำเนื้อ มะพร้าวไปผลิตกะทิ และน้ำมันมะพร้าวส่าเหล้า ได้จากการผลิตอัลกอฮอล์เป็นต้น
       ชีวมวล สามารถเปลี่ยนรูปเป็นพลังงานได้ เพราะในขั้นตอนของการเจริญเติบโตนั้น พืชใช้คาร์บอนไดออกไซด์และน้ำแล้วเปลี่ยนพลังงาน จากแสงอาทิตย์โดยผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสงได้ออกมา เป็นแป้งและน้ำตาล แล้วกักเก็บไว้ตามส่วนต่างๆ ของพืช ดังนั้น เมื่อนำพืชมาเป็นเชื้อเพลิง เราก็จะได้พลังงานออกมา การใช้ประโยชน์ จากพลังงานชีวมวล สามารถใช้ได้ ทั้งในรูปของพลังงานความร้อน ไอน้ำ หรือผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า โดยจะใช้เชื้อเพลิงชีวมวลชนิดใดชนิดหนึ่งที่กล่าวมาข้างต้น หรือหลายชนิดรวมกันก็ได้
       ชีวมวลจึงเป็นแหล่งเชื้อเพลิงราคาถูก หากมีการใช้ประโยชน์ในบริเวณที่ไม่ไกลจากแหล่งเชื้อเพลิงมากนัก เพื่อลดต้นทุนในการขนส่ง ชีวมวล มีอยู่ทั่วไปในประเทศไทย การนำชีวมวลมาใช้จึงช่วยลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าเชื้อเพลิงและสร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่น
       นอกจากนี้ การผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงชีวมวลด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม จะไม่ก่อให้เกิดมลภาวะและไม่สร้างสภาวะเรือนกระจก เนื่องจากการปลูกทดแทนทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดการหมุนเวียนและไม่มีการปลดปล่อยเพิ่มเติม
       ปัจจุบัน มีการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับชีวมวลมากมายโดยมีเป้าหมายเพื่อจะสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็ง และเกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนได้อีกด้วย
เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน เป็นประธานเปิดโรงไฟฟ้ามุ่งเจริญพรไบโอแมส ตั้งอยู่ถนนสายสุรินทร์-ศีขรภูมิ ต.เทนมีย์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ โรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นโรงงานไฟฟ้าพลังงานแกลบ ให้กำลังผลิตสูงสุด 17 เมกวัตต์ สามารถสนองความต้องการไฟฟ้าในตัว จข.สุรินทร์ ได้ประมาณ 33 % ซึ่งแสดงถึงการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคม และเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติ