วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

มาตรการจำกัดการขับรถยนต์สัปดาห์ละ 1 วันกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (2)



ด้วยความพยายามดังกล่าวของเทศบาลปักกิ่ง ก็เกิดประสิทธิผลต่างๆ ตามมา เช่น ในวันทำงานของปี 2011 กรุงปักกิ่งมีรถที่ถูกจำกัดไม่วิ่งบนท้องถนนในช่วงที่มีรถมากที่สุดประมาณ 9 แสนคัน แต่ละวันสามารถลดมลภาวะได้ประมาณ 237 ตัน รวมแล้วลดการปล่อยมลภาวะจากรถยนต์ได้ประมาณ 5.93 แสนตันต่อปี

เราจะเห็นได้ว่า มาตรการเกี่ยวกับจำกัดรถยนต์ต่างๆ ของกรุงปักกิ่งได้ผลจริงๆ ยังได้ประหยัดพลังงานและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีกับประชาชน ต่อไปหญิงขอแนะนำอีกกิจกรรมที่มีความหมายสำคัญทั่วโลกนะคะ และก็มีวัตถุประสงค์ของมาตรการของกรุงปักกิ่งดังกล่าวเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีแก่ประชาชน คือ กิจกรรม"ปิดไฟ 1 ชั่วโมงเพื่อโลก"ค่ะ




กิจกรรมนี้ก็คือ "Earth Hour" หรือ"ปิดไฟ 1 ชั่วโมงเพื่อโลก"เป็นกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของโลกที่ริเริ่มโดยกองทุนสัตว์ป่าโลกหรือWWF โดยเรียกร้องให้บุคคลทั่วไป เขตชุมชน วิสาหกิจและรัฐบาลช่วยกันปิดไฟเวลา 20.30-21.30 น.ในวันเสาร์สุดท้ายของเดือนมีนาคมทุกปี เพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบด้านการอนุรักษ์โลกของมนุษย์ และทบทวนปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน เช่น การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และเป็นการสนับสนุนปฏิบัติการร่วมกันต่อต้านการระบายก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก

กิจกรรม"ปิดไฟ 1 ชั่วโมงเพื่อโลก"ครั้งแรกเริ่มต้นขึ้นที่เมืองซิดนี่ย์ของออสเตรเลียเมื่อวันที่ 31 มีนาคมปี 2007 เรียกความสนใจจากครอบครัวและวิสาหกิจจำนวนมากกว่า 2,200,000 คนเข้าร่วมกิจกรรม ต่อมาจึงขยายกิจกรรมนี้ไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมาเป็นวันเสาร์สุดท้ายของเดือนมีนาคมปีนี้ ซึ่งเป็นกิจกรรม"ปิดไฟ 1 ชั่วโมงเพื่อโลก"ประจำปี 2012 ปีนี้มี147 ประเทศและเขตแคว้นเข้าร่วมกิจกรรม"ปิดไฟ 1 ชั่วโมงเพื่อโลก" นับเป็นครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่ปี 2007 ที่ได้เริ่มดำเนินกิจกรรมดังกล่าวนี้



มาตรการจำกัดการขับรถยนต์สัปดาห์ละ 1 วันกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (1)



มาตรการจำกัดการขับรถยนต์สัปดาห์ละ 1 วันของกรุงปักกิ่งมีจุดประสงค์เพื่อลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนนและลดภาวะการจราจรติดขัด อีกทั้งยังประหยัดพลังงานเพื่อแก้ปัญหามลภาวะอีกด้วย

คุณผู้ฟังคะ กรุงปักกิ่งเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีพื้นที่กว่า 1.64 หมื่นตารางกิโลเมตร มีประชากรกว่า 20 ล้านคน และมีรนยนต์กว่า 5 ล้านคัน เพื่อแก้ปัญหาลดติดและลดมลภาวะ เทศบาลนครกรุงปักกิ่งจึงประกาศใช้มาตรการจำกัดการขับรถยนต์สัปดาห์ละ 1 วันในกรุงปักกิ่งตั้งแต่เมื่อนเดือนตุลาคมปี 2008 เป็นต้นไป มาตรการนี้ระบุว่า ตั้งแต่เวลา 7.00-20.00 น.ของวันจันทร์-วันศุกร์ซึ่งเป็นวันทำงาน จะจำกัดรถยนต์ของกรุงปักกิ่งและรถยนต์ที่จดทะเบียนต่างถิ่นที่มีตัวเลขสุดท้ายของป้ายรถ ได้แก่ เลข 0 กับ 5 เลข 1 กับ 6 เลข 2 กับ 7 เลข 3 กับ 8 เลข 4 กับ 9 ห้ามขับรถในวงแวนรอบที่ 5 ของกรุงปักกิ่ง และจะหมุนเวียนวันไปเรื่อยๆ และจำกัดรอบละ 13 สัปดาห์ แต่ไม่จำกัดในวันหยุดสุดสัปดาห์สองวันและวันหยุดเทศกาลต่างๆ เช่น วันหยุดวันแรงงาน แม้ว่าเป็นวันอังคาร แต่คิตตี้ก็สามารถขับรถได้ค่ะ





นอกจากกรุงปักกิ่งใช้มาตรการจำกัดการขับรถยนต์สัปดาห์ละ 1 วันแล้ว ยังประกาศใช้มาตรการจำกัดปริมาณรถใหม่ในกรุงปักกิ่งอย่างต่อเนื่องด้วย โดยเมื่อปี 2011 กรุงปักกิ่งเพิ่มรถใหม่แค่ 17.3 แสนคัน ลดลงร้อยละ 78 เมื่อเทียบกับปี 2010

เราจะได้เห็นว่ากรุงปักกิ่งใช้ 2 มาตรการดังกล่าวอย่างเข้มงวด และใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัด และแก้ปัญหามลภาวะ

นอกจากนี้ เทศบาลกรุงปักกิ่งยังรณรงค์ให้ประชาชนไม่ขับรถส่วนตัวไปทำงาน แต่ให้นั่งรถบัส รถไฟใต้ดินและขี่รถจักรยาน เพื่อลดการระบายก๊าซจากรถยนต์ คุณผู้ฟังทราบไหมว่า ตั๋วรถบัสและรถไฟใต้ดินมีราคาเท่าไร ถูกมากๆ ค่ะ รถบัสเพียง 4 เหมาต่อครั้ง ส่วนรถไฟใต้ดินเพียง 2 หยวนก็สามารถนั่งได้ทุกสายค่ะถ้าเป็นนักศึกษาก็ยิ่งได้ราคาถูกขึ้นด้วย คือนั่งรถบัสเพียง 2 เหมาต่อครั้ง สำหรับเด็กที่มีความสูงไม่ถึง 1.2 เมตร และผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีจะได้นั่งรถบัสฟรีด้วย



source : http://thai.cri.cn/247/2012/05/31/225s198595.htm






วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เสีย 2 บาท ไปได้ไกล 50 กม. พลังงานทางเลือกยุคน้ำมันแพงนี้คืออะไร?


สถานการณ์น้ำมันทั่วโลกกำลังอยู่ในขั้นวิกฤติ หลายฝ่ายกังวลว่าโลกจะมีน้ำมันใช้ได้ในอีกเพียง 50 ปีข้างหน้า

แนวทางที่หลายประเทศทำ นอกเหนือจากการประหยัดพลังงาน คือการหาพลังงานทางเลือกหรือพลังงานทดแทนเพื่อใช้แทน "น้ำมัน"

พลังงาน "ไฟฟ้า" เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ โดยเฉพาะด้านการ "คมนาคม"

แต่วันนี้ คนไทย รู้จัก "รถพลังงานไฟฟ้า" ดีหรือยัง? แล้วรู้หรือไม่ว่าเจ้ารถพวกนี้ ช่วยประหยัดได้มากน้อยแค่ไหน?

ชมคลิป
 


Source : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1338285607&grpid=03&catid=&subcatid=

วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ต้องเริ่มจริงจังกับการพัฒนาพลังงานทดแทนแค่ให้ได้ครึ่งของเกาหลีใต้


  
“ภาวะโลกร้อน” เป็นอีกหนึ่งภัยธรรมชาติ ที่กำลังเกิดขึ้นในโลก ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทั่วโลก จากที่เคยเป็นจนบางครั้งไม่สามารถพยากรณ์อากาศที่แปรปรวนได้อย่างถูกต้อง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนเกิดจากฝีมือของ “มนุษย์” ทั้งสิ้น

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปประเทศสาธารณรัฐเกาหลีใต้กับบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่ได้พาคณะนักเรียนจากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์ เชียงใหม่ ที่ชนะการประกวดผลงาน แสงแดด : สุดยอดพลังงาน แห่งอนาคต ชื่อรางวัลการขยายความรู้นวัตกรรมพลังงานแสงแดดสู่ชุมชน ภายใต้โครงการ Thailand Go Green ไปทัศนศึกษาดูงานเรื่องการใช้พลังงานทดแทน เพื่อรองรับโลกในอนาคตเมื่อน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่เกิดจากฟอสซิลหมดไป อีกทั้งเป็นการลดการก่อภาวะมลพิษ ที่เกิดจากการใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงอีกด้วย

ที่ประเทศเกาหลีใต้มีความพยายามเป็นอย่างมากในการลดการใช้น้ำมัน ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการสร้างก๊าซพิษต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก ส่งผลให้เกิดสภาวะโลกร้อน จนทำให้สภาพภูมิอากาศทั่วโลกแปรปรวนไปหมด นอกจากนี้รัฐบาลของเกาหลีใต้ยังเล็งเห็นว่าในอนาคต น้ำมันจะต้องหมดลงอย่างแน่นอน จึงนำพลังงานทดแทนอื่น ๆมาใช้ และเร่งพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพและความมั่นคงของการใช้พลังงานทดแทนอย่างสูงสุด เพื่อให้ลูกหลานในอนาคตมีพลังงานใช้ไม่ขาดแคลน โดยพลังงานทดแทนที่เกาหลีใต้เร่งพัฒนาในขณะนี้ ได้แก่ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศของเกาหลีใต้มีลมแรงอย่างสม่ำเสมอ และมีแสงแดดแรงและยาวนานในแต่ละวัน จึงมีการติดตั้งกังหันลมในจุดที่มีกระแสลมแรง เพื่อนำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้ในแต่ละบ้าน รวมถึงบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ยังมีการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ เพื่อนำพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เอง ส่วนที่เกินยังสามารถส่งขายต่อให้การไฟฟ้าได้อีก ปัจจุบันเกาหลีใต้ใช้พลังงานทดแทนผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในประเทศได้เป็นสัดส่วนที่มากแล้ว ยังเหลืออีกประมาณ 30% ที่ยังใช้จากการผลิตจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ที่เกาะเจจู รัฐบาลเกาหลีใต้ใช้เป็นเมืองต้นแบบในการทดลองใช้ระบบสมาร์ทกริด (Smart Grid) ซึ่งเป็นระบบโครงข่ายสำหรับส่งไฟฟ้าอัจฉริยะแบบครบวงจรโดยใช้เทคโนโลยีดิจิตอล ทำหน้าที่ส่งไฟฟ้าจากผู้ให้บริการไปยังผู้ใช้บริการด้วยระบบสื่อสารสองทาง เพื่อควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้า ณ บ้านของผู้ใช้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถบริหารจัดการการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแต่ละบ้านที่ใช้ระบบนี้ต้องติดมิเตอร์ไฟแบบใหม่ ที่มีการติดตั้งอุปกรณ์และโปรแกรมที่สามารถตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าได้ตามจริง เพื่อคำนวณว่ามีการใช้ไฟฟ้าเท่าใด จุดใดใช้มาก จุดใดใช้น้อย ให้สามารถคำนวณการแจกจ่ายกระแสไฟฟ้าของเมืองได้ ช่วยให้การจ่ายกระแสไฟฟ้าเสถียร ลดปัญหาไฟดับในช่วงที่มีการใช้ไฟสูง ทั้งนี้เนื่องจากการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตกระแสไฟฟ้า ที่เกิดจากการผลิตใช้เอง ส่วนเกินส่งขายภาครัฐนั้น ยังขาดการบริหารการผลิตหรือรองรับในระบบอุตสาหกรรม จึงยังไม่สามารถจัดสรรพลังงานทดแทนเข้ามาใช้ในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงได้ แต่ระบบสมาร์ทกริดจะช่วยบริหารจัดงานตรงนี้

นอกจากนี้ระบบสมาร์ทกริดจะช่วยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน สามารถกำหนดได้ว่าจะใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นใดในบ้านเมื่อไหร่ สามารถตั้งเวลาให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานในเวลาต่างได้ตามต้องการ โดยระบบจะตัดไฟและจ่ายไฟตามที่ตั้งไว้ได้อย่างอัตโนมัติ ช่วยให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ได้ตั้งหน่วยงาน SMART GRID INFORMATION CENTER มาศึกษาทดลองระบบสมาร์ทกริดอย่างจริงจัง รวมถึงมีการศึกษาทดลองเรื่องการใช้รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนอีกด้วย ที่ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดเรื่องแบตเตอรี่ที่มีราคาสูง อีกทั้งใช้เวลาในการชาร์จไฟนาน อย่างไรก็ดีที่กรุงโซล มีการนำรถบัสที่ใช้พลังงานไฟฟ้าวิ่งรับส่งนักท่องเที่ยวที่ต้องการขึ้นไปเที่ยวโซลทาวเวอร์ จากด้านล่างที่เป็นที่จอดรถ พาขึ้นสู่จุดท่องเที่ยว ระยะทางไม่ถึง 1 กม. เพื่อลดมลพิษในการนำรถส่วนตัวขึ้นไป

นอกจากพลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว ที่เกาหลีใต้ ยังมีการใช้พลังงานที่เกิดจากการฝังกลบขยะ นั่นคือก๊าซมีเทน ถือว่าเป็นการบริหารจัดการในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมาก สำหรับบริเวณที่มีการฝังกลบขยะ รัฐบาลจะมีการพัฒนาพื้นที่ ณ จุด ๆ นั้นให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งกำลังพัฒนาหลุมฝังกลบขยะเป็นสวนสาธารณะที่สวยงาม โดยที่นี่อยู่ห่างจากกรุงโซลประมาณ 40 นาที มีพื้นที่ขนาด 20 ล้าน ตร.ม. ซึ่งเป็นหลุมฝังกลบขยะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใช้ฝังกลบขยะที่เก็บกวาดจากกรุงโซล อินชอน และคยองคี วันละประมาณ 18,000 ตัน ซึ่งการแปรรูปนี้ ทางเกาหลีตั้งชื่อว่า ดรีมปาร์ค ที่เป็นทั้งสวนธรรมชาติ สำหรับประชากรในเมืองหลวง เป็นทั้งที่จัดแข่งกอล์ฟ ว่ายน้ำ แข่งม้า ฯลฯ ในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์อินชอนปี 2014

