วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ชี้ทางออกวิกฤติพลังงาน หนุนชุมชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า

นักวิชาการ- เอกชนประสานเสียงสนับสนุนให้ชุมชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าหมุนเวียนในท้องถิ่น ระบุสร้างการจ้างงาน และสร้างทางออกปัญหาต้านโรงไฟฟ้า

วันนี้ ( 17 มิ.ย.) กรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับสถาบันวิจัยพลังงานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดสัมมนาเรื่อง “สมดุลพลังงานไฟฟ้า เพื่อเศรษฐกิจและสังคมยั่งยืน” ที่ รร.พิมาน จ.นครสวรรค์

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้อำนวยการสำนักไฟฟ้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)เปิดเผยว่าในสังคมยุคปัจจุบัน การสร้างโรงไฟฟ้าในจุดใดไม่ได้อยู่ที่การตัดสินใจของระบบราชการแล้ว แต่อยู่ที่การมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ 2550 และพรรคการเมืองที่มาเป็นรัฐบาลเป็นคนตัดสินใจ สำหรับราชการเป็นกลไกของรัฐบาลในการเสนอข้อมูลทางเลือกต่างๆขึ้นไปเท่านั้น

“ตอนนี้หากชาวบ้านไม่เอานิวเคลียร์ และต้องการให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบให้มากขึ้น ก็ต้องเลือกพรรคการเมืองที่ประกาศนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการ เพื่อให้มาเป็นรัฐบาล จะได้ตัดสินใจดำเนินนโยบายที่ตรงกับความต้องการของเรา “ นายเสมอใจ กล่าว

เขา กล่าวต่อว่า กระทรวงพลังงานไม่ได้มุ่งส่งเสริมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และถ่านหินเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไปพร้อมกันด้วย แต่เนื่องจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอยู่ในระดับสูง เช่นพลังงานแสงอาทิตย์ต้นทุนอยู่ที่ 12-14 บาทต่อหน่วย ขณะเดียวกันประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าก็จำกัด โดยโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ 1 เมกะวัตต์ผลิตไฟฟ้าได้จริง 15 % เท่านั้น เพราะศักยภาพไม่ใช่อยู่ที่แดดแรงหรือไม่ แต่อยู่ที่ความเข้มของแสงที่มาตกกระทบ ซึ่งหากเทียบกับประเทศในแถบทะเลทรายแล้ว ต้องถือว่าประเทศไทยไม่ได้มีศักยภาพมากนัก

อย่างไรก็ตามขณะนี้สนพ.อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อปรับปรุงมาตรการส่งเสริมจากการให้อัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า หรือ Adder มาเป็นระบบ Feed in Tariff เพื่อให้แรงจูงใจสอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น ด้วยการกำหนดให้ส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้าคงที่ตลอดอายุโรงไฟฟ้า จากระบบ Adder ที่ให้ส่วนเพิ่มโดยบวกจากค่าไฟฟ้าฐาน ทำให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์สูงเกินไป เนื่องจากค่าไฟฟ้าฐานปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในภาพรวมจะปรับลดส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้าในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เนื่องจากขณะนี้ต้นทุนการผลิตต่ำลง และจะปรับเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เช่น ขยะ เป็นต้น

นายเสมอใจ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาได้เสนอให้สร้างกลไกให้ประชาชนในแต่ละครัวเรือนสามารถระบุได้ว่า ประสงค์จะใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือไม่ หากสนับสนุนก็พร้อมจะดึงเข้าระบบ แต่ค่าไฟฟ้าจะสูงขึ้นกว่าครัวเรือนที่ไม่ต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างระบบมารองรับกลุ่มคนที่พร้อมให้การสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนโดยตรง

นายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าความยากในการสร้างโรงไฟฟ้า คือการทำให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์จากโรงไฟฟ้ากับผู้ที่ได้รับผลกระทบ
ดังนั้นจึงวิธีการปรับสมดุล คือ ชุมชนจะต้องหันมาเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ด้วย โดยใช้วัตถุดิบ หรือศักยภาพที่มีในท้องถิ่น เช่น ผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ลม หรือแดด ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยให้เกิดการจ้างงานเพิ่มในท้องถิ่นด้วย

ทั้งนี้จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเมื่อ 1 ปีก่อนพบว่าหากมีการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนแล้ว ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2-4 % ประชาชนและอุตสาหกรรมยอมรับได้ ดังนั้นรัฐต้องนำประเด็นนี้มาพิจารณาด้วย

สำหรับพลังงานทดแทนนั้น ที่ผ่านมาพบว่ามีศักยภาพเพิ่มขึ้น จากเมื่อ 10 ปีก่อนภาครัฐบอกว่าสามารถทำได้ 1,100 เมกะวัตต์เท่านั้น แต่ปัจจุบันทำได้เพิ่มกว่า 2,000 เมกะวัตต์แล้ว ดังนั้นทุกอย่างขึ้นอยู่กับกระบวนการเรียนรู้และวิธีรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

ยกตัวอย่างในประเยอรมนี ขณะนี้มีแผนชัดเจนที่จะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทดแทนในอีก 40 ปีให้มีสัดส่วนเป็น 80 % และยกเลิกการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนการผลิตที่ 23 % โดยมีแผนจะปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงสุดท้ายในอีก 11 ปีข้างหน้า จากเดิมที่มี 17 โรง และปิดไปแล้ว 8 โรงเหลืออีก 6 โรงสุดท้ายที่จะทะยอยปิดต่อไป ซึ่งโรงไฟฟ้าที่จะมาทดแทนนิวเคลียร์นั้นจะเน้นการผลิตใช้เองในประเทศ และจะนำเข้าเพียง 3 %

อย่างไรก็ตามการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในเยอมนีมีปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนก็ส่งผลกระทบ แต่ได้มีการแก้ปัญหาด้วยการให้ชุมชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ส่วนสายส่งไฟฟ้าที่ต้องวางรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนั้น ในช่วงเวลา 10 ปีสามารถวางไปได้เพียง 80 กม.จากที่ต้องวางทั้งหมด 800 กม. เนื่องจากไปกระทบชุมชน จึงมีแนวทางที่จะเปลี่ยนมาเป็นสายส่งใต้ดินแทน
ดังนั้นโรงไฟฟ้ามีโอกาสที่จะได้รับการยอมรับจากประชาชน หากมีการปรับวิธีการต่างๆให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการ และต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการกำหนดแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือพีดีพี เพื่อให้ประชาชนรับรู้ตั้งแต่ต้น ว่าจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าในจุดใดบ้าง อีกทั้งจะต้องมีข้อมูลแสดงให้ประชาชนเห็นและยอมรับได้ว่าโรงไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล เช่น ถ่านหิน สามารถแก้ไขจุดบกพร่องไม่ให้โรงไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ด้านนายมนูญศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า การจัดหาพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการในประเทศนั้น จะต้องพิจารณาพลังงานทุกประเภทอย่างรอบด้าน ทั้งพลังงานหมุนเวียน การประหยัดพลังงาน ขณะที่พลังงานอื่นก็ละเลยไม่ได้เช่นเดียวกัน ทั้งถ่านหิน และนิวเคลียร์ เพื่อรองรับหากไม่สามารถลดการใช้พลังงานให้สอดคล้องกับความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มตามจีดีพีของประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ปฏิเสธการพัฒนาเทคโนโลยีด้วย

นายวิสูตร จิตสุทธิภากร ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า ไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม และขนส่ง ขณะเดียวกันก็มีทางเลือกในการผลิตไฟฟ้ามากมาย แต่คำถามคือ ใครเป็นคนเลือก ทั้งต้องนึกถึงความมั่นคงในระบบไฟฟ้าสำหรับลูกหลานในอนาคตด้วย อย่างไรก็ตามก็ต้องคำนึงถึงความสมดุลด้วย ซึ่งการให้ประชาชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าก็เป็นทางออกของปัญหาต่างๆได้

“ตอนนี้สิ่งที่ภาคเอกชนกังวล คือไฟฟ้าตกดับ เพราะสร้างผลกระทบให้กับภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก ขณะที่ประชาชนก็กังวลว่าจะมีโรงไฟฟ้าในพื้นที่ แต่คำถาม คือในอีก 10 ปี ลูกหลานเราจะใช้ไฟฟ้ากันอย่างไร “ นายวิสูตร กล่าว

นายปิยะพงศ์ กฤชภากรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทไทยเสรีเจนเนอเรติ้ง จำกัด กล่าวว่า โรงไฟฟ้าจำเป็นในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นเมื่อโรงไฟฟ้าสร้างประโยชน์มากกว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์จะต้องออกมาช่วยกันสนับสนุน

อย่างไรก็ตามการพัฒนาโรงไฟฟ้าก็ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมด้วย เช่น การที่กำหนดให้ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ เป็นหนึ่งในเป้าหมายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น หากพิจารณาให้ดีแล้วจะพบว่า รอบๆพื้นที่ปลูกข้าว ดังนั้นหากเกิดปัญหาขึ้น ย่อมเกิดการปนเปื้อน และส่งผลกระทบในที่สุด ขณะที่ภาคใต้อาจเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกว่า

รัฐต้องสนับสนุนโรงไฟฟ้าที่ไม่สร้างผลกระทบ เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งสามารถใช้เทคโนโลยีจนไม่ปล่อยมลพิษออกไปนอกโรงไฟฟ้า ทั้งควัน และฝุ่น ขณะเดียวกันก็มีพลังงานหมุนเวียนบางประเภทที่รัฐต้องสนับสนุนอย่างจริงจังต่อไป เช่น ขยะ

นายสราวุธ ทองถาวรวงศ์ กำนัน หมู่ 1 ต.พินมรอก อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า หากต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้นเป็น 7 บาทต่อหน่วยจากการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ย่อมคุ้มค่ากว่าเมื่อเทียบกับการมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ต้องเจอเหมือนกับกรณีของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ที่สร้างความเสียหาย และจะทำให้คนญี่ปุ่นจำนวนมากเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวในอนาคต

นอกจากนี้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าในจุดใดจุดหนึ่งในต่างจังหวัด โดยเฉพาะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น ขอให้ทุกฝ่ายพิจารณาด้วยว่า ชาวบ้านในต่างจังหวัดใช้ไฟฟ้ากันเท่าใดเมื่อเทียบกับห้างใหญ่ในกทม.อย่างพารากอน

“กฟผ.เคยบอกว่า นิวเคลียร์มีความปลอดภัยมาก โดยหากเกิดการรั่วไหลขึ้น ชาวบ้านสามารถหลบในบ้านแล้วก็จะปลอดภัย แต่ในไทยคงต่างจากญี่ปุ่นแน่นอน เพราะบ้านของชาวบ้านแถบจะไม่มีฝาบ้านด้วยซ้ำไป “นายสราวุธ กล่าว

เขา กล่าวอีกว่า รัฐบาลควรนำเงินจากการประชาสัมพันธ์นิวเคลียร์ 1,800 ล้านบาทมาพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ประกอบกับทุกฝ่ายช่วยกันประหยัด โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าหากปิดเร็วขึ้นก็เชื่อว่าลดการใช้ไฟฟ้าได้กว่า 50 % แล้ว

“เราเลือกที่จะอยู่แบบไม่ต้องรวย สามารถใช้เทียนได้ หากเราแวดล้อมไปด้วยคนในครอบครัวที่มีสุขภาพแข็งแรง “ นายสราวุธ กล่าว

นายชัยโรจน์ มีแดง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่าในการวางแผนพลังงานของประเทศนั้น จะต้องประสานความร่วมมือของทุกฝ่าย และต้องเห็นพ้องจากประชาชน โดยเชื่อมั่นว่าหากทุกฝ่ายมีการพูดคุยและหารือแล้ว แผนพลังงานที่ออกมาจะสร้างความมั่นคง และยั่งยืนอย่างแท้จริง และจะทำให้การพัฒนาประเทศเดินไปได้

 source : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/business/20110617/396046/ชี้ทางออกวิกฤติพลังงาน-หนุนชุมชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า.html

วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ผ่าไอเดียโรงเรียนรักษ์โลก

ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมวันนี้ กำลังกลายเป็นโจทย์สำคัญสำหรับทุกคนในสังคม ไม่เว้นแม้แต่ในรั้วของสถานศึกษา

เพราะการปลูกฝังจิตสำนึกอนุรักษ์แก่เยาวชนถือเป็นปลูกสร้างโลกใบใหม่เพื่ออนาคตนั่นเอง

โครงการ Energy Mind Award โดยการไฟฟ้านครหลวง มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้การดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พลังงานของสถานศึกษาดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนสร้างจิตสำนึกในการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมแก่เยาวชน เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์พลังงานที่มีประสิทธิภาพที่ยั่งยืน

โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดอบรม สร้างเครือข่ายประหยัดพลังงาน และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับโรงเรียนในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครกว่า 250 โรงเรียน รวมทั้งจัดกิจกรรมรณรงค์ด้านพลังงานอยู่อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทางเครือข่ายโรงเรียนประหยัดพลังงานก็ได้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์สิ่งแวดล้อม และการประชุมเครือข่ายโรงเรียนมาตรฐานระดับ 5 ดาว ขึ้นที่ เซนโยเซฟต์คอนเเวนต์ โดยได้มีการนำหัวข้อปัญหาด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อมมาตั้งวงเสวนา แลกเปลี่ยนความคิด แนวทางปฏิบัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระแสอนุรักษ์ที่กำลังมาแรง

มะปราง-ชวัลนุช จันทร์พุฒ ชั้น ม. 4 สาย จีน-อังกฤษ หนึ่งในแกนนำนักเรียนโรงเรียนซางตาครู้สคอนแวนท์ แบ่งปันประสบการณ์การอนุรักษ์ และกิจกรรมภายในโรงเรียนว่า เกิดจากความร่วมมือร่วมใจ โดยเริ่มจากสิ่งใกล้ตัวอย่าง น้ำ-ไฟ หรือขยะ จนกลายเป็นโครงการปรับพฤติกรรมสำหรับนักเรียนในที่สุด

"ส่วนตัวหนูก็โตมากับต้นไม้อยู่แล้วค่ะ ที่บ้านเป็นสวน แต่พอได้เห็นความเปลี่ยนแปลงจากสภาพแวดล้อมรอบบ้านที่เปลี่ยนไป หนูก็อยากมีส่วนช่วยในการให้คนมีจิตสำนึกที่ดีในการรักษ์โลก ก็เลยสมัครเข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร เพื่อจะได้บอกทุกคนให้ทุกคนร่วมมือกันช่วยโลก" มะปรางเล่า

จากโครงการแยกขยะสะสมคะแนน เพื่อสร้างความร่วมมือให้กับนักเรียน จนเติบโตกลายเป็นโครงการอาสาสมัครพิทักษ์พลังงาน ถือเป็นการ "ขยายผล" ที่เธอ และเพื่อนๆ ภูมิใจ

"เรามีการรณรงค์ ปิด-เปิดแอร์ พร้อมกันในวิชาแรก แต่บางครั้งมันไม่ร้อนก็เปิดพัดลมเรียนไป มีการทำบอร์ดรณรงค์ ตลอด 4-5 ปี เราก็เห็นความเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนอย่างเห็นได้ชัด โรงเรียนสะอาดขึ้น เด็กก็มีวินัยมากขึ้นค่ะ"

ที่โรงเรียนซางตาครู้สในปีนี้ได้มีการต่อยอดโครงการกลายเป็นแยกขวดน้ำ ขยายเครือข่ายศึกษาดูงานกับโรงเรียนใกล้เคียง อันถือเป็นอีกก้าวของการปลูกต้นอนุรักษ์กับเยาวชนต่อไป

ด้าน มิงค์-ไพลิน จเรฤทธิ์ นักเรียนชั้น ม. 3 โรงเรียนสีตบุตรบำรุง เล่าถึงการ "แบ่งสีพิทักษ์สิ่งแวดล้อม" ออกเป็น 3 สี แดง เหลือง เขียว โดยแบ่งหน้าที่ดูแลออกเป็นการอนุรักษ์ด้านต่างๆ ทั้ง ขยะ น้ำไฟ และเชื้อเพลิง โดยแตกออกเป็นโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หลังคาเขียว รณรงค์ปิดน้ำ ปิดไฟ และรณรงค์ดับเครื่องเมื่อจอดสำหรับรถยนต์ผู้ปกครองที่มารับ-ส่งนักเรียน

"เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตเรา และคนรอบตัว รวมถึงโลกของเราเองด้วย ดังนั้นการทำกิจกรรม และความร่วมมือต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ส่วนตัวคิดว่า นอกจากจะได้บุญ ทำให้เราอิ่มใจแล้ว ยังเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ติดตัวไปในอนาคตด้วยค่ะ" เธออธิบาย

สำหรับ ดาว-นันทพร ผลโพธิ์ และ ปู-สุภาวดี มีนา คู่ซี้จากโรงเรียนหลวงพ่อปานคลองด่านอนุสรณ์ จ. สมุทรปราการ เล่าถึงปัญหาที่โรงเรียนต้องเผชิญตลอดมาก็คือ น้ำท่วมขัง ทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย และปัญหาขยะ อันถือเป็น 2 เรื่องหลักที่มาตั้งวงแก้ปัญหากัน

สิ่งที่ทางโรงเรียนได้รณรงค์กับเด็กนักเรียนก็คือ การคัดแยกขยะ โดยเฉพาะเศษอาหารที่นำไปต่อยอดเป็นน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งนอกจากจะนำไปใช้ด้านการเกษตรแล้ว ยังช่วยลดปัญหากลิ่นของน้ำขังได้อีกด้วย ส่วนน้ำมันทอดซ้ำที่ใช้ในโรงเรียน ก็สามารถนำไปแปรรูปเป็นไบโอดีเซลเพื่อนำไปใช้งานต่อ ขณะที่บริเวณก๊อกน้ำ หรือสวิตช์ไฟ ก็จะมีป้ายรณรงค์ประหยัดพลังงานเอาไว้กระตุ้นเตือน แน่นอนว่า กว่า 2 ปีที่ทำกิจกรรม สภาพแวดล้อมโรงเรียนก็ดูดีขึ้น นักเรียนก็มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป

"ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า เพราะเราเป็นโรงเรียนขนาดกลางด้วยค่ะจึงทำให้เกิดความร่วมมือและเห็นผลเร็วขนาดนี้" สองสาวการันตีด้วยรอยยิ้ม

ส่วนโรงเรียนเจ้าภาพอย่าง เซนโยเซฟต์คอนเเวนต์ แพรว-สรัลชนา สุนทรศร กับ มัดหมี่-ณัฐมน สฤษดิ์ภิญโญยิ่ง ในฐานะพี่ใหญ่ของชั้น ม.ปลาย พูดถึงกิจกรรมอนุรักษ์ภายใต้โครงการ "แกนนำนักอนุรักษ์เพื่อโลกสวย" เพื่อปลูกฝังและเพิ่มความรู้ด้านการอนุรักษ์ให้กับนักเรียน จากกิจกรรมการแยกขยะ ขวดน้ำ การรณรงค์ปิดแอร์ น้ำ-ไฟ และคอมพิวเตอร์ อีกทั้งมีโครงการอนุรักษ์บำบัดน้ำเสีย กับการหมักปุ๋ยชีวภาพเอง โดยเอาเศษอาหารจากโรงเรียน

"นอกจากนี้เราก็มีการเดินรณรงค์เพื่อให้คนเห็นคุณค่าการประหยัดพลังงาน เพื่ออนาคตของโลกในวันพรุ่งนี้อยู่เป็นประจำอีกด้วยค่ะ" แพรวบอก

เห็นบรรดาอนาคตของชาติตื่นตัวกับกระแสอนุรักษ์ขนาดนี้ คงเป็นสัญญาณสำคัญส่งไปยังบรรดาผู้ใหญ่ในสังคมวันนี้ว่า ถึงเวลาหรือยัง ที่พลังงานและการอนุรักษ์จะกลายเป็นรูปธรรมขึ้นมาจริงๆ เสียที



โรงเรียนปัญญาเด่น สถาปัตยกรรมจาก ดิน ไม้ไผ่ และหัวใจผู้สร้าง

โดย : ปวิตร สุวรรณเกต

แนวคิดในการสร้างโรงเรียนด้วยวัสดุธรรมชาติที่หลายคนอาจคิดว่าไม่คงทน ดูแลรักษายาก แต่ภูมิปัญญาไทยมีวิธีแก้ไข

สถาปัตยกรรมสมัยใหม่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้พบเห็นอยู่เสมอ วัสดุใหม่ๆ ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองการสร้างสรรค์รูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ไม่มีขีดจำกัด ขณะที่วัสดุดั้งเดิมที่ใช้สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนถูกมองข้ามไปตามกาลเวลา แต่เมื่อสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ผสมผสานเข้ากับวัสดุดั้งเดิมจากธรรมชาติอย่าง 'ไม้ไผ่' และ 'ดิน' ผลลัพธ์ที่ได้คือสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและมากด้วยคุณค่าจากภูมิปัญญาดั้งเดิมดังเช่นสถาปัตยกรรมของ โรงเรียนปัญญาเด่น
"ผมอยากจะสร้างจากดินและไม้ไผ่ ถ้าสร้างแบบธรรมดาก็ไม่อยากทำ ทุกคนก็เห็นด้วยทุกคนก็ชอบ" คุณ มาร์คูส โรเซลีบ (Markus Roselieb) จาก เชียงใหม่ ไลฟ์ คอนสตรัคชั่น (Chiangmai Life Construction) ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนปัญญาเด่น เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างโรงเรียน
"ผมไม่เคยทำมาก่อน แต่เห็นมาจากหลายๆ ที่ เห็นแล้วชอบ คิดว่าตัวเองอยากจะได้บ้านแบบนี้ และถ้าเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กๆ ของเราเอง เราคิดว่าอะไรต่างๆ จะเกิดขึ้นได้ บ้านดินอยู่ได้สบายๆ ถ้าเด็กอยู่ในบ้านดินได้ตั้งแต่เด็กๆ ความรู้สึกอาจจะเกิดขึ้นมากกว่า ต่อไปจะช่วยเปลี่ยนความคิดของเด็กได้"
รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของโรงเรียนปัญญาเด่นเป็นการผสมผสานระหว่างการออกแบบจาก 24H Architecture และทีมงานของเชียงใหม่ ไลฟ์ คอนสตรัคชั่น ซึ่งมีอาจารย์ เดชา เตียงเกตุ เป็นผู้ดูแลในการปรับเปลี่ยนแบบให้ใช้ได้จริง

"เราอยากจะใช้วัสดุธรรมชาติ แต่ชอบสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่ เรามีสถาปนิกทำดีไซน์ ออกมาก็สวยดี แต่การจะเปลี่ยนดีไซน์เป็นงานจริงต้องปรับเยอะ อาจารย์เดชาเป็นผู้ปรับดีไซน์ให้เป็นไม้ไผ่ทั้งหมดให้ได้จริงๆ และดูแลใช้ไม้ไผ่ให้พอดีไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป ทำให้แข็งแรงขึ้น ให้น้ำไม่เข้า เพราะว่าบางทีเราทำดีไซน์ แต่สถานที่จริงอยู่ที่นี่ เราไม่เห็นว่าสิ่งแวดล้อมรอบๆ เป็นอย่างไร ลมมาจากไหน ฝุ่นมาจากไหน พระอาทิตย์อยู่ตรงไหน เรารู้คร่าวๆ อยู่แล้วทิศเหนืออยู่ตรงไหนทิศใต้อยู่ตรงไหน เราก็บอกว่าทิศใต้ไม่อยากได้หน้าต่างใหญ่ๆ เพราะว่าโดนแดด ข้างในก็ร้อน หน้าต่างต้องอยู่ทิศเหนือหรือทิศตะวันออก มันละเอียด ทำจากข้างนอกไม่ได้ บางทีเราต้องการอาคารที่ยังไม่มีในแบบ อาจารย์เดชาก็เปลี่ยน และดีไซน์ว่าเปลี่ยนอย่างไร เราหาคนมาจากเมืองนอกและเมืองไทยด้วย เขาจะสอนเราว่า ทำอันนี้ทำอย่างไร ทำอันนั้นทำอย่างไร และเราเองมีความรู้ เราเอาความรู้มาเยอะๆ แล้วเอามาผสมผสาน"

โครงสร้างหลังคาของอาคารทุกหลังใช้ ไม้ไผ่ เป็นวัสดุหลัก โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการยึดไม้ไผ่เข้ากับหินซึ่งเป็นฐาน และเสริมความแข็งแรงให้ไม้ไผ่ด้วย 'ความรู้'

"เราใช้วิธีเจาะแกนเหล็กลงไปในหินก่อน เจาะเป็นรูแล้วเราก็ใส่กาว แล้วมาใส่จุกลงไป หยอดปูนลงไปสูงสัก 70 เซนติเมตรเพื่อล็อกไม่ให้ไม้ไผ่ขยับ แต่การรับน้ำหนักจริงๆ คือไม้ไผ่ทั้งลำไม่ได้มีซีเมนต์" อาจารย์เดชา บอก

"ตัวไม้ไผ่ที่เป็นโครงสร้างเป็นเสาทั้งหมด เราใช้ ไผ่ตง ที่มีอายุประมาณ 5-7 ปี ถ้าอายุน้อยกว่านั้นก็จะมีปัญหาเรื่องการหดตัว การแตก ความแข็งแรงไม่พอ ปัญหาของประเทศไทยหรือคนไทยที่เราไม่ค่อยเชื่อมั่นไม้ไผ่เพราะเรื่องมอด เรื่องแมลง เรื่องปลวกกิน เราสามารถป้องกันด้วยการแช่น้ำยา เราใช้บอแรกซ์ที่ใช้ผสมลูกชิ้นแช่ไว้ประมาณหนึ่งอาทิตย์ ก่อนแช่เราจะทะลุข้อทั้งหมดเพราะถ้าเราไม่ทะลุข้อจะมีปัญหาคือน้ำเข้าไปไม่ได้อากาศยังอยู่ข้างในเพราะฉะนั้นแมลงยังสามารถเจาะเข้าไปได้ หรือบางอันมีไข่ของแมลงอยู่ภายในอยู่แล้วเมื่อถึงอายุแมลงจะเจาะออกมามันก็ไม่มีประโยชน์เราทำได้สักปีสองปีก็พัง"

