วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2554

ปัญหาพลังงาน ทางเลือกที่รัฐไม่เลือก

เขียนโดย ดร
Wednesday, 23 March 2011
สยามรัฐรายวัน 23 มีนาคม 2554 

พอมีปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทีก็สะดุ้งที พอเรื่องซาลงก็คงกลับมาเสนอกันใหม่ หรือไม่เสนอแต่งุบงิบทำกันต่อไปเรื่อยๆ จนไปตั้งไกลแล้วค่อยมาทำประชาพิจารณ์ ประเทศไทยทำอะไรลักไก่แบบนี้เสมอ ออกทางประตูไม่ได้ก็ออกทางรูหมาลอด ไม่มีรูหมาลอดก็ขุดรูเองจนออกได้
เวลาเสนอเรื่องแบบนี้ก็มีแต่ข้อดี ก็มีข้อจำกัดด้วย แต่..คำว่า “แต่” นั้นพูดเบาๆ และบอกว่า ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่โตอะไร แก้ได้ ป้องกันได้ เทคโนโลยีสมัยนี้ก้าวหน้า “แค่สับสวิทช์เท่านั้น วิศวกรก็เดินออกจากโรงงานได้” ไม่มีปัญหาอย่างที่ใครๆ กลัวกัน

แล้วที่เกิดที่ญี่ปุ่นเป็นไง ไหนบอกว่าไม่มีใครซื่อสัตย์เท่าญี่ปุ่น ไม่มีเทคโนโลยีไหนก้าวหน้าเท่าญี่ปุ่น แล้วออกมาสารภาพว่าได้ “ปิดบัง” ข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แล้วจะให้เชื่อได้อย่างไรว่า คนไทยที่กำลังเสนอโครงการนี้จะไม่ “ปิดบัง” มากกว่าคนญี่ปุ่น

ที่ผ่านมาก็ออกมาขู่กันว่า ถ้าไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเกิดวิกฤตพลังงานและมีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ แม้ว่าจะยังพอมีทางเลือกบ้าง แต่ยังไงก็ไม่มีทางตอบสนองความต้องการของประเทศได้

ที่อ้างกันวันนี้มักเป็นต้นทุนการผลิต ซึ่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะถูกสุด ถูกกว่าที่ใช้ถ่านหิน น้ำมัน แก๊ส รวมทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ขยะ และชีวมวล แต่ถามว่าชีวิตคนถูกกว่าไฟฟ้าหรือ

อยากพูดถึงพลังงานที่เรียกกันว่าพลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทน ซึ่งเป็นอะไรที่ได้มาจากธรรมชาติ มาจากของใช้ใกล้ตัวที่ทิ้ง เหลือใช้ หรือที่สามารถปลูกให้โตเร็วและใช้งานได้ ซึ่งเราไม่ได้พูดกันอย่างจริงจัง เพราะพูดไปแล้วไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร

ปัญหาจึงไม่ใช่เพราะไม่มี “วัตถุดิบ” จากธรรมชาติหรือของเสียจากชุมชน แต่เพราะไม่รู้ว่าจะให้ชุมชนทำเรื่องนี้ได้อย่างไร เพราะรัฐเองก็ไม่เคยจริงจังกับเรื่องที่ว่านี้ ไม่เคยตั้งเป็นเป้าหมายว่าจะเพิ่มสัดส่วนของพลังงานจากส่วนนี้ให้มากกว่าร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 10 ร้อยละ 20 ได้หรือไม่ เมื่อไรและด้วยวิธีไหน ต้องลงทุนและลงแรงเท่าไรอย่างไร (แบบที่เยอรมนี เนเธอร์แลนด์เขาตั้งเป้าหมายและทำได้)

     พูดง่ายๆ ไม่มี “เจตจำนงทางการเมือง” เรื่องพลังงานทางเลือก เพราะถ้าหากมีจริง และระดมพลังกันอย่างจริงจัง และไม่เฉพาะแต่กระทรวงมหาดไทย หรือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หรือกระทรวงพลังงาน แต่ต้องผนึกพลังกันทุกกระทรวงส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนทำ 2 เรื่องไปพร้อมกัน คือ ประหยัดพลังงานและสร้างพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียน

ทำอย่างไรให้มีแผนการลดพลังงานลงจริงจัง ลดพลังงานแปลว่าลดค่าไฟโดยการรู้จักประหยัดไฟ เปิดปิดอย่างไร วางแผนการใช้แอร์ ใช้ไฟในบ้าน ในที่ทำงาน ในโรงงาน ในที่สาธารณะ อย่างไรจึงจะประหยัดจริง

นักศึกษาผู้ใหญ่ในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตทำโครงงานลดค่าไฟที่บ้านจาก 700 กว่าบาท เหลือเพียง 300 กว่าบาท โดยไม่ได้อยู่แบบมืดๆ แต่อยู่แบบ “พอเพียง” และสิ่งที่ได้ก็ไม่ใช่เพียง “เงิน” ที่ประหยัดได้เดือนละ 400 บาท แต่ได้วินัยชีวิต ได้การจัดระเบียบชีวิตของตนเอง ไม่ให้อยู่แบบ “เรื่อยๆ สบายๆ” หรือแบบตามบุญตามกรรม (แล้วก็ได้แต่กรรมไม่ได้บุญ)

ทำอย่างไรโรงเรียนตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยมทุกแห่งทั่วประเทศจะช่วยกันเรียนรู้การประหยัดพลังงานและสร้างพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียนให้สถานศึกษาของตนเอง พลังงานจากขยะ จากเศษพืช กิ่งไม้ ปลูกต้นไม้โตเร็ว พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม น้ำ ที่มีอยู่ในพื้นที่ของแต่ละแห่ง และนำเอา “วิชา” ดังกล่าวไปช่วยกันทำต่อที่บ้านของตนเองกับพ่อแม่พี่น้อง

ทำอย่างไรให้ชุมชนทุกแห่ง อบต. เทศบาล ทุกแห่งเอาเรื่องพลังงานมาเป็นวาระสำคัญ และจัดการใช้ขยะ เศษวัสดุต่างๆ ในท้องถิ่นของตนเองให้เป็นพลังงานทางเลือกให้ได้ ถ้าหากทุกครัวเรือน ทุกชุมชนระดมพลังกันอย่างจริงจัง รัฐให้การส่งเสริมสนับสนุนการลงทุนด้วย สร้างแรงจูงใจในการลดภาษีและอื่นๆ

ปัญหาใหญ่วันนี้ที่เราทำไม่ได้ ไม่ใช่เพราะไม่มีความสามารถ แต่เพราะ “ไม่เห็นด้วย” มากกว่า เพราะยังคิดว่า การลงทุนทีเดียวในโครงการใหญ่ๆ อย่างไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ดี ก๊าซธรรมชาติก็ดีจะคุ้มกว่า ได้ผลดีกว่า ยุ่งยากน้อยกว่า (และได้กินหัวคิวมากกว่า)

เราติดอยู่ที่วิธีคิด ที่ยังเชื่อว่า การพัฒนาประเทศต้องเน้นที่การเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้ว่าต้องเสี่ยงกับปัญหาที่เกิดขึ้น (จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์) และอันตรายอื่นๆ อย่างมลพิษต่างๆ ที่มาจากพลังงานหลัก ถ่านหิน น้ำมัน ซึ่งเป็นพลังงานของการพัฒนากระแสหลักที่เชื่อ GDP มากกว่า GDH เชื่อเศรษฐกิจที่กินได้มากกว่าเศรษฐกิจที่ทำให้คนมีความสุข
ถ้าหากเราไม่ปรับวิธีคิด ไม่ปรับกระบวนทัศน์การพัฒนา ยังเชื่อมั่นในวิถีเดิมกันต่อไป ก็ต้องเสี่ยงและต้องพร้อมที่จะรับผลกระทบต่างๆ กันต่อไป ถ้ายังเอาเศรษฐกิจเป็นเป้าหมาย เอาความสุขเป็นผลพลอยได้ ก็ต้องยอม
รับผลพลอยได้อีกด้านหนึ่งที่เป็นพิษด้วย