ในส่วนของประเทศไทย ภาครัฐได้มีการสนับสนุนพัฒนาการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยกระทรวงพลังงานมีแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี ซึ่งได้เริ่มมาแล้วตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเอกชนหลายแห่งให้ความสนใจในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในส่วนของบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มีแผนลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ Sunny Bangchak ทั้งหมด 500 เมกะวัตต์ ประกอบไปด้วย 1. โครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ระยะที่ 1 อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ติดตั้ง 44 เมกะวัตต์ ซึ่งได้ขายไฟฟ้าบางส่วนตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมจำหน่ายไฟฟ้าทั้งโครงการภายในเดือน ม.ย. นี้ ซึ่งจะทำให้บางจากฯ มีรายได้ในปีนี้เพิ่มขึ้น 400 ล้านบาท 2. โครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ระยะที่ 2 ตั้งอยู่ที่ อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ และอำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 50 เมกะวัตต์ ปัจจุบัน โครงการเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะเสร็จภายในต้นปี 2556 นี้ 3. โครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ระยะที่ 3 ติดตั้งรวม 75 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ระหว่างเตรียมการจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้าง คาดแล้วเสร็จภายในปี 2557 รวมการติดตั้งทั้งสิ้น 170 เมกะวัตต์ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัท บางจากฯ มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) เพิ่มขึ้น 2,800 ล้านบาทต่อปี

นางฉวีวรรณ เกียรติโชคชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร และชุมชนสัมพันธ์ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นอกเหนือจากโครงการลงทุนที่กล่าวไป บริษัทฯ ยังเล็งเห็นความสำคัญของการปลูกฝังเยาวชนให้เรียนรู้และเห็นคุณค่าของพลังงานทดแทนซึ่งเป็นพลังงานสะอาด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดโครงการประกวดเพื่อให้เยาวชนตระหนักถึงประโยชน์และความสำคัญของพลังงานทดแทนมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการ Thailand Go Green ตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบัน มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการปีละ 500 กว่าแห่ง จนถึงปัจจุบันเข้าร่วมแล้วกว่า 2,500 แห่ง มีเยาวชนเรียนรู้เรื่องพลังงานทดแทนถึง 3 ล้านคน ซึ่งบางจากจะเดินหน้าโครงการปลูกฝังความรู้เรื่องนี้แก่เยาวชนอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นเรื่องสำคัญ โดยปีต่อไปจะจัดประกวดให้เยาวชนคิดค้นนวัตกรรมเรียนรู้สู้ภัยพิบัติ ให้สามารถเอาพลังงานทดแทนมาใช้ในการดำรงชีวิตในขณะที่เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งใกล้ตัวเราเข้ามาทุกที

นายสนิท แย้มเกสร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน สพฐ. กล่าวว่า สพฐ. เริ่มทำโครงการส่งเสริมเยาวชนเรียนรู้พลังงานทดแทน ตั้งแต่เริ่มผลิตไบโอดีเซล ก๊าซโซฮอล์ จนถึงพลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ส่งผล กระทบต่อโลกน้อยกว่าจากน้ำมัน เราต้องยอมรับว่าในอนาคตน้ำมันดิบจะหมดลง จึงจำเป็นที่จะต้องใช้พลังงานทดแทนอื่น ซึ่งช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้ด้วย ที่ต้องเริ่มปลูกฝังกับเด็กและเยาวชนตอนนี้ เพราะในอนาคตเด็กเหล่านี้จะต้องเป็นผู้นำต่อไป เด็กเหล่านี้จะต้องอยู่ต่อในสภาวะของโลกที่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาประเทศไทยเคยริเริ่มการใช้แผงโซล่าร์เซลในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์มานานแล้ว ที่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมเพราะราคาแพง และขาดการสร้างความสำนึกให้คนเห็นความสำคัญ คิดว่ามีเงินซื้อน้ำมันใช้ แต่ทุกวันนี้ต้องกลับมาคิดแล้วว่าหากน้ำมันหมดจะทำกันอย่างไร ซึ่งในต่างประเทศคิดเรื่องนี้และมีการพัฒนาพลังงานทดแทนไปอย่างกว้างขวางแล้ว ถึงเวลาที่ต้องปลูกฝังให้เด็กเติบโตอย่างมีจิตสำนึกในเรื่องนี้ และรัฐบาลควรเดินหน้าสนับสนุนอย่างจริงจัง เหมือนที่ประเทศเกาหลีใต้ ที่มีความพยายามอย่างมากในการใช้พลังงานทดแทนอื่น เพื่อไม่ต้องตกเป็นเบี้ยล่างของประเทศผู้ค้าน้ำมัน และช่วยลดสภาวะโลกร้อน

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไทยทุกคนควรให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานทดแทน หากน้ำมันหมดสิ้นไป แล้วลูกหลานเราในวันข้างหน้าจะอยู่อย่างไร ในเมื่อเราไม่สร้างพื้นฐานพลังงานทดแทนที่ดีทิ้งไว้ให้ตั้งแต่วันนี้.

ประพิม เก่งกรีฑาผล

Source : http://www.dailynews.co.th/thailand/116804

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ทวาย-ไซยะบุรี ชะงัก! จุดเปลี่ยน อิตาเลียนไทย-ช.การช่าง



ประเด็นสิ่งแวดล้อม ที่ "อิตาเลียนไทย - ช.การช่าง" กำลังเผชิญ กลายเป็น "กรณีศึกษา" ของคอร์ปอเรทไทย ต่อแผนโตนอกบ้าน ถึงความไม่หมู


สองยักษ์ก่อสร้าง “อิตาเลียนไทย-ช.การช่าง” เผชิญจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อโครงการความหวังที่จะสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำในระยะยาวอย่าง “ทวาย-ไซยะบุรี” เจอ “ตอ” เข้าอย่างจัง !! ทั้งกระแสข่าวว่าสถาบันการเงินต่างชาติลังเลที่จะปล่อยกู้โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายรวมถึงม็อบลุ่มแม่น้ำโขงที่ออกมาประท้วงจนรัฐบาลลาวต้องชะลอโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีไปก่อน หนทางที่จะแปลงสภาพตัวเองจาก “เสือหิว” ลุ้นงานประมูลปีต่อปีมาเป็นบริษัทที่ทำกำไรได้อย่างยั่งยืนรวมถึงก้าวขึ้นเป็นผู้รับเหมาแถวหน้าของอาเซียนต้องเจออุปสรรคสำคัญ

หากวิเคราะห์ผลการดำเนินงานสองบริษัทในปีที่ผ่านมาอย่างละเอียดจะพบว่าต่าง “ขาดทุนสุทธิ” ทั้งคู่ !! ปัจจัยหลักคือ “ต้นทุนทางการเงิน” เช่น ดอกเบี้ย ที่ใส่ลงไปในสองโครงการสำคัญนอกบ้าน โดยมีตัวช่วยพยุงฐานะการเงินคือผลกำไรจากการขายเงินลงทุน

โดยผลประกอบการ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ปี 2554 ขาดทุนสุทธิ 1,698.46 ล้านบาท เหตุผลหลักมาจากการเข้าไปลงทุนและเป็นผู้ถือหุ้นในโครงการต่างๆ ด้าน บมจ.ช.การช่าง ปีที่แล้วมีกำไรสุทธิ 927.40 ล้านบาท แต่ถ้านับเฉพาะผลการดำเนินงานจริงจะขาดทุน 1,300 ล้านบาท โดยเป็นต้นทุนการเงินที่ต้องจ่าย 1,100 ล้านบาท ส่วนหนึ่งคือการใส่เงินลงทุนและเป็นผู้ถือหุ้นโครงการไซยะบุรี โดยมีกำไรสุทธิที่ได้มาจากการขายเงินลงทุนในบริษัท เซาท์อีสต์ เอเชียเอนเนอจี ให้บริษัท ซีเค พาวเวอร์ ได้กำไรรวม 3,766 ล้านบาท

การเข้าไปลงทุนในธุรกิจสาธารณูปโภคพื้นฐาน เป็นกลยุทธ์ที่สองบริษัทให้ความสำคัญมานานหลายปี โดยช.การช่างเข้าไปลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องอย่าง บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) บมจ.น้ำประปาไทย (TTW) แต่เพิ่งจะลงทุนโดยตรงเมื่อไม่นานมานี้ เช่น โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ล่าสุดคือโครงการไซยะบุรีมูลค่าโครงการ 76,000 ล้านบาท

ส่วนอิตาเลียนไทย เพิ่งจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เอง โดยมีโครงการทวายเป็นโครงการแรก ล่าสุดกำลังยื่นขอสัมปทานลงทุนในเหมืองโปแตซ จังหวัดอุดรธานีและโครงการผลิตอะลูมิเนียมในลาว

โครงการทวาย ปัจจุบันรัฐบาลพม่าได้ประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Dawei Special Economic Zone) โดยมอบสิทธิให้อิตาเลียนไทย เป็นผู้มีสิทธิในพื้นที่กว่า 2 แสนไร่ มูลค่าโครงการ 8,600 ล้านดอลลาร์ อายุสัญญาสัมปทาน 75 ปี โดยได้เซ็นสัญญาเป็นทางการเมื่อปี 2553

ภายหลังจากนั้น ความคืบหน้าของโครงการทวายเป็นไปอย่างล่าช้า จนกระทั่งนายโคโค ฮแลง ที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ของพม่าต้องออกมาพูดเมื่อเร็วๆ นี้ว่า อิตาเลียนไทยผู้ได้สัมปทานไม่มีประสบการณ์ในการทำโครงการขนาดใหญ่มาก่อนและต้องการเห็นนักลงทุนต่างชาติรายอื่นเข้ามาลงทุนโดยเร็ว ทั้งนี้อิตาเลียนไทยได้ว่าจ้าง “ธนาคารไทยพาณิชย์” เป็นที่ปรึกษาโครงการทั้งเรื่องแหล่งเงินกู้และจัดหาผู้ลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในโครงการทวาย
รวมถึงกระแสข่าวว่าสถาบันการเงินระดับชาติ เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ลังเลที่จะปล่อยกู้โครงการทวายเนื่องจากติดปัญหาเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมจากโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่อยู่ใกล้ชิดชุมชน

แต่ปัญหาสำคัญของโครงการนี้คือเรื่อง “เงินทุน” เนื่องจากอิตาเลียนไทยต้องเป็นผู้ลงทุนระบบสาธารณูปโภคภายใน เช่น ถนน รวมถึงจัดการย้ายผู้คนในบริเวณดังกล่าวออกไปพร้อมที่พักใหม่ ขณะเดียวกันต้องเป็นผู้ร่วมลงทุนในโครงการแรกๆ เช่น ท่าเรือ โรงไฟฟ้า แต่ผลประกอบการหลายปีหลังของอิตาเลียนไทยมีทั้งกำไรและขาดทุน จึงมีปัญหาในด้านเงินทุน

ส่วนโครงการไซยะบุรี เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงรวมถึงประเทศสมาชิกอื่นต่างคัดค้านการก่อสร้าง เนื่องจากอาจทำให้ระบบนิเวศน์โดยรอบเสียหาย จนกระทั่งรัฐบาลลาวได้ออกมาระงับโครงการดังกล่าวชั่วคราวเมื่อเร็วๆ นี้ ทั้งนี้บริษัท ซีเค พาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ดำเนินการธุรกิจพลังงานของ ช.การช่าง ได้เซ็นสัญญากู้เงินมูลค่า 85,000 ล้านบาท กับ 6 ธนาคารไปแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และได้ลงทุนจัดการสิ่งแวดล้อมไปแล้วเกิน 1,000 ล้านบาท
อิตาเลียนไทยได้เข้าไปบุกเบิกงานก่อสร้างในพม่าและอินเดียมายาวนานจนมีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศแซงหน้าในประเทศไปแล้ว ส่วน ช.การช่างก็เข้าไปปักธงในประเทศลาวซึ่งมีวิสัยทัศน์ต้องการเป็นแหล่งผลิตพลังงานของเอเชีย

หากก้าวแรกและก้าวสำคัญของสองบริษัทยัง “สะดุด” หนทางที่จะขยายอาณาจักรในประเทศเพื่อนบ้านรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ก็ดูจะมืดมน

เปรมชัย กรรณสูต ประธานกรรมการบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ยอมรับว่า ความเสี่ยงสำคัญของโครงการทวายในขณะนี้คือเรื่อง “เงินทุน” ในการก่อสร้าง ส่วนปัญหาเรื่องของกลุ่มน้อยในพื้นที่ (กะเหรี่ยง) ได้เซ็นสัญญาที่จะหยุดรบกันไปแล้วจึงไม่มีปัญหาอีก

ประเด็นที่หลายคนเป็นห่วงคือเรื่องของ “สิ่งแวดล้อม” ซึ่งอาจทำให้ไม่ได้รับการสนับสนุนเงินกู้ จุดนี้บริษัทได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกมาดูแลซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดในการจัดการของเสียเช่น น้ำ ควัน คนที่จะมาลงทุนในนี้ต่างเป็นอันดับหนึ่งของโลกในแต่ละธุรกิจทั้งนั้น อีกทั้งรัฐบาลพม่าก็มาคุมเข้มในจุดนี้ด้วย เรื่องที่ห้ามสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตอนนี้ไม่ใช่ปัญหาแล้วถ้าไม่มีการส่งมาขายในไทย ให้ใช้เฉพาะในพื้นที่ได้เท่านั้น เขาระบุ

ส่วนเรื่องการย้ายผู้คนออกจากพื้นที่ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นของรัฐบาลอยู่แล้ว ประชาชนไม่ใช่เจ้าของที่ ปัญหาตอนนี้คือราคาที่ดินสูงขึ้น แม้จะยังย้ายผู้คนออกไปได้เล็กน้อยเท่านั้น โดยปีนี้ตั้งเป้าจะย้ายให้ได้ 50% และปีหน้าอีก 50% จากพื้นที่ทั้งหมด 10,000 ไร่

โดยในระหว่างรอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้วเสร็จ จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเพื่อใช้ภายในนิคมฯ ไปก่อน โดยมีกำลังผลิต 200 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับ บมจ.ปตท.ในการต่อท่อส่งก๊าซธรรมชาติเข้ามาใช้บริเวณนิคมฯ

โดยโครงการที่จะต้องลงทุนเฟสแรกคือโรงถลุงเหล็กพื้นที่ 12,500 ไร่ โรงไฟฟ้า 3,000 ไร่ โรงกลั่นน้ำมัน นอกจากนี้ที่ต้องทำเร่งด่วนคือถนนความยาว 600 กิโลเมตรภายในนิคมฯ ระบบไฟฟ้าและประปา มูลค่ารวมทั้งหมด 5,000 ล้านดอลลาร์ภายใน 10 ปีข้างหน้า แต่เบื้องต้นจะลงทุนท่าเรือมูลค่า 2,500 ล้านดอลลาร์ และถนนมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ก่อน โดยสามารถกู้ได้ 60% ของมูลค่าทั้งหมด โดย 3 ธนาคารใหญ่จากไทยพร้อมจะปล่อยกู้

“เรากำลังหาผู้ร่วมลงทุนอยู่อย่างโรงไฟฟ้าเราก็ได้ บมจ.ราชบุรี โฮลดิ้งที่จะมาลงทุนด้วย ท่าเรือก็จะมีพันธมิตรจากญี่ปุ่นมาร่วมถือหุ้นและเราเป็นคนจัดการ โรงถลุงเหล็กกำลังจะเซ็นสัญญาแล้วคาดว่าจะเป็นบริษัทญี่ปุ่น ส่วนโรงกลั่นอยู่ระหว่างเจรจา เบื้องต้นเราได้ลงทุนปรับพื้นที่ไปแล้วประมาณ 1,000 ล้านบาท” เปรมชัย ระบุ