ความรู้ในการเสริมความแข็งแรงให้ไม้ไผ่ ยังรวมถึงการนำ ภูมิปัญญาโบราณ มาใช้อย่างเข้าใจ อาจารย์เดชา บอกว่า "ไม้ไผ่แต่ละลำเขาบอกเราอยู่ เช่นเราจะดูความแข็ง ใช้มีดสักเล่มฟันดูความแข็งและดูลักษณะของเนื้อภายใน เนื้อไม้ไผ่จะต่างจากไม้ชนิดอื่น คือไม้ชนิดอื่นเวลามันเติบโตมันขยายตัวออกแต่ไม้ไผ่เวลาอายุถึงประมาณสามปีจะเริ่มหยุดการเจริญเติบโต คือไม่ขยายตัวออกแต่มันจะเติบโตภายใน ช่องว่างภายในจะเริ่มลดลงๆ จนกลายเป็นไผ่ตันคือไม่มีรู ในสมัยโบราณเขาถึงชอบเอาไม้ไผ่มาเปรียบเทียบกับเรื่องความเชื่อทางศาสนาคือแนวปรัชญาว่าจริงๆ แล้วมันสามารถเจริญเติบโตภายใน ไม้ไผ่เวลาตัด โบราณเขาจะสอนเรา มีตำราว่าตัดวันไหนดีไม่ดี ตัดขึ้นกี่ค่ำแรมกี่ค่ำ ตัดวันไหนมอดไม่กิน ทุกอย่างมีความหมายหมด เพียงแต่เราไม่เข้าใจ เพราะว่าบางช่วงที่เขาตัดมันเกี่ยวกับข้างขึ้นข้างแรม น้ำขึ้นน้ำลง ช่วงที่น้ำลงคือช่วงที่พวกโปรตีนพวกน้ำตาลโดนดูดลงมาอยู่ที่รากที่หน่อ เพราะฉะนั้นช่วงนั้นพอตัดไปน้ำตาลมันน้อย แมลงก็ไม่ค่อยเจาะไม่ค่อยกิน มันมีเหตุผลเพียงแต่เราไม่ค่อยเข้าใจซึ่งคนโบราณเขาอธิบายไม่ได้ว่าทำไมแต่เขาบอกได้ว่าตัดช่วงนี้ดี"
"ไม้ไผ่พออยู่ไปนานๆ มีรูน้อยลงและเนื้อไม้เองจะแน่นกว่าด้วย เพราะน้ำตาลกับโปรตีนจะออกมา ในไม้ไผ่ก็มีแต่ไฟเบอร์" คุณมาร์คูส กล่าวเสริม
อายุการใช้งานของไม้ไผ่ที่มีการเตรียมด้วยวิธีการที่เหมาะสม อาจารย์เดชา บอกว่า "ถ้าเป็นโครงสร้างภายในก็อายุสามสิบปีขึ้น อาจจะใช้ได้ถึงร้อยปีถ้าเราดูแลดีๆ เพราะไม้ไผ่หลักจริงๆ คือเราต้องดูแลไม่ให้โดนน้ำโดนแดด เพราะถ้าโดนสองอย่างนี้เขาจะผุได้เร็ว แต่ถ้าเป็นหลังคาที่เรามุงเป็นฝ้า อันนั้นเป็น ไผ่สีสุก คุณสมบัติของเขาคือผิวค่อนข้างแข็งและทนพวกแดดพวกฝนได้ดี ประมาณสิบปีอาจเปลี่ยนหนึ่งครั้ง ..เสาไม้ไผ่อาจจะสองปีครั้งมาทำความสะอาดบ้าง ลูบน้ำมันให้บ้าง เพราะถ้ามันโดนฝุ่นเกาะเยอะๆ ก็มีโอกาสที่มันจะเป็นเชื้อราหรือว่าผุ เราก็ทำความสะอาดให้เขาบ้าง หลังคาอาจจะมีปัญหาเยอะหน่อย แต่เราคิดเอาไว้แล้ว คือใช้วิธีแบบโบราณ เวลาเขามุงหลังคาเวลามันผุ เขาไม่ได้รื้อออก จะใช้วิธีมุงทับลงไป พอผุอีก ก็มุงทับ มันจะกลายเป็นหลังคาที่หนามาก มีชั้นหลังคาที่หนาอยู่ได้เป็น 20-30 ปี เป็นภูมิปัญญาของเขาอีกอย่างหนึ่ง"
รูปทรงหลังคาของอาคารแต่ละหลังได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัว "มาจากหลายส่วน ภูเขาบ้าง ใบไม้บ้าง หรือมีอยู่วันหนึ่งเราเห็นคนถือร่มเดินมา อ๊ะ.. อย่างนี้ได้ไหมมาดูกัน ส่วนมากดีไซน์ที่ออกมาไม่ใช่แค่ออกมาจากเราคนเดียว คุณมาร์คูสดูบ้าง แต่ที่สำคัญที่สุดคือทุกคนที่ทำงานร่วมกับเราๆ ไม่ได้มองเขาว่าแค่เป็นคนงาน แต่ทุกคนสามารถที่จะสร้างสรรค์ได้ ใครมีความคิดเห็นอะไรก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ เราช่วยกัน"
รูปทรงของหน้าต่าง เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีการออกแบบแตกต่างจากหน้าต่างที่เห็นอยู่ทั่วไป คุณมาร์คูส พูดถึงที่มาของรูปทรงหน้าต่างว่า "มันเบื่อ แค่อยากจะทำอย่างอื่นและไม่มีความหมายที่จะทำเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบทั่วไป เขาทำกันแบบนั้นเพราะว่าเขาเห็นจากที่อื่นและคิดว่ามันง่ายกว่า แต่จริงๆ ทำรูปทรงอย่างไรก็ได้แต่ต้องมีช่างที่มีฝีมือ เราโชคดีที่มีช่างไม้ที่เก่งและเขาชอบความท้าทาย เขาไม่ใช้ตะปูแต่เอาลิ่มไม้มาใส่"
การก่อสร้าง ผนังอาคารในรูปแบบของบ้านดิน มีการนำภูมิปัญญาโบราณมาใช้อย่างเข้าใจ อาจารย์เดชา บอกว่า "ผนังดินเรายังใช้แบบโบราณอยู่คือการปั้นอิฐเป็นก้อนแล้วใช้แกลบ เราใช้วิธีเดียวกันเพียงแต่ว่าเราไม่ได้เอาไปเผาเราใช้อิฐดิบมาก่อเรียงกัน อีกเทคนิคหนึ่งที่เรายังใช้ของโบราณอยู่คือเวลาก่ออิฐผนังจะใช้โคลนที่มาเชื่อมต่อบางมาก ถ้าเราใช้หนาเมื่อไรความแข็งแรงจะเปลี่ยนไป เราใช้เทคนิควิธีการแบบโบราณเพียงแต่เราต้องเข้าใจว่าโบราณเขาทำเพื่ออะไร ถ้าเราไม่เข้าใจมันจะไม่มีคุณค่า"
การเลือกใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และภูมิปัญญาโบราณ คุณมาร์คูส ยกตัวอย่างให้ฟังว่า "ไม่ใช่ว่าเราต้องใช้วิธีโบราณตลอดเวลา ถ้าวิธีโบราณมีประโยชน์ก็ใช้แต่ถ้าเราเห็นว่ามีเทคโนโลยีใหม่ที่จะใช้ได้ดีก็เอามาเลย เช่นเราใช้แต่ลิ่มไม้ไผ่เพราะว่าถ้าใช้ตะปูหนึ่งจะทำให้ตัวไม้ไผ่แตกง่าย สองแค่สักสองเดือนมีสนิมเกิดขึ้นนิดๆ ข้างนอกตะปูนั้นก็ดึงออกได้ แต่ถ้าเป็นลิ่มไม้ไผ่ผ่านไป 2-3 เดือนจะแข็งแรงขึ้นเพราะว่าดูดน้ำแล้วจะขยาย เราทำลิ่มเป็นแบบโบราณๆ เพราะว่ามีประโยชน์เพราะว่าดีกว่า แต่ที่เราเสียบไม้ไผ่กับหิน เจาะรูใส่เหล็ก เอากาวเอาปูนมาใส่ เพราะว่ามันเหมาะ"
ในส่วนของวัสดุทำผนังเหตุผลที่เลือกใช้ดิน คุณมาร์คูส บอกว่า "ดินช่วยเรามากกว่าผนังปูนเพราะดูดความชื้นออกได้และปล่อยออกได้ ถ้าอากาศแล้งมากตอนเช้าเราไปฉีดน้ำใส่ผนังเขาจะดูดความชื้นเข้าไปและอยู่ได้ทั้งวัน ถ้าอากาศชื้นมากเขาจะดูดความชื้นไว้เวลาแห้งก็ปล่อยออกมา.. ถ้าเราใช้ดินกันร้อนได้ไหม ได้เพราะว่าเราใช้แกลบด้วย กันเย็นได้ไหมตอนกลางคืนถ้าข้างนอกเย็นข้างในยังอุ่นอยู่ กันเสียงได้ไหมได้เพราะมีแกลบ ความแข็งแรงก็เหมือนกันไม่ต้องใช้ปูนถ้าเรามีอะไรที่ดีกว่าสำหรับผนังอย่างนี้ ดินมีสองอย่างที่เราใช้เป็นก้อนดินและใช้เป็นดินอัด ดินอัดความแข็งแรงที่จะรับน้ำหนักสูงมากเกือบเท่ากับปูน เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องทำเป็นเสาปูนข้างในก็รับน้ำหนักของหลังคาได้เลย ถ้าเรามีความรู้มันไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ปูน เพราะไม่ได้มีประโยชน์มากกว่า...
แม้แต่ไม้ไผ่จริงๆ ความแข็งแรงในการรับน้ำหนักมันเท่ากับเหล็ก หรือมากกว่าเหล็กด้วย ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เหล็กถ้าเรารู้ว่าจะไม้ไผ่ใช้อย่างไร เรารู้สึกว่าทำไมทุกคนใช้ปูนกับเหล็กก็งงอยู่ จริงๆ เขาใช้เพราะว่าคนอื่นใช้แค่นี้ คำตอบง่ายๆ (หัวเราะ) ไม่ใช่เพราะดีกว่าหรือถูกกว่า เราคิดว่าไม่จำเป็นที่จะต้องทำตาม ..ความคิดของเราที่ใช้ดินกับไม้ไผ่ไม่ใช่แค่เพราะเราชอบธรรมชาติแต่เป็นสิ่งที่น่าจะทำ จริงๆ ช่วยให้ง่ายขึ้นด้วย ปัญหาสำหรับเราคือฤดูฝน ถ้าฝนตกตลอดสร้างบ้านดินบ้านไม้ไผ่ยากมาก นี่หมายถึงตอนก่อสร้าง"
อาจารย์เดชา กล่าวเสริมว่า "ส่วนใหญ่ปัญหาบ้านดินที่เราเห็นทั่วไปเช่นจะเป็นเชื้อราเยอะ มีปัญหาเรื่องความชื้นมาก หนึ่งอาจจะเป็นที่ดีไซน์หรือการทำหลังคาซึ่งการระบายอากาศค่อนข้างที่จะทึบเลยทำให้ดูว่าบ้านดินอยู่แล้วอึดอัด จริงๆ อยู่บ้านปูนก็อึดอัดถ้าเราทำแบบนั้น นั่นก็คือพออึดอัดเราก็จะคิดถึงการใช้แอร์ติดแอร์ติดพัดลม และบ้านดินที่เรารู้สึกกันส่วนใหญ่คือไม่ถาวร ดินเดี๋ยวโดนน้ำโดนฝนก็พัง เดี๋ยวก็ผิวเสีย จริงๆ แล้วเราเคยชินกับปูน แต่ถ้าเป็นสมัยโบราณแต่ละปีเขาก็ต้องมีการดูแลรักษา ไม่ใช่สร้างไว้สิบปีค่อยมาดู บ้านมันก็มีชีวิต สมัยโบราณอย่างบ้านของทางภาคเหนือ นอกชานตากฝนด้วยซ้ำ มันก็ผุ ไม่ใช่ไม่ผุ พอออกหน้าแล้งทีหนึ่งเขาก็มาดูซ่อมแซมตรงไหนที่ผุพังไป ที่จะต้องบำรุงรักษา คือส่วนที่โดนฝน ส่วนมากจะเป็นแค่นั้น ส่วนอื่นก็อยู่เหมือนบ้านธรรมดา"
อาจารย์เดชา บอกว่า การสร้างสถาปัตยกรรมด้วยดินและไม้ไผ่เป็นสิ่งที่เหมาะกับประเทศไทยเพียงแต่การนำมาใช้ต้องใช้ด้วย 'ใจ'
"เราทำบ้านดินให้ทันสมัยได้และใช้ได้ทั่วประเทศ ส่วนหนึ่งที่เราพยายามทำงานนี้คือเราอยากให้ชาวบ้านหรือคนไทยเริ่มเห็นว่าจริงๆ สิ่งที่อยู่รอบตัวเขาใช้ได้หมด ชาวต่างชาติหลายคนพูดว่าเขาเสียดายที่คนไทยไม่ค่อยเห็นคุณค่าของดินและไม้ไผ่ที่จะเอามาทำที่อยู่อาศัย ในขณะที่ประเทศเขาในยุโรปในอเมริกาเขาหายาก เป็นสิ่งที่มีค่า แต่คนไทยเราถ้าใครปลูกบ้านไม้ไผ่ คือไม่มีปัญญาสร้างบ้านปูน คือจน (หัวเราะ) ส่วนหนึ่งคือเวลาที่เราเริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่ทางเลือกหรือมันเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าเราก็ไม่คิดต่อ ว่าทำไมมอดถึงกิน ทำไมเอาไม้ไผ่แช่น้ำแล้วไม่ได้ผล แค่มันไม่ได้ก็ไม่ได้ แต่ไม่ได้คิดพัฒนาต่อ เวลาเรามาทำจริงเวลาเราเริ่มให้ชาวบ้านหรือคนงานเขาเริ่มคิด เขาก็เริ่มคิดออก ในภาคเหนือโดยเฉพาะคนงานเรา บางส่วนเป็นชาวเขา เกิดมาก็อยู่กับไม้ไผ่ ไม้ไผ่อยู่ในวิถีชีวิตเขามาตั้งแต่เกิด เพราะฉะนั้นเขาปรับนิดเดียวเขาเข้าใจแล้ว เพียงแต่เราให้โอกาสเขาแค่นั้น...
สิ่งหนึ่งที่เราสอนคนงานคือ การทำงานด้วยใจ คุณทำงานดิน ถ้าใจคุณไม่นิ่ง หรือว่าใจคุณไม่อยู่กับดิน งานออกมาเรารู้เลยว่ายังไม่ได้ สิ่งที่เราทำประสบความสำเร็จค่อนข้างเยอะ คือสร้างคนที่ทำงานด้วยใจ อย่างคนที่ทำเรื่องไม้ไผ่ การดัดไม้แต่ละอัน ถ้าคนไม่ได้ทำด้วยใจ ดัดไปเถอะ ...หัก แต่คนที่ใจได้ดัดได้ หรือหินการเจาะหินแต่ละก้อนมันไม่ใช่ง่าย ถ้าใจคุณอยากให้เร็ว คุณใช้แรงเยอะๆ อัดไปเถอะ บางทีวันนึงยังไม่ได้ แต่เมื่อไรใจคุณได้ ใจเย็นๆ ค่อยๆ เจาะ สิบนาทีได้แล้ว"
ความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรมของโรงเรียนปัญญาเด่นเป็นสิ่งยืนยันถึงผลสำเร็จของการสร้างสรรค์ด้วย 'ใจ' ได้เป็นอย่างดี
อาคารผู้ปกครองสร้างความแตกต่างด้วยโครงสร้างจากไม้ไผ่ขนาดเล็ก ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเสียบไม้ไผ่เข้ากับหิน
ผนังห้องเรียนใช้ดินอัดซึ่งมีความแข็งแรงและรองรับน้ำหนักได้ดี
สร้างรูปทรงโค้งมนด้วยการก่ออิฐดิบซึ่งทำจากดินและแกลบ
หน้าต่างรูปทรงแปลกตายึดด้วยลิ้มไม้ตรงกลางให้พลิกเปิดได้ทั้งสองด้านตามทิศทางลม
มร.มาร์คูส โรเซลีบ และ อาจารย์เดชา เตียงเกตุ