เรื่องพลังงานไม่ใช่เรื่องเทคนิก แต่เป็นเรื่องปรัชญาพื้นฐานการพัฒนาว่าจะเพิ่มกันต่อไปเรื่อยๆ หรือจะหาทางลดการใช้พลังงาน ลดเป้าหมายการเติบโต ไปช้าๆ แต่มั่นคงและเผื่อแผ่ให้คนส่วนใหญ่ได้เดินไปพร้อมกันได้อย่างปลอดภัย
ไม่ใช่เศรษฐกิจโตแต่เสี่ยงตายและคนส่วนใหญ่ยังทุกข์ยากอย่างเมืองไทยวันนี้

พพ.​ตี​กลอง​ลด​ใช้​พลังงาน

วันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2554

กบนอกกะลา ตอน สาคู อยู่ไหน




พพ. แจ้งข่าวดี พบขุมทรัพย์พืชพลังงานในไทยใหม่จาก ต้นสาคู และต้นจาก ยันมีศักยภาพแปรรูปเป็นเอทานอลได้ ต่อจากพืชให้แป้งยอดฮิตอย่าง อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวฟ่างหวานที่ยังอยู่ในการวิจัย ชี้บริษัทยักษ์จากญี่ปุ่นจ่อสนใจศึกษาและลงทุนในการผลิตเอทานอลจากต้นจาก ส่วนต้นสาคูองค์การอาหารโลก(FAO) สนใจส่งเสริมเช่นกัน เชื่อพืชพลังงานใหม่นี้มีอนาคตสดใสต่อยอดสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น



วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

อนุรักษ์พลังงาน: เรื่องของปัญหาและโอกาสของเศรษฐกิจ โดย : รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์

คำว่า “อนุรักษ์” ถูกใช้ในความหมาย “การคงสภาพ” มาตลอด เช่น อนุรักษ์โบราณสถาน คำว่า “อนุรักษ์พลังงาน” จึงอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นการรักษาสภาพเดิมไว้ ถ่านหินก็เก็บ (อนุรักษ์) ไว้ใต้โลกอย่างเดิมอย่าไปขุดมาใช้ ถ้าอนุรักษ์พลังงานมีความหมายเช่นนี้ จะแปลว่าเราไม่ต้องใช้พลังงานกันเลย

ลองนึกดูถ้าเราไม่ใช้พลังงานจะเป็นอย่างไรบ้าง นึกถึงไฟฟ้าดับทั้งเมืองก็ได้ เหงื่อตกเพราะไม่มีอากาศเย็นสบายจากเครื่องปรับอากาศ ธุรกิจเสียหายเพราะคอมพิวเตอร์ไม่ทำงาน แม่บ้านโทรบอกว่าเย็นนี้ไม่มีข้าวกินเพราะหม้อหุงข้าวไฟฟ้ามีประโยชน์น้อยกว่ากะละมัง เป็นต้น


อนุรักษ์พลังงานแปลว่าใช้พลังงานอย่างไม่สิ้นเปลืองเกินเหตุ

คำว่า “ไม่สิ้นเปลืองเกินเหตุ” นี้มีอย่างน้อย 2 ความหมาย คือ ไม่สิ้นเปลืองพลังงานเกินเหตุ กับไม่สิ้นเปลืองเงินเกินเหตุ