ทั้งนี้พื้นที่ในนิคมฯ จำนวน 1.45 แสนไร่ จะเป็นพื้นที่ขายจริงเพียง 55% ที่เหลือจะเป็นระบบสาธารณูปโภครวมถึงที่พักคนงาน ปีนี้คาดว่าจะขายที่ดินได้ 2-3 แปลงทั้งหมด 40,000-50,000 ไร่ โดยอิตาเลียนไทยจะร่วมเป็นผู้ถือหุ้นในส่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือในสัดส่วน 51%ขึ้นไปเพื่อให้มีรายได้ค่าธรรมเนียมและค่าบริการในอนาคต

เปรมชัย ยังบอกอีกว่า กลยุทธ์ของอิตาเลียนไทยจะทยอยขายพื้นที่ในนิคมฯ ให้กับผู้ลงทุนเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการลงทุนโครงการต่างๆ ไปเรื่อยๆ พร้อมกับหาแหล่งเงินกู้ โดยมี “แผนสอง” คือการเพิ่มทุนบริษัทซึ่งได้ขอมติผู้ถือหุ้นไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่จะนำมาใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น

เป้าหมายเบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างอย่างเป็นจริงเป็นจังได้ในต้น 2013 ในปี 2014 จะเริ่มขายพื้นที่ทั่วไป และจะก่อสร้างเสร็จสิ้นและเปิดเป็นทางการได้ภายในปี 2015

“คำนวณง่ายๆ พื้นที่ในนิคมฯ ทั้งหมด 1.5 แสนไร่ ถ้าขายในราคาเดียวกับมาบตาพุดในตอนนี้ที่ 3-4 ล้านบาทต่อไร่ เราจะมีรายได้เข้ามา 300,000 ล้านบาทภายใน 10 ปีข้างหน้า รายได้เราเติบโตแบบก้าวกระโดดแน่นอน” เปรมชัยเชื่อเช่นนั้น

ปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ช.การช่าง ชี้แจงว่า โครงการไซยะบุรีเป็นการสร้าง “ฝายน้ำล้น” ไม่ใช่เขื่อน ดังนั้นจะไม่มีผลต่อเส้นทางไหลของน้ำเนื่องจากไม่มีการเก็บกัก โดยการประชุมล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้วของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงก็ได้ทำความเข้าใจเรื่องนี้ไปแล้ว อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับทางรัฐบาลว่าจะตัดสินใจอย่างไรต่อไป โดยต้นแบบของโครงการนี้คือโรงไฟฟ้าที่แม่น้ำดานูบในออสเตรียที่หล่อเลี้ยงผู้คนในยุโรปหลายประเทศ

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 30,000 ล้านบาท จะทยอยเพิ่มทุนไปเรื่อยๆ ภายใน 8 ปีหลังจากนี้ โดยเป็นการสร้างฝายสูง 30 เมตรและแหล่งกำเนิดไฟฟ้า อายุสัญญาสัมปทาน 29 ปี มีอัตรากำไรขั้นต้น 10% และผลตอบแทนการลงทุน (IRR) 12-13% ต่อปี มีกำลังผลิตทั้งหมด 1,285 เมกะวัตต์
สัดส่วนการถือหุ้น ประกอบด้วย ช.การช่างลาว 30% รัฐบาลลาว 20% ราชบุรี เอ็นเนอจี 25% บริษัทผลิตไฟฟ้า 12.5% ที่เหลือเช่น ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) ทั้งนี้ ช.การช่าง เป็นผู้ได้สิทธิในการรับเหมาก่อสร้างโครงการดังกล่าวทั้งหมด 76,000 ล้านบาท ปีนี้จะเริ่มรับรู้รายได้ส่วนนี้ประมาณ 4,500 ล้านบาท และจะเริ่มก่อสร้างหนักๆ ในปีท้ายๆ

โดยงานก่อสร้างได้เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตั้งแต่สร้างที่อยู่คนงานและปรับปรุงแนวดินที่จะสร้างฝาย โดยจำเป็นที่จะต้องโยกย้ายชาวบ้านในบริเวณนั้นกว่า 3,000 คนขึ้นไปทางเหนือ โดยรัฐบาลลาวรับหน้าที่ในการสร้างที่อยู่ให้ใหม่

ปลิว ยอมรับว่า ปีที่ผ่านมามีผลดำเนินการขาดทุนเนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนกับโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ไปก่อนโดยอาจจะยังไม่ได้รับผลตอบแทนกลับมา (เช่น รถไฟฟ้าบีเอ็มซีแอล) โดยได้ตั้งบริษัท ซีเค พาวเวอร์ ขึ้นมาเพื่อดำเนินธุรกิจด้านพลังงานโดยเฉพาะ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังน้ำและโคเจเนอเรชั่น โดยจะนำเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในไตรมาสสามนี้

เขายังพูดถึงการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่า ช.การช่าง เตรียมตัวรับเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว อนาคตคาดว่าจะมีคู่แข่งจากต่างประเทศ เช่น มาเลเซียมาทำธุรกิจในไทย แต่บริษัทได้ขยายงานออกไปต่างประเทศได้ระยะหนึ่งแล้ว และมีโอกาสจะเพิ่มขึ้นอีก

ทั้งนี้ บริษัทไทยมีฝีมือที่ดีและประเทศรอบบ้านไทยต่างต้องการโครงสร้างพื้นฐานอีกมากจึงเป็นโอกาสที่ ช.การช่างจะขยายงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศลาวที่มีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำอีกนับ 10 โครงการ เท่าที่ทราบมามีมูลค่าถึง 127,000 ล้านบาท

“เราหาทางสร้างความมั่นคงในแง่รายได้มากว่า 20 ปีแล้ว ถ้าเราสามารถเข้าไปเป็นผู้ลงทุนและผู้ถือหุ้นในโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ได้ ทั้งเงินปันผลและมูลค่าของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น จะทำให้เรามีกำไรที่เติบโตยั่งยืนและมั่นคงในอนาคต” ปลิว กล่าวก่อนที่จะรู้ว่าโครงการไซยะบุรีถูกรัฐบาลระงับโครงการไว้ชั่วคราว

----------------------------------------

เบื้องหลังนายกฯเยือนญี่ปุ่นช่วยโครงการทวาย

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การที่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางไปประชุมผู้นำกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงเมื่อวันที่ 20-21 เมษายนที่ผ่านมา ณ ประเทศญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งของการเจรจาคือการจัดตั้ง "หน่วยงานกลาง" ระหว่าง 3 ประเทศคือไทย พม่าและญี่ปุ่น เพื่อสนับสนุนด้านเทคนิคและการเงินให้กับโครงการทวายโดยเฉพาะ เป็นผลต่อเนื่องจากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นยอมยกหนี้บางส่วนให้กับพม่า
โดยหน่วยงานดังกล่าวจะเข้าไปตรวจสอบและดูแลการก่อสร้างโครงการทวายเพื่อให้ได้คุณสมบัติตามที่ธนาคารระหว่างประเทศ เช่น เวิลด์แบงก์ (ธนาคารโลก) ไจกา (องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น) เอดีบี (ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย) ยอมรับและปล่อยเงินกู้ให้ ซึ่งอิตาเลียนไทยกำลังต้องการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) เพื่อนำมาลงทุนก่อสร้างถนนและท่าเรือในนิคมฯ

“เท่าที่นายกฯไปพูดคุยกับรัฐบาลญี่ปุ่น เขาค่อนข้างจะยินดีที่จะสนับสนุนโครงการทวายเนื่องจากอยู่ในโครงการของกลุ่มประเทศ GMS (Greater Mekhong Subregion) 6 ประเทศ คือ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ (ยูนนาน) ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุนต่อเนื่องอยู่แล้ว” แหล่งข่าว กล่าว
สิ่งที่รัฐบาลพม่าจะได้จากโครงการทวาย คือการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ จากการที่จะมีแรงงานอยู่ภายในทวายกว่า 1 ล้านคน จึงสามารถเก็บภาษีและการถ่ายทอดทางด้านเทคโนโลยี รวมถึงได้ค่าสัมปทานจากอิตาเลียนไทยที่จะต้องจ่ายปีละ 35 ล้านดอลลาร์

ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่มีนายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน มีมติที่จะเสนอให้รัฐบาลยกระดับโครงการทวายเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลพม่ากับรัฐบาลไทย (จีทูจี) จากเดิมที่โครงการดังกล่าวเป็นสัมปทานของอิตาเลี่ยนไทย กับรัฐบาลพม่า

------------------------------------------

โบรกเกอร์ไม่ไว้ใจหุ้น ITD-CK

ด้านความเห็นจากนักวิเคราะห์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับโครงการทวายและไซยะบุรีลงไปในตัวหุ้น ITD และ CK มากนัก เนื่องจากมีความไม่แน่นอนสูงรวมถึงสถานะการเงินยังอ่อนแอ

ชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.บัวหลวง กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยไม่เคยใส่ผลกระทบจากโครงการไซยะบุรีลงไปในแนวโน้มผลประกอบการของ ช.การช่างอยู่แล้วเนื่องจากเป็นโครงการที่ไม่มีความแน่นอนสูง เห็นได้จากราคาหุ้น CK ไม่ได้ขึ้นรับข่าวโครงการไซยะบุรีเท่าไรเพราะตลาดไม่มีความคาดหวังกับโครงการนี้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามเชื่อว่าปีนี้ผลการดำเนินงานของ ช.การช่างจะสามารถพลิกมีกำไรได้

ทางด้านอิตาเลียนไทย ฝ่ายวิจัยแนะนำให้ “ขาย” มาโดยตลอดเพราะเป็นไตรมาสที่ 11 แล้วที่ผลประกอบการขาดทุน โดยไม่เชื่อว่าโครงการทวายจะส่งผลดีต่ออิตาเลียนไทย เนื่องจากสถานะการเงินไม่ดีมีภาระดอกเบี้ยจ่ายสูงแม้จะมี Backlog เยอะแต่ก็ไม่มีกำไร

สิ่งที่จำเป็นต่ออิตาเลียนไทยอย่างมากคือการปรับโครงสร้างต้นทุนการเงิน คาดว่าการเพิ่มทุนแบบ General Mandate (การออกและจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป) จำนวน 7,000 ล้านบาทถ้าหากเพิ่มทุนได้ครับก็ยังไม่พอที่จะพยุงสถานะการเงินอยู่ดี ดังนั้นโบรกเกอร์จึงไม่ได้ใส่เรื่องของทวายลงไปในตัวหุ้น ITD



พม่าเช่าเครื่องผลิตไฟฟ้าจากญี่ปุ่น บรรเทาไฟฟ้าขาดแคลน


ผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า จุดเทียนหน้าเจดีย์สุเล ในนครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ทางการพม่าลงนามข้อตกลงเช่าเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังก๊าซจากญี่ปุ่น เพิ่มเติมจากการซื้อเครื่องผลิตไฟฟ้าจากสหรัฐฯและสิงคโปร์ เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าตามเมืองต่างๆ. -- AFP PHOTO/Soe Than Win.

ซินหัว - พม่าจะเช่าเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังก๊าซจากญี่ปุ่น 3 เครื่อง เพิ่มเติมจากแผนการซื้อเครื่องผลิตไฟฟ้าจากสหรัฐฯ และสิงคโปร์ จำนวน 12 เครื่อง เพื่อบรรเทาปัญหาพลังงานขาดแคลน สื่อทางการพม่ารายงานวันนี้ (28 พ.ค.)

หนังสือพิมพ์นิวไลท์ ออฟ เมียนมาร์รายงานว่า ข้อตกลงเช่ายืมเครื่องกังหันก๊าซขนาด 120 เมกะวัตต์ จำนวน 3 เครื่อง จากญี่ปุ่น ได้ลงนามกันนอกรอบการประชุมสัมมนา The Future of Asia ที่จัดขึ้นในกรุงโตเกียว เมื่อนายโซ เต่ง รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมของพม่า อธิบายถึงภาวะขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าของประเทศต่อนายยูคิโอะ เอดาโนะ รัฐมนตรีเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม และนายโคอิชิโระ เก็มบะ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่น

การชุมนุมประท้วงต่อต้านการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในพม่ามีขึ้นต่อเนื่องนานกว่าสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. ตามเมืองต่างๆ ของพม่า ไม่ว่าจะเป็นที่เมืองมัณฑะเลย์ พะโค พะสิม และนครย่างกุ้ง

ในการชุมนุมประท้วงอย่างสันติต่อต้านการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในเมืองท่าต่างๆ เหล่านี้ เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินมาตรการเร่งด่วนบางประการเพื่อบรรเทาวิกฤตพลังงาน ด้วยการสั่งเครื่องผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีกำลังไฟฟ้า 300-500 kVA และเครื่องกังหันก๊าซ จากสหรัฐฯ และสิงคโปร์ โดยบางส่วนได้ส่งมาถึงพม่า และนำไปติดตั้งที่นครย่างกุ้ง เมืองมัณฑะเลย์ เมืองเปีย สำหรับเสาส่งไฟฟ้าที่ถูกระเบิดทำลายอยู่ในระหว่างการซ่อมแซมเพื่อให้สามารถส่งกระแสไฟฟ้าได้อีกครั้ง คาดว่าจะแล้วเสร็จในสิ้นเดือน พ.ค. หรือต้นเดือน มิ.ย.

นับตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย. เป็นต้นมา เนื่องจากพลังงานไฟฟ้าไม่เพียงพอในประเทศ ทำให้หน่วยงานที่ดูแลด้านพลังงานไฟฟ้าของพม่าได้สั่งระงับการใช้ไฟฟ้าในเขตอุตสาหกรรม โรงงาน และสถานที่ทำงานต่างๆ ในช่วงเวลากลางคืนนาน 6 ชั่วโมง เพื่อกระจายพลังงานไฟฟ้าไปสู่ประชาชน ที่ช่วงเวลาใช้พลังงานสูงสุดอยู่ระหว่าง 17.00-23.00 น.

กระทรวงพลังงานไฟฟ้าระบุว่า จำนวนผู้ใช้ไฟฟ้า และโรงงานทั้งของรัฐ และเอกชนที่เพิ่มจำนวนขึ้น ทำให้ความต้องการพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเป็น 1,890 เมกะวัตต์ สูงกว่าพลังงานที่มีเพียง 1,500 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ความต้องการพลังงานไฟฟ้ายิ่งเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ทางการต้องดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาความต้องการที่เพิ่มขึ้น.