รูปทรงหลังคาสร้างสรรค์จากแรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัว



มจธ.ขอเป็น 'สีเขียว'


ความเก๋าของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ต้องยกนิ้วให้กับศาสตร์ทางวิศวกรรม เครื่องจักรกล สิ่งประดิษฐ์ และเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างหุ่นยนต์สมองกลอัจฉริยะ โดยเฉพาะคณะวิศวกรรมศาสตร์ของ มจธ.เป็น 1 ใน 8 แห่งที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย

แต่อีกมุมหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นเลิศทางด้านวิศวกรรม-เทคโนโลยี ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และได้รับการจัดอันดับให้เป็น "มหาวิทยาลัยสีเขียว" อันดับที่ 17 ของโลกจากมหาวิทยาลัยกว่า 1,000 แห่งทั่วโลกที่ส่งข้อมูลเข้าประกวด ถือเป็นอันดับที่ 1 ของไทย และอันดับที่ 3 ของเอเชียแปซิฟิก

เบื้องหลังอันดับ 1 ของสีเขียว

 ความสำเร็จของ มจธ.ในการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวติดอันดับ 17 ของโลก จากการจัดอันดับโดยมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย เริ่มต้นในยุคสมัยของอธิการบดีชื่อ "ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร" ซึ่งประกาศนโยบายชัดเจนในเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยจัดตั้งศูนย์การจัดการพลังงาน สิ่งแวดล้อมความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ให้เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสีเขียว

พร้อมทั้งประกาศนโยบายให้วิทยาเขตบางขุนเทียน ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างในช่วงนั้น จะต้องมีระบบนิเวศโดยรอบเป็นพื้นที่สีเขียว

ทั้งนี้ การก้าวย่างสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว ยังได้รับสนับสนุนงบดำเนินโครงการ ภายใต้โครงการจัดการสิ่งแวดล้อมความปลอดภัยแบบกองทุนการจับคู่ระหว่างรัฐบาลกับ มจธ.วงเงิน 110 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2547-2551

มหาวิทยาลัยสีเขียว คือ มหาวิทยาลัยที่มีการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างคุ้มค่า จัดระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืนและลดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน ทั้งการอนุรักษ์พลังงาน การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และพลังงานทดแทน
"เราได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2546 ตามเกณฑ์ความเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวที่มหาวิทยาลัยอินโดนีเซียกำหนดไว้ เช่น การพัฒนาเส้นทางเดินเท้าและจักรยาน การจัดการขยะและของเสีย การใช้พลังงานทดแทนทั้งโซลาร์เซลล์และไบโอก๊าซจากเศษอาหาร รวมถึงการใช้รถโดยสารที่ใช้ไบโอเอทานอล ED95 คันแรกของประเทศ เป็นพาหนะรับส่งนักศึกษาและบุคลากร" เพิ่มเติมโดย รศ.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มจธ.ในปัจจุบัน

สตาร์ทจากขยะ

 ผศ.สุชาดา ไชยสวัสดิ์ ผู้จัดการศูนย์การจัดการด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อมความปลอดภัย และอาชีวอนามัย (อีอีเอสเอช) มจธ. ขยายความว่า มจธ.เริ่มจัดทำระบบจัดการขยะตั้งแต่ปี 2546 ด้วยการจัดตั้งธนาคารขยะ รณรงค์ให้นักศึกษาและบุคลากรคัดแยกขยะ พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนถังขยะติดรูปภาพอธิบายประเภทขยะไว้ชัดเจน

โครงการประสบความสำเร็จอย่างมาก สามารถสร้างรายได้จากการขายขยะกว่า 1.2 ล้านบาทในปี 2548 ลดค่าจ้างแรงงานในการคัดแยกขยะ และสามารถกำจัดขยะได้อย่างถูกต้องไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่น ขณะที่ปีที่ผ่านมา สามารถลดปริมาณขยะภายในมหาวิทยาลัยเหลือเพียง 25.88 กิโลกรัมต่อคนต่อปี จากตัวเลข 28.49 กิโลกรัมในปี 2552

ส่วนขยะที่เป็นเศษวัสดุเหลือใช้จากห้องเรียน อย่างเศษเหล็ก เศษปูน ส่วนใหญ่จะถูกนำไปกำจัดด้วยการถมลงบริเวณพื้นที่ชายฝั่งที่มีปัญหาการกัดเซาะจากน้ำทะเล

หลังจาก มจธ.ประสบความสำเร็จจากกิจกรรมคัดแยกขยะ เส้นทางเดินของมหาวิทยาลัยสีเขียวถูกขยายผลเป็นโครงการอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น การจัดทำข้อมูลการใช้สารเคมีในห้องปฏิบัติการประจำปี เพื่อนำไปสู่การลดใช้สารเคมีและหาวิธีการกำจัดที่ถูกวิธี การตรวจสอบสภาพน้ำเสียเพื่อบำบัดก่อนระบายสู่แหล่งน้ำสาธารณะ โครงการลดใช้พลังงานไฟฟ้าและพลังงานน้ำ

"เราตั้งเป้าจะลดใช้พลังงานไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นลงอย่างน้อย 5% ต่อคนต่อปี ซึ่งในปีแรกของการเริ่มโครงการ ประสบความสำเร็จด้วยยอดลดใช้พลังงานได้ถึง 9%" ผศ.สุชาดากล่าว

ขยับสู่พลังงานทดแทน

 ในส่วนของการใช้พลังงานทดแทน มจธ.ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ร่วมกับไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง รวมถึงมีระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากเศษอาหารซึ่งมีมากถึง 200 กิโลกรัมต่อวัน สำหรับต้มน้ำลวกช้อนและให้ความร้อนกับเครื่องล้างจาน

"มจธ.มุ่งมั่นด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนต้นแบบ เพื่อเป็นต้นแบบให้กับองค์กรอื่นๆ และชุมชนต่อไป" ผศ.สุชาดากล่าว
ส่วนเส้นทางปัจจุบันในยุคสมัยของ รศ.ศักรินทร์ ได้สานต่อกิจกรรมมหาวิทยาลัยสีเขียวผ่านกิจกรรมโครงการยืมขี่ฟรี (Bike Share for Free) ส่งเสริมให้นักศึกษาและบุคลากรขี่จักรยานภายในสถาบัน ทั้งยังจัดรถรับส่งบุคลากรด้วยระบบขนส่งรวมหรือรถบัสระหว่างวิทยาเขตบางขุนเทียนและบางมด เพื่อลดใช้พาหนะที่เป็นยานยนต์ ลดการเกิดมลภาวะและลดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน

"เป้าหมายที่อยากให้เกิด ไม่ใช่แค่เพียงนักศึกษาและบุคลากรที่ประหยัดพลังงานตามนโยบาย แต่เราต้องการคนที่มีความคิด สามารถสร้างสรรค์กิจกรรมและเชิญชวนผู้อื่นให้มีส่วนรวมประหยัดด้วยกันในอนาคต" รศ.ศักรินทร์กล่าวชัดเจนตามคอนเซปต์ของมหาวิทยาลัยสีเขียว

source :http://eureka.bangkokbiznews.com/detail/395516

สปิริตของนิวเคลียร์ซามูไร

ปฏิบัติการเสมือน “การพลีชีพ” ของพนักงานโรงนิวเคลียร์ ทำให้ทั่วโลกประจักษ์ถึง “ความอดทนและความมีระเบียบวินัย” ของชาวญี่ปุ่นผู้ประสบภัยพิบัติ

มหันตภัยครั้งร้ายแรงที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่สองของญี่ปุ่นที่เกิดจากแผ่นดินไหว และสึนามิบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมานั้น นอกจากจะทำให้ทั่วโลกได้ประจักษ์ถึง “ความอดทนและความมีระเบียบวินัย” ของชาวญี่ปุ่นผู้ประสบภัยพิบัติครั้งนี้แล้ว
ปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา ที่เสียหายและเกิดการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีอันเป็นผลพวงจากแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งประวัติศาสตร์นี้ ยังทำให้ชาวโลกได้รู้จัก “ความกล้าหาญและเสียสละ” ของพนักงานปัจจุบันของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าว และบรรดาวิศวกรตลอดจนพนักงานที่เกษียณอายุแล้วแต่เคยมีประสบการณ์ทำงานที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกด้วย

โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นถึงแม้จะมีประโยชน์มหาศาลในการผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับทั้งภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนแล้ว แต่ก็มีอันตรายร้ายแรงอย่างยิ่ง เพราะกัมมันตภาพรังสีสามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็ง การผิดปกติของทารกในครรภ์ หรือส่งผลร้ายต่อเม็ดเลือดได้
ดังนั้น ในภาวะปกติพนักงานที่ทำงานในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องสวมชุดป้องกันพิเศษซึ่งปกคลุมทุกส่วนของร่างกายตั้งแต่หัวจรดเท้าเมื่อต้องเข้าไปในบริเวณที่อาจมีกัมมันตภาพรังสีได้ โดยมีหน่วยวัดระดับกัมมันตภาพรังสีที่เรียกว่า “มิลลิซีเวิร์ท” เป็นเกณฑ์พิจารณาปริมาณรังสีที่พนักงานได้รับระหว่างการปฏิบัติงานซึ่งไม่ควรเกิน 100 มิลลิซีเวิร์ท

เมื่อเกิดปัญหากัมมันตภาพรังสีรั่วไหลที่โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมาหลังการเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิแล้ว ได้มีการอพยพพนักงานทั้งหมดออกจากบริเวณดังกล่าว แต่วันรุ่งขึ้นพนักงาน 180 คนที่กลับเข้าไปที่โรงงานนั้นอีกครั้งหนึ่งในปฏิบัติการฉุกเฉินเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น พวกเขาจะแบ่งเป็นทีมเข้าไปทำการสูบน้ำทะเลเพื่อลดความร้อนของเตาปฏิกรณ์และติดตามผล โดยสับเปลี่ยนกันทุกๆ 10-15 นาที พวกเขาทำงานในภาวะที่มีความเสี่ยงของระดับกัมมันตภาพรังสีสูงถึง 400 มิลลิซีเวิร์ท

ปฏิบัติการดังกล่าวเปรียบเสมือน “การพลีชีพ” ของบรรดาพนักงานที่ไม่ปรากฏนามเหล่านั้น จึงกลายเป็นข่าวไปทั่วโลก สื่อมวลชนญี่ปุ่นให้สมญาวีรบุรุษนิรนามทั้งหมดว่า “ซามูไรแห่งฟูกูชิมา”

เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นครั้งแรกหลังการเกิดภัยพิบัติและได้ทราบข่าวล่าสุด ซึ่งแสดงถึงความกล้าหาญและเสียสละของชาวญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่ง

ยาสุเทรุ ยามาดะ อดีตวิศวกรโรงงานวัย 72 ปีได้รวบรวมบรรดาอดีตวิศวกรอดีตช่างเทคนิค ตลอดจนอดีตพนักงานฝ่ายต่างๆ แม้กระทั่งอดีตพ่อครัวซึ่งล้วนแล้วแต่มีอายุมากกว่า 60 ปีได้มากกว่า 200 คน โดยทั้งหมดอาสาเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาในโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา
ยามาดะกล่าวว่า การกระทำของพวกเขาไม่ใช่เป็นการกระทำของวีรบุรุษแต่เป็นการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล เพราะพวกเขามีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการทำงานมาก่อน อีกทั้งสูงอายุแล้ว จึงสมควรที่จะรับความเสี่ยงจากกัมมันตภาพรังสีมากกว่าคนหนุ่มสาวที่ยังมีอนาคตยาวไกล

ยามาดะเกิดความคิดดังกล่าวเมื่อเขาได้ดูวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ครั้งประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นนี้ทางโทรทัศน์ เขาจึงได้ติดต่ออดีตเพื่อนร่วมงานของเขาทั้งทางอีเมลและทวิตเตอร์ โดยได้รับการตอบรับอย่างรวดเร็วจากผู้ร่วมอุดมการณ์วัยเกษียณมากกว่า 200 คนเพื่อรักษาชีวิตของชาวญี่ปุ่นที่อ่อนวัยกว่าไว้ให้ได้มากที่สุด กลุ่มของยามาดะได้มีโอกาสพบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คัน และได้เริ่มปรึกษาหารือกันเพื่อดำเนินการขั้นต่อไป

พวกเราคนไทยและชาวโลกเคยได้ยินกิตติศัพท์ของกลุ่ม “คามิคาเซะ” นักบินญี่ปุ่นที่ปฏิบัติการ “พลีชีพ” ในสงครามโลกครั้งที่สองมาแล้ว กว่าครึ่งศตวรรษหลังจากปฏิบัติการบันลือโลกดังกล่าว เราก็ได้ประจักษ์ถึง “สปิริตแห่งซามูไร” ในสายเลือดของชาวอาทิตย์อุทัยนี้อีกครั้งหนึ่งทั้งจากคนหนุ่มสาว และวัยเกษียณในกรณีของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมาครั้งนี้

“สปิริตแห่งซามูไร” นี้เองที่ทำให้ญี่ปุ่นยืนหยัดรักษาความยิ่งใหญ่ของประเทศไว้ได้อย่างมั่นคง ถึงแม้ว่าขณะนี้จะเจออุปสรรคอันยากเข็ญ ในไม่ช้า “ลูกพระอาทิตย์” ก็จะก้าวเดินต่อไปอย่างสง่างามด้วยแรงใจและความชื่นชมของชาวโลกที่ประจักษ์แจ้งในศักดิ์ศรีของชาวญี่ปุ่นจากมหันตภัยครั้งนี้

source :http://www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/panatda/20110615/395467/สปิริตของนิวเคลียร์ซามูไร.html

ต้านไฟฟ้าชีวมวลสระแก้วกระชากไมค์แย่งพูด

ชาวบ้านรวมตัวต้านโรงงานไฟฟ้าชีวมวล แย่งกันพูดอุตลุด ส่งเสียงโห่ไล่ นัดชี้แจงอีกครั้ง 21 มิ.ย.