ไม่สิ้นเปลืองพลังงานเกินเหตุหมายความถึงใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ให้หมด อย่าให้เล็ดรอดออกไปได้ การอนุรักษ์พลังงานในแง่นี้จึงเป็นงานวิศวกรรมที่พยายามปรับปรุงกระบวนการ มีตั้งแต่ง่ายๆ เช่นเปลี่ยนหลอดใส้มาเป็นหลอดประหยัดพลังงาน ออกแบบอุปกรณ์ถ่ายเทความร้อน (heat exchanger) เพื่อดึงความร้อนมาใช้ให้มากที่สุด (ให้เล็ดรอดออกไปน้อยที่สุด) จนถึงออกแบบระบบใหม่ทั้งหมด เช่น เปลี่ยนรถยนต์มาเป็น hybrid เป็นต้น



ภาพประกอบ:มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค www.consumerthai.org

คำว่าไม่สิ้นเปลืองเงินเกินเหตุเป็นผลจากทั้งไม่สิ้นเปลืองพลังงานและเปลี่ยนไปใช้พลังงานราคาถูก ด้วยเหตุนี้ การอนุรักษ์พลังงานตาม พ.ร.บ. จึงมีทั้งลดการใช้พลังงานลงและเปลี่ยนชนิดพลังงาน (ไปใช้ของถูก)


บางครั้งเราได้ยินคำว่า “ประหยัดพลังงาน” คำนี้หมายความว่าใช้แต่น้อย ไม่ฟุ่มเฟือย เช่นไม่เปิดไฟทิ้งไว้ทั้งๆ ที่แสงสว่างจากธรรมชาติเพียงพอ ไม่เปิดเครื่องปรับอากาศทั้งๆ ที่เปิดหน้าต่างให้ลมเย็นข้างนอกพัดเข้ามาได้ ดังนั้น บางครั้งเราจะใช้ปนกันไปทั้งอนุรักษ์พลังงานและประหยัดพลังงาน แต่ภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจง่ายคือ “ประหยัด”


เมื่อใช้คำว่า “ประหยัด” เราจะเข้าใจไปถึงเรื่องเงินได้ง่าย ว่าการอนุรักษ์พลังงานคือการประหยัดเงิน คนทั่วไปสนใจคำว่าประหยัดเงินมากกว่าประหยัดพลังงาน หากเป็นการทำธุรกิจก็คือการลดต้นทุน เพื่อทำให้แข่งขันได้ในตลาด กิจการที่กำลังย่ำแย่เพราะแข่งขันไม่ได้จึงต้องลดต้นทุน โดยเฉพาะกิจการที่ใช้พลังงานมาก (โครงสร้างต้นทุนส่วนมากเกิดจากพลังงาน) กิจการชนิดนี้จึงเป็นการใช้การประหยัด (อนุรักษ์) พลังงานมา “แก้ปัญหา” สำหรับผู้ที่แข่งขันได้อยู่แล้วก็มิใช่ว่าจะเพิกเฉยได้ แต่ควรคิดว่าการลดต้นทุนคือการเพิ่มกำไร นั่นคือใช้การประหยัด (อนุรักษ์) พลังงานมา “สร้างโอกาส” เพิ่มขึ้น

สรุปได้ว่า อนุรักษ์พลังงานเป็นเรื่องเศรษฐกิจ เงินๆ ทองๆ ที่ใกล้ตัวเรามาก แปลว่ามันเป็นเรื่องของเรา ไม่ใช่ใครอื่นเลย

รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์

สถานการณ์การกระจายเชื้อเพลิงของไทย โดย : ดร.อธิคม บางวิวัฒน์

เชื้อเพลิงที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกมีเพียงไม่กี่ชนิดและพอจะแบ่งเป็นกลุ่มหลักๆ ได้เป็น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ นิวเคลียร์ และพลังงานหมุนเวียน แต่ละประเทศจะจัดสรรสัดส่วนของเชื้อเพลิงตามความเหมาะสมของตนเอง ประเทศที่มีแหล่งถ่านหินก็มักจะนำถ่านหินมาใช้ในสัดส่วนที่มากกว่าอย่างอื่น ประเทศที่มีแหล่งน้ำมันเป็นจำนวนมากก็มักจะนำน้ำมันมาใช้ในสัดส่วนที่มากกว่าอย่างอื่น ส่วนประเทศที่อัตคัตแหล่งเชื้อเพลิงอย่างประเทศไทยก็จะไม่มีทางเลือกมากนัก ต้องพยายามจัดสรรไปตามราคาของเชื้อเพลิง เพื่อรักษาให้ต้นทุนการผลิตของสินค้าอื่นๆ ภายในประเทศอยู่ในระดับต่ำที่สุด และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากเกินไป หรือไม่ก็พยายามคว้าสิ่งที่ใกล้ตัวมากที่สุด เช่น ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานน้ำ ลมหรือชีวมวล ถ้ามองในภาพรวมของทั้งโลก เชื้อเพลิงหลักที่ใช้กันเป็นน้ำมัน ตามมาด้วยถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ (ดูรูปที่1) ในปี 1974 มีการใช้น้ำมันถึง 45% ถ่านหินราว 25% และก๊าซธรรมชาติ 16% ที่เหลือเป็นนิวเคลียร์และพลังงานหมุนเวียน เมื่อเทียบกับสัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้กันทั้งโลกในปี 2007 มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างแต่ยังคงรักษาลำดับสัดส่วนในลักษณะเดิม น้ำมันยังคงเป็นเชื้อเพลิงยอดนิยมแม้จะลดสัดส่วนลงมาเป็น 34% ถ่านหินรักษาตำแหน่งและสัดส่วนเดิม ก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาเป็น 21% และเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงของทั่วโลกกับของประเทศในกลุ่ม IEA (International Energy Agency) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศในกลุ่ม OECD (The Organization for Economic Co-operation and Development) ที่ร่วมมือกันพัฒนาและส่งเสริมนโยบายด้านพลังงาน ด้วยแผนภูมิใยแมงมุมซึ่งแสดงเปอร์เซ็นต์ของเชื้อเพลิงแต่ละชนิดที่ใช้ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ารูปร่างของแผนภูมิใยแมงมุมมีรูปร่างคล้ายกันมาก นั่นหมายถึงว่าสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงของประเทศในกลุ่ม IEA มีอิทธิพลต่อทั้งโลก การลดสัดส่วนการใช้น้ำมันของกลุ่มประเทศ IEA ในช่วงปี 1974 ถึง 2007 ทำให้สัดส่วนการใช้น้ำมันของโลกลดลงในลักษณะเดียวกัน สัดส่วนการใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติก็เช่นกัน จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้างระหว่างกลุ่มประเทศ IEA และของโลกในส่วนของนิวเคลียร์และพลังงานหมุนเวียนเล็กน้อย ประเทศในกลุ่ม IEA ใช้พลังงานจากนิวเคลียร์มากกว่าพลังงานหมุนเวียน ในขณะที่สัดส่วนระหว่างนิวเคลียร์กับพลังงานหมุนเวียนของโลกตรงกันข้าม

ประเทศจีนและอินเดียเป็นประเทศที่กำลังมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงมีการขยายตัวในด้านการใช้พลังงานตามไปด้วย ทั้งสองประเทศนี้อยู่ไม่ไกลจากประเทศไทยเท่าไร ผลกระทบต่างๆอันเกิดจากสองประเทศนี้ย่อมมีโดยตรงกับประเทศไทยและประเทศต่างๆในเอเซีย จากรูปที่ 2 จะเห็นการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงของทั้งสองประเทศซึ่งมีการเพิ่มสัดส่วนการใช้ถ่านหินมากขึ้นในระหว่างปี ค.ศ.1974 ถึง 2007


ประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องพึ่งการนำเข้าของเชื้อเพลิงเป็นหลัก แม้ว่าจะพอมีแหล่งก๊าซธรรมชาติอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากพอที่จะพึ่งตัวเองได้ทั้งหมด ข้อมูลจากการศึกษา Thailand’s Low-Carbon Society Vision 2030 ซึ่งจัดทำโดยสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนำเสนอปริมาณการใช้เชื้อเพลิงในประเทศไทยโดยแบ่งตามชนิดเชื้อเพลิง ปี ค.ศ. 2005 พบว่ามีการใช้ Primary Energy ซึ่งเป็นน้ำมันมากถึง 40% รองลงมาเป็นก๊าซธรรมชาติ 28% และพลังงานหมุนเวียนและถ่านหินใกล้เคียงกันที่ 17% และ 16% ตามลำดับ (ดูตารางที่ 1 และรูปที่ 3) ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวใกล้เคียงกับสัดส่วนโดยรวมของประเทศในเอเซีย (ไม่รวมจีน อินเดีย และ OECD Pacific) นั่นเป็นเพราะประเทศในแถบนี้เป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าเหมือนกัน มีความพยายามที่จะใช้ประโยชน์จากพลังงานน้ำและนำทรัพยากรที่พอจะมีอยู่บ้าง เช่น เศษไม้มาแปลงเป็นพลังงานให้มากที่สุด พลังงานลมและแสงแดดยังพอมีการนำมาใช้ประโยชน์บ้างแต่ยังไม่แพร่หลายนัก



ในการศึกษานี้ยังได้นำเสนอคาดการณ์ปริมาณและชนิดของเชื้อเพลิงที่จะใช้ในปี ค.ศ. 2030 ภายในประเทศไทยเมื่อเป็นการดำเนินธุรกิจตามปรกติ (Business as usual, BAU) สัดส่วนการใช้น้ำมันจะลดลงเหลือ 34% ในขณะที่มีการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเป็น 33% ส่วนถ่านหินและพลังงานหมุนเวียนยังคงมีสัดส่วนใกล้เคียงกับเมื่อ ค.ศ. 2005 ซึ่งจะเป็น 18% และ 15% ตามลำดับ (ดูตาราง 1 และรูปที่ 3) พอจะอธิบายได้ว่าด้วยแนวโน้มราคาน้ำมันที่จะสูงขึ้นมากในอนาคตทำให้ต้องมีการลดสัดส่วนการใช้น้ำมันลง แล้วหันมาพึ่งก๊าซธรรมชาติภายในประเทศมากขึ้น รวมถึงถ่านหินที่มีราคาถูกกว่าน้ำมัน แม้ว่าสัดส่วนการใช้น้ำมันในประเทศจะลดลงแต่ปริมาณการใช้น้ำมันจากการคาดการณ์จะเพิ่มขึ้นจาก 29,677 ktoe ในปี ค.ศ. 2005 มาเป็น 74,357 ktoe ในปี 2030 นอกจากคาดการณ์ในสภาวะธุรกิจปรกติ (BAU) แล้ว การศึกษานี้ยังนำเสนอกรณีภาพฉายอนาคตของ Low-Carbon Society ที่มีการประหยัดพลังงานและลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Counter measures, CM) ซึ่งคาดว่าปริมาณการใช้เชื้อเพลิงจะลดลงจากกรณี BAU รวมถึงสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงก็จะเปลี่ยนไปด้วย สัดส่วนการใช้น้ำมันลดลงเป็น 28% สัดส่วนของก๊าซธรรมชาติลดลงเป็น 21% และต้องมีการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้เพิ่มขึ้นเป็น 31% อีกทั้งต้องมีการนำนิวเคลียร์มาผลิตไฟฟ้าประมาณ 2% เป็นที่น่าสังเกตุว่าสัดส่วนของการใช้ถ่านหินไม่ลดลงเลย แต่ปริมาณการใช้ลดลงจาก 39,415 ktoe ในกรณี BAU มาเป็น 30,218 ktoe ในกรณี CM ในขณะเดียวกันต้องนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้เพิ่มขึ้นจาก 31,643 ktoe เป็น 52,179 ktoe เพื่อให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจะลดลงจาก 547,727 กิโลตันของ CO2 เทียบเท่าในกรณี BAU มาเป็น 345,663 กิโลตันของ CO2 เทียบเท่าในกรณี CM