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ดูญี่ปุ่น...แล้วย้อนดูไทย ถึงเวลา ชูธงโรงไฟฟ้าถ่านหิน(4)


แม้เป็นช่วงกลางเดือน พ.ค.แล้ว แต่ยังโชคดีได้เห็นดอกซากุระบานเต็มต้นพอให้ชื่นใจ ได้เก็บรูปเป็นที่ระลึกอยู่บ้างต้นสองต้นหน้าโรงแรมที่พักในเขตฟูกุชิมะ ดอกซากุระบานแล้วร่วง สีชมพูอ่อนดูแจ่มกระจ่าง อ้อล้ออยู่กับสายลมหนาวที่พัดผ่าน แม้อีกไม่นานมันก็จะร่วงโรยไป แต่ใช่ว่าจะไม่ผลิบานใหม่ ถึงฤดูกาลปีหน้าซากุระก็จะกลับมาผลิดอกเบ่งบานสะพรั่งให้คนญี่ปุ่น และผู้มาเยือน ได้ตื่นตาตื่นใจกับความงามอันหยดย้อยของมันอีกครั้ง

เฉกเช่นพระอาทิตย์อันเป็นสัญลักษณ์ของญี่ปุ่น แม้ประเทศนี้ถูกภัยพิบัติกระหน่ำกี่ครั้งกี่หน ก็ลุกขึ้นสู้ใหม่ได้ทุกครั้ง เปรียบพระอาทิตย์ที่ลาลับทางทิศตะวันตก แต่ก็โผล่มาเยือนใหม่ในทิศตะวันออก เป็นเช่นนี้ทุก ๆ วัน เพื่อบอกว่า สรรพสิ่งในโลกนี้ มิได้มีด้านเดียว มีมืด ย่อมมีสว่าง มีขึ้นก็มีลง มีสุขก็มีทุกข์ มีคนสรรเสริญ ย่อมมีคนนินทา

คงไม่มากไป หากจะเปรียบกับองค์กรใหญ่อย่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ผู้บริหารได้ยอมรับฟังผู้ที่ต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าด้วยความพยายามอธิบายทำความเข้าใจมากขึ้น...มากขึ้น

นี่ย่อมเป็นการเปลี่ยนแปลง ในทางที่ดี

อย่างที่เขียนไปในตอนก่อนหน้าว่า เทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ในโลก เป็นเรื่อง ’ชิล-ชิล“ ไปแล้ว โรงไฟฟ้า “อิโซโกะ” ที่มีกำลังการผลิต 1,200 เมกะวัตต์ และส่งไปขายในมหานครโตเกียวด้วยนั้น ได้รับการยอมรับว่าเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดเล็กที่ได้มาตรฐานเรื่องการลดมลพิษมากสุด ปี ๆ หนึ่งจึงมีคนไปดูงานหลายพันคน เทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดล่าสุดของล่าสุดยังพัฒนารุดหน้ายิ่งขึ้นไปอีก

ย้อนไปปี ค.ศ. 1996 ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ 10 รายของญี่ปุ่นได้ลงขันตั้งองค์กรวิจัยชื่อ “NEDO” เพื่อวิจัยและพัฒนาไฟฟ้าถ่านหินต้นแบบ ระบบ IGCC (Integrated coal Gasification Combinded Cycle) ความสำเร็จนี้ทำให้บริษัท Clean Coal Power R&D และมิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสเตรียล กับรัฐบาลญี่ปุ่น ได้ต่อยอดลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าต้นแบบที่ใช้ระบบ IGCC ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 จนถึงปัจจุบัน
โดยคาดว่าอีก 5-6 ปีก็จะทำได้คุ้มในเชิงพาณิชย์

โดยย่อ ๆ ระบบ IGCC ที่ว่า คือการไม่เผาเชื้อเพลิงถ่านหินโดยตรง แต่จะนำถ่านหินสะอาดผ่านกระบวนการทำให้เป็นก๊าซและแยกคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเก็บ จากนั้นนำก๊าซที่ได้ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ลักษณะเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ทำให้ได้ประสิทธิภาพสูงและลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ถึงเวลานั้น ไม่มีเหตุผลที่ กฟผ.จะไม่นำระบบที่ดีกว่ามาสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สะอาดมากขึ้นไปอีก เอ็นจีโอสุดโต่งที่โต้ว่า เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ กฟผ.พานักข่าวไปดูนั้น จะไม่มีการนำมาใช้ เพราะเป็นแค่การสร้างภาพ ถือว่าอคติ และใจคับแคบมาก ปิดกั้นการรับรู้ของตนเองและมวลชน ถ่วงความเจริญ...หรือเปล่า???

ที่จริง กฟผ.ได้พาไปดู โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คาชิวาซากิ คาริวา ที่อยู่ห่างโตเกียวไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 200 กม.ด้วย ที่นี่มีทั้งหมด 7 หน่วย (ตอนนี้หยุดหมด) กำลังผลิตรวม 8,212 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหญ่สุดของโลก โรงไฟฟ้านี้ผลิตไฟขายให้บริษัท TEPCO จำเลยสังคมในเหตุการณ์สึนามิถล่มฟูกุชิมะทำให้เตาปฏิกรณ์ปรมาณูโรงไฟฟ้ารั่ว มีกัมมันตภาพรังสีแพร่ออกมา เหตุหนึ่งเพราะเป็นโรงไฟฟ้าเก่าตั้ง 40 ปี และอีกเหตุ TEPCO หละหลวมในการดูแลรักษา ทำให้ถูกฟ้องล้มละลาย ถูกรัฐบาลเข้าควบคุมทั้งหมด อยู่ระหว่างการเสนอแผนใหม่เพื่อกู้ฐานะให้กลับคืนมา แต่คงต้องใช้เวลาอีกหลายปี

ผู้บริหารโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คาชิวาซากิฯ บอกว่า ได้เก็บซับบทเรียนจาก TEPCO โดยกำลังก่อสร้างประตูเขื่อนขนาดสูง 15 เมตร (จากสถิติคลื่นยักษ์ในจุดสูงสุด) โดยรอบ เพื่อป้องกันสึนามิถล่ม ตอนนั้นที่นี่ก็โดนด้วย เสียหาย 6,000 กว่าล้านเยน นอกจากสร้างประตูเขื่อน ยังอุด 2 จุดโหว่ คือ 1. ระบบหล่อเย็น ใช้วิธีพื้น ๆเตรียมรถเทรเลอร์ขนน้ำสำรองไว้ดับไฟที่อาจไหม้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และ 2. เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ยกขึ้นที่สูงเตรียมไว้เผื่อไฟดับ และมีการทบทวนแผนรับมือสึนามิใหม่หมด เพื่อเตรียมพร้อม หากต้องเปิดดำเนินการอีกครั้ง นี่เป็นเหตุให้วิศวกรโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ยังต้องทำงานทุกวัน

นั่นคือภาพกว้าง ๆ ที่เก็บมาฝาก ดูญี่ปุ่นแล้วย้อนดูไทย นิวเคลียร์ถือเป็นพลังงานสำคัญของญี่ปุ่น แม้ตอนนี้ทั้ง 54 โรงจะปิดหมด เพราะคนญี่ปุ่นยังกังวลความปลอดภัยในเรื่องกัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลอออกมา แต่ที่สุดคนญี่ปุ่นในสายพลังงานยังเชื่อมั่นว่า ที่สุดญี่ปุ่นคงเดินสายกลาง ยอมให้เปิดใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในส่วนที่มีการปรับปรุงใหม่อีกครั้งเพื่อรับมือการใช้ไฟฟ้าที่มีแต่เพิ่มขึ้นและป้องกันไม่ให้ไฟดับทั่วญี่ปุ่น ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น แทบไม่มีปัญหาการต่อต้านให้เห็นเลย

สรุปแล้ว เกือบหนึ่งสัปดาห์กับการดูงาน กลับยิ่งสร้างความมั่นใจว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด เป็นคำตอบการในแก้วิกฤติพลังงานขาดแคลนในทศวรรษหน้าของไทย อันเนื่องจากปัจจัยบวกหลายอย่างที่กล่าวมา และต้องเริ่มลงมือทำตั้งแต่บัดนี้ เพราะถึงที่สุดแล้ว โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ยังไงก็ต้องเกิด หนีไม่พ้น...

เหมือนซากุระกำลังรอผลิดอก...นั่นแหละ.


source : http://www.dailynews.co.th/article/223/115976

อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานพบผู้ว่าฯ ตราดจี้แก้ปัญหาลอบส่งออกก๊าซ



      ตราด - อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานพบผู้ว่าฯตราด จี้ปัญหาลักลอบส่งก๊าซขายตปท. พบเสียหายปีละพันล้าน ระบุใช้ผิดประเภทอีกมาก ประกาศส่ง จนท.ลงตรวจ หลังพบ อ.คลองใหญ่ใช้เพิ่ม 10 เท่าตัว ผู้ว่าฯ ตราด ตีกรอบแก้ไขร่วมกระทรวง

วันนี้( 23 พ.ค. ) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดตราด นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน พร้อมคณะเดินทางติดตามสถานการณ์การลักลอบส่งออกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) กับ หน่วยงานงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดตราด โดยมีนางสาวเบญจวรรณ อ่านเปรื่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินตราด ศุลกากรคลองใหญ่ร่วมหารือแนวทางป้องกันและปราบปรามการลักลอบส่งออกก๊าซหุงต้มไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

นายวีระพล กล่าวว่า การเดินทางมาครั้งนี้เพื่อร่วมชี้แจงกับผู้ว่าราชการ 3 จังหวัด ชายแดน คือ จ.จันทบุรี จ.ตราด และ จ.สระแก้ว เพื่อร่วมรับฟังข้อมูลในเรื่องการค้าแก๊ส LPG ในจังหวัดชายแดนว่า แต่ละจังหวัดเป็นเช่นใด และมีข้อมูลในการใช้และการลักลอบออกไปในต่างประเทศมากน้อยแค่ไหน

ขณะเดียวกัน มีการนำแก๊ส LPG มาใช้ผิดประเภทตามที่กฎหมายกำหนดมากน้อยเพียงใด เนื่องจากทางกรมได้มีการกำหนดใช้ในแต่ละประเภทแล้ว ห้ามมีการใช้ผิดประเภท ทั้งในครัวเรือน ในโรงงานและในการขนส่ง

สิ่งที่เห็นชัดเจนมากที่สุดก็คือสาเหตุจูงใจที่มีผู้ลักลอบนำก๊าซ LPG ส่งไปขายในกัมพูชา คือ ราคาในไทยกำหนดไว้ 18 บาท/กก. แต่เมื่อนำไปขายในกัมพูชามีราคาถึง 40 บาท/กก.
ซึ่งเรื่องนี้ทางกรมจะต้องขอความร่วมมือจากตำรวจ ทหาร และศุลกากร ในการป้องกันและควบคุมไม่ให้มีการใช้ผิดประเภท และมีการลักลอบเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้าน

“ตัวเลขที่จะทราบแน่ชัดว่าจะลักลอบไปเท่าไรนั้นไม่มีเป็นตัวเลขแน่นอน แต่ในการใช้ในครัวเรือนปกติจะเพิ่ม 3-4% แต่ในจำนวนนี้จะเพิ่ม 8% บางส่วนใช้ผิดประเภทไปใช้ในอุตสาหกรรม แต่ที่ลักลอบออกนอกประเทศไม่สามารถบอกได้เป็นตัวเลขแน่ชัด แต่หากประเมินแล้ว 1 ปีน่าจะเกิน 1,000 ล้านบาท”

นายวีระพล กล่าวว่า เรื่องนี้ ได้คุยกับผู้ว่าฯ และพลังงานจังหวัดให้มีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาให้ พลังงานจังหวัดเป็นเลขาฯ เพื่อประสานและเข้าตรวจการทำผิดกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมา กปม. (คณะกรรมการปราบปรามน้ำมันเถื่อน) ก็ได้มีการปราบปรามอยู่แล้ว

นายวีระพล กล่าวด้วยว่า ในการร่วมมือกับประเทศกัมพูชาเพื่อร่วมกันปราบปรามและป้องกันนั้น คงยังไม่ทำถึงระดับนั้น แต่จะให้ กปม. ที่มี 15 ชุด ออกปราบปรามในจุดที่เป็นจุดเสี่ยง ส่วนจังหวัดก็จะมีการตั้งชุดเฉพาะกิจขึ้นมาดำเนินการตรวจสอบว่าเมื่อมีการนำแก๊ส LPG จากโรงงานมาจะมีใบกำกับว่าจะมาเพื่อการอะไร ซึ่งมีการนำมาใช้ผิดประเภทหรือไม่ เพราะหากผิดจะถูกดำเนินคดี ต้องอาญาที่มีโทษ 10 ปี และปรับ 3 แสนหรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนนางสาวเบญจวรรณ กล่าวว่า การประชุมวันนี้ได้ทำความเข้าใจกับส่วนราชการและการควบคุม การลักลอบ รวมทั้งช่องทางการขายแก๊สได้มีการกระทำผิดและมีปริมาณการใช้ที่เกินกับความเป็นจริงแค่ไหน ประเด็นในเรื่องการลักลอบส่งไปยังต่างประเทศ อธิบดีได้ให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบตัวเลขข้อเท็จจริงว่าตรงกับข้อมูลของจังหวัด และสอดรับกันหรือไม่ และการลักลอบส่งไปจำหน่ายในกัมพูชาจะมีการร่วมมือกับอธิบดีเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจังต่อไป

สำหรับตัวเลขที่พลังงานจังหวัดรายงานต่อที่ประชุมปรากฏว่า เดือนมกราคม 2555 มีปริมาณของแก็สที่นำมาจากคลังก๊าซบ้านโรงโป๊ย 95,000 กิโลกรัม เดือนกุมภาพันธ์ 2555 มีปริมาณที่สูงขึ้นเป็น 700,000 กิโลกรัม และเดือนมีนาคม 2555 มีปริมาณ 800,000 กิโลกรัม ที่โรงเก็บแก็ส 2 แห่ง ใน อ.คลองใหญ่ ได้สั่งเข้ามาเก็บไว้ในพื้นที่ อ.คลองใหญ่ โดยผ่านด่านตรวจศุลกากรแล้วทั้งหมด
source : http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000063571

วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

จากเอ็นจีวีถึงค่าไฟ ดวงพักตรา ไชยพงษ์

  โล่งใจไปตามๆ กันเมื่อราคาน้ำมันโลกปรับลดลง และทำให้ราคาน้ำมันในประเทศทยอยลดตามมาเรื่อยๆ นับเป็นการปรับลดราคาลง 6 ครั้งแล้วภายใน 1 เดือน จนทำให้ปัญหาการต่อคิวขอปรับขึ้นราคาสินค้าและค่าโดยสารทั้งแท็กซี่ รถโดยสารสาธารณะต่างๆ เป็นอันต้องแตะเบรกกันเป็นแถว เพราะไร้ซึ่งข้ออ้างจะขอขึ้นราคาต่อไปได้

    แต่ที่ยังโล่งใจไม่ได้...ก็คือตัวก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) นี่แหละ ที่กระทรวงพลังงานยังกุมขมับจะเอาไงดีกับโครงสร้างราคา...?

    แม้รัฐบาลจะประกาศตรึงราคาเอ็นจีวีไว้ที่ 10.50 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่ 16 พ.ค.-16 ส.ค.นี้ก็ตาม แต่ในช่วง 3 เดือนนี้ กระทรวงพลังงานนำทัพโดย นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน จำเป็นต้องเร่งหาตัวเลขต้นทุนราคาเอ็นจีวีที่แท้จริงให้ได้ก่อนที่จะกลับมา ขึ้นราคา 50 สตางค์ ทุกวันที่ 16 ของแต่ละเดือนอีกครั้งภายหลังหมดระยะเวลาการตรึงราคาของรัฐบาลในเดือน ส.ค.2555 นี้

    สาเหตุที่ต้องเร่งหาตัวเลขต้นทุนราคาเอ็นจีวีให้สำเร็จ ก็เพราะหากปล่อยให้ขึ้นไปเรื่อยๆ ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ราคาสุดท้ายจะไปแตะ 14.50 บาทต่อกิโลกรัม แต่หากผลสรุปโครงสร้างราคาเอ็นจีวีไม่ใช่ 14.50 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถูกกว่านั้นล่ะ กระทรวงพลังงานจะคืนเงินให้ประชาชนอย่างไร...?