จากกรณียื่นหนังสือหนังสือคัดค้านต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เกี่ยวกับการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานชี วมวล บริษัท แก้วลำดวน เพาเวอร์ซับพลาย จำกัด ม.14 ต.ศาลาลำดวน อ.ศาลาลำดวน จ.สระแก้ว ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.54 หลังจากนั้นมีการประชุมหารือระดับจังหวัด และสั่งการให้ สำนักงานอุตสาหกรรม นำคณะกรรมการลงพื้นที่ชี้แจงชาวบ้าน โดยกำหนดพื้นที่ให้มากขึ้น

ล่าสุดวันนี้(15 มิ.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. ณ ศาลาวัดหนองหิน ม.8 ต.ศาลาลำดวน จะมีการจัดเวทีชี้แจงหลังมีข่าวลือ ปัญหามลพิษจากการใช้พลังงานจากถ่านหิน และปัญหาน้ำเสีย โดยมีเจ้าหน้าที่และฝ่ายวิศวกรโรงงาน ฯ พร้อมด้วย นายวันชัย เกาะสูงเนิน หน.ฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรม - เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง นายนิด สมบูรณ์ ผู้ใหญ่ ม.8 นำชาวบ้านมารับทราบข้อมูลของโรงงานฯ

แต่บริเวณด้านนอกศาลาก็มีกลุ่มของนายจำนง การดี แกนนำผู้คัดค้าน ฯ และชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งประมาณ 30 คน กระจายอยู่ด้านนอกพร้อมป้ายประท้วงขับไล่ ส่งเสียงดังอยู่ด้านนอก โดยฝ่ายอุตสาหกรรมได้เข้าเจรจาขอให้ชาวบ้านได้ฟังข้อมูลการชี้แจง ข้อกังวลฯและการดำเนินงานก่อน และพร้อมที่จะให้ผู้คัดค้านซักถามข้อมูล

ต่อมา แกนนำฯ ได้นำชาวบ้านเข้าไปรับฟัง แต่เพียงแค่การแนะนำหน่วยงานและฝ่ายผู้นำท้องถิ่น นายจำนง แกนนำฯ ได้ลุกขึ้นขอไมค์จากผู้ใหญ่บ้านขอพูดก่อนว่า พื้นที่การสร้างโรงงานไฟฟ้าไม่ใช่หมู่นี้ จึงไม่อยากให้ชาวบ้านรับฟัง พร้อมกล่าวโจมตี นายก อบต.ศาลาลำดวน ,กำนัน,ผู้ใหญ่บ้าน ม.14 ว่ามีการปลอมแปลงเอกสารชื่อ ตลอดจนแจ้งว่าฝ่ายแกนนำได้นำเรื่องไปฟ้องศาลอาญา ซึ่งจะนัดไต่สวนในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ และถ้าจะมีการคุย ต้องการให้ไปคุยกันที่ บ้านของตนเองใน หมู่ 14 ซึ่งจะต้องมี เจ้าของโรงงาน ฯ ผู้ว่าฯและชี้แจงต่อหน้าประชาชน ถ้าชาวบ้านเห็นด้วยและยอมรับโรงงาน ตนเองก็จะยุติบทบาท แต่ถ้าชาวบ้านไม่เอา ตนเองก็จะเดินหน้าที่ไปจากนั้นเตรียมจะเริ่มโจมตีผู้นำท้องถิ่นฯ

จากนั้นเกิดยื้อแย้งไมโครโฟนเพื่อชี้แจง และให้อยู่ในความสงบ ชาวบ้านหลายคนโดยเฉพาะผู้สูงอายุต่างตกใจ โดยผู้ใหญ่ ม.8 ในฐานะเจ้าของพื้นที่เข้ามาทักท้วงขอให้ฟังคำชี้แจงก่อน หากสงสัยให้ซักถาม และวางตัวเป็นกลาง แต่ในขณะเดียวกัน แกนนำหลายคนได้พาชาวบ้านที่นั่งอยู่ลุกฮือออกไปจากศาลา และออกไปตะโกนด่าคนที่นั่งอยู่ด้านใน โดยบางรายมีอาการมึนเมา ด่าทอคำหยาบคาย จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้ามาระงับเหตุ ด้านผู้ใหญ่ ม.8 ก็แจ้งชาวบ้านว่า ใครมีความประสงค์จะรู้ข้อมูลก็ขอให้นั่งฟังอย่างสงบ แต่ยังมีชาวบ้านอีกกลุ่มฟังข้อมูลจากโรงงานและอุตสากรรม ท่ามกลางเสียงโวยวายจากด้านนอก
การชี้แจงของโรงงานฯ ใช้เวลาประมาณ กว่าชั่วโมง โดยจากข้อซักถามของชาวบ้านหลายคนได้ยินกระแสข่าวลือเรื่องสุขภาพว่าต่อไปจะ ไม่สามารถกินน้ำฝนได้ การเกษตรไม่ได้ จะมีมลพิษทางอากาศสุขภาพร่างกายแย่ ตลอดจนข่าวลือถึงการนำถ่านหินมาใช้ในโรงงานและนิวเคลียร ซึ่งหลังรับทราบข้อมูลเบื้องต้นของโรงงาน ฯ ทำให้หลายคนสลาย

นางรัตนา อายุ 42 ปี ชาวบ้าน ม.9 เปิดเผยว่า ตนเองอยู่ต่างหมู่บ้านแต่ได้ยินกระแสข่าวมากมายจึงเกิดความวิตกกังวล เลยเดินทางมาฟังข้อมูล ซึ่งก็สบายใจ เพราะชาวบ้านเองก็ไม่มีความรู้ ไม่รู้จักคำว่า ชีวมวล ซึ่งจริงๆแล้วก็คือ เศษไม้ หรือส่วนที่เหลือของผลผลิตทางการเกษตร อย่างอ้อย ,มันสัมปหลัง เมื่อรับทราบข้อมูลแบบนี้ก็สบายใจและไม่วิตกแต่อย่างใด เช่นเดียวกันชาวบ้านที่หลายคนที่คลายความกังวลใจในกระแสดังกล่าว

ด้าน นายพัฒนชัย ชัยมงคล วิศวกรโรงงาน เปิดเผยว่า ยืนยันโรงงานไฟฟ้าชีวมวล คือการนำวัสดุเหลือใช้ทางผลผลิตทางการเกษตรมาใช่ เช่น แกลบ ฟางข้าว ทลายปาล์ม ใยปาล์ม เหง้ามัน เศษไม้ เปลือกไม้ ชานอ้อย เป็นพลังงานหมุนเวียนปลูกทดแทนได้ และที่สำคัญคือไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม

ได้ดำเนินงานตามกระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับการขออนุญาตโรงงาน ซึ่งกำหนดโดยกรมโรงงานอุตสากรรมซึ่งโรงงานเองก็ไม่ได้เข้าข่ายที่ส่งผลกระทบ รุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องผ่านกระบวนการ EIA แต่ก่อนหน้าที่ได้ชี้แจงและนำชาวบ้านไปดูข้อมูลตลอดการปิดประกาศไปแล้ว ซึ่งโรงงานผลิตไฟฟ้าขนาด 9.6 เมกกะวัตถ์ การใช้น้ำก็มีการขุดบ่อ 2 แห่ง ซึ่งไม่ได้ดึงน้ำจากคลองมาใช้ และ ไม่มีกระบวนการปล่อยน้ำเสียอย่างที่หลายคนกังวล เพราะเป็นระบบไอน้ำ โดยเฉพาะการเผาไหม้ก็ไม่มีค่าเกิดอันตราย วัสถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงก็มาจากเปลือกไม้ที่ โรงงานมีอยู่มาก เพราะเป็นโรงงานที่เป็นพลังสะอาด ไม่ได้ใช้ถ่านหินอย่างที่หลายคนปล่อยข่างลือออกมา และถ้ามีการตั้งโรงงานแล้วประชาชนในพื้นที่ยังจะได้รับประโยชน์จากงบพัฒนา ท้องถิ่นอีกซึ่งระบุตามข้อกฏหมายและอื่นๆอีกมากมาย ส่วนกรณีที่เกิดการคัดค้านนั้น ทางโรงงานฯมองว่าจริงๆแล้วอาจจะมีมูลเหตุบางอย่างที่ลึกๆกว่านี้ที่ใช้โรง งานอ้างและดึงเข้าไปเกี่ยวคือ การเมืองในระดับท้องถิ่นมากกว่า

นายวันชัย เกาะสูงเนิน หน.ฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การอนุญาตเรื่องโรงงาน ได้ยื่นใบขออนุญาติประกอบกิจการและเอกสารต่างๆ มีการพิจารณาตามขั้นตอน ซึ่งทาง บ.แก้วลำดวน เพาเวอร์ซับพลาย จำกัด ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องทำผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA จึงไม่ถือเป็นโรงงานที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน โดยการประกาศกระทรวงลงวันที่ 22 กค 51 จึงรับฟังความคิดเห็นประชาชน โดยการปิดประกาศให้ทางการเป็นเวลาอย่างน้อย 15 วัน ณ ที่ทำการ อบต.ศาลาลำดวน ที่ว่าการอำเภอและ สำนักงานอุตสากรรม และในช่วงเวลานั้นก็ไม่มีผู้ใดคัดค้าน จนเรื่องดังกล่าวผ่านการอนญาติของกรมโรงงาน ฯในช่วงเดือน มีนาคม 2554 และจึงมีกลุ่มคัดค้านขึ้นมาใช้ช่วงนี้ดังกล่าว

โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วจึงได้ทางโรงงาน ฯเปิดเวทีรับฟังการชี้แจงของชาวบ้านโดยขยายวงกว้างมากขึ้นเพื่อสร้างความ เข้าใจ และลดกระแสข่าวลือต่างๆที่ทำให้ชาวบ้านวิตกกังวล ในเรื่องถ่านหินและนิวเคลียร ตลอดจนการขัดแย้งในพื้นที่ จึงกำหนดพื้นที่ และให้ทาง ส.อุตสาหกรรมเข้ามาร่วมด้วย ซึ่ง 2 ครั้งที่ผ่านมา คือ 14-15 มิย 54 นี้ก็มีแกนนำผู้คัดค้าน เข้ามาป่วนจนชาวบ้านไม่ได้รับฟังข้อมูลและวักข้อสงสัย ส่วนการยื่นข้อเสนอให้มีการเจรจาและชี้แจงที่บ้านของแกนนำโดยของทางจังหวัด ลงไปด้วยนั้น เบื้องต้นจะนำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ส่วนการดำเนินการชี้แจงข้อมูลที่สร้างความเข้าใจกับชาวบ้านนั้นอาจจะต้อง ดำเนินการต่อไป ตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการ ฯ ซึ่งจะมีอีกครั้ง ในวันที่ 21 มิ.ย.54

source : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/politics/20110615/395698/ต้านไฟฟ้าชีวมวลสระแก้วกระชากไมค์แย่งพูด.html

รักษ์โลกสไตล์ “มจธ.” กับ “รถไบโอฯ ED95”