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากการศึกษานี้คือ ความพยายามที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของเชื้อเพลิงที่ใช้ ไม่เพียงแต่เป็นการช่วยลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่ยังมีผลต่อการลดสัดส่วนของเชื้อเพลิงที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ และการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนที่หาได้ภายในประเทศมากขึ้น ก็เป็นการเพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้วย

ดร.อธิคม บางวิวัฒน์
ที่มา : http://www.eppo.go.th/thaienergynews/BlogDetail.aspx?id=1


พลังงานชีวมวลเพื่อผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย โดย ดร.บุญรอด สัจจกุลนุกิจ

แผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี ให้ความสำคัญสูงสุดกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล โดยการกำหนดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล สูงสุดถึง 3,700 เมกกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 66.02 ของเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทุกประเภทที่มีเป้าหมายรวม 5,604 เมกกะวัตต์ ได้มีการประเมินศักยภาพพลังงานชีวมวลที่จะนำไปผลิตไฟฟ้าได้ถึ 4,400 เมกกะวัตต์
ปัจจุบันได้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลแล้ว รวม 1,610 เมกกะวัตต์ ส่วนใหญ่เป็นการผลิตไฟฟ้าของโรงงานน้ำตาล โรงสีข้าว และจากเชื้อเพลิงประเภทวัสดุคงเหลืออื่นๆ เช่น เศษไม้ กะลาปาล์ม และเหง้ามันสำปะหลัง ตามลำดับ เพื่อให้บรรลุผลตามแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ จะต้องมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลอีก 2,090 เมกกะวัตต์


ภาพประกอบ:www.eppo.go.th


นับตั้งแต่ปัจจุบัน จนถึงปี พ.ศ. 2565 นำมาซึ่งประเด็นคำถาม เช่น เป้าหมายที่กำหนดสามารถทำให้เป็นจริงได้หรือ? ชีวมวลที่มีจำนวนมากๆ เช่น แกลบ และชานอ้อยก็มีการใช้ประโยชน์จนเกือบหมดแล้ว เชื้อเพลิงที่เหลือปริมาณมากๆ เช่น ฟางข้าว ยอดและใบอ้อย ทะลายปาล์มเปล่า และวัสดุคงเหลือทางการเกษตรอื่นๆ ก็มีอยู่อย่างกระจัดกระจาย และยังมีคุณสมบัติทางด้านเชื้อเพลิงที่ไม่ดี เช่น มีความหนาแน่นน้อย มีความชื้นสูง และมีปริมาณเถ้าสูงเมื่อเผาไหม้ ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว ทำมีข้อจำกัดในการนำชีวมวลเหล่านั้นมาเป็นเชื้อเพลิง และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการเก็บรวบรวม การขนส่ง การเตรียม หรือการปรับปรุงคุณสมบัติทางด้านเชื้อเพลิงให้เหมาะสมกับการใช้งาน ซึ่งเป็นประเด็นคำถามที่มีเหตุผลสอดคล้องกับข้อเท็จจริง ดังนั้นจึงต้องพิจารณาสถานภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลในปัจจุบันว่า มีประสิทธิภาพการผลิตอย่างไร รวมทั้งศักยภาพชีวมวลจากแหล่งต่างๆ ที่มีโอกาสนำมาใช้ประโยชน์เพิ่มจะมีเพียงพอหรือไม่ รวมทั้งการกำหนดทิศทางและมาตรการในการสนับสนุน ส่งเสริมอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิผลควรจะดำเนินการกันอย่างไร จึงเป็นประเด็นที่สำคัญที่ต้องการการระดมความคิดเห็น การมีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกัน

สำหรับผู้เขียนมีความมั่นใจว่า เป้าหมายตามที่กำหนดในแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี ของกระทรวงพลังงาน สามารถผลักดันให้บรรลุผลที่เป็นจริงได้หากมีการกำหนดมาตรการสนับสนุนที่เหมาะสม โดยมีเหตุผลสนับสนุนดังนี้


1. การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลในปัจจุบันยังมีประสิทธิภาพต่ำ ผลการศึกษาจากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม พบว่า โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ จำนวน 47 โรง ผลิตไฟฟ้าเหลือใช้และจำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเฉลี่ย 14 หน่วยต่อการใช้ชานอ้อย 1 ตัน โดยโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถผลิตไฟฟ้าเหลือใช้และจำหน่ายได้ 80 หน่วยต่อการใช้ชานอ้อย 1 ตัน ซึ่งจากการประเมินการผลิตไฟฟ้าของโรงงานน้ำตาลเบื้องต้น พบว่า ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าของโรงงานน้ำตาลช่วงฤดูหีบผลิตไฟฟ้าได้ สูงถึง 718 เมกะวัตต์ นอกฤดูหีบมีกำลังผลิต 264 เมกะวัตต์ ดังนั้นหากโรงงานน้ำตาลทั้งหมดมีการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงแล้ว ประเทศไทยจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้ไม่ต่ำกว่า 5 เท่า โดยใช้เชื้อเพลิงชานอ้อยเท่าเดิม และเมื่อศึกษาการผลิตไฟฟ้าจากโรงสีข้าวบางโรง สถานการณ์ก็ไม่แตกต่างกันมากนัก คือ การผลิตไฟฟ้าของโรงสีข้าว โดนเฉลี่ยก็ยังอยู่ในระดับต่ำแต่ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้อีกมากหากมาตรการในการสนับสนุนของรัฐเหมาะสมและจูงใจให้เกิดการลงทุนในเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง



ภาพประกอบจาก:การผลิตไฟฟ้าของโรงงานน้ำตาล โดยใช้เชื้อเพลิงชาญอ้อย

http://protectionrelay.blogspot.com/2010/10blog-post_12.html#more


2. ศักยภาพชีวมวลยังมีเหลืออีกมาก จากการศึกษาของมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งศึกษาปริมาณวัสดุคงเหลือทางการเกษตร 5 ชนิด คือ ฟางข้าว ใบอ้อย เหง้ามันสำปะหลัง ทางปาล์ม และทะลายปาล์ม พบว่า แต่ละปี มีมากถึง 30 ล้านตัน นอกจากนี้ ยังมีเศษวัสดุอื่นๆ ที่ยังมิได้นำมาใช้ประโยชน์อีกมาก เช่น เศษไม้จากการตัดแต่งกิ่งของสวนผลไม้ต่างๆ ซังและต้นข้าวโพด ตอซังสัปปะรด เป็นต้น ชีวมวลเหล่านี้อยู่กระจัดกระจายในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และมักเป็นปัญหาที่เกษตรกรต้องเผาทิ้งในหน้าแล้งเพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกใหม่ก่อนหน้าฝน ซึ่งนอกจากจะไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แล้วยังก่อให้เกิดมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

จากลักษณะตามธรรมชาติของเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเหล่านี้ที่ถูกทิ้งอย่างกระจัดกระจายในชนบท มักจะมีความชื้นสูงทำให้มีประสิทธิภาพการเผาไหม้ต่ำ และยากต่อการใช้งาน ทำให้การนำเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่อยู่ในพื้นที่เหล่านี้มาใช้ประโยชน์มีค่าใช้จ่ายในการเก็บรวบรวมและการขนส่งสูง โดยรัฐจะต้องมีมาตรการสนับสนุนในระดับที่เหมาะสมเพื่อให้โรงไฟฟ้าชุมชนมีความเป็นไปได้ทางธุรกิจและสามารถดำเนินการโดยชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของได้อย่างยั่งยืน

3. ยังมีพื้นที่ตามหัวไร่ปลายนา พื้นที่เสื่อมโทรมและพื้นที่รกร้างว่างเปล่า อีกมากที่สามารถใช้เป็นพื้นที่ปลูกไม้โตเร็วเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า


ดร.บุญรอด สัจจกุลนุกิจ