    นับตั้งแต่ปี 2554 ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ กระทรวงพลังงานยังไม่สามารถสรุปตัวเลขต้นทุนราคาเอ็นจีวีได้สำเร็จ แม้จะมีโครงสร้างราคาเอ็นจีวีออกมาให้เลือกกันถึง 6 แบบ และแต่ละแบบล้วนแล้วแต่ราคาต่ำกว่า 14.50 บาทต่อกิโลกรัมทั้งสิ้น ด้านเจ้ากระทรวงอย่างนายอารักษ์ก็ยังไม่มีอาการเร่งที่จะนัดประชุมสรุป เพราะยังคงติดภารกิจไปต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เจ้าหน้าที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)พยายามเร่งเช้าเร่งเย็นทำให้เสร็จโดยเร็ว เพราะรู้ทั้งรู้อยู่ในใจว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ปัญหาและให้มีการ ยอมรับกันง่ายๆ ถึงขนาดว่าผู้ประกอบการแท็กซี่ไม่เห็นด้วยพร้อมลาออกจากคณะกรรมการพิจารณา ต้นทุนเอ็นจีวีครั้งนี้

    เมื่อหันมาดูราคาเอ็นจีวีที่เคาะกันมาแต่แรก 14.50 บาทต่อกิโลกรัม เป็นราคาที่ผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ รถแท็กซี่ และรถขนส่งต่างไม่เห็นด้วย และเชื่อว่าราคาจะถูกกว่านี้ กระทรวงพลังงานจึงเปลี่ยนใจให้จุฬาฯ มาทำการศึกษาตัวเลขกันใหม่

    โดยประเด็นสำคัญคือ ผู้ประกอบการต้องการให้นำราคาก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี ออกจากการคำนวณราคาเฉลี่ยของก๊าซเอ็นจีวี เพราะแอลเอ็นจีที่นำเข้าจากต่างประเทศ เป็นก๊าซฯ ที่จะนำมาใช้กับโรงไฟฟ้าเท่านั้น หากนำมารวมเฉลี่ยคิดเป็นต้นทุนของเอ็นจีวีด้วยจะทำให้ราคาสูงและผู้ใช้รถ ยนต์ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยเหตุไฉนต้องมาแบกภาระด้วย

    เมื่อเป็นอย่างนี้ผลของการศึกษาจึงต้องแยกเป็นราคากรณีที่รวมแอลเอ็นจีและ ไม่รวมแอลเอ็นจี ดังนี้ 1.ต้นทุนราคาเอ็นจีวีที่แท้จริงกรณีรวมแอลเอ็นจีจะอยู่ที่ 12.50 บาทต่อกิโลกรัม กรณีไม่รวมแอลเอ็นจีจะอยู่ที่ 12.25 บาทต่อกิโลกรัม 2.ต้นทุนราคาเอ็นจีวีที่อยู่บนแนวท่อก๊าซฯ กรณีรวมแอลเอ็นจีจะอยู่ที่ 11.20 บาทต่อกิโลกรัม กรณีไม่รวมแอลเอ็นจีจะอยู่ที่ 11 บาทต่อกิโลกรัม และ 3.ต้นทุนราคาเอ็นจีวีที่อยู่นอกแนวท่อก๊าซฯ กรณีรวมแอลเอ็นจีอยู่ที่ 13.84 บาทต่อกิโลกรัม และกรณีไม่รวมแอลเอ็นจีอยู่ที่ 13.60 บาทต่อกิโลกรัม 

    เห็นตัวเลขสรุปออกมาอย่างนี้แล้ว แน่นอนว่ากระทรวงพลังงานจำเป็นต้องไปแก้ไขราคาต้นทุนเอ็นจีวีที่ประกาศไว้ 14.50 บาทต่อกิโลกรัมให้ปรับลดลงแน่นอน แต่ปัญหาคือ กระทรวงพลังงานจะเลือกใช้ราคาเอ็นจีวีที่รวมแอลเอ็นจีหรือไม่...?  

    ซึ่งแน่นอนว่ากรณีรวมแอลเอ็นจีจะทำให้ผู้ประกอบการคัดค้านแน่นอน แต่กรณีไม่รวมแอลเอ็นจีนี่สิสำคัญ...เพราะต้องผลักต้นทุนราคาแอลเอ็นจีไปคืน ไว้ที่ค่าไฟฟ้า

    และเรื่องนี้ทั้ง สนพ.และจุฬาฯ ก็ทำการศึกษากันไว้เช่นกันว่า ปี 2554 ไทยนำเข้าแอลเอ็นจี 5 แสนตัน คิดเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าประมาณเกือบ 1 สตางค์ต่อหน่วย และแนวโน้มต้องนำเข้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5 แสนตัน โดยปีนี้นำเข้ารวม 1 ล้านตัน และหากครบ 5 ล้านตันจะทำให้ค่าไฟฟ้าต้องปรับขึ้นอีก 3 สตางค์ต่อหน่วยฃ

    และแนวโน้มการนำเข้าแอลเอ็นจีเป้าหมาย 5 ล้านตันจะเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์กันไว้ หากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ที่กำลังจะคลอดออกมาเร็วๆ นี้เช่นกัน หันมาพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น แน่นอนว่าหาก สนพ.จะต้องปรับแผนให้ ปตท.นำเข้าเร็วกว่ากำหนด ซึ่งมีผลกระทบต่อราคาเอ็นจีวีหรือไฟฟ้าเร็วขึ้นแน่นอน

    ต้องถามว่ากระทรวงพลังงานจะเลือกผลักภาระต้นทุนแอลเอ็นจีไปเฉลี่ยรวมกับค่า ก๊าซทั้งหมด หรือจะโยนไปที่ค่าไฟฟ้าให้ประชาชนทั้งประเทศร่วมแบกรับ...? ซึ่งเชื่อว่าใน 1-2 เดือนนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะต้องนั่งหัวโต๊ะตัดสินใจอย่างเด็ด ขาดเสียที ว่าจะเลือกแบบไหนหรือจะมีทางออกทางอื่น เนื่องจากเรื่องนี้ไม่ควรปล่อยไว้เนิ่นนาน เพราะทุกอย่างที่เกี่ยวข้องได้ มีการจัดทำไว้เสร็จสิ้นหมดแล้ว เหลือเพียงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมาตัดสินใจเท่านั้นว่าจะเอา อย่างไรกับอนาคตพลังงานของประเทศ.

+++++++++++++++++++++++

 source : http://www.thaipost.net/news/230512/57193

ดูญี่ปุ่น...แล้วย้อนดูไทย ถึงเวลา ชูธงโรงไฟฟ้าถ่านหิน(3)

ตามแผนพลังงาน 20 ปี ฉบับล่าสุด (2553-2573) ของไทย เน้นให้การผลิตไฟฟ้าใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อช่วยลดภาวะเรือนกระจก โดยให้ใช้ ’ถ่านหินสะอาด กับพลังงานนิว เคลียร์“ เพื่อรับมือการใช้ไฟที่เพิ่มขึ้นจากเดิมปีละ 1,200 เมกะวัตต์ เรื่องนิวเคลียร์อย่างที่บอก คนยังกลัวความปลอดภัยเรื่องกัมมันตภาพ รังสีอย่างมาก แม้ทางวิชาการจะเป็นพลังงานที่สะอาดและถูกสุด แต่ก็แพ้ความกลัวของคน ในไทยจึงต้องฝ่าด่านถ่านหินให้ได้ก่อน

ตามแผนช่วงปี 2562-2573 ทั้งรัฐและเอกชนต้องสร้างไฟฟ้าถ่านหิน 9 โรง รวม 7,200 เมกะวัตต์ แต่เอาเข้าจริง ทั้งรัฐและเอกชนก็ทุลักทุเลพอกัน ถูกต่อต้านจากเอ็นจีโอสุดโต่งไม่ต่างกัน อย่าง กฟผ.ไปจะนะ สงขลา ไปนครศรีธรรมราช ก็ถูกไล่ จน กฟผ.เป็นฝ่ายหนีหัวซุกหัวซุน ขณะที่ทุกรัฐบาลเอาตัวเองก็แทบไม่รอด เดี๋ยวปฏิวัติ เดี๋ยวยึดอำนาจ เดี๋ยวนายกฯถูกขวิดตกเก้าอี้ จะเอาปัญญาที่ไหนไปอุ้ม กฟผ. ขนาดมีการฆ่าเอ็นจีโอที่สมุทรสาคร ยังเอามาโยงเพื่อต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้ง ๆ ที่คนละเรื่อง ไม่เกี่ยวกันเลย โรงงานอุตสาหกรรมที่สั่งถ่านหินมาใช้เองก็เยอะแยะ ถ่านหินได้ถูกทำให้เป็นผู้ร้ายตลอด เพราะเหตุนี้

ก็ไม่เถียง โรงไฟฟ้าลิกไนต์ (ถ่านหินชนิดหนึ่ง) ที่แม่เมาะ ของ กฟผ. เคยเป็นผู้ร้ายฉกรรจ์ในอดีต จะด้วยเทคโนโลยีที่ยังพัฒนาไม่พอหรือความชุ่ยของคน กฟผ.ที่ทำให้เกิดมลพิษจากซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ชาวบ้านเรียก “ฝนเหลือง” ทำให้ชาวบ้านเป็นโรคผิวหนังและระบบทางเดินหายใจ แต่นั่นก็ผ่านมาเป็น 10 ปีแล้ว ผู้บริหาร กฟผ.ยุคใหม่ ไม่ได้อยู่หลังเขา จะได้ไม่ตื่นตัว

ก็แม้แต่รถไฟหัวกระสุน “ชินกังเซน” ที่เรานั่ง ยังติดประกาศตัวเบ้อเร่อ “Green Car” ทั้งขบวน ทั่วโลกมีแต่ตื่นตัว จัดประกวดองค์กรที่ไม่ทำลายธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีองค์กรไหนไล่แจกหน่วยงานที่ก่อมลพิษให้โลกบ้าง ไม่มีเลย ต้นไม้ซักต้นใครไปโค่นมั่ว ๆ ยังถูกด่าหูชา แล้ว กฟผ.จะไม่รู้ร้อนรู้หนาวหรือ เอ็นจีโอจึงต้องให้โอกาสโรงไฟฟ้า “Green Coal” ถ่านหินสะอาด ได้เกิด มิใช่ต่อต้านหัวชนฝาเช่นทุกวันนี้!?!

อีกอย่าง แผลเก่า โรงฟ้าแม่เมาะ ก็เปลี่ยนไปเยอะแล้ว ปีที่แล้ว กฟผ.เปิดบ้านโรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว คนเป็นแสนแห่ไปเยือน-ไปกิน-ไปพักผ่อนกันเอิกเกริก นี่แสดงว่า กฟผ.มั่นใจ เปิดให้คนเข้าไปตรวจสอบเต็มที่ น่าเสียดายที่ชุดโฆษณาที่ออกมาไม่ได้เน้นเปรียบเทียบสภาพโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เก่ากับใหม่ให้เห็นชัด ๆ จะจะไปเลยว่า ต่างกันราวฟ้ากับเหวยังไง ความสะอาด อุปกรณ์ที่กำจัดมลพิษ มีแค่ไหน เพราะเป็นจุดสำคัญที่ต้องสะสางให้แผลเก่าตกสะเก็ด ฝ่ายบริหาร กฟผ.จะได้กล้าประกาศจุดยืน ชูธงเดินหน้าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดอย่างมุ่งมั่น ไม่อ้อมค้อม (นี่ก็เป็นอีกข้อเสนอหนึ่งของสื่อ)

มีของดี จะไปกลัวอะไร!?!

โรงไฟฟ้าอิโซโกะของกลุ่ม J-Power ที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งเราไปยลนั้น เค้ามีการติดตั้งอุปกรณ์ที่เน้นสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ถ่านหินที่ถูกบดละเอียดถูกเก็บในไซโลและใช้สายพานแรงดันอากาศลำเลียงเพื่อ ป้องกันการฟุ้งกระจาย โรงไฟฟ้าจึงสะอาดมาก เถ้าถ่านหินแทบทั้งหมดถูกนำมารีไซเคิลเป็นส่วนผสมของปูนซีเมนต์ น้ำเสียจะถูกบำบัดให้สะอาดก่อนถูกทิ้ง แม้แต่น้ำทะเลที่สูบเอามาใช้ปั่นกังหัน ก่อนปล่อยกลับทะเลอีกครั้งยังถูกควบคุมความเร็วเพื่อไม่ให้เกิดคลื่นไปกระทบ เรือในอ่าวโยโกฮามา

เช่นเดียวกับการขจัดมลพิษของโรงไฟฟ้าแม่เมาะปัจจุบัน รองฯ ธวัช วัจนะพรสิทธิ์ ก็ยืนยันว่า ใช้ระบบ CEM หรือ Computerization Emission Monitoring มานานแล้ว นั่นคือ ติดเครื่องอ่านมลพิษที่ปล่องไฟ 13 จุดและที่สถานีตรวจอากาศอีก 13 จุด ร่วมกับเครื่องอ่านของกรมควบคุมมลพิษอีก 3 ตัว เป็นการตรวจเช็กข้อมูลกัน มั่วไม่ได้ หลอกไม่ได้ และอยู่ระหว่างการแปลงผลออกมาเป็นภาษาง่าย ๆ เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจมากขึ้น

’หากมีการมั่วข้อมูล ชาวบ้านจะรู้ได้เลย อยากให้ทุกคนได้เข้าไปดูโรงไฟฟ้าแม่เมาะในวันนี้ จะได้ไม่ติดภาพเดิม ๆ” ก็เหมือนที่ กฟผ.พานักข่าวเปิดหู เปิดตา ไม่ให้เป็นกบในกะลาครอบ นี่แหละ

ว่ากันว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นมี 3 อย่างเกิดขึ้นในโลก 1. สร้างรถไฟความเร็วสูง ชินกังเซ็น 2. สร้างสถานีโทรทัศน์ เอ็นเอชเค และ 3. จัดแข่งโอลิมปิก เพื่อประกาศให้โลกรู้ ญี่ปุ่นตื่นแล้ว เอ็นเอชเคเกิดขึ้นก็เพื่อถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิก

ญี่ปุ่นก้าวหน้าเพราะคนในชาติมีเหตุผล ทำงานหนัก ตึกในโตเกียวเปิดไฟสว่างไสวถึงดึกดื่นค่ำมืดเพราะทุกคนทุ่มเทถึงชีวิตจิตใจ เวลาเลิกงานบนหน้าปัดนาฬิกาไม่เคยทำให้คนญี่ปุ่นรีบกลับบ้านได้เลย นึกภาพไม่ออก ถ้าไฟดับ คนญี่ปุ่น ธุรกิจ อุตสาหกรรมใหญ่น้อยที่ใช้ไฟเพื่อสร้างผลผลิตให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเจริญก้าว หน้าเช่นทุกวันนี้ จะอยู่ยังไง