ภาวะโลกร้อนยังเป็นประเด็นที่ทุกคนพูดถึงเสมอ ไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและเร่งหาทางรับมือโดยเร็ว เพราะทุกวันนี้ภัยธรรมชาติในรูปแบบของพายุ แผ่นดินไหว ความแห้งแล้งมีให้เห็นกันบ่อยขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นทุกวัน วันนี้ไลฟ์ ออน แคมปัส ขอร่วมลดโลกร้อนด้วยการพาชมรถโดยสารแนวคิดใหม่ที่ช่วยลดมลภาวะของชาวมจธ. โดยมีระบบการใช้เชื้อเพลิงด้วยไบโอเอธานอล ED95 เป็นคันแรกของประเทศไทย
รถโดยสารต้นแบบ ใช้เชื้อเพลิงไบโอเอธานอลทดแทนน้ำมันดีเซล
หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลอย่าง รศ.ดร.พงพันธ์ แก้วตาทิพย์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยถึงรถโดยสารอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมคันนี้ว่า รถคันนี้เป็นรถโดยสาร(ขสมก.)สาธิตที่ใช้ไบโอเอธานอลเป็นเชื้อเพลิง ตามปกติแล้ว รถบริการขนส่งส่วนใหญ่จะใช้น้ำมันดีเซลซึ่งได้มาจากฟอสซิลใต้ดิน โดยมีการใช้กันมากถึง 60% ของของรถขสมก.ทั้งหมด
"ตอนนี้รถยนต์ หรือรถโดยสารส่วนใหญ่ก็ยังใช้น้ำมันกันอยู่ แม้ในขณะนี้จะมีการส่งเสริมให้ใช้แก๊สโซฮอลล์หรือพลังงานทดแทนอื่นๆ ตรงนี้ก็ยังน้อยอยู่ เราก็อยากผลักดันให้มีการใช้ไบโอเอธานอลหรือพลังงานทดแทนอื่นๆให้มากขึ้น ทางเราก็สนใจเชื้อเพลิงที่เป็นไบโอเอธานอล ซึ่งไบโอเอธานอลนี้ เริ่มใช้ครั้งแรกที่สวีเดน ต่อมาก็ขยายไปยังประเทศต่าง เช่น อิตาลี บราซิล จีน ฯลฯ เราก็ได้เก็บข้อมูลตรงนี้มาศึกษา และเกิดแนวคิดที่จะพัฒนาพลังงานทดแทนตัวนี้ขึ้นมาใช้ในบ้านเรา" หัวหน้าภาคฯ อธิบาย

รศ.ดร.พงพันธ์ เล่าต่อว่า ไบโอเอธานอลทำจากเปลือกสับปะรด กากมันสำปะหลัง กากอ้อย ซึ่งจะไม่เกิดมลภาวะเท่ากับน้ำมันดีเซล เพราะการผลิตน้ำมันดีเซลต้องผ่านกระบวนการตั้งแต่ขุดเจาะ เข้าโรงกลั่น การขนส่งต่างๆ ก็ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในอากาศมากขึ้น ในทางกลับกันไบโอเอธานอลที่ทำจากพืชเหล่านี้ มันช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ทำให้ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ได้มากถึง 90% ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกที่น่าสนใจ ทางมจธ. จึงเล็งเห็นประโยชน์ตรงนี้ที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ จึงมีความสนใจที่จะมาพัฒนาให้รถขนส่งมาใช้เชื้อเพลิงที่เป็นไบโอเอธานอล นอกจากนี้ในส่วนของตัวรถก็ผลิตจากอะลูมิเนียมอัลลอยมีความคงทน และน้ำหนักเบากว่าเหล็กก็จะช่วยประหยัดเชื้อเพลิงได้อีกทางหนึ่ง
ภายในตัวรถ เบาะนั่งสะดวกสบายและสะอาด
"เราคาดว่าจะใช้ในรถโดยสารนี้รับ-ส่งนักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัย เรามีการเก็บข้อมูลระยะทางว่ามีทั้งหมด 23 กิโลเมตร เก็บข้อมูลการใช้งาน ข้อมูลปริมาณมลพิษ ฯลฯ ตอนนี้เป็นเพียงต้นแบบ แต่ในอนาคตจะพัฒนาให้ใช้ได้จริง และจะเริ่มส่งเสริมให้เอารถไบโอเอธานอลนี้ไปวิ่งสาย ปอ.21 เริ่มวิ่งจากบางมดไปที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" รศ.ดร.พงพันธ์ เสริม

ไม่เพียงผู้ผลิตเท่านั้นที่อยากผลิตให้มีรถอนุรักษ์พลังงานคันนี้ออกมาวิ่งตามท้องถนนได้จริง แต่ในมุมมองของเด็กๆ ก็อยากใช้บริการรถโดยสารคันนี้ด้วยเช่นกัน เพราะนอกจากจะช่วยลดมลพิษทางอากาศอย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์แล้ว การเดินทางด้วยรถประจำทางขสมก. ยังช่วยประหยัดพลังงาน ประหยัดค่าน้ำมันได้อีกมากโข
สาวน้อยตัวแทนฑูตอนุรักษ์พลังงานอย่าง "แนน" จีราภา ทองอาษา นักศึกษาปีที่ 1 สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ มจธ. ให้ความเห็นที่สอดคล้องว่า รถโดยสายต้นแบบคันนี้เป็นรถที่ช่วยลดการใช้น้ำมัน คือ การใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงทำให้เกิดมลพิษมากมาย แต่รถคันนี้มีการใช้ไบโอเอธานอลมาเป็นพลังงานทดแทน จึงไม่ก่อให้เกิดมลพิษมากเท่ารถโดยสารทั่วๆไป แถมฟังก์ชั่นการทำงานทุกอย่างก็ไม่แตกต่างจากรถโดยสารทั่วไป
"แนน" จีราภา ทองอาษา
"มันก็เหมือนรถเติมน้ำมันที่เราใช้กันในกทม.นะคะ แถมสภาพภายในรถดูดีกว่า นั่งสบายกว่า แต่พอมาเป็นรถที่ต้องเติมไบโอเอธานอลก็มีข้อดีมากกว่า เพราะมันช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วย ถือเป็นรถรักษ์โลกค่ะ ถ้าเอารถแบบนี้ไปใช้บนท้องถนนจริงๆ หนูคิดว่าดเป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยทุกคนก็จะได้ช่วยกันลดพลังงาน ภายในรถมันสะอาดสะอ้าน คนก็อาจจะหันมาใช้รถเมล์มากกว่า ก็จะลดอัตราการใช้รถส่วนตัวลงไป มลพิษก็ลดลงตามไปด้วย" แนนเล่า

ในฐานะทูตอนุรักษ์พลังงาน มจธ. สาวแนนเชิญชวนว่า อยากให้เพื่อนๆ มาช่วยกันรักษ์โลกของเรา เพราะตอนนี้อย่างที่ทราบกันดีว่าโลกร้อนขึ้น มีอันตรายจากภัยธรรมชาติเกิดขึ้นมากมาย อยากให้ช่วยกันลดสภาวะโลกร้อนอย่างละนิดอย่างละหน่อย แค่เราลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวลง เช่น ทางเดียวกันไปด้วยกัน หรือ ถ้าอยู่ใกล้ๆก็ใช้การเดินเท้าหรือไม่ก็ปั่นจักรยานแทน โดยเฉพาะในภาคของการขนส่งต่างๆควรหันมาใช้ไบโอดีดีเซลหรือไบโอเอธานอลกันให้มากขึ้น
"น้ำชา" บัญชา เตชะวีรพงศ์
ส่วนหนุ่มทูตอนุรักษ์ฯ อีกคน "น้ำชา" บัญชา เตชะวีรพงศ์ นักศึกษาปีที่ 3 สาขาวิศวกรรมเครื่้องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. บอกว่า รถไบโอเอธานอลถือเป็นรถใช้พลังงานที่ได้จากธรรมชาติ เพราะไบโอเอธานอลเป็นเชื้อเพลิงที่ผลิตมาจากธรรมชาติจึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และรถคันนี้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่ทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลงได้ เป็นรถที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้มากทีเดียว

"ทางมจธ.เราส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมมาตลอด การที่มีรถคันนี้เป็นคันแรกของไทยก็แสดงให้เห็นว่าเราเป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และโดยส่วนตัวผมก็อยากเห็นรถต้นแบบนี้ไปบริการจริงในกทม. ตอนนี้แม้จะเป็นรถต้นแบบ แต่ในอนาคตผมก็อยากให้มันเป็นในเชิงพาณิชย์เพราะ ถ้ามันได้ไปวิ่งในท้องถนนเยอะๆ ก็จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ได้เยอะมากครับ ทำให้โลกของเราดีขึ้นด้วยครับ" น้ำชา เล่า
อธิการบดี มจธ. และประธานคณะกรรมการส่งเสริมมหาวิทยาลัยร่วมทดลองนั่งรถ
น้ำชา กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า การลดโลกร้อนมันเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทำได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นการแยกขยะ หรือการลดใช้ถุงพลาสติก หรือการปิดน้ำ-ไฟเมื่อไม่ใช้แล้ว เป็นต้น ทุกอย่างมันเป็นสิ่งใกล้ตัวทั้งนั้น ทุกคนสามารถทำได้ถ้าเราช่วยกัน และในเรื่องการใช้รถใช้ถนน หากรถประจำทางมีความสะดวกกว่า เราก็อาจจะไม่ต้องใช้รถส่วนตัว เพราะ การใช้รถส่วนตัวจะเพิ่มคาร์บอนไดออกไซต์ในชั้นบรรยากาศมากขึ้น ยิ่งใช้หลายคันเท่าไหร่ก็ยิ่งมีมลพิษมากขึ้นเท่านั้น ทั้งสิ้นเปลืองน้ำมันและทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย

source : http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9540000072917

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554

คำตอบจากเยอรมัน(1) “ทำไมเลิกนิวเคลียร์ หันหัว(พุ่ง)สู่พลังงานหมุนเวียน”

เร็วๆ นี้ มีข่าวฮือฮาว่าประเทศเยอรมันยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหรรมของโลก ประกาศกร้าวตัดสินใจจะทยอยปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หลังเห็นตัวอย่างโรงไฟฟ้าฟุกุชิมาที่ประสบปัญหาหลังสึนามิถล่มญี่ปุ่น

เยอรมันเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรม ความต้องการไฟฟ้านั้นมหาศาล มากกว่าไทย 5 เท่า มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 17 โรง ผลิตไฟฟ้าได้เกือบ 20,000 เมกกะวัตต์ หรือคิดเป็น 23% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ตอนนี้ปิดถาวรไปแล้ว 8 โรง อีก 6 โรงที่เพิ่งสร้างใหม่จะปิดอย่างช้าที่สุดปี 2021 และอีก 3 โรงจะปิดอย่างช้าที่สุดในปี 2022

ถามว่ายกเลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้วจะเอาไฟฟ้าจากไหน เพราะพลังงานฟอสซิล หลักๆ คือ ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินนั้นสร้างมลภาวะเยอะ ผิดกับเป้าหมายสูงลิบของเยอรมันในการลดก๊าซเรือนกระจก แถมเป็นแหล่งพลังงานที่กำลังจะหมดไป

คำตอบของ Dr. Georg Maue ตัวแทนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมของเยอรมัน ที่มาร่วมงานเสวนาเรื่องพลังงานหมุนเวียนในเมืองไทย เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.54* ระบุว่า เยอรมันกำลังมีนโยบายเบนเข็มทิศไปสู่พลังงานหมุนเวียนอย่างมโหฬาร แต่ระหว่างที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปิดไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซเพิ่มขึ้นอีก 17 โรง และจะเริ่มจ่ายไฟในปี 2013 อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลพวกนี้น่าจะเป็นล็อตสุดท้าย เพราะในระยะถัดไปประเทศนี้มีเป้าหมายจะใช้พลังงานหมุนเวียนเกือบทั้งหมดภายในปี 2050

การตั้งเป้าหมายในปี 2050 เป็นผลมาจากการเยอรมันตั้งใจจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด มากกว่าที่ตกลงไว้ในพิธีสารเกียวโต ที่น่าสนใจคือ ประเทศนี้ทำการศึกษาความเป็นไปได้อย่างหนัก ไม่ใช่พูดลอยๆ เป็นคำสวยๆ โดยมี 2 กระทรวงหลักที่รับผิดชอบเกี่ยวกับนโยบายพลังงาน นั่นคือ กระทรวงด้านสิ่งแวดล้อม กับ กระทรวงด้านเศรษฐกิจ หลังมหันตภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมา รัฐบาลเยอรมันกดดันให้คณะทำงานเร่งการศึกษาให้เสร็จภายใน 1 ปี

ทางออกสำคัญที่สรุปได้ คือ จะมีการเน้นไปที่ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า (Demand-Side Management/ DSM) , พลังงานหมุนเวียน, การสร้างระบบโครงข่ายสายส่ง (Grid) ที่ทั่วถึงและ “ฉลาด”

แผนภาพเปรียบเทียบสัดส่วนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ปี 2010 กับเป้าหมายในปี 2050
Dr. Maue บอกว่าสิ่งที่ทำให้การตัดสินใจระดับนโยบายเป็นไปได้นั้น นอกจากจะเป็นกระแส “ไม่เอานิวเคลียร์” ภายในประเทศแล้ว ยังเป็นเพราะการศึกษาวิจัย ซึ่งได้มีการการวางแผนยุทธศาสตร์นโยบายด้านการผลิตไฟฟ้าของเยอรมัน ซึ่งเพิ่งผ่านรัฐสภาไปเมื่อเร็วๆ นี้ ภายในแผนดังกล่าวดู 3 ปัจจัยหลักคือ ประชากรโลกเพิ่มขึ้น จนปี 2050 จะมี 9 พันล้าน, ความต้องการใช้พลังงานก็มากขึ้นโดยเฉพาะพลังงานฟอสซิล, ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งทำให้ต้องหันไปสู่พลังงานหมุนเวียน

ทั้งนี้ สัดส่วนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของเยอรมันในปี 2010 ประกอบด้วย ถ่านหิน 45% นิวเคลียร์ 23% พลังงานหมุนเวียน 17% ก๊าซธรรมชาติ 14% ปิโตรเลียม 1% ขณะที่เป้าหมายในปี 2050 พลังงานหมุนเวียนจะมีสัดส่วนถึง 83% ส่วนของไทยนั้นปัจจุบันใช้ก๊าซเป็นหลักเกือบ 70% ขณะที่แผนพีดีพี 2010 ของไทย (วางแผนล่วงหน้า 20 ปี) จะลดการใช้แก๊สให้เหลือ 40% โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้นิวเคลียร์ราว 5 โรง สำหรับพลังงานหมุนเวียนนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะอยู่ในระดับเล็กน้อยมาก
“เราต้องดูว่าหากมีพลังงานหมุนเวียนในแผนมากๆ จะส่งผลทางเศรษฐกิจอย่างไร ความยั่งยืนเป็นอย่างไร เราต้องการให้เศรษฐกิจโตด้วย แต่โดยไม่ทำลายตัวเราเองและอนาคตของเรา... เยอรมนีเป็นประเทศอุตสาหกรรมจึงต้องแสดงความรับผิดชอบในการลดการปล่อย คิดว่าจะได้น้อยกว่าที่ลงนามในพิธีสารเกียวโตเสียอีก” Dr.Maue กล่าว


สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนแบบต่างๆ เทียบปี 2010 กับเป้าหมายในปี 2050

Dr.Maue บอกว่าพลังงานหมุนเวียนจะเป็นไปได้ในแผนพลังงาน ก็ต้องต้องมีนโยบายเรื่องสภาพภูมิอากาศ (climate policy) ซึ่งเยอรมันตั้งเป้าหมายสูง หวังสูง ว่าจะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2050 ให้ได้ 95% เทียบกับปี 1990 ส่วนขณะนี้ลดไปได้ 1 ใน 4 แล้ว

ไม่ใช่หวังดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว (โดยไม่ทำกำไร) เยอรมันยังต้องการเป็น “ผู้นำทางการตลาด” ในเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนด้วย ซึ่งกำลังคืบหน้าไปด้วยดีเพราะตลาดนี้ยังมีผู้เล่นน้อยราย นอกจากนี้การใช้พลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าลม, แดด ฯ ซึ่งมันยังมีศักยภาพในลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอซซิลได้มาก สามารถประหยัดได้ 22,000 ล้านยูโร ขณะที่จีดีพีจะยังคงเพิ่มขึ้นตามปกติ
“การลงทุนใหม่เกี่ยวกับพลังงานหมนุเวียนในปีที่แล้ว ทำให้เกิดสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเพิ่ม 17% มีเงินลงทุน 27,000 ล้านยูโร มีการจ้างงานเพิ่ม 370,000 ตำแหน่ง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 120 ล้านตัน”

สัดส่วนตลาดเทคโนโลยีสีเขียวของเยอรมัน

หากสำรวจตลาด Green Technology เยอรมันมีส่วนแบ่งการตลาดโลกถึง 1,000 พันล้านยูโรในปี 2005 และคาดว่าภายในปี 2020 อาจมีส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 2,200 พันล้านยูโร

“นี่คือแรงจูงใจสำคัญให้เกิดยุทธศาสตร์พลังงานแนวใหม่อย่างที่เป็นอยู่” Dr.Maue ว่า
ตัวแทนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมเยอรมันสรุปความสำเร็จของตนว่า แผนพลังงานเช่นนี้เป็นไปได้ เพราะการศึกษาที่ชัดเจน โดยดูว่าปี 2050 เราต้องการอะไร เราต้องการพลังงานอะไรในปีนั้น และจะไปถึงได้อย่างไร จะใช้มาตรการอะไร และประเมินความเป็นไปได้ มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่า เราจะไปไหน อย่างไร เป้าหมายคืออะไร ทุกฝ่ายต้องมีส่วนผลักดันและปฏิบัติจริง อีกส่วนหนึ่งคือยังต้องมีความพร้อมในการสนับสนุนเรื่องการเงินด้วย

สิ่งสำคัญที่สุดในกระบวนการนี้คือการ มีรัฐมนตรีทั้งสองกระทรวงนั่งด้วยกัน โดยแต่ละคนก็มีข้อมูลทางเทคโนโลยีที่แน่นปึก ทั้งคู่มี “clear view” และได้รับความร่วมมือจากภาคีเยอะ โดยเฉพาะภาคประชาสังคม

เขายังอวดว่า เป้าหมายพลังงานหมุนเวียน ในภาคพลังงานโดยรวมนั้นคาดหมายว่าปีสุดท้ายของแผน ต้องมีพลังงานหมุนเวียน 60% เฉพาะส่วนของการผลิตไฟฟ้าต้องเป็นพลังงานหมุนเวียน 80%

เป้าหมายด้านประสิทธิภาพพลังงาน ตั้งใจให้ลดพลังงานต้นน้ำถึง 50% ภายในปี 2050 ขณะที่(ย้ำอีกที)เศรษฐกิจก็ต้องเติบโตด้วย ดังนั้น จึงต้องหามาตรการให้ลดใช้พลังงานถึงครึ่งหนึ่ง เช่น การสร้างความร้อนในอาคารนั้นต้องเพิ่มประสิทธิภาพเรื่องนี้ 1-2% โดยการปรับรื้อโครงสร้างเก่า, ปรับปรุงโครงสร้างสายส่ง และอีกมากมายกว่าร้อยมาตรการ ซึ่งกำหนดให้มีการตรวจสอบมาตรการต่างๆ ทุก 3 ปี

ฟังแล้วอย่าเพิ่งอิจฉาหรือทำหน้าไม่เชื่อ ในตอนหน้าเราจะมาลงลึกในแผนพลังงานของเยอรมัน ทั้งเรื่องพลังงานหมุนเวียน โครงข่ายสายส่งอัจฉริยะ และมาตรการต่างๆ ที่ออกมาบังคับใช้เพื่อลดการใช้ไฟ

--------------------------------------------------
*การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "ทางออกพลังงานยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ : มุมมองจากเยอรมันนีและไทย"จัดเมื่อ วันที่ 9 มิถุนายน 2554 เวลา 8.00 – 16.30 น.ณ ห้องประชุมฟอร์จูน 1 ชั้น 3 โรงแรมแกรนด์เมอร์เคียวฟอร์จูนโดย องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และโครงการวิจัยการวิเคราะห์ทางเลือกของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกฯ โดยมูลนิธินโยบายสุขภาวะ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

หมายเหตุ เรียบเรียงจากการบรรยายของ Dr. Georg Maue, Federal Ministry for the Environment, Nature Conservation, and Nuclear Safety, Germany

source : http://www.prachatai.com/journal/2011/06/35421

อุโมงค์ทางเดินรถไฟที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกในยุโรป

เมื่อวันก่อนได้มีข่าวเกี่ยวกับอุโมงค์ทางรถไฟความเร็วสูงที่ให้บริการเดินทางข้ามเมืองระหว่างปารีสและอัมสเตอร์ดัมที่นำเอาเทคโนโลยีเกี่ยวกับกับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เป็นประโยชน์ในการทำงานแห่งแรกของ
ขบวนรถไฟความเร็วสูงที่ใช้เส้นทางนี้ในการให้บริการจะมีส่วนของระบบที่ดึงเอาพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากการเก็บกักพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยแผงโซล่าร์เซลล์ที่มีการติดตั้งอยู่บนหลังคาของอุโมงค์ทางรถไฟมาใช้งาน โดยโครงการนี้ใช้เงินลงทุนกว่า 15.6 ล้านยูโร ในการติดตั้งระบบการนำเอาพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้งานภายในอุโมงค์ที่มีความยาวกว่า 3.6 กิโลเมตรที่มีที่ตั้งอยู่ทางสถานี Antwerp ตอนเหนือของเบลเยียม
 ระบบมีการใช้แผ่นโซลาร์เซลล์กว่า 16,000 แผ่น ครอบคลุมพื้นที่ของหลังคาอุโมงค์กว่า 50,000 ตารางเมตร หรือประมาณพื้นที่ของสนามฟุตบอลจำนวนแปดสนาม ทั้งระบบสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้กว่า 3,300 วัตต์ต่อชั่วโมงถือเป็น 50% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดของอุโมงค์แห่งนี้ ซึ่งปริมาณของกระแสไฟฟ้าที่ได้จะเพียงพอต่อการบริโภคโดยเฉลี่ยของผู้ใช้กว่า 1,000 ครัวเรือนในแต่ละปี มากไปกว่านั้นการนำเอาระบบนี้มาใช้งานจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 2,400 ตันต่อปี
 พลังงานไฟฟ้าที่ได้จากการแปลงพลังงานแสงอาทิตย์ที่เก็บกักได้นั้นจะเพียงพอต่อการทำงานของรถไฟจำนวนกว่า 4,000 ต่อปี โดยรถไฟเหล่านี้จะวิ่งอยู่ที่ความเร็วประมาณ 186 ไมล์ต่อชั่วโมง เมื่อรถไฟเดินทางมาถึงอุโมงค์ การแตะสัมผัสกับรางรถไฟ และส่วนอื่นๆที่มีการเชื่อมต่อกับโครงสร้างของอุโมงค์ที่ได้วางระบบการจ่ายไฟฟ้าจะเริ่มทำงานทันที ไฟฟ้าที่ได้จากระบบจะใช้งานในระบบการให้แสงสว่างภายในอุโมงค์ ระบบสัญญาณต่างๆ และระบบอื่นๆที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าในเส้นทาง และสถานีภายในอุโมงค์
 รถไฟขบวนแรกที่มีการทำงานกับระบบนี้เริ่มทำงานตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมาด้วยปริมาณผู้โดยสารเต็มขบวน การทำงานของระบบทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ การเชื่อมต่อและจ่ายพลังงานไฟฟ้าของระบบที่มีการติดตั้งภายในอุโมงค์และที่ตัวรถไฟทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบจะช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้มากซึ่งบริษัทที่ดูแลระบบนี้ก็คือบริษัท Enfinity
 ทางบริษัทคาดหวังว่าจะสามารถนำเอาระบบนี้ไปประยุกต์ติดตั้งใช้งานในสถานที่อื่นๆอีกได้ในไม่ช้า ไม่ว่าจะเป็นระบบรถรางภายในเมืองหรือสถานีเติมประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า หรือ อื่นๆ
http://www.businessinsider.com/the-first-solar-tunnel-to-help-power-high-speed-trains-just-opened-in-europe-video-2011-6#ixzz10fsCSadM
http://www.wired.co.uk/news/achive/2011-06/07/solar-tunnel-will-power-4000-trains-a-year

อิตาลีทำประชามติถาม ปชช.เอา “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์” หรือไม่?

ป้ายรณรงค์ต้านพลังงานนิวเคลียร์ของกลุ่มกรีนพีซในอิตาลี ระบุว่า “อิตาลี ไม่เอานิวเคลียร์ ‘โหวตรับ’” วันที่ 12 - 13 มิถุนายน อิตาลีมีการลงประชามติใน 3 ประเด็นได้แก่ พลังงานนิวเคลียร์ การแปรรูปการประปา และเอกสิทธิ์คุ้มครองนายกรัฐมนตรีซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี

นายกรัฐมนตรีซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี
เอเอฟพี - อิตาลีเปิดคูหาลงประชามติวันนี้ (12) เพื่อสอบถามความคิดเห็นประชาชน โดยมี 2 ประเด็นร้อนเป็นตัวชูโรง กล่าวคือ โครงการกลับไปพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ และเรื่องเอกสิทธิ์คุ้มครองนายกรัฐมนตรีซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี ซึ่งสื่อมองว่าเป็นบททดสอบสำคัญของผู้นำจอมอื้อฉาว

การทำประชามติกรณีการใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นก้าวย่างสำคัญของเสียงต่อต้านนิวเคลียร์ในยุโรป อันเป็นผลมาจากวิกฤตโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะไดอิจิของญี่ปุ่น และหลังจากรัฐสภาเยอรมนีผ่านพระราชบัญญัติยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ภายในปี 2022 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

หากชาวอิตาลีเกิน 50 เปอร์เซนต์ลงความเห็นคัดค้านพลังงานนิวเคลียร์ จะส่งผลให้แผนการหวนกลับไปใช้พลังงานนิวเคลียร์ของรัฐบาลอิตาลีภายในปี 2014 ล้มครืนลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยขณะนี้ทางการอิตาลีมีคำสั่งพักโครงการดังกล่าวไว้ชั่วคราว

นอกจากนี้ อาจมีการล้มล้างเอกสิทธิ์คุ้มครองต่อการดำเนินคดีของนายกรัฐมนตรีซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี ภายใต้กฎหมายที่รัฐบาลอนุมัติ ไม่นานหลังจากแบร์ลุสโกนีชนะการเลือกตั้งกลับเข้าสู่สภาผู้ทรงเกียรติอีกครั้งเมื่อปี 2008

นายกรัฐมนตรีอิตาลีตกอยู่ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาในคดีความจำนวน 3 คดีที่กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล กล่าวคือ คดีซื้อบริการทางเพศจากผู้เยาว์วัย 17 ปี คดีติดสินบน และคดีฉ้อโกงภาษี

ทั้งนี้ ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายปัญหาฉบับนี้ โดยจำกัดขอบเขตอำนาจว่าจะคุ้มครองเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม แบร์ลุสโกนียังคงอ้างถึงเอกสิทธิ์คุ้มครองในการต่อสู้คดีต่างๆ เรื่อยมา

คูหาลงคะแนนจะปิดเวลา 22.00 น. (ตรงกับ 3.00 น. วันจันทร์ตามเวลาประเทศไทย) และจะเปิดให้ประชาชนใช้สิทธิ์ใช้เสียงอีกครั้งตั้งแต่เวลา 7.00 น. ถึง 15.00 น. คาดว่าการนับผลประชามติจะเสร็จสิ้นในช่วงดึกวันจันทร์ (13) ตามเวลาท้องถิ่น

ประเด็นพลังงานนิวเคลียร์ได้รับความสนใจอย่างยิ่ง จนกลบกระแสเรื่องกฎหมายคุ้มครองนายกรัฐมนตรี หรือแม้กระทั่งเรื่องการแปรรูปการประปาเป็นบริษัทเอกชน

อิตาลีล้มเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์ตามผลประชามติเมื่อปี 1987 หลังเกิดวิกฤตโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ทว่าแบร์ลุสโกนีเสนอรื่องนี้ขึ้นมาเป็นเป้าหมายนโยบายหลักอีกครั้ง โดยฝั่งรัฐบาลแย้งว่าพลังงานนิวเคลียร์จะช่วยลดค่าไฟฟ้า ลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สมัยใหม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การสำรวจความเห็นของชาวอิตาลีส่วนใหญ่ยังคงไม่เห็นด้วยกับการกลับไปใช้พลังงานนิวเคลียร์

แดเนียล คอห์น เบนดิท แกนนำพรรคกรีนส์ในรัฐสภายุโรป เรียกร้องให้ชาวอิตาลีคัดค้านพลังงานนิวเคลียร์ โดยย้ำว่าความสำเร็จจากการต้านประเด็นนี้ในอิตาลีจะส่งสัญญาณสำคัญไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรป


source : http://manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9540000071641

มช.ชวนผลิตเตาอบลำไย ประหยัดพลังงาน-ทุ่นงบประมาณ


สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จัดโครงการประหยัดพลังงานในอุตสาหกรรมการอบแห้งลำไยและบ่มใบยาสูบ โดย รศ.ดร.ชัชวาล ตัณฑกิตติ ผู้จัดการโครงการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มช. กล่าวว่า ช่วงใกล้ฤดูลำไยในแต่ละปี เกษตรกรให้ความสนใจนำลำไยมาแปรรูปเป็นลำไยอบแห้งเพิ่มขึ้นทุกปี เพื่อลดปัญหาการเน่าเสีย และเพิ่มมูลค่าของลำไยให้สูงขึ้น ขณะที่การอบแห้งลำไยแต่ละครั้งต้องใช้พลังงานความร้อนค่อนข้างสูง และเกษตรกรส่วนใหญ่ยังใช้เตาอบลำไยแบบเดิมที่เป็นเตาไต้หวัน ซึ่งให้ประสิทธิภาพเชิงความร้อนต่ำ ต้องพลิกกลับลำไยในระหว่างอบทำให้เกิดการบุบ แตกได้ง่าย ตัวเตามีการกระจายลมไม่สม่ำเสมอ ทำให้สิ้นเปลืองก๊าซหุงต้ม ส่งผลต่อคุณภาพของลำไย และมีต้นทุนการอบค่อนข้างสูง

กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน จึงสนับสนุนให้ สถาบันวิจัยฯ ศึกษาและจัดสร้างเครื่องอบแห้งลำไย ที่สามารถประหยัดพลังงานและเพิ่มคุณภาพลำไยแห้ง โดยประยุกต์ใช้ เตาเผาไหม้เชื้อเพลิง และชุดแลกเปลี่ยนความร้อน นำมาดัดแปลงร่วมกับชิ้นส่วนอุปกรณ์เดิมของเตาไต้หวัน และเปลี่ยนมาใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงแทนก๊าซหุงต้ม พบว่าเตาอบลำไยประหยัดพลังงาน มีค่าใช้จ่ายในการอบแห้งลำไยเฉลี่ยที่ 1.76 บาท/ก.ก.ลำไยแห้ง เตาอบแบบเดิม มีค่าใช้จ่ายในการอบเฉลี่ยที่ 6.45 บาท/ก.ก.ลำไยแห้ง ช่วย ประหยัดเงินได้ 70,000 บาท/ชุด/ปี

โครงการได้สร้างเครื่องอบแห้งลำไยประหยัดพลังงานต้นแบบ และนำไปใช้งานที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปลำไย หมู่บ้านสันปู่เลย จ.เชียงใหม่ 1 เครื่อง จากการทดสอบพบว่ามีประสิทธิภาพความร้อนดีขึ้น โดยมีค่าประสิทธิภาพเชิงความร้อนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 28 เป็นร้อยละ 35 และลดขั้นตอนในการพลิกลำไย ลดต้นทุนในการผลิตลำไยอบแห้งได้มาก

"โครงการได้ถ่ายทอดความรู้ทั้งด้านเทคโน โลยีและกระบวนการผลิตให้แก่ เกษตรกร ชาวไร่ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานเกษตรที่เกี่ยวข้องกว่า 900 คน ครอบคลุมพื้นที่การผลิตได้แก่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา แพร่ และน่าน ส่งเสริมให้เกษตรกรก่อสร้างเตาอบลำไยประสิทธิภาพสูงรวม 156 ชุด คิดเป็นเงินรวม 14,040,000 บาท ช่วยเหลือชาวสวนลำไยลดการใช้ก๊าซหุงต้มได้ถึง 930,000 ก.ก./ปี คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ 16,740,000 บาท"

ด้าน นายวิชาญ ขัติยะ ประธานกลุ่มวิสาห กิจชุมชนแปรรูปลำไย หมู่บ้านสันปู่เลย อ.ดอย สะเก็ด จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า กลุ่มมีรายได้หลักจากการแปรรูปลำไยจำหน่าย โดยมีเตาอบแห้งที่ใช้ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิง 7 เตา ช่วงแรกๆ ทำกำไรได้ดี แต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก๊าซหุงต้มมีราคาสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จึงมีการปรับปรุงเป็นเตาประหยัดพลังงาน โดยใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง 4 เตา ช่วยประหยัดต้นทุนการผลิตได้มาก โดยลดค่าเชื้อเพลิงเหลือเพียง 3,000 บาท และได้คุณภาพลำไยอบแห้งที่ดีขึ้น ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงมีนโยบายจะขยายเตาประหยัดพลังงานเพิ่มเป็น 12 เตา

โครงการตั้งเป้าในการปรับปรุงประสิทธิ ภาพการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมอบแห้งลำไยในปี 2554 มีเกษตรกรที่สนใจแจ้งความจำนงสมัครเข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง สนใจ โทร. 0-5394-4146 ต่อ 418, 419
source : http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURObFpIVXdOakV3TURZMU5BPT0=&sectionid=TURNeE5RPT0=&day=TWpBeE1TMHdOaTB4TUE9PQ==

พับแผนนุกเดินหน้า พลังงานหมุนเวียน ทางเดินของเยอรมนีที่ไทยควรดู



ไม่มีใครที่ไม่ตระหนักถึงผลข้างเคียงอันเลวร้ายของนิวเคลียร์อีกต่อไป


นับตั้งแต่เกิดเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิชิ ประเทศญี่ปุ่น แต่ความหวั่นวิตกก็มาพร้อมคำถามในเวลาเดียวกันว่า ถ้าไม่ใช่นิวเคลียร์ แล้วจะเป็นพลังงานอะไรที่สามารถรองรับการเติบโตของจีดีพีและเขตอุตสาหกรรมในประเทศได้




 เยอรมนีนับเป็นชาติแรกที่ให้คำตอบได้อย่างชัดเจนที่สุด กับการประกาศพับแผนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดภายในปี 2020 และโดดเข้าไปเล่นเต็มตัวชนิดที่สื่อบางฉบับเรียกว่าเป็นการพนันครั้งใหญ่ใน “พลังงานหมุนเวียน” (Renewable Energy)

ดร.ยีอ๊อค เมาเอ้ ผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณูของเยอรมนี ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า การยกเลิกพลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ในเยอรมนี เป็นเรื่องที่หารือกันมาหลายปีแล้ว เนื่องจากมีปัญหาด้านค่าใช้จ่ายในการดูแลบำรุงรักษาที่สูง รวมถึงการกำจัดของเสียกากนิวเคลียร์ และเหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ก็คือตัวกระตุ้นที่ทำให้ตัดสินใจได้ว่า จะไม่ขยายเวลาการปิดตายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไปอีก





ในวงสัมภาษณ์กลุ่มย่อยซึ่งมีผู้แทนของเยอรมนีอีกหลายคน  อาทิ ไค ชเลเกลมิลช์ ผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณูของเยอรมนี ระบุว่า ทิศทางของเยอรมนีในวันนี้ยังสอดคล้องกับอีกหลายชาติในยุโรป อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ที่เสนอให้ยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในอนาคตเช่นกัน ขณะที่การใช้พลังงานหมุนเวียนนั้น ก็ได้เริ่มมานานและพิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จเป็นอย่างดีแล้วในเยอรมนี

จากข้อมูลในเว็บไซต์ด้านพลังงานที่ยั่งยืนและข้อมูลจากทางการระบุว่า  สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในเยอรมนี ได้เพิ่มขึ้นจาก 6.3% ของพลังงานทั้งหมดเมื่อปี 2000 ไปเป็นราว 17% ในปี 2010 ที่ผ่านมา โดยมีรูปแบบของการใช้พลังงานลมมากที่สุด ขณะที่พลังงานหมุนเวียนยังสามารถทำให้เกิดการจ้างงานถึงราว 3.7 แสนอัตราในปีที่แล้ว

ชเลเกลมิลช์  กล่าวว่า นโยบายทางการเงินการคลัง และการสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Incentives) ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนในภาคเอกชน เกิดการแข่งขัน การลงทุน และใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเป็นระบบ ซึ่งแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ยังช่วยเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนด้วย เพราะแต่เดิมนั้นคงไม่มีใครต้องการให้เอาสายส่งหรืออะไรมาไว้หลังบ้านตัวเอง แต่การสร้างแรงจูงใจทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น จะช่วยผลักดันเรื่องนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม   อย่างไรก็ตาม  หากจะนำบทเรียนและประสบการณ์ของเยอรมนี ประเทศเขตเศรษฐกิจอันดับ 1 ของยุโรปมาปรับใช้กับประเทศไทย ที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องพลังงานทางเลือกนั้นอาจไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก โดยเฉพาะการวางนโยบายอย่างเป็นระบบจากภาครัฐ

“แนวคิดเรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียนในไทยได้พัฒนาไปมากแล้ว สังคมไทยมีความรู้และความเข้าใจดีขึ้น เพียงแต่มีบางโครงสร้างที่ยังไม่ได้รับการพัฒนารวดเร็วพอ จากการได้พบปะพูดคุยเราประทับใจหน่วยงานของไทยหลายแห่งซึ่งตระหนักถึงเรื่องนี้ เพียงแต่ว่ายังอาจไม่มีการบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างเป็นระบบในแผนระดับชาติ” เมาเอ้ กล่าว

เพราะแม้ประเทศไทยจะมีแผนยุทธศาสตร์พลังงานแห่งชาติปี  2546 ซึ่งกำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนจาก 0.5% ในปี 2545 ไปเป็น 8% ในปี 2554 ทว่าจนถึงปัจจุบัน กลับยังไม่สามารถบรรลุเป้าประสงค์

จากรายงานสถิติการใช้พลังงานทั่วโลกปี  2011 ของบริษัท บีพี พบว่า การใช้พลังงานหมุนเวียนในไทยเมื่อปีที่แล้วมีสัดส่วนเพียง 1.1% เท่านั้น  ส่วนใหญ่พลังงานหมุนเวียนในไทยมักอยู่ในรูปแบบของพลังงานชีวมวล  และก๊าซชีวภาพ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่อีกมากในเชิงพาณิชย์ อีกทั้งยังขาดการสร้างแรงจูงใจในเชิงเศรษฐศาสตร์อยู่มาก   ตรงกันข้ามสิ่งที่เราได้ยินผ่านสื่อดังกว่าและบ่อยครั้งกว่า กลับเป็นการเน้นพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งการซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำจากเขื่อนในลาว ที่ได้ชื่อว่าเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย และก๊าซธรรมชาติจากพม่า ท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกที่ผันผวนหนัก จนประสบปัญหาการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันมาแล้ว

“การพึ่งพาพลังงานจากเพื่อนบ้าน เช่น ไฟฟ้าจากลาวนั้น ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ธรรมดามากของการชื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงาน อย่างการลงทุนด้านพลังงานระยะยาวของเรา ก็มีแผนที่จะผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ที่ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งมีศักยภาพในการผลิต และส่งกลับมาที่ยุโรปต่อไป แต่ก็ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ดังนั้น ในภาพรวมผมจึงมองว่าหากต้องพึ่งพาพลังงานภายนอกทั้งหมดโดยสิ้นเชิง คงไม่ดีนัก เพราะอาจส่งผลกระทบได้หากเกิดปัญหาทางการเมืองระหว่างกัน และยังมีประเด็นเรื่องการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนและผลทางสิ่งแวดล้อม เช่นการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ที่อาจเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามมาได้ แต่ตรงจุดนั้นก็อาจทำให้หลายฝ่ายตระหนักถึงพลังงานอย่างยั่งยืนขึ้นมาด้วย” เมาเอ้ กล่าว

source : PostToday 12 มิถุนายน 2554 

อิสราเอล ...ทุ่งพลังงานสุริยะ


บริษัทอาราวา พาวเวอร์ ของอิสราเอล เปิดตัวทุ่งพลังงานสุริยะเพื่อการค้าแห่งแรกของประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ในทะเลทรายอาราว่า ทางตอนใต้ และมีแผนจะสร้างอีกหลายสิบแห่งทั่วอิสราเอล
โรงไฟฟ้าพลังสุริยะ ขนาด 4.95 เมกะวัตต์ มูลค่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 900 ล้านบาทนี้ ตั้งอยู่ในชุมชนเกษตรกรรมกิบบุตซ์ เกตูร่า ในทะเลทรายอาราว่า และเป็นโรงไฟฟ้าพลังสุริยะแห่งแรกของประเทศ

อิสราเอล ซึ่งพื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศอยู่ในสภาพแห้งแล้ง ช่วงกลางวันจะมีแสงแดดจ้า ทำให้อิสราเอลเป็นประเทศที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการผลิตพลังงานสุริยะ ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

บริษัทอาราว่าของอิสราเอลยังประกาศอีกว่า มีแผนที่จะสร้างทุ่งพลังงานสุริยะอื่นๆ อีกหลายสิบแห่งทั่วประเทศ ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นจะสูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6 หมื่นล้านบาท

ปัจจุบันเยอรมนีเป็นประเทศชั้นนำของโลกในการผลิตพลังงานสุริยะ



วิดีโอที่เกี่ยวข้อง»