เป็นไปไม่ได้ที่ต้องการใช้ไฟ แต่ไม่ยอมให้สร้างโรงไฟฟ้า แม้แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด เหมือนที่เอ็นจีโอไทยกำลังก่อกระแสใหม่ตอนนี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ถูกปิดลงทั้งหมด จะทำให้หน้าร้อนอันใกล้นี้ คนญี่ปุ่นจะไม่มีไฟฟ้าใช้ถึง 20% กลายเป็นประเด็นร้อนที่ รัฐบาลนายกฯโนดะ กำลังถูกไล่บี้อยู่ว่าจะแก้ปัญหายังไง เอ็นจีโอในญี่ปุ่นก็กล่าวหาว่า การปล่อยให้ไฟฟ้าขาด เป็นแผนของบริษัทไฟฟ้าที่จะบีบให้รัฐบาลต้องยอมให้เปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ใหม่อีกรอบ เพราะยังไงก็ตาม ญี่ปุ่นไฟขาดแคลนไม่ได้

แล้วถ้าคนไทยไม่มีไฟฟ้าใช้บ้างล่ะ

ใครจะรับผิดชอบ.

source : http://www.dailynews.co.th/article/223/115747

ดูญี่ปุ่น...แล้วย้อนดูไทย ถึงเวลา ชูธงโรงไฟฟ้าถ่านหิน(2)


ญี่ปุ่น ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็คือ อสูรสงคราม ดี ๆ นี่เอง เที่ยวแผ่ขยายอำนาจไปทั่ว ในจีน ฟิลิปปินส์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระทั่งบุกโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาเบอร์ ปลุกยักษ์อเมริกันกระโจนสู่สงคราม และแพ้ราบคาบด้วยระเบิดปรมาณู 2 ลูก ที่ฮิโรชิมา กับนางาซากิ หลังสงครามโลก ญี่ปุ่นใต้เงาอเมริกาจัดระเบียบตั้งแต่รัฐธรรมนูญยันระบบการเมือง การทหาร ญี่ปุ่นใหม่มุ่งหน้าสู่อุตสาหกรรมหนัก-เบา การค้าการขาย เป็นหลัก กลายเป็น ชาติร่ำรวยติดอันดับโลก

แต่จิตวิญญาณลูกพระอาทิตย์ยังเหนียวแน่น คนญี่ปุ่นยังเข้มข้นด้วยความขยัน อดทน มีวินัย เสียสละเพื่อส่วนรวมเป็นเลิศ ภาพการต่อคิวรับอาหารและซื้อของในร้านค้าของคนญี่ปุ่นหลังถูกสึนามิถล่ม เมืองฟูกุชิมะราบเป็นหน้ากอง คือไม่มีการเบียดเสียด ไม่แย่งชิง เข้าแถวซื้อสินค้าจำเป็นแต่พอดี เหลือของให้คนข้างหลังได้แบ่งปัน ช่างได้ใจคนทั่วโลก เห็นแล้วน้ำตาซึม ไม่เท่านั้น ซากตึกปรักหักพังที่ปนเปื้อนรังสีปรมาณูจากเตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หลอมละลาย ใครจะไปคิด คนนอกฟูกุชิมะทำโพลออกมา หลายจังหวัด ยินดีแบกรับความทุกข์ของเพื่อนร่วมชาติ ยินยอมให้ขนของเสียมาทิ้งในพื้นที่ตัวเองได้ หาได้ง่าย ๆ หรือ จิตใจเสียสละเช่นนี้ แต่ญี่ปุ่นทำได้

กลับมาที่การดูงานโรงไฟฟ้ากับ กฟผ.ต่อ โรงไฟฟ้าแรกในโปรแกรมคือ โรงไฟฟ้าถ่านหินแบบเปิด อิโซโกะ เมืองโยโกฮามา ใกล้กรุงโตเกียว เจ้าของคือบริษัท J-POWER ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่มาก มีกำลังการผลิต 16,992 เมกะวัตต์ ใกล้เคียงกับ กฟผ. หรือประมาณครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตไฟฟ้าของไทย แค่ย่างเท้าเข้าอิโซโกะก็เห็นแล้วว่าเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สะอาดเอี่ยม เรี่ยมเร้เรไรจริง ๆ ไม่ต่างจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในเยอรมนีเลย ที่โน่นมีเพื่อนบ้านกว่า 2 หมื่นคน ปลูกบ้านประชิดโรงไฟฟ้ากันเลย แถมปลูกต้นไม้ซะสวยงามยังกับบ้านพักตากอากาศเล็ก ๆ ก็ไม่ปาน

นี่ก็คงเป็นข้อพิสูจน์ที่ดีว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด มีเยอะแยะ เพียงแต่ที่อิโซโกะอยู่ห่างจากบ้านเรือนชาวบ้าน เหมือนอาณาจักรเล็ก ๆ ส่วนตัว อิโซโกะนั้นได้พัฒนาเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหินมาตั้งแต่ปี 1967 จากหม้อต้มไอน้ำแบบ Sub-Critical stream condition มาเป็นแบบ Super–Critical stream condition และเทคโนโลยีล่าสุดคือ Ultra–Super-Critical (USC) ที่ใช้กันทั่วโลกนั่นล่ะ
เป็นระบบที่ทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น ใช้เชื้อเพลิงน้อยลง การกำจัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ก็เป็นแบบแห้งหรือ Dry Type(ตั้งแต่ปี 2000) จากเดิมที่เป็นแบบเปียก อย่างที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะในอดีตเคยใช้เมื่อปี 2538 นั่นแหละ แต่ปัจจุบันเลิกใช้ไปแล้ว

นี่ก็เป็นอีกข้อพิสูจน์ว่า เทคโนโลยียิ่งก้าวหน้า โรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็ยิ่งสะอาด สารพิษขาประจำก็ยิ่งน้อยลงเรื่อย ๆ ไนโตรเจนออกไซด์ (Nox) จาก 159ppm เหลือ 20ppm และ 13ppm ในที่สุด ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sox) จาก 60ppm เหลือ 20ppm และ 10ppm ส่วนฝุ่นและเขม่า จาก 50mg เหลือ 10 และ 5mg ต่อ m3n เรียกว่า ปลอดภัยระดับมาตรฐานโลก ส่วนซัลเฟอร์ฯนั้นใส่ปูนขาวเข้าไปก็กลายเป็นยิปซัม เอาไปใช้กับที่อยู่อาศัยได้อีก เช่นยิปซัมบอร์ดไง

โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด จึงทำได้ มีจริง แทบจะเป็นเรื่อง “ชิลชิล” ไปแล้ว จะหาคนญี่ปุ่นมาต่อต้านเย้ว ๆ แบบเอ็นจีโอไทย นับหัวได้ ก็อย่างว่า ญี่ปุ่นก้าวไปอีกขั้น ใช้นิวเคลียร์แล้ว เพียงแต่ตอนนี้ต้องหยุดชั่วคราว แต่คงไม่วายต้องกลับมาใช้อีก อย่างที่บอก อยู่ที่จะใช้แค่ไหนเท่านั้น ไม่ใช่การปิดตายแน่ ไม่เชื่อก็คอยดูกันต่อไป

อ้าว...ก็เพราะโพลล่าสุด แม้ในฟูกุชิมะเอง ประชาชนกว่า 50% ยังสนับสนุนให้เดินหน้าทำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อ เพียงต้องเน้นความปลอดภัยให้มากขึ้น ซึ่ง TEPCO เจ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ที่ตอนนี้ถูกรัฐบาลญี่ปุ่นเทคโอเวอร์ (ชั่วคราว) ก็ได้แก้ไขจุดอ่อนเตรียมเสนอแผนต่อรัฐบาลอยู่ ไว้ว่ากันตอนหน้า

ดูญี่ปุ่นแล้วย้อนดูไทย อย่างที่รู้ กฟผ. ตอนนี้ใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้าเกือบ 70% ที่เหลือคือถ่านหินนำเข้า8% ลิกไนต์ 11% น้ำมันเตา 1% พลังลมกับแสงแดดอีกนิดหน่อย แล้วก็ซื้อไฟจากลาว เทียบกับชาติอื่นแล้ว ไทยอยู่หลังเขา ญี่ปุ่นใช้ถ่านหิน 20% (ก๊าซ 26% นิวเคลียร์ 24% และอื่น ๆ) เกาหลี ก้าวร้าวมาก ใช้ถ่านหิน 43% นิวเคลียร์ 34% ใช้ก๊าซแค่ 18% จีนยิ่งไปกันใหญ่ ใช้ถ่านหิน 79% อเมริกาใช้ถ่านหิน 49% นิวเคลียร์ 19% เดนมาร์กใช้ถ่านหิน 48% ก๊าซ 19% เยอรมนีใช้ถ่านหิน 46% นิวเคลียร์ 23% ก๊าซ 14% ขณะที่ฝรั่งเศสลุยเต็มเหนี่ยว ใช้นิวเคลียร์ 76% โน่น ถ่านหิน 12% ก๊าซจิ๊บจ้อย 4% เท่านั้น

แต่ละชาติน่ะ รวย ๆ ทั้งนั้น ทำไมยอมให้ใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้า พวกนี้โง่หรือ หูหนวกตาบอดหรือ ไม่รักชีวิตหรือ ชอบมลพิษหรือ ตรงข้าม เป็นพวกจอมโวยวาย รักษาสิทธิตนเต็มที่ (ยกเว้นจีน ที่รัฐบาลชี้เป็นชี้ตายได้หมด) การไม่ต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน มันต้องมีเหตุผลดี ๆ สนับสนุนแน่

เพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดมีจริง ราคาถ่านหินก็ถูกกว่าก๊าซมาก ใช้ได้นานอีกตั้ง 200 ปี อย่างก๊าซในอ่าวไทย อีกไม่เกิน 20 ปีก็หมดแล้ว ราคาก็แพง ก๊าซหน่วยละ 3.20 บาท ถ่านหิน 2.36 บาท ที่เอ็นจีโอให้ใช้ลม ราคาหน่วยละ 5-6 บาท แสงแดด 8-9 บาท และมีความไม่เสถียรทั้ง 2 ชนิด หากเอามาผลิตกระแสไฟฟ้า ราคาค่าไฟจะแพงกว่าตอนนี้กว่าเท่าตัว แล้วรับได้หรือ ถามจริง-จริง??? ถ่านหิน จึงลงตัวสุด ดีสุด โรงไฟฟ้าถ่านหิน จึงควรเป็นทางเลือกดีสุดของคนไทย

เพื่อแก้วิกฤติ...พลังงานไทย.

source : http://www.dailynews.co.th/article/223/115538

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ดูญี่ปุ่น...แล้วย้อนดูไทย ถึงเวลา ชูธงโรงไฟฟ้าถ่านหิน (1)

จู๋ๆ ภูเขาไฟ ฟูจิยามา ก็โผล่มาอยู่ตรงหน้า วันนี้ฟ้าเปิดเต็มที่ แดดจ้า ลมแรง ฟูจิฯ สวยสง่าสมคำเล่าลือจริง ๆ ช่างขาวโพลนอะไรเช่นนี้ แม้มิใช่ครั้งแรกที่ได้ยล แต่ยังอดตื่นตาตื่นตาใจมิได้ อย่าว่าแต่คนแดนไกลเลย แม้คนญี่ปุ่นเกิดญี่ปุ่นแท้ ๆ ก็ใช่ว่าทุกคนจะได้สัมผัสภูเขาไฟที่สูง 9 ชั้น ดูสวยทุกมุม โดยเฉพาะยอดเขาที่เห็นหิมะไหลเป็นทางยาวเหมือนหญิงสาวสวมชุดราตรีหรู พลิ้วแนบเนื้อ ดั่งจะเริงระบำได้ หรอกนะ

เมื่อเป็นดังนี้ ก็ควรให้เราต้องตะลึงงันกับขุนเขาอันเป็นที่สถิตของเจ้าแม่สุริยะอยู่หรอก ตะลึงงันพอกับข้อมูลที่เปิดเผยว่า มีคนญี่ปุ่นเลือกมาฆ่าตัวตายในป่าบริเวณภูเขาไฟฟูจิปีละเป็นร้อย คนที่ตัดสินใจลาโลก เพียงเดินเข้าไปในป่าเปลี่ยวนั้น เลือกแขวนคอตายกับต้นไม้อย่างเดียวดาย กว่าจะมีผู้มาพบ ชีวิตนั้นก็ออกจากร่างไปแล้ว

ดินแดนอาทิตย์อุทัย ญี่ปุ่น หลังสถานการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิถล่มเมืองฟูกูชิมา (ขึ้นชื่อเรื่องเป็นเมืองผลไม้และแหล่งน้ำพุร้อนออนเซน) เมื่อ 11 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา ทำให้เตาปฏิกรณ์ปรมาณูในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลอมละลายเพราะระบบหล่อเย็นไม่ทำ งาน เกิดแก๊สพิษรั่วไหลออกไป ทำให้คนตาย พืชผักผลไม้ และสัตว์ทะเล กุ้ง หอย ปู ปลา ก็ได้รับรังสีปรมาณูไปทั่ว สินค้าเกษตรเหล่านี้ กินไม่ได้ ขายไม่ออก เกษตรกรแทบหมดตัว ต้องรอจนกว่ารังสีค่อย ๆ จางหายไป ซึ่งกินเวลาเป็นปี ผู้คนจึงค่อย ๆ กลับมา บริโภคสินค้าเกษตรเหล่านี้กันอีกครั้ง

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น 54 โรง ได้รับผลสะเทือนใหญ่หลวง วันที่ 5 เดือน 5 ปี 2555 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้ง 54 โรงก็ถูกปิดลง เพื่อทำการตรวจตรา ซ่อมแซม ปรับปรุง นำเสนอแผนให้รัฐบาลและท้องถิ่นเชื่อมั่นถึงความปลอดภัย ก่อนจะเปิดใช้อีกครั้งหนึ่ง !?!

ล่าสุด คนญี่ปุ่นอยู่ระหว่างทาง 4 แพร่ง จะยอมให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ ยอมแค่ไหน 0%, 20%, 25% หรือ 30% ตามลำดับ เฉพาะหน้าร้อนอันใกล้นี้ คนญี่ปุ่นจะต้องเผชิญกับการขาดแคลนไฟฟ้าใช้ 20% อันเนื่องจากการปิดตัวของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ วิกฤติขาดแคลนไฟฟ้านี่ล่ะ จะเป็นตัวเร่งให้รัฐบาลและคนญี่ปุ่นต้องร่วมกันชี้ชะตาว่า จะเดินหน้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างไร แค่ไหน...

ก็คงเร็ว ๆ นี้แหละ ได้รู้กัน

การเดินทางไปดูโรงไฟฟ้าญี่ปุ่นกับผู้บริหารที่มากความรู้และใจกว้าง แห่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำโดยรองผู้ว่าการกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม ธวัช วัจนะพรสิทธิ์, ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรม รัตนชัย นามวงศ์ และทีมพีอาร์ไฟแรง รัชดา ทองอยู่ วิทยากรระดับ 11, เดชา อัครชะนียากร  หัวหน้ากองสารนิเทศ, รัชดาพร เสียงเสนาะ วิทยากรระดับ 9 กองสื่อสารภายนอก และ ศิริลักษณ์ ศรีมณฑล  วิทยากรระดับ 9 กองสื่อสารภายใน ซึ่งทั้ง 4 คนสังกัดฝ่ายสื่อสารองค์การ พร้อมด้วยสื่อมวลชนอาวุโสจำนวนหนึ่ง ระหว่าง 7-12 พ.ค. ที่ผ่านมา ถือว่า ได้ประโยชน์มาก น่าจะเป็นสื่อคณะแรก ๆ ที่ได้มาสัมผัสคนทำงานในโรงไฟฟ้าที่กำลังปั่นป่วน ไม่นิ่ง วุ่นวายใจ ว่าเขา...

จะอยู่อย่างไรต่อไป??

โรงไฟฟ้าที่ กฟผ.พาไปดูนั้น มีทั้ง โรงไฟฟ้าถ่านหินแบบเปิดที่อิโซโกะ ของกลุ่มบริษัท J-Power เมืองโยโกฮามา โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คาชิวาซากิ คาริวา (BWR) เมืองฟูกูชิมา และโรงไฟฟ้าต้นแบบถ่านหินสะอาด IGCC โตเกียว ซึ่งแต่ละแห่งอยู่ระดับแถวหน้าของโลก เช่น คาชิวาซากิ “กินเนสส์บุ๊ก” บันทึกว่า เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหญ่สุดในโลก เป็นต้น

การที่ กฟผ. พานักข่าวไปดูงาน ก็ไม่ใช่พาไปล้างสมองหรือซื้อตัวให้เขียนเชียร์อย่างที่เอ็นจีโอบางคน จินตนาการมั่ว ๆ ไปเองหรอก ที่เค้าพาไป จะได้ไปเห็นกับตา สัมผัสด้วยตัวเอง ว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด หรือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นั้น หน้าตาเป็นยังไง สภาพภายนอกภายในเป็นเช่นไร สกปรกหรือสะอาดขนาดไหน มีกลิ่นหอมหรือกลิ่นเหม็นตลบอบอวลแค่ไหน ขืนให้เอาแต่นั่งฟังเค้าว่า นั่งดูแต่แผ่นพับ วิดีโอ จะไปได้เรื่องยังไง เห็นกับตาเต็ม ๆ จะได้เขียนได้ถูกต้อง เห็นยังไง ก็เขียนอย่างนั้น ไม่บิดเบือน ไม่ต่อเติม

มีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ก็บอกกันตรง ๆ ไม่อ้อมค้อม แต่ละคน ถ้าเป็นนักมวย ก็รุ่นเฮฟวี่เวตแล้ว (ไม่ได้เชียร์กันเอง) แต่มันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ หลายเรื่อง กฟผ. ก็สะอึก แต่ก็น้อมรับนำไปปรับปรุงแก้ไข นี่เป็นความใจกว้างยิ่ง โดยเฉพาะงานมวลชน การสร้างความเข้าใจกับคนที่ต่อต้าน ซึ่งเป็นงานหินสุด ๆ

แต่วิกฤติพลังงานที่กำลังจะเกิดขึ้นกับไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านั้น ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นหรอกนะ หน้าที่รัฐบาล และ กฟผ. คือต้องเตรียมหาทางรอดและทางเลือกดีสุด เมื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หลังสถานการณ์ฟูกูชิมา สำหรับประเทศไทย แม้ยังไม่ปิดประตูตายซะทีเดียว แต่บอกได้เลย เกิดยากสุด ๆ อีกนานมากเลยกว่าจะได้ตั้งไข่

แล้วทางไหนเล่า...

ทางรอด...

พลังงานไทย???.

source : http://www.dailynews.co.th/article/223/115406

บางประเด็นปัญหาพลังงานที่สังคมไทย(ยัง)ไม่สนใจ!

โดย ประสาท มีแต้ม

       ในช่วงไม่นานมานี้สังคมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสังคมเครือข่ายออ นไลน์ได้ให้ความสนใจในปัญหาพลังงานมากขึ้นเมื่อเทียบกับ 4-5 ปีก่อน บางคลิปมีผู้เข้าชมถึง 2.8 แสนรายในเวลาอันสั้น แม้จะเทียบกับ “เรื่องนี้ต้องถึงครูอังคณาแน่” (ที่มีผู้ชมกว่า 6 ล้านคน) ไม่ได้ แต่ก็ต้องถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดกำลังใจต่อผู้ขับเคลื่อนเพื่อ สังคมที่ดีกว่าเดิม
      
       ประเด็นที่คนสนใจกันมากได้แก่ (1) น้ำมันแพง …เข้ากระเป๋าใคร? (2) ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง แต่ทำไมน้ำมันที่ปั๊มกลับสูงขึ้น (3) ประเทศเรามีแหล่งปิโตรเลียมเยอะ แต่ทำไมรัฐได้ค่าภาคหลวงแค่ 12.5% ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ต่ำที่สุดในโลก และ (4) ทำอย่างไรจึงจะเอา ปตท. กลับมาเป็นของรัฐดังเดิม
      
       เมื่อพูดถึงภาคไฟฟ้า(ซึ่งมีมูลค่า 4.8 แสนล้านบาท 1.5 แสนล้านหน่วย) คนในเมืองก็จะสนใจแต่ค่าเอฟที ในขณะที่คนชนบทที่เป็นเป้าหมายของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก็จะคัดค้านโรงไฟฟ้า สกปรก
      
       แม้ว่าประเด็นดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดีที่พลเมืองควรจะต้องสงสัยตั้งคำ ถามและเรียกร้องสิทธิในการมีส่วนร่วมของตนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่ผมคิดว่าเท่าที่เป็นประเด็นมาแล้วนี้ยังไม่เพียงพอครับ ผมขอเพิ่มเติมบางประเด็นตามเนื้อที่ที่บรรณาธิการอนุญาตให้
      
       ขอเริ่มต้นด้วยภาพการ์ตูนซ้ายมือก่อนนะครับ (ขอโทษที่หาที่มาไม่เจอ) ในภาพมีคน 6 คนต่างโบ้ยกันไปมาเมื่อมีคำถามว่า “ใครทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น”หก คนที่ว่านี้ได้แก่ ความต้องการบริโภค (demand) บริษัทน้ำมัน (Big oil) รัฐบาล นักเก็งกำไร(speculator) นักสิ่งแวดล้อม และกลุ่มโอเปก
       ในประเด็นนี้ Bernie Sanders วุฒิสมาชิกอิสระจากรัฐ Vermont ของสหรัฐอเมริกาได้ตอบคำถามต่อ CNN(28 ก.พ. 55) ว่า “จงลืมกฎเกณฑ์เรื่องอุปสงค์ อุปทานที่คุณเคยอ่าน ราคาน้ำมันและก๊าซแทบจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับหลักการพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ เลย จากข้อมูลของ E.I.A. พบว่า อุปทาน(supply) ในวันนี้มีมากกว่า 3 ปีก่อนซึ่งราคาที่ปั๊มในวันนั้น 15.50 บาท/ลิตร(ผมแปลงให้เข้าใจง่าย) ในขณะที่วันนี้(ในอเมริกา) อุปสงค์ลดลงต่ำที่สุดนับจาก1997 แต่ราคามาอยู่ที่ 32.75 บาทต่อลิตร”
      
        วุฒิสมาชิกท่านนี้ยังกล่าวอีกว่า บริษัทน้ำมันได้ควักกระเป๋าของผู้บริโภคมาเป็นเวลานาน สร้างกำไรมหาศาล แต่ยังมีผู้ร้ายอีกตัวหนึ่งที่ซ่อนอยู่คือตลาด Wall Street ซึ่งเป็นตลาดล่วงหน้าโดยนักเก็งกำไร
      
        เมื่อ 10 ปีก่อน นักเก็งกำไรสามารถควบคุมได้เพียง 30% ของราคาน้ำมันและก๊าซในตลาดล่วงหน้า แต่ปัจจุบันนักเก็งกำไรดังกล่าวสามารถควบคุมได้ถึงเกือบ 80% “นักเก็งกำไรพวกนี้ซื้อและขายน้ำมันแต่พวกเขาไม่เคยได้ใช้น้ำมันนี้แม้แต่ หยดเดียว หน้าที่ของพวกเขาคือการสร้างเงินให้มากที่สุดและเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้”
      
        ปัจจุบันในแต่ละวัน ทั้งโลกมีการใช้น้ำมันประมาณ 85 ล้านบาร์เรล แต่มีการซื้อขายกันกว่าหนึ่งพันล้านบาร์เรลต่อวัน รายงานของ CNN ชิ้นนี้ซึ่งอ้างถึงผู้เชี่ยวชาญ Goldman Sachsและซีอีโอของบริษัท Exxon-Mobil ระบุว่า “กว่าร้อยละ 40 ของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นผลมาจากการเก็งกำไรในตลาด Wall Street”
      
        คราวนี้มาถึงภาพการ์ตูนทางขวามือครับ นักเคลื่อนไหวทางสังคมที่ใช้ชื่อว่า “ยึดวอลล์ สตรีท (Occupy Wall Street)” ได้แบ่งคนออกเป็นสองกลุ่มคือ 99% กับ 1% ภาพนี้สะท้อนว่าพวกเขากำลังปลุกคนชั้นกลาง แต่สื่อมวลชนได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มคน 1% ที่ขัดขวางการเคลื่อนไหว จริงหรือไม่จริงตีความเอาเองนะครับ
      
        ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เราสงสัยก็คือ ต้นทุนในการนำน้ำมันขึ้นมาจากสู่ผิวดิน (lifting cost) กับต้นทุนในการสำรวจ(finding cost) จากข้อมูลของ E.I.A.(หน่วยงานของสหรัฐอเมริกา) พบว่าต้นทุนรวมในช่วงปี 2550-2552 ในบริเวณตะวันออกกลางและเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่บาร์เรลละ $12.74 (หรือ 2.50 บาทต่อลิตร) และ $26.6 (หรือ 5 บาทต่อลิตร) ร้อยละ 75 ของน้ำมันดิบที่ประเทศไทยซื้อมาจากตะวันออกกลาง แต่ทำไมราคาจึงขึ้นไปอยู่ที่ $76 ต่อบาร์เรล(หรือลิตรละ 15 บาท) ได้อย่างไร? มันแพงกว่าที่ควรจะเป็นถึงกว่าเท่าตัว
      
       ยังมีอีกหลายประเด็นที่ควรจะสร้างความเข้าใจให้กับสังคม ในที่นี้จะกล่าวถึงประเด็นโลกร้อน นักวิทยาศาสตร์สรุปว่า สาเหตุที่ทำให้โลกร้อนมาจากการใช้พลังงานฟอสซิล (ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ) ถึงประมาณร้อยละ 72 ในจำนวนนี้กว่าครึ่งหนึ่งมาจากน้ำมันและก๊าซ
      
       ปัญหาโลกร้อนอันตรายต่อชาวโลกอย่างไร? บริษัทประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษได้คาดการณ์ว่าอีกประมาณ 40 ปีข้างหน้า ความเสียหายจากภัยพิบัติที่เกิดจากปัญหาโลกร้อนจะมากกว่ารายได้ทั้งปีของคน ทั้งโลกรวมกัน น่ากลัว!
      
       ดังนั้น ต่อให้โลกนี้มีน้ำมันมากและราคาถูกราวกับน้ำทะเล แต่มนุษย์ก็ไม่สามารถใช้ได้มากกว่านี้อีกแล้ว เพราะขีดจำกัดที่เกิดจากปัญหาโลกร้อน ถ้าชาวโลกต้องการจะอยู่รอดปลอดภัยจะต้องร่วมกันลดการใช้พลังงานฟอสซิลเสีย ตั้งแต่บัดนี้ ทั้งนี้โดยการทำสองอย่างที่สำคัญคือ หนึ่ง หันไปใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งมีมากและคนธรรมดาสามารถเข้าถึงได้ง่าย อสูรกายอย่าง Wall Street ก็คุมไม่ได้ และสองต้องใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
      
       ดังนั้น ในทัศนะของผมแล้ว ราคาน้ำมันควรจะแพงแต่ต้องไม่มีการโกง การปั่นราคา ต้องมีธรรมาภิบาล และเก็บน้ำมันไว้ให้คนรุ่นหลังได้ใช้ด้วย ไม่ใช่ล้างผลาญลงในเวลาอันสั้น นักวิชาการท่านหนึ่งกล่าวว่า “96% ของน้ำมันที่ถูกใช้ไปแล้วในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เพิ่งมาใช้เอาในช่วง 65 ปีมานี้เอง” 


source : http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000062004 

วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ถกผู้นำอีสต์เอเชีย (2) ‘พลังงาน’ หัวข้อร้อนที่ต้องรู้ลึก!


การประชุม ’เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ออน อีสต์ เอเชีย 2012 (World Economic Forum on East Asia 2012)“ ซึ่งจะมีขึ้นในประเทศไทย ในกรุงเทพฯ ช่วงวันที่ 30 พ.ค.–1 มิ.ย. 2555 โดยจะมีผู้นำประเทศในเอเชียตะวันออก ประกอบด้วย ไทย ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ เกาหลี จีน ญี่ปุ่น และภาคเอกชนระดับโลกที่ลงทุนหรือสนใจจะลงทุนในภูมิภาคเอเชีย มาร่วมประชุมกันนั้น

เวทีประชุมเวทีนี้สำคัญ...คนไทยควรจะสนใจ

และหัวข้อเกี่ยวกับพลังงาน...ก็ยิ่งน่าติดตาม...

ทั้งนี้ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุถึงการประชุมดังกล่าวนี้ว่า...การประชุมนี้มีความสำคัญ มีประเด็นที่คนไทยควรติดตามและให้ความสนใจ เนื่องจากจะเห็นทิศทางและแนวคิดของประเทศที่เข้าประชุม ต่อกรอบเศรษฐกิจ และพลังงาน ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะใน 3 ปีข้างหน้าที่ประเทศในอาเซียนจะรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ในส่วนของ ’พลังงาน“ ผู้นำด้านพลังงานของประเทศสมาชิกจะมาร่วมกำหนดกรอบแนวคิดและความร่วมมือ เพื่อปลดล็อกปัญหาต่าง ๆ ที่อาเซียนกำลังเผชิญอยู่ เพื่อให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพสูงสุด ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยอาจมีการพูดถึงนโยบายชดเชยราคาพลังงานที่กำลังเป็นปัญหาในหลายประเทศ ทั้งด้านที่กระทบต่อสถานะการเงินของประเทศ กระทบต่อประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพราะเมื่อมีการชดเชยราคาก็อาจทำให้มีการใช้พลังงานฟุ่มเฟือย และท้ายสุดก็ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก

ดร.ไพรินทร์ ระบุว่า...ในอนาคตอันใกล้อุตสาหกรรมพลังงานจะต่างจากปัจจุบัน ซึ่งจากต้นปีถึงขณะนี้ก็มีเหตุการณ์และนโยบายด้านพลังงานเกิดขึ้นในหลาย ประเทศ ชนิดที่เรียกได้ว่า ’จะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉม“ เช่น ออสเตรเลีย จะเก็บภาษีจากบริษัทที่ก่อมลพิษตั้งแต่ 1 ก.ค. นี้ และรัฐบาลจะตั้งกองทุนพลังงานสะอาด มูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 3 แสนล้านบาท) หนุนการใช้พลังงานทดแทน

ญี่ปุ่น จากประเทศที่ไฟฟ้า 40% ผลิตจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็เปลี่ยนโฉมไป เมื่อ เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา มีการสั่งปิด 2 เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์สุดท้ายจากที่เคยมีอยู่ 54 โรง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น เพียง 1 ปีหลังการเกิดสึนามิ

สหรัฐอเมริกา องค์กรควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ออกกฎใหม่ควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนของโรงไฟฟ้าต่อการผลิตที่คิดเป็น
เมกะวัตต์ชั่วโมง ซึ่งหมายถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม้จะเพิ่งสร้างเสร็จก็อาจต้องปิดตัวลง

เหตุการณ์และนโยบายด้านพลังงานเหล่านี้ เป็นตัวอย่างที่บ่งชี้ว่า ’อุตสาหกรรมพลังงาน“ ถึงเวลาแล้วที่ ’ต้องปรับตัว“ และ ’ต้องใส่ใจกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น“ ซึ่งใน ’ประเทศไทยก็เช่นกัน“

สำหรับไทย ดร.ไพรินทร์บอกว่า...สิ่งสำคัญคือคนไทยต้องรู้ว่าวันนี้เราอยู่จุดไหนด้าน พลังงาน? โดยอุตสาหกรรมพลังงานจะมีองค์ประกอบ 3 ด้านคือ...1. จะหาพลังงานมาได้อย่างไร-วิธีไหน??, 2. พลังงานที่หาได้ต้องมีมากพอ ราคาเหมาะสม สามารถสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ 3. สิ่งแวดล้อม แต่ที่ผ่านมาองค์ประกอบ 3 ด้านนี้เราไม่สามารถสร้างให้สมดุลหรือไปด้วยกันได้ เมื่อดีด้านหนึ่งก็จะกระทบอีก 2 ด้านเสมอ

“นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ ปตท. เป็นเจ้าภาพร่วมจัดงานประชุม เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ภูมิภาคเอเชีย ซึ่งครั้งนี้ จะมีการประชุมแบบเวิร์กช็อปเพื่อหาทางออกทำเป็นข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาล เพื่อสร้างสมดุลองค์ประกอบทั้ง 3 ด้านของอุตสาหกรรมพลังงาน และในฐานะที่ ปตท. เป็นหนึ่งในองค์กรพลังงานชั้นนำของภูมิภาค จึงมีหน้าที่ต้องส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนรู้เท่าตามทันถึงโครงสร้างและปัจจัย ด้านพลังงานอย่างแท้จริง”

ดร.ไพรินทร์ ยังระบุอีกว่า...การประชุมครั้งนี้ ปตท. ได้เชิญผู้นำของบริษัทพลังงานแห่งชาติจาก 10 ประเทศสมาชิก ที่วันนี้ได้รวมตัวกันเป็นคณะมนตรีด้านปิโตรเลียมของอาเซียน มาหารือร่วมกัน และในการประชุมครั้งนี้ก็จะมีการถก และจะทำการตกลงกันใน “5 หลักการพลังงานเพื่อสังคมยั่งยืน” ซึ่งประกอบด้วย...

1. การหาพลังงานให้ได้ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการพลังงาน

2. ระบบพลังงานที่มีประสิทธิภาพสร้างระบบหรือส่งเสริมให้ใช้พลังงานอย่างมี ประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ดีกว่าการชดเชยหรือพยุงราคา
3. การมีส่วนร่วมรับผิดชอบของผู้ใช้ เพื่อหามิติและทางออกของพลังงานที่ดีกว่าที่เป็นอยู่
4. พลังงานต้องสนับสนุนภาคเศรษฐกิจ สร้างสมดุลระหว่างการสร้างความได้เปรียบเชิงเศรษฐกิจและการใช้พลังงานให้ เกิดประสิทธิภาพ รวมทั้งยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คน
5. ส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้าใจและมีความรู้ด้านพลังงาน จากที่แค่รู้สึก แต่ไม่ได้รู้ถึงโครงสร้างและมิติต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้มองประเด็นพลังงานผิด ทำให้เกิดช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่าง ’รู้สึก“ กับ ’เข้าใจ“ ซึ่งต้องส่งเสริมให้รู้และเข้าใจอย่างแท้จริง

เหล่านี้ก็เป็นทิศทางที่จะเกิดขึ้นหลังการประชุม

โดยเฉพาะเรื่อง ’พลังงาน“ ที่เป็น ’หัวข้อร้อน“

’เกี่ยวพันกับชีวิตประจำวัน“ จึง ’ต้องสนใจ!!!“.

source : http://www.dailynews.co.th/article/223/114952


ถกผู้นำอีสต์เอเชีย (1) ‘เวทีในไทย’ คนไทยน่ารู้-ตามดูผล


เหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ ผู้นำของประเทศในเอเชียตะวันออก ประกอบด้วย ไทย ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ เกาหลี จีน ญี่ปุ่น จะร่วมประชุมกันในเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ ในประเทศไทย ในช่วงวันที่ 30 พ.ค.–1 มิ.ย. 2555 ภายใต้ชื่องานประชุม ’เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ออน อีสต์ เอเชีย 2012 (World Economic Forum on East Asia 2012)“

“เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม” เป็นการประชุมสุดยอดผู้นำและนักธุรกิจคนสำคัญของโลก ที่มีจุดกำเนิดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1971 โดยยุคปัจจุบันจะมีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในเดือน ม.ค. ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งการประชุมดังกล่าวนี้ได้รับการยอมรับถึงความสำคัญ ในระดับที่สามารถจะกำหนดความเป็นไปของโลกได้เลย ในขณะที่ “เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ออน อีสต์ เอเชีย” เป็นการประชุมย่อยของ “เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม” ในส่วนของประเทศในเอเชียตะวันออก ซึ่งก็จัดต่อเนื่องมาราว 20 ปีแล้ว โดยปีที่แล้วจัดที่อินโดนีเซีย

ทั้งนี้ “เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม” อาจสามารถกำหนดความเป็นไปของโลกได้ฉันใด “เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ออน อีสต์ เอเชีย” ก็อาจสามารถกำหนดความเป็นไปของเอเชียตะวันออก ที่รวมถึงประเทศไทย ได้ฉันนั้น

เวทีประชุมระดับผู้นำดังกล่าวนี้...ถือว่าสำคัญ

ทั้งในระดับภูมิภาค-ประเทศ...รวมถึงประชาชน

การประชุม “เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ออน อีสต์ เอเชีย 2012” ในไทย ซึ่งจะจัดในกรุงเทพฯ นั้น ผู้นำของประเทศในเอเชียตะวันออกจะร่วมกันถกถึง “ทิศทางเศรษฐกิจของอาเซียน” โดยเฉพาะเมื่อเกิดการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 จะเป็นอย่างไร? และเมื่อรวมตัวกันแล้วทำอย่างไรภูมิภาคนี้จะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ไม่ประสบความล้มเหลว และไม่เกิดปัญหา? เหมือนที่กลุ่มประเทศยุโรปประสบ

เพราะอาเซียนจะมีบทบาทสำคัญ จะเป็นศูนย์กลางในเอเชียตะวันออก วาระการประชุมครั้งนี้จึงเน้นการเชื่อมโยงทั้งภายในภูมิภาค และประเทศอื่น ๆ ทั้งด้านการขนส่ง ประชากร สินค้าโภคภัณฑ์ ในการประชุมจะเป็น “เวทีหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น” ต่อสถานการณ์ของภูมิภาค ทั้งเศรษฐกิจ สังคม พลังงาน ฯลฯ ของผู้นำระดับประเทศแห่งเอเชียตะวันออก และภาคเอกชนระดับโลกที่ได้ลงทุน หรือสนใจจะลงทุน ในภูมิภาคเอเชีย

กับเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืน ลดความเสี่ยงในการล้มเหลวหรือเกิดปัญหาเหมือนกลุ่มประเทศกลุ่มอื่น ประเด็นในการประชุมกันก็มีการมุ่งเน้นเพื่อหา “โมเดลที่เหมาะสม” ไม่ว่าจะเป็น...สมดุลโลกกับเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเติบโตสูงขึ้น, นโยบายการเงินต่อเงินเฟ้อ เงินทุนไหลออก ราคาโภคภัณฑ์ผันผวน, สมดุลเติบโตในประเทศกับภูมิภาค, การเติบโตภูมิภาค ส่งผลยกระดับรายได้ประชากร พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี อย่างไร??

และ ’พลังงาน“ ก็เป็นอีกหัวข้อสำคัญของการประชุม

หัวข้อนี้เมืองไทยคนไทยยิ่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญ

จากการที่ภาคเศรษฐกิจของอาเซียนสัมพันธ์กับราคาน้ำมันและพลังงาน เนื่องจากอาเซียนเป็นภูมิภาค “ผู้ใช้” คือแหล่งพลังงานที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ของภูมิภาค ทางออกด้านพลังงานในภูมิภาคยุคหน้า สิ่งที่สำคัญคือต้องสร้างในเรื่องของ “การใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด” ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างพลังงานของภูมิภาคใหม่ เพราะกุญแจสำคัญคือ จีดีพี ที่สะท้อนการกิน
ดีอยู่ดีของประชาชน มีความสัมพันธ์กับพลังงาน เพราะการที่จีดีพีจะขยายตัวมีค่าในระดับดีหรือพอใช้ จะต้องพิจารณาตัวเลขต้นทุนพลังงานและการใช้พลังงานของภาคการผลิต นี่คือสาเหตุที่ว่าทำไมโครงสร้างพลังงานจึงสำคัญ และส่งผลต่อการขับเคลื่อนประเทศ ? ซึ่งกับการขับเคลื่อนที่ว่านี้ ก็แน่นอนว่าย่อมรวมถึง “ประเทศไทย” ด้วย

สำหรับประเทศไทยนั้น ด้านการจัดหาปิโตรเลียม ในปี 2554 พบว่า ก๊าซธรรมชาติที่เป็นพลังงานหลักและมีแหล่งอยู่ในประเทศ ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการใช้ โดยผลิตได้เฉลี่ย 3,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่ปริมาณการใช้จริงอยู่ที่ 3,317 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จึงต้องนำเข้า โดยนำเข้าก๊าซจากพม่าเฉลี่ย 850 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และจากแหล่งเจดีเอที่เป็นโครงการร่วมมือบนพื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลเซีย ปัจจุบันมีปริมาณสำรองประมาณ 23 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่ง คำนวณจากปริมาณการใช้ก๊าซในปัจจุบัน ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะหมดลงภายใน 15 ปี!!

ทั้งนี้ กับเรื่องพลังงาน จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ของไทย ทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงต้องเร่งพัฒนาสำรวจหาแหล่งขุดเจาะผลิตปิโตรเลียมและก๊าซในพื้นที่ต่าง ๆ ของภูมิภาคอาเซียน เพื่อจะนำพลังงานมาป้อนให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศ ผสานกับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวจากตะวันออกกลาง

ปตท. นั้นเป็นเจ้าภาพร่วมจัดงานประชุม ’เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ออน อีสต์ เอเชีย 2012“ ซึ่งผู้บริหารของบริษัทฯ ก็สะท้อนถึง ความสำคัญของการประชุม ครั้งนี้...ที่ คนไทยควรจะต้องสนใจ...

’ทำไม-อะไร-อย่างไร???“...ต้องต่ออีกตอน..

source : http://www.dailynews.co.th/article/223/114761

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

คลิปน่ากลัว!!ดินถล่มราวน้ำตกไหลบ่าถล่มเบื้องล่าง






 

       ซีเอ็นเอ็น - สำนักข่าวต่างประเทศเผยแพร่คลิปวิดีโอระทึก นาทีที่เกิดเหตุดินถล่มตรงไหล่เขาของภูเขาลูกหนึ่งเหนือหมู่บ้านในสวิตเซอร์ แลนด์ ประดุจดังน้ำตกที่กำลังไหลบ่าลงมา อย่างไรก็ตามไม่มีผู้เสียชีวิตและภัยทางธรรมชาติครั้งนี้ไม่ได้ก่อความเสีย หายใดๆ
       
       เมื่อค่ำคืนวันจันทร์(14) ต่อเนื่องจนถึงเช้าวันอังคาร(15) ได้เกิดหินถล่มลงมาจากไหล่เขาเหนือหมู่บ้านเปรออนโซ ใกล้เบลลินโซนา เมืองหลวงของรัฐทีชีโน อย่างไรก็ตามด้วยที่ถูกคาดหมายไว้แล้ว จึงมีอพยพกันล่วงหน้า
       
       รายงานข่าวระบุว่าเหตุุดินถล่มนี้เกิดขึ้นเป็นพักๆกินเวลานานหลายชั่วโมงและสุดท้ายคลื่นดินเหล่านั้นก็ไหลลงสู่หว่างเขา
       
       ทั้งนี้มีดินกว่า 300,000 ลูกบาศก์เมตรที่ถล่มลงมาในช่วงวันจันทร์(14)จนถึงเช้าวันอังคาร(15) แต่ด้วยคาดหมายว่ายังมีตกค้างอีกราว 500,000 ลูกบาศก์เมตร ทำให้โดยรวมแล้วการเคลื่อนตัวของภูเขาครั้งนี้ ส่งผลให้มีดินถล่มกว่า 800,000 ลูกบาศก์เมตรเลยทีเดียว
       
       ถนนหลายต่างๆโดยรอบถูกปิดด้วยเหตุผลของความปลอดภัย ขณะที่เขตอุตสาหกรรมซึ่งตั้งอยู่ตรงตีนเขาไม่ได้รับความเสียหายใดๆเช่นเดียว กันบ้านเรือนราษฎรในละแวกใกล้เคียง อย่างไรก็ตามเวลานี้ในพื้นที่ดังกล่าวยังถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่อันตรายและ ไม่อนุญาตให้เข้าไป

source : http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9550000061134

ป ปลานั้นหายาก

 ^^ป.ปลานั้นหายาก ต้องลำบากออกเรือไป
ขนส่งจากแดนไกล ใช้น้ำแข็งเปลืองน้ำมัน
แช่เย็นก็เสียไฟ หุงต้มไซร้แก๊สทั้งนั้น
พลังงานต้องหมดกัน โอ้ลูกหลานจำจงดี^^

คำกลอน ที่ทุกคนคงคุ้นหูกันดีเพราะอยู๋ในโฆษณาเมื่อหลายปีก่อน

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

แหล่หารสอง 

   


xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

คนท้องประหยัดน้ำมัน



xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx


กับดักหนู 

 

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx


ราคาน้ำมัน 

 

 xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx


เงินหาย 

 

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

ขุนศึกเสียเลือดไม่เสียชาติ 

 

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

มุมมองของคนขับรถรับจ้าง 

 
 


xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

เทพ โพธิ์งาม 

 

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

ประหยัดน้ำมัน 

 


xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

ข้าวแลกน้ำมัน


 

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

ฟ้าร้อง 

 


xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

ไทยช่วยไทย 

 


xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

กุมารทอง 

 


xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

สะพานควาย 

 


xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

มุมมองของเกษตกร 

 

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx    

มุมมองของนักเรียนชั้น ป.๑ 

 


xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx    

มุมมองของเจ้าของโรงงาน 

 


xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx    
  

มุมมองของนักการตลาด 

 

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx    

มุมมองของสื่อมวลชนสายอนุรักษ์ 

 


xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx  

ยาสีพระทนต์

 

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx    

หลอดไฟประหยัดพลังงาน